ซังฮยอน (ซอง คังโฮ – นักแสดงผู้คว้ารางวัลนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์) เจ้าของกิจการร้านซักรีดเก่าๆ เขากับเพื่อนสนิท ดงซู (คัง ดงวอน) ร่วมมือกันทำธุรกิจผิดกฎหมายด้วยการเอาเด็กทารกที่ถูกทิ้งไว้ในโบสถ์คริสเตียนแถวบ้านไปขายให้ครอบครัวที่ต้องการมีลูกแต่มีไม่ได้ (ไม่ว่าจะด้วยปัญหาสุขภาพ ติดข้อกฎหมาย หรือความไม่พร้อมต่างๆ) กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อพวกเขารับเอาทารกชายมาดูแลและเตรียมนำออกไปขาย โซยอง (อี จีอึน) แม่ของเด็กชายก็ปรากฏตัวขึ้น เรียกร้องส่วนแบ่งจากการขายลูกของเธอ โดยไม่ทันระวังตัวเลยว่ามี ซูจิน (แบ ดูนา) ตำรวจหญิงคอยสะกดรอยตามธุรกิจมืดนี้อย่างใกล้ชิด
ตามสไตล์ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Koreeda) เขามักจะจับจ้องไปยังความสัมพันธ์ของครอบครัวแบบที่ไม่ใช่ครอบครัวในสายเลือด อันปรากฏให้เห็นมาแล้วจาก Like Father, Like Son (2013) พ่อที่เพิ่งรู้ว่าลูกชายที่เขาเฝ้าดูแลมาทั้งชีวิต แท้จริงแล้วเป็นลูกของบ้านอื่น, Our Little Sister (2015) พี่สาวทั้งสามในบ้านที่รับเอาน้องสาวต่างแม่มาดูแล หลังพ่อผู้เหินห่างตายจากไป และ Shoplifters (2018) กลุ่มหัวขโมยที่มารวมตัวอยู่ด้วยกันโดยไม่มีใครเกี่ยวข้องกันโดยตรง ขณะที่โคเรเอดะปฏิเสธครอบครัวเชิงขนบที่ว่าด้วยความผูกพันกันทางสายเลือดทางตรง เขาก็เล่าเรื่องครอบครัวที่เกิดจากความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ดังเช่นที่ตัวละครหนึ่งในเรื่อง Shoplifters ปรารภไว้ว่า “คงจะดีนะ หากว่าเราเลือกครอบครัวได้เอง” สะท้อนใจความสำคัญของความเป็นโคเรเอดะได้ครบถ้วน กล่าวคือ แม้เขาจะไม่เชื่อในเรื่องของครอบครัวที่ว่าด้วยสายเลือด แต่เขาก็ยังเชื่อในครอบครัวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์และความแนบแน่นที่เราเลือกได้เอง ทั้งหมดทั้งมวลนี้มาพร้อมกันกับความเชื่อมั่นในเนื้อตัวของมนุษย์อย่างที่สุด
อีกอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในงานของโคเรเอดะ คือในขณะที่เขามักเล่าถึง ‘ความดีงาม’ ของมนุษย์ที่อยู่กันเป็นครอบครัวนอกเหนือจากจารีต พร้อมกันนั้นเขาก็มักเล่าถึงความเลือดเย็นของคนร่วมสายเลือดด้วย (และเป็นสิ่งที่ส่วนตัวแล้วคิดว่า ‘เชื่อได้’ มากที่สุดในหนังของเขา) Nobody Knows (2004) แม่แท้ๆ ที่ทิ้งลูก 4 คนให้อยู่ด้วยตัวเองในอพาร์ตเมนต์จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมช่วงท้าย, เด็กหญิงที่ถูกแม่ทำร้ายร่างกาย และครอบครัวของ ‘แม่ใหญ่’ ในบ้านที่ทอดทิ้งหญิงชราใน Shoplifters, พ่อที่พยายามก่ออาชญากรรมต่อลูกสาว จนคนนอก (หรือ ‘ครอบครัวใหม่’ ผ่านสายสัมพันธ์อื่นแบบโคเรเอดะ) ต้องเข้ามาช่วยจนส่งผลให้เกิดความรุนแรงในที่สุดจาก The Third Murder (2017) กล่าวคือ แม้เขาจะเล่าเรื่องราวที่ว่าด้วยการเชื่อในเนื้อตัวมนุษย์ว่าจะโอบอุ้ม ประคับประคองกันและกันแม้อีกฝ่ายจะเป็นคนแปลกหน้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดเลยก็ตาม แต่เขาก็พร้อมจะบอกเล่าอีกด้านอันแสนดำมืดของมนุษย์เสมอ และมันมักมาในนามของความเป็นครอบครัวทางสายเลือดด้วย
เช่นเดียวกันกับ Broker ครอบครัวกำมะลอนี้ไม่ได้มีใครสืบทอดสายเลือดกันโดยตรง เว้นก็แต่โซยองซึ่งเป็นแม่ของเด็กทารก ที่เหลือคือคนที่พลัดพรากจากครอบครัวของตัวเอง กระจัดกระจายอยู่ในสังคมและถูกทิ้งขว้าง ทั้งซังฮยอนที่หนังเล่าคร่าวๆ ว่ามีครอบครัวอยู่แล้ว แต่กลับเป็นฝ่ายถูกตัดขาดอย่างน่าเศร้า หรือดงซูที่โตในบ้านเด็กกำพร้า ใช้เวลาค่อนชีวิตวาดหวังว่าแม่ที่นำเขามาทิ้งไว้ที่นี่จะกลับมาตามคำสัญญา รวมทั้งซูจินที่เคว้งคว้างโดดเดี่ยวอยู่ตลอดเวลาที่เธอขับรถตามติดครอบครัวเก๊ๆ ไปรอบเกาหลีใต้
พร้อมกันนี้ โคเรเอดะก็เล่าเรื่องความเลือดเย็นของ ‘คนในครอบครัวทางสายเลือด’ ไม่ว่าจะเป็นแม่เด็กที่ตั้งหน้าตั้งตาหาลูกค้าเพื่อจะได้ขายลูกของตัวเองหน้าตาเฉย หรือแม่ของดงซูที่เอาเขามาทิ้งไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าโดยไม่หวนกลับมารับเขากลับไปอีก ตลอดจนชายที่ถูกเมียและลูกเอ่ยปากขอให้ไม่ต้องโผล่เข้ามาในชีวิตอีก Broker จึงเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นโคเรเอดะอย่างที่คนดูหลายคนโหยหามาโดยตลอด ท่ามกลางรสใหม่ กลิ่นใหม่ เมื่อผู้กำกับชาวญี่ปุ่นหันมาทำหนังสัญชาติเกาหลีใต้เต็มตัว ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยประเดิมกำกับหนังชาติอื่นมาแล้วจาก The Truth หนังปี 2019 ที่ร่วมทุนสร้าง 3 สัญชาติ ได้แก่ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์
Broker เข้มข้นหนักหน่วงด้วยประเด็นเรื่องศีลธรรมและการทำแท้ง น่าสนใจที่ตัวหนังออกฉายในไทยหลังจากศาลสูงสหรัฐฯ ล้มล้างคำพิพากษาที่เคยตัดสินให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมายไม่นาน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวที่ผลักดันการทำแท้งทั่วโลก บทสนทนาและประเด็นต่างๆ ในหนังจึงออกจะล้าหลังและฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเก็บหรือไม่เก็บเด็กในครรภ์ ด้วยความเชื่อหนึ่งที่ว่าอย่างน้อยก็ควรให้เด็กได้มีโอกาสเกิดมา เพราะอาจจะได้เจอหรือได้เลือกครอบครัวของตัวเอง ดังเช่นที่ดงซู ดังเช่นที่โซยอง หรือเด็กชายจากบ้านเด็กกำพร้าได้เจอ ได้ร่วมสุขสันต์และมีความสุขกับครอบครัวใหม่บนรถตู้บุโรทั่งจากร้านซักรีด ซึมซับห้วงเวลาอันแสนสุขขณะล้างรถแล้วเปียกปอนไปทั้งตัว แต่ในทางกลับกัน ก็มีโอกาสมหาศาลที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาเว้าแหว่ง เฝ้ารอครอบครัวทางสายเลือดที่ทอดทิ้งพวกเขาไปตลอดกาลในบ้านเด็กกำพร้าสักแห่ง หรืออาจจะกำบาดแผลที่เชื่อว่าพวกเขาเดียวดายไปตลอดกาล ตกหล่นสูญหายอยู่ตรงไหนของสังคมเมื่อเติบโตขึ้น อีกทั้งหนังก็ไม่ได้บอกกล่าวชัดเจนนัก เช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนๆ ของโคเรเอดะ ว่าจะเป็นอย่างไรหากว่าโลกที่เด็กๆ จากการท้องไม่พร้อมเกิดมานั้นเป็นโลกอันแสนอำมหิตและดำมืด จะเป็นอย่างไรหากพวกเขาต้องกระเสือกกระสนใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยที่อาจถูกขายให้กับคนแปลกหน้า หรืออาจจะไม่มีใครรับซื้อพวกเขาไปเลยทั้งชีวิต
ดังนั้น แม้ว่าโคเรเอดะและตัวหนังจะเชื่อมั่นในมนุษย์อย่างที่สุด ทั้งยังเชื่อมั่นในเรื่องครอบครัวที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกันทางสายเลือด หากแต่สิ่งที่หนังไม่อาจโน้มน้าวได้คือความเชื่อที่หนังมีต่อชีวิต ต่อการถือกำเนิดขึ้นมาบนความไม่พร้อมเช่นนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่โคเรเอดะยังแม่นยำอยู่มาก คือการจับจ้องไปยังห้วงแห่งความอ่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะฉากที่ซูจินซึ่งเหน็ดเหนื่อยจากการขับรถสะกดรอยตามทั้งวัน โทรศัพท์หาคนรักของเธอ ท่ามกลางสายฝนปรอยและแสงสีส้มของไฟข้างทางในยามกลางคืน แว่วเสียงเพลง Wise Up ของ เอมี มานน์ (Ami Mann) ที่เธอเคยฟังกับเขาจากคาเฟ่ข้างทาง พูดคุยเรื่องที่พวกเขาเจอในแต่ละวัน ก่อนจะค่อยๆ รู้สึกชุบชูใจที่มีอีกฝ่ายในชีวิต นับเป็นอีกหนึ่งฉากที่บอกเล่าเรื่อง ‘การเลือกครอบครัวด้วยตัวเอง’ ที่ทรงพลังเสียยิ่งกว่าฉากใดในหนังเรื่องนี้เสียอีก
Tags: Screen and Sound, Broker, Hirokazu Koreeda