หากคุณคือคนหนึ่งที่เติบโตมากับแผ่นเสียงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร ไปจนถึงไมเคิล แจ็กสัน วันนี้ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ ได้นำบทเพลงเหล่านั้นกลับมาให้ร่วมย้อนวันวานกันที่ ‘ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์’ แหล่งรวบรวมแผ่นเสียงไทยและสากลจำนวนมาก ให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการ ฟังเพลง พูดคุย หรือพักผ่อนหย่อนใจ ผ่านบทเพลงโปรด ชวนให้คิดถึงกาลครั้งหนึ่งที่เคยได้เสพสุขผ่านบทเพลงที่รัก
The Momentum มีโอกาสไปเยือน ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ และพูดคุยกับ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถึงที่มาที่ไปของห้องสมุดแห่งนี้ อันเป็นสถานที่สำหรับคนรักเสียงเพลง และการปรับตัวครั้งใหม่ของหน่วยงานราชการที่ต้องการเชื่อมโยงกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
“เรื่องราวเริ่มขึ้นจากการที่เราพบว่ากรมประชาสัมพันธ์มีสื่อสารสนเทศ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ กล้อง แผ่นเสียง จัดเก็บเป็นจำนวนมาก ทำมาตั้งแต่ปี 2476 หลายอย่างที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในปัจจุบัน เราก็จัดเก็บ อนุรักษ์เอาไว้มาโดยตลอด แผ่นเสียงก็เช่นกัน หลังจากเทคโนโลยีพัฒนาไปสู่เทป ซีดี และไฟล์ดิจิทัลในปัจจุบัน แผ่นเสียงจำนวนมากก็ถูกส่งมาจากสถานนีวิทยุต่างๆ ให้เราเก็บไว้”
พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เล่าถึงที่มาของห้องสมุดแผ่นเสียงกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเกิดจากความตั้งใจที่จะนำแผ่นเสียงที่กรมประชาสัมพันธ์จัดเก็บไว้มาจัดแสดงให้เกิดประโยชน์ จึงเกิดเป็นโครงการที่สร้างพื้นที่ให้คนรักแผ่นเสียงได้เข้ามาฟัง ได้มาลองจับแผ่นเสียงจากยุคต่างๆ ในอดีตอีกครั้งหนึ่ง
“เราอยากทำที่นี่ให้เป็นอาณาจักรของคนรักแผ่นเสียง ให้ประชาชนได้มีโอกาสฟังแผ่นเสียง ฟังเพลงเก่าๆ ที่พวกเขาคิดถึง สถานที่ตรงนี้เลยจัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้สึกดีๆ ผ่านบทเพลงขึ้นมา”
“เวลาฟังแผ่นเสียงมันมีเสน่ห์นะ เหมือนได้กลับไปยุคนั้น กลับไปเจอเพื่อนเก่า ซึ่งเขาก็จะมาพร้อมเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นจากบทเพลงในแผ่นเสียง” พลโทสรรเสริญกล่าวถึงความสำคัญของแผ่นเสียงที่มีต่อตนเอง
“ครั้งหนึ่งผมเคยขึ้นมาที่ห้องสมุดแผ่นเสียง ขอให้เขาจัดพื้นที่ร้องคาราโอเกะให้ จึงได้ใช้เวลาอยู่ในห้องนี้พักหนึ่ง จนมีโอกาสได้เปิดเพลงของไพรวัลย์ ลูกเพชร ความรู้สึกในอดีตมันกลับมาหมดเลย แผ่นเสียงจะมีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือเนื้อเสียงที่แตกต่างกันมันให้กลิ่นอายของอดีตได้เป็นอย่างดี”
ปัจจุบัน ห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ ได้รวบรวมแผ่นเสียงเก่าทั้งแผ่นไวนิลและแผ่นครั่ง ทั้งเพลงไทยและเพลงสากลเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้แปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลและจัดเก็บอย่างเป็นหมวดหมู่ จึงง่ายต่อการค้นหา หากใครมาใช้บริการแล้วหาแผ่นเสียงที่อยากฟังไม่เจอ สามารถสอบถามพนักงานได้ทันที
แม้จะมีไฟล์ดิจิทัล แต่ก็ยังฟังเสียงจากแผ่นได้อยู่
สำหรับใครที่มาใช้บริการห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ สามารถให้พนักงานเปิดเพลงจากแผ่นเสียงเหล่านี้ให้ฟังได้ แต่หากใครต้องการความเป็นส่วนตัว ที่นี่ก็มีมุมที่สามารถเปิดแผ่นเสียงและฟังเพลงผ่านหูฟังได้
แม้จะมีแผ่นเสียงจัดเก็บอยู่ในห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์เป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กรมประชาสัมพันธ์ทำการเก็บรักษาอยู่ ปัจจุบันยังมีแผ่นเสียงอีกกว่า 100,000 แผ่นที่อยู่ในกระบวนการของการคัดแยก จัดหมวดหมู่ และหาสถานที่จัดแสดงโชว์ต่อไป
บริเวณหน้าห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ มีการจัดแสดงประวัติศาสตร์สื่อสารสนเทศด้านต่างๆ มากมายทั้ง วิทยุ กล้อง และโทรทัศน์
‘Hall of Fame’ อีกหนึ่งโปรเจกต์ของ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ ที่จะชวนศิลปินชื่อดังของเมืองไทย มาพูดคุยถึงอัลบั้มยอดฮิตของตน เรื่องราว เหตุการณ์ ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันวาน และมีการเซ็นชื่อลงแผ่นเสียงของตนเป็นกิมมิกของกิจกรรม
บรรยากาศด้านหน้าห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ มีที่นั่งรองรับสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ
นอกจากนี้ยังมีโซนที่จำลองการแสดงของวงสุนทราภรณ์วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ โดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อยอดสู่การเปิดพื้นที่จัดแสดงต่อไป
“ผมอยากสร้างภาพจำให้สถานที่ราชการเป็นมิตรมากขึ้น เพราะหากมาดูที่กรมประชาสัมพันธ์ตอนนี้ นอกจากดนตรีก็ยังมีร้านอาหาร สวนสาธารณะก็วิ่งเล่นได้ จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาเยี่ยมชนกันมากยิ่งขึ้น
“สำหรับผู้ชื่นชอบในเสียงเพลง ผมก็เชื่อว่าดนตรีในห้องสมุดแผ่นเสียงนี้ จะเชื่อมโยงพวกเราให้เข้ากันอย่างละมุนละไม กลมกล่อม และได้เห็นตัวตนของกรมประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น” พลโทสรรเสริญกล่าวถึงอีกหนึ่งเป้าหมายของห้องสมุดแผ่นเสียง ในการเป็นสถานที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายราชการกับประชาชน
Fact Box
สำหรับคนที่อยากเข้าใช้บริการห้องสมุดแผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์ เปิดเวลา 08.00-16.00 น. ตามเวลาราชการ และเพื่อความเป็นระเบียบไม่แออัดจนเกินไป สามารถจองคิวเข้าใช้บริการได้ผ่านเฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์