หลังเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 เสียงเรียกร้องให้เกิด ‘รัฐธรรมนูญ’ ฉบับใหม่ ดังขึ้นหนาหู เพื่อสร้างฉันทมติใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญ ขจัด ‘วงจรอุบาทว์’ ทั้งการรัฐประหารและการทุจริตคอร์รัปชันโดยนักการเมือง รวมถึงแก้ปัญหาเดิมๆ ที่รัฐธรรมนูญมักจะถูกร่างโดย ‘คณะทหาร’ เท่านั้น ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ประชาชน’ มีจุดเริ่มต้นโดยประชาชน เพื่อประชาชนโดยแท้จริง
แต่แน่นอนว่าการไปถึงจุดนั้นย่อมไม่ง่าย ข้อถกเถียงเกิดขึ้นอย่างมากว่า ‘จุดเริ่มต้น’ ควรจะเริ่มจากตรงไหน รัฐธรรมนูญที่เป็นแบบประชาชนนั้นควรหน้าตาเป็นอย่างไร เรื่องใหม่ๆ อย่าง ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง, ส.ส. มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ หรือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น ย่อมเป็นที่ถกเถียงว่าจะเป็นไปได้จริงหรือในประเทศนี้ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชน อาจทำให้เกิด ‘ปีศาจ’ ตัวใหม่ ได้หรือไม่
กว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จะเริ่มต้นขึ้น ก็ล่วงเข้าไปถึงปี 2538 ในรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่ง นิกร จำนง คนใกล้ชิดของบรรหาร บอกว่าไม่เคยเห็นบรรหารต้องเดินสาย ‘ขอร้อง’ ใครมากขนาดนั้น จนในที่สุดก็ประกาศใช้ได้อย่างเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2540
b-holder ชวนย้อนกลับไปพินิจพิเคราะห์ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ฉบับที่ว่ากันว่า ‘ดีที่สุด’ ว่ามีความยากลำบากเพียงใด แล้วร่วมกันหาคำตอบว่าทำไมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงมีนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้โชคดีได้ใช้ แล้วเพราะเหตุใด รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ฉบับแรกและฉบับเดียว ถึงได้ถูก ‘ฉีก’ อย่างง่ายดายอีกครั้ง หลังจากมีอายุการใช้งานเพียง 9 ปี
หลายฝ่ายเกิดผิดใจกัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน และวันที่ชื่อของผู้มีส่วนร่วมค่อยๆ ถูกลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ว่ามีสาเหตุเบื้องหลัง มีเกร็ดประวัติศาสตร์และมีเรื่องเล่าอะไรที่น่าสนใจ