คาสซิม โจมาร์ต โตกาเยฟ (Kassym-Jomart Tokayev) ประธานาธิบดีคาซัคสถาน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น หลังจากการลงประชามติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสียงตอบรับในแง่บวกจากประชาชนอย่างล้นหลาม
หลังจากเตรียมการเป็นเวลาเกือบครึ่งปี ประชาชนชาวคาซัคสถานได้ออกไปใช้สิทธิลงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน 2022 ซึ่งในวันถัดมา คณะกรรมการการเลือกตั้งคาซัคสถาน (Central Election Commission) ได้ประกาศว่า มีผู้เข้าลงประชามติกว่า 68.06 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ โดย 77.18 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมเห็นชอบกับแผนการปฏิรูปของโตกาเยฟ ที่มีเป้าหมายเพื่อลบล้างระบอบเผด็จการของอดีตประธานาธิบดี นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev)
“พวกเราพร้อมที่จะสร้างคาซัคสถานที่ทันสมัย และมีความยุติธรรม เราต้องจัดการกับกฎหมายที่อนุญาตให้คนเพียงบางกลุ่มมีสิทธิ์ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และได้รับสิทธิพิเศษเหนือจากคนธรรมดา” โตกาเยฟกล่าว
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองของคาซัคสถานในหลายด้าน เช่น ลดอำนาจประธานาธิบดี ออกกฎห้ามไม่ให้สมาชิกครอบครัวของประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ กระจายอำนาจการปกครอง ปฏิรูประบบรัฐสภา และจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะริบตำแหน่ง ‘เอลบาซี’ (Elbasy) หรือผู้นำแห่งชาติ จากนาซาร์บาเยฟ
อนึ่ง นาซาร์บาเยฟปกครองคาซัคสถานด้วยระบอบเผด็จการ นับตั้งแต่เขาขึ้นเถลิงอำนาจเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศในปี 1991 รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือทางการเมืองชิ้นสำคัญของเผด็จการคนนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมของคาซัคสถานที่นาซาร์บาเยฟและพวกพ้องเป็นคนร่างนั้น เอื้อให้นาซาร์บาเยฟสามารถรักษาฐานอำนาจ แทรกแซงการเลือกตั้ง และควบคุมฝ่ายค้านได้อย่างเต็มที่
การมอบตำแหน่งเอลบาซีให้นาซาร์บาเยฟถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของรัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ผู้ถือตำแหน่งเอลบาซีนั้นมีสิทธิ์ขาดในการแทรกแซงการบริหารประเทศ และการออกนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่านาซาร์บาเยฟจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2019 และเปิดทางให้โตกาเยฟขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เขาก็ยังสามารถควบคุมการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ของคาซัคสถานจากเบื้องหลังได้อยู่ตลอด ถึงระดับที่ว่า ระหว่างปี 2019 ถึงปี 2022 โตกาเยฟถูกมองว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดของนาซาร์บาเยฟและพวกพ้อง
การริบยศดังกล่าวของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะช่วยให้คาซัคสถานเอาชนะระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) และพวกพ้องนิยม (Cronyism) ของนาซาร์บาเยฟที่ฝังรากมานานกว่า 30 ปี และพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้
“มันชัดเจนแล้วว่ายุคแห่ง ‘เอลบาซี’ กำลังถึงกาลอวสาน” นักวิเคราะห์การเมือง กาซิส อบิเชฟ (Gaziz Abishev) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP
การปฏิรูปของโตกาเยฟเป็นผลสืบเนื่องจากการประท้วงในคาซัคสถานเมื่อเดือนมกราคม 2022 ที่ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 200 ราย โดยโตกาเยฟชี้ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของคาซัคสถานที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งกล่าวหานาซาร์บาเยฟว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศ ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา โตกาเยฟได้ทำการกวาดล้างนักการเมืองและข้าราชการที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลของระบอบเก่า (ระบอบนาซาร์บาเยฟ) พร้อมทั้งประกาศถึงความต้องการการแก้ไขรัฐธรรมนูญของตนแก่สาธารณชน
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปิดรับการปฏิรูปครั้งนี้ด้วยความเต็มใจ นักวิชาการและประชาชนบางส่วนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นเพียงกลอุบายที่โตกาเยฟใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง และวางรากฐานสำหรับระบอบการเมืองใหม่ที่มีเขาเป็นศูนย์กลาง
“มันคือเครื่องมือที่นักการเมืองใช้เพื่อสร้างฐานอำนาจให้กับรัฐบาลของตน มันไม่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก” โบลัต (Bolat) นักธุรกิจวัย 46 ปี ชาวคาซัคสถาน แสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปและการทำประชามติของโตกาเยฟ กับสำนักข่าว France24
Tags: Report, เผด็จการ, ประชาธิปไตย, คาซัคสถาน