*บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์
ในห้วงยามที่ประเด็นเรื่องโรคใคร่เด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและแหลมคม ก็น่าทึ่งที่ Wandering (2022) หนังของ ลี ซังอิล พูดถึงประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ทั้งยังวางตัวเองอยู่บนเส้นแบ่งของศีลธรรม, ความเห็นใจผู้ป่วยและความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครผู้ใหญ่กับเด็กได้โดยไม่เอนไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จนกลายเป็นการโรแมนติไซส์ความสัมพันธ์คนใคร่เด็ก หรืออีกทางคือระมัดระวังตัวเสียจนไม่กล้าแตะต้องถึงความอ่อนไหวของมัน
หนังเล่าถึง ซาระสะ (ซึสึ ฮิโรเสะ เคยร่วมงานกับซังอิลมาแล้วใน Rage, 2016) หญิงสาวที่เมื่อตอนอายุสิบขวบ เธอหายไปกับ ฟุมิ (โทริ มัตสึซากะ) นักศึกษาหนุ่มที่อยู่ดีๆ ก็ชวนเธอไปที่ห้องในวันฝนตก ทั้งสองอยู่ด้วยกันพักหนึ่ง ก่อนที่ซาระสะจะกลายเป็นข่าวใหญ่โตของญี่ปุ่น และถูกแยกจากกันเมื่อตำรวจตามตัวเจอ สิบห้าปีต่อมาเธอกลายเป็นหญิงสาวที่คบหากับ เรียว (ริวเซย์ โยโกฮามะ) แฟนหนุ่มหน้าที่การงานดี แถมยังมีกิจการทางครอบครัวรองรับอยู่อีกชั้นหนึ่ง ชีวิตของซาระสะเคลื่อนผ่านไปเรียบเรื่อย กระทั่งเมื่อเธอไปบังเอิญเจอฟุมิในร้านกาแฟลับๆ แห่งหนึ่ง และกระตุ้นให้เธอตระหนักได้ว่า โมงยามที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของเธอคือช่วงที่เธอได้อยู่ด้วยกันกับเขาเมื่อสิบห้าปีก่อน
ไม่เพียงแต่หนังสุ่มเสี่ยงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักมือด้วยการหยิบเอาประเด็นอ่อนไหวอย่างคนใคร่เด็กมาเล่า แต่มันยังอาจถูกมองว่ากำลังพูดถึงภาวะสต็อกโฮล์มซินโดรม (Stockholm Syndrome) หรือภาวะที่เหยื่อจากการถูกกักขัง ทำร้าย เกิดความรู้สึกดีๆ หรือเห็นใจต่อคนร้าย อย่างไรก็ตาม ซังอิลเล่าชัดเจนตั้งแต่องก์แรกของหนังว่าฟุมิไม่เคยล่วงเกินซาระสะ เขาเพียงแต่พาเธอมาที่ห้อง มองดูเธอนอนหลับและหาอาหารกับขนมให้เธอกินเท่านั้น หากมีเวลาว่างก็จะนั่งดูการ์ตูนเป็นเพื่อน ในสายตาของซาระสะเขาจึงไม่ได้อยู่ในสถานะของอันตราย กลับกันคือชายแปลกหน้าผู้นี้กลับเป็นที่พึ่งใหญ่หลวงของชีวิต เพราะซาระสะถูกคนในสายเลือดทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะแม่ที่ทอดทิ้งเธอไปอยู่กับคนรัก ปล่อยเธอไว้กับป้าๆ จนทำให้เธอถูกญาติผู้ชายลวนลาม ยังผลให้เธอไม่อยากกลับบ้านและตามฟุมิมาที่พักแต่โดยง่าย ฟุมิจึงเป็นที่พึ่งพิงเดียวที่ซาระสะวัยสิบขวบกล้าเปิดหัวใจเพื่อพูดความลับอันกลายเป็นบาดแผลของเธอให้เขาฟัง
นอกจากฟุมิ ซาระสะก็ไม่เคยบอกความลับนี้ให้ใครฟังอีก แม้แต่เรียวซึ่งเป็นคนรักของเธอ เธอไม่กล้าแม้แต่จะบอกเขาว่าเธอขยาดกลัวการมีเพศสัมพันธ์ เพราะมันทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงและเป็นคนรักที่ใช้ไม่ได้ พ้นจากเรื่องนี้ เธอยังต้องเก็บงำความอึดอัดใจ เพราะเรียวมักจะมองว่าเธอเป็นผู้น่าสงสาร ต้องคอยให้เขาคอยดูแลและพึ่งพิงเขาตลอดเวลา อันเนื่องมาจากทุกคนล้วนรู้ว่าซาระสะผ่านอะไรมาบ้าง ชื่อของเธอสะพัดญี่ปุ่นเมื่อสิบห้าปีก่อนจากคดีเด็กหญิงที่ถูกชายใคร่เด็กลักพาตัว และมันดำรงอยู่เช่นนั้นตลอดกาลในโลกอินเทอร์เน็ต ทุกสายตาที่มองมายังเธอจึงเป็นสายตาที่เปี่ยมความเห็นอกเห็นใจ สงสาร ไปจนถึงสังเวช แต่ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของซาระสะคือเมื่อเธอได้อยู่กับฟุมิเพียงลำพังสองคน
และซังอิลยังเล่นท่ายากอีกชั้น เมื่อเขาไม่เพียงแต่เล่าเรื่องความป่วยไข้ทางใจของซาระสะและฟุมิเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึงเรียว หนุ่มหน้าที่การงานดีแถมบ้านก็รวย แต่ไม่มีความมั่นใจในการเป็นคนรักที่ดีของตัวเอง เขาจึงต้องควานหาผู้หญิงที่มีประวัติตกระกำลำบาก, ไม่มีครอบครัวให้พึ่งมาเป็นคนรัก และเสนอตัวจะดูแลพวกเธออย่างดี (อันจะเห็นได้จากที่เขาบอกซาระสะว่า “เธอไม่ต้องกังวลเรื่องงานหรืองานแต่งอะไรเลย ฉันจะจัดการทุกอย่างให้เอง”) เป็นผู้นำและเป็นที่พึ่งให้ ขณะที่อีกด้าน เขาก็พร้อมทำร้ายร่างกายพวกเธออย่างแสนสาหัส หากคนรักทำท่าจะหนีหรือเลิกราจากเขา อันเนื่องมาจากปมใหญ่หลวงที่แม่ทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้นเมื่อการที่ซาระสะได้มาเจอฟุมิอีกครั้ง และหาทางใกล้ชิดเขาด้วยการไปนั่งที่ร้านกาแฟของเขาแทบทุกวัน โกหกเรียวว่าต้องเปลี่ยนกะการทำงานจนความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขาเริ่มยุ่งเหยิง นำมาสู่จุดแตกหักในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี Wandering สะท้อนภาพความลำบากของการเป็นผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่น พวกเธอต้องใช้ชีวิตในกรอบที่สังคมขีดไว้เกือบตลอดเวลา ไม่อาจใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังโดยปราศจากผู้ชายได้เพราะจะถูกครหาจากสังคม หรือไม่ก็ลำบากในแง่การดำเนินการทางกฎหมายบางอย่าง ขณะที่ซาระสะต้องเก็บงำความอึดอัดที่ต้องมีเพศสัมพันธ์ของเธอไว้ไม่ให้เรียวรู้ เพื่อนสาวของเธอที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ตั้งหน้าตั้งตาหาสามีใหม่ตลอดเวลา และน่าเศร้าที่ลูกสาวของเธอก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับที่ซาระสะวัยเด็กเป็น นั่นคือได้แต่มองแม่หายลับไปจากชีวิตกับผู้ชายคนใหม่ และไม่มีพวกเธออีกแล้วในชีวิต ตัวละครในเรื่องจึงถูกละทิ้งเป็นทอดๆ
ซังอิลสำรวจบาดแผลของซาระสะและเรียวอย่างละเอียด ก่อนจะปิดท้ายด้วยฟุมิ กล่าวคือขณะที่คนดูเข้าใจแล้วว่าเหตุใดซาระสะจึงเกลียดการมีเซ็กซ์ ทำไมเธอจึงพอใจกับช่วงเวลาอันอบอุ่นระหว่างเธอกับฟุมิ หรือปมระหว่างเรียวกับแม่และความเปราะบางของความเป็นชาย เรากลับไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฟุมิและภาวะใคร่เด็กของเขาเลย ซังอิลเฉลยเรื่องของเขาเป็นลำดับสุดท้ายอย่างแม่นยำและรุนแรงมากพอจะสะเทือนคนดู อันเป็นสิ่งที่จะเกิดไม่ได้เลยหากว่าการเล่าเรื่องนี้หละหลวม ไม่รัดกุม อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าความใคร่เด็กของฟุมิคืออะไร มันอาจเป็นความปรารถนาของเขาในอันจะเป็นผู้เยาว์ตลอดกาลก็เป็นได้ เพราะหนังค่อยๆ เคลื่อนมายังเส้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่ และภาวะ ‘ความพิการ’ ของเขาที่ทำให้เขาตระหนักได้ว่าถูกแม่รังเกียจชิงชังเพียงใด ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือเราไม่อาจตอบได้ว่าที่ฟุมิไม่ล่วงละเมิดทางเพศต่อซาระสะนั้นเป็นเพราะเขาไม่อยากทำจริงๆ หรือเป็นเพราะเขาไม่อาจทำเช่นนั้นได้อันเนื่องมาจากสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยกันแน่
ความที่หนังมันไล่เลาะปมชีวิตของตัวละครอย่างหนักหน่วงนี่เอง ทำให้เรื่องความรู้สึกที่ตัวละครมีต่อกันกลายเป็นเรื่องรอง ความแม่นยำในการกำกับของซังอิลคือการประคองเล่าเรื่องบาดแผลในชีวิตของตัวละครเป็นหลัก เพื่อเล่าเรื่องที่รองอยู่ข้างใต้อย่างความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกัน เพราะไม่แน่เหมือนกันว่า หากมุ่งเล่าเส้นเรื่องความรู้สึกปรารถนาหรือแม้แต่โหยหาอดีตอันงดงามต่อกันเป็นหลัก หนังอาจจะพลิกกลับอีกด้านซึ่งอาจจะหมายถึงการข้ามเส้นไปยังเขตแดนศีลธรรมอื่นที่นำพาคำวิพากษ์วิจารณ์ให้มาเยือนได้
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงไม่ใช่อะไรอื่นนอกไปเสียจากความแม่นยำของซังกิล ที่กำกับหนังอันชวนให้ดราม่า พาทัวร์มาลงได้ชวนสะเทือนใจและเข้าอกเข้าใจเช่นนี้
Tags: Screen and Sound, ใคร่เด็ก, Wandering, Stockholm Syndrome, สต็อกโฮล์มซินโดรม