วันนี้คนมากกว่า 1,000 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่บนโลกสองใบคือ โลกจริง และโลกโซเชียลมีเดีย
บางกรณี ตัวตนของเราบนโลกจริงก็ดูแตกต่างจากตัวตนในโลกโซเชียล ชีวิตประจำวันเราอาจจะเศร้าและมีปัญหา แต่ว่าในโลกโซเชียล ชีวิตเรากลับมีแต่รอยยิ้มและความสำเร็จ
เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า รูปบนโซเชียลคือภาพที่เก็บเพียงเสี้ยววินาทีเมื่อนิ้วเรากดชัตเตอร์ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง และภาพที่เรียงเป็นร้อยในอัลบั้ม ก็เป็นเพียงไม่กี่นาทีของหลายปีในชีวิตจริง
แม้กระนั้นคนจำนวนมากก็ยังคงแอ็กทีฟกับตัวตนบนโซเชียล ยอมสละเวลาจำนวนมหาศาลบนโลกชีวิตจริงให้กับโลกดิจิทัล ถ่ายรูป แต่งรูป และโพสต์รูป เราเคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่าสาเหตุของพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นจากอะไร
คนแต่ละกลุ่มมีวัตถุประสงค์ในการใช้โซเชียลต่างกัน เราจะให้ความสนใจกับพฤติกรรมการโพสต์ประเภท ‘อวด’
‘ทำไมคนถึงชอบ ‘อวด’ ชีวิตให้คนอื่นเห็นในโซเชียล?’
เพื่อตอบคำถามนี้ ‘แคท’ จะแตกคำถามออกเป็น 2 ประเด็น ‘ทำไมเราชอบอวด?’ และ ‘ทำไมต้องในโซเชียล?’
ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ในประเทศฝรั่งเศส ช็อกโกแลตถือเป็นขนมหายาก ราคาแพง เป็นของสำหรับชนชั้นสูง ดังนั้นคนจึงนิยมเสิร์ฟและรับประทานช็อกโกแลตในงานสังคม เพื่อแสดงให้แขกเห็นถึงความมั่งมีของตน
ข้อแรก ทำไมเราถึงอวด
คำตอบคือ เพราะพฤติกรรมการอวดคือสัญชาตญาณที่ฝังอยู่ในสมองของสัตว์สังคม มีประโยชน์ช่วยให้เจ้าของสมองมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นและได้สืบพันธุ์
หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าพฤติกรรมการอวดไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในยุคโซเชียลมีเดีย แต่เป็นพฤติกรรมที่มีมาอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่โซเชียลมีเดียรุ่นแรก อย่าง Classmates.com และ SixDegrees.com ถูกสร้างขึ้นมา
ถอยกลับไป 300 ปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ในประเทศฝรั่งเศส ช็อกโกแลตถือเป็นขนมหายาก ราคาแพง เป็นของสำหรับชนชั้นสูง ดังนั้นคนจึงนิยมเสิร์ฟและรับประทานช็อกโกแลตในงานสังคม เพื่อแสดงให้แขกเห็นถึงความมั่งมีของตน
พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 จะเสวยเครื่องดื่มช็อกโกแลตต่อหน้าข้าราชบริพารในวังทุกเช้า เพื่อแสดงถึงสถานภาพของพระราชาที่สามารถเสวยสินค้าหายากชนิดนี้ได้ทุกวัน ไม่ต่างอะไรกับการที่คนยุคนี้ชอบอวดภาพอาหารหรูหราราคาแพงที่ตนได้รับประทานด้วยการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
ถอยกลับไปไกลขึ้น 500 ปี ในประเทศเยอรมนียุคเรอเนสซองซ์ แม้สมัยนั้นจะยังไม่มีกล้องถ่ายรูป แต่คนที่มีฐานะจะต้องจ้างศิลปินมาวาดรูปตัวเองใส่เสื้อผ้าแฟชั่นราคาแพงลงบนสีน้ำมันไว้ติดโชว์ตามผนังบ้าน
ชายชื่อ มัทเธอุส ชวาร์ซ (Matthäus Schwarz) จ้างศิลปินมาวาดรูปเดี่ยวของตัวเองตั้งแต่รูปเปลือยที่ดูผอมเพรียว ไปจนถึงรูปขณะสวมใส่เสื้อผ้าหรูหรา มัทเธอุสมีภาพเหมือนของตัวเองที่วาดจากสีน้ำถึง 135 ภาพ ปัจจุบันตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์ใน Brunswick พฤติกรรมของเขาไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมคนชอบถ่ายรูปเซลฟี
ย้อนเวลากลับไปไกลยิ่งขึ้นและข้ามทวีปไปแอฟริกา ชาวเผ่าวูดาบี (Wodaabe) คือชนเผ่าหนึ่งของกลุ่มคนฟูลานีที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือทวีปแอฟริกาตั้งแต่ 1,000 ปีก่อน ชาววูดาบีมีประเพณีประกวดความงามผู้ชายเพื่อหาคู่ ชายหนุ่มจะแต่งหน้า ทาสีตามตัว ประดับตนเองด้วยขนนกหายากที่ล่ามาได้ และเต้นโชว์หุ่นที่สวยงามและกำยำให้สาวๆ ดู
ประเพณีการอวดรูปร่างและความสามารถเพื่อหาคู่ของชาวเผ่านี้มีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมการอวดของลิงชิมแปนซีซึ่งแชร์ดีเอ็นเอกับเราถึง 99 เปอร์เซ็นต์
‘การอวด’ คือการแสดงให้เห็นว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น เช่น การแสดงให้เห็นถึงพละกำลัง และเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของสัตว์สังคมเพื่อส่งสัญญาณบอกสมาชิกตัวอื่นในกลุ่มว่าตนเองมีของดี คู่ควรต่อการได้เลื่อนชั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้เป็นจ่าฝูงในกลุ่ม เพราะตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลนี้ มาพร้อมกับรางวัลชีวิต 2 อย่างที่เป็นเป้าหมายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด นั่นคือ อาหาร และการสืบพันธุ์
ค้นหาที่มาของพฤติกรรมในสมองลิง
นักวิจัยพบว่าลิงชิมแปนซีตัวผู้จะโชว์พละกำลังและนำผลไม้หายาก เช่น มะละกอและสับปะรดมาอวดโชว์ลิงตัวเมีย แสดงถึงความสามารถและสถานภาพอันอุดมสมบูรณ์ของตน ตัวผู้ที่โชว์และแบ่งผลไม้มากสุดจะได้รับความสนใจและการดูแลช่วยทำความสะอาดจากตัวเมียมากกว่าตัวอื่น
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ‘การอวด’ ไม่ใช่พฤติกรรมแปลกใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมาในยุคโซเชียลมีเดีย แต่เป็นอุปนิสัยโดยธรรมชาติของสัตว์สังคม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมรักการอวดน่าจะต้องมีความสำคัญและประโยชน์อะไรบางอย่าง จึงได้ถูกคัดเลือกมาเป็นกลไกที่ฝังอยู่ในสมองของสัตว์สังคม
สัตว์สังคมอยู่รวมเป็นกลุ่ม เพราะการอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะมีข้อดีคือ ช่วยปกป้องสัตว์ให้ปลอดภัยจากผู้ล่า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการล่าเหยื่อที่ตัวใหญ่และมีโปรตีนมาก
ในขณะเดียวกันการอยู่เป็นกลุ่มก็มีข้อเสีย เพราะเมื่อล่าเหยื่อได้อาหารก้อนใหญ่มาแล้ว หรือเมื่อถึงฤดูผสมพันธ์ุ การมีพรรคพวกในกลุ่มเยอะก็หมายถึงการต้องแก่งแย่งกัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากได้อาหารส่วนที่อร่อยที่สุดก่อน ได้ผสมพันธุ์กับคู่ที่เจริญพันธุ์ที่สุดก่อน ไม่มีใครอยากแบ่งใคร เพราะในอดีตกาลอาหารและพันธุกรรมที่ดีเยี่ยมตามธรรมชาติเป็นของหายาก
คำถามคือแล้วใครที่ควรจะได้กินอาหารและผสมพันธุ์ก่อน?
เมื่อภาวะธรรมชาตินำไปสู่การจัดระเบียบสังคมและแบ่งชนชั้น
เมื่อต้องแก่งแย่งกันในกลุ่ม ทำให้ระบบการแบ่งชั้นวรรณะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเมื่อทุกตัวรุมแย่ง ตัวที่แข็งแรงกว่าจะเบียดและกันตัวที่อ่อนแอกว่าออกจากอาหารและตัวเมียที่กำลังเจริญพันธุ์
หากเราได้มีโอกาสไปสำรวจลิงที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในป่า เราจะพบว่าลิงจำนวนมากมีรอยเล็บตามตัว มีแผลเป็น หูขาด ฟันหัก เป็นร่องรอยที่ถูกสมาชิกที่แข็งแรงกว่าในกลุ่มทำร้าย ลิงที่รอดมาคือลิงอ่อนแอที่รู้จักหลบ และปล่อยให้ตัวที่ใหญ่กว่าหรือจ่าฝูง (Alpha) เข้าไปกินให้อิ่มก่อน ผสมพันธุ์ก่อน พฤติกรรมการรู้จักเปรียบเทียบและเห็นตำแหน่งของตัวเองและสมาชิกในกลุ่ม เราเรียกในภาษามนุษย์ว่าการแบ่งชนชั้นทางสังคม
‘การอวด’ คือการแสดงให้เห็นว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น เช่น การแสดงให้เห็นถึงพละกำลัง และเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของสัตว์สังคมเพื่อส่งสัญญาณบอกสมาชิกตัวอื่นในกลุ่มว่าตนเองมีของดี คู่ควรต่อการได้เลื่อนชั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้เป็นจ่าฝูงในกลุ่ม เพราะตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลนี้ มาพร้อมกับรางวัลชีวิต 2 อย่างที่เป็นเป้าหมายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด นั่นคือ อาหาร และการสืบพันธุ์
สถานภาพทางสังคมและปริมาณความสุข ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่มนุษย์ใช้เปรียบเทียบและตัดสินว่าตัวเรายืนอยู่ในจุดที่ดีหรือจุดที่ตกต่ำเมื่อเทียบกับคนในสังคมเดียวกัน
รูป 7 หมวด อวดความสุข
เข้าใจถึงเหตุผลการอวดของสัตว์แล้ว ทีนี้เรามาคุยถึงพฤติกรรมอวดของมนุษย์กันบ้าง แคทจัดหมวดการอวดยอดนิยมในโซเชียลที่ทำโดยการโพสต์รูปถ่ายออกเป็น 7 หมวดดังนี้
1) รูปถ่ายอาหาร
2) รูปถ่ายกับกลุ่มเพื่อน
3) รูปถ่ายสัตว์เลี้ยง
4) รูปถ่ายสถานที่ที่เราอาศัยอยู่
5) รูปถ่ายปาร์ตี้
6) รูปที่ถ่ายตัวเอง (หรือเซลฟี)
7) รูปถ่ายกับคนรักหรือสมาชิกครอบครัว
คำถามต่อไปคือ รูปถ่ายทั้ง 7 หมวดนี้ สื่อสารถึงอะไรที่เหมือนกัน?
คำตอบคือ รูปทั้ง 7 หมวดล้วนสื่อสารให้คนดูเห็นถึงสถานภาพทางสังคมของเจ้าของรูป และปริมาณความสุขในชีวิต
สถานภาพทางสังคมและปริมาณความสุข ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่มนุษย์ใช้เปรียบเทียบและตัดสินว่าตัวเรายืนอยู่ในจุดที่ดีหรือจุดที่ตกต่ำเมื่อเทียบกับคนในสังคมเดียวกัน พูดง่ายๆ คือ เป็น scale หรือมาตราวัดประเภทหนึ่งที่ใช้แบ่งแยกชนชั้น เหมือนที่ลิงและหมาป่าใช้พละกำลังเป็นเครื่องวัดการแบ่งแยกความเป็นใหญ่ในฝูง
รูปภาพที่แสดงให้เห็นถึงสถานะและความสุข จึงเป็นวิธีการสื่อสารให้คนรอบตัวรับรู้ว่าเจ้าของภาพยืนอยู่ในจุดสูงของสังคม
มาตราวัดของสัตว์รักสังคม
มาตราวัดในสังคมมนุษย์ ดูเผินๆ เหมือนว่าหลากหลาย มีถึง 7 หมวดหมู่ด้วยกัน แต่เบื้องหลังความซับซ้อนนี้คือสัญชาตญาณพื้นฐานที่ไม่ต่างจากลิงไพรเมตและสัตว์สังคมชนิดอื่น
เหตุผลที่มนุษย์เราดูมีมาตราวัดที่ซับซ้อน นั่นเป็นเพราะความสามารถทางภาษาของเราที่ล้ำหน้ากว่าสัตว์ชนิดอื่น
มนุษย์มีความสามารถมองเห็นกระดาษที่เรียกว่า ‘เงิน’ และตีความหมายได้ว่า เงิน หมายถึงแหล่งอาหารและความมั่นคง เพราะปัจจุบันเราใช้เงินซื้ออาหารและบ้านที่แข็งแกร่งปลอดภัย
สมองมนุษย์ยังตีความอีกด้วยว่า ‘ความสุข’ เกิดขึ้นเมื่อคนคนหนึ่งมีชีวิตที่ดี หรือยืนอยู่ในสถานภาพที่ดีในสังคม
ดังนั้นรูปภาพทั้ง 7 หมวด ที่แสดงให้เห็นถึงสถานะและความสุข จึงเป็นวิธีการสื่อสารให้คนรอบตัวรับรู้ว่าเจ้าของภาพยืนอยู่ในจุดสูงของสังคม
แม้ว่าเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเราทำพฤติกรรมการโพสต์รูปเหล่านี้ไปเพื่ออะไร แต่การศึกษาสมองของสัตว์สังคมและบรรพบุรุษของเราช่วยให้เราเข้าใจว่า
พฤติกรรมการโพสต์นี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองสัญชาตญาณส่วนลึกที่ต้องการจะอยู่รอดและสืบพันธุ์ค่ะ
ความพิเศษของโซเชียลมีเดีย
มาถึงคำถามที่สอง “ทำไมต้องโพสต์ในโซเชียล” เราจะตอบคำถามนี้กันอย่างรวดเร็ว
นั่นก็เพราะโซเชียลมีเดียช่วยอำนวยความสะดวกในการโชว์ของดี 3 ประการ
1. โซเชียลช่วยให้เราอวดได้อย่างประหยัดพลังงาน
เพราะทุกวันนี้ แม้กระทั่งคนที่ขี้เกียจออกไปข้างนอกที่สุด หรือคนที่อยู่ในสายงานที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอคน ก็สามารถทำการแชร์และอวดสถานะของตนได้ไม่แพ้คนที่ชอบเข้าสังคม เพียงกระดิกนิ้วกดปุ่มโพสต์ ไม่ต้องขับรถออกไปหาเพื่อน ไม่ต้องส่งการ์ดเชิญแบบสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ให้คนมาหาถึงบ้าน เพื่อมาดูรูปสีน้ำและสมบัติในท้องพระโรงอีกต่อไป
2. โซเชียลช่วยประหยัดเวลาในการอวด
ในยุคก่อน หากมีเพื่อน 3 กลุ่ม ก็ต้องไปเจอ 3 รอบเพื่อเล่าเรื่องเดียวซ้ำกัน แต่ปัจจุบันนี้ โพสต์ครั้งเดียว จะมีคนจำนวนมหาศาลที่อยู่ในเครือข่ายได้เห็นพร้อมกันในครั้งเดียว นอกจากนี้การตอบรับก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันใจ เพียง 2 นาทีผู้อวดก็จะได้รับการตอบสนองจากเพื่อนที่ส่ง like และข้อความต่างๆ เข้ามาไม่ขาดสาย
3. โซเชียลมอบเครื่องมือที่เพิ่มศักยภาพการอวด
เพราะแอปฯ แต่งภาพที่ผูกติดมากับโซเชียลมีเดียช่วยให้เราเปลี่ยนรูปทรงหรือแต่งเติมสีสันของสิ่งที่เรากำลังต้องการนำเสนอให้คนเห็น เช่น ใบหน้าของเรา รูปร่างและสีผิวของเรา อาหารรสเลิศล้ำของเรา ซูเปอร์คาร์ราคาแพงของเรา และอื่นๆ ที่เป็นของของเราที่เราคิดว่าน่าอวด เพราะจะเป็นการเพิ่มสถานภาพของเราให้ดูดีขึ้น เป็นที่ต้องการมากขึ้น
คนที่คิดค้นเครื่องมือโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ได้มีจุดประสงค์เหล่านี้ในใจตอนสร้างเครื่องมือเหล่านี้ แต่ด้วยเป้าหมายว่าอยากให้เว็บทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้คนสามารถสื่อสารกันได้ สื่อเหล่านี้จึงมีการทำงานที่อำนวยความสะดวกให้คนได้แสดงออกพฤติกรรมชอบโชว์ของดี ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มนุษย์ทำอยู่แล้วแต่เดิม
การอวดเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมการอยู่รอดและการสืบพันธุ์ ทำให้เรารู้สึกดีและอิ่มอกอิ่มใจกับทุกครั้งที่ได้ทำ
ไม่มีถูกผิด สมองเพียงคิดตามสัญชาตญาณ
ดังนั้นบทสรุปของคำถามที่ว่า ‘ทำไมเราชอบอวดชีวิตของเราให้คนอื่นเห็นในโซเชียล?’ นั่นก็เพราะการอวดเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมการอยู่รอดและการสืบพันธุ์ ทำให้เรารู้สึกดีและอิ่มอกอิ่มใจกับทุกครั้งที่ได้ทำ และเราก็นิยมทำบนโซเชียลเป็นพิเศษ เพราะว่าง่าย สะดวก ประหยัดเวลา และพลัง
แคทขอจบบทความตรงนี้โดยย้ำว่าพฤติกรรมการอวดไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ การอวดมีมานานแล้วข้ามยุคสมัย สำหรับตัวแคท พฤติกรรมการอวดไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด แต่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์สังคม
และโซเชียลมีเดียก็เปรียบเสมือนแว่นขยายที่ทำให้เราได้ประจักษ์ถึงความรุนแรงของสัญชาตญาณนี้ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในตัวเรานั่นเองค่ะ
ภาพประกอบ: Eddy Chang
Tags: happy, Self-Help, แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน, อวด, โซเชียลมีเดีย