วันนี้ (1 มิถุนายน 2565) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อสัดส่วนผู้มีความหลากหลายทางเพศ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงเทศกาลสำคัญของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ทั่วโลกถูกกำหนดให้เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปีที่เรียกว่า ‘Pride Month’ ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ในเดือนนี้ LGBTQ+ ทั่วโลกจะออกมายืนยันจุดยืนของตัวเองและแสดงตัวตนเพื่อสื่อสารกับสังคม พวกเขาจะไม่เก็บ ไม่กด ไม่อายกับสิ่งที่ตัวเองเป็น และไม่ใช่แค่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ทุกคนสามารถมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการสร้างความเข้าใจว่ายังคงมี LGBTQ+ อีกมากที่ถูกผลักออกจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก ถูกเขียนโดยโลกชายเป็นใหญ่ที่ส่งผลให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน
ธัญวัจน์กล่าวต่อว่า สังคมที่กดขี่ อคติ และเลือกปฏิบัติทางเพศ ทำให้เกิดเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ในวันที่ 28 มิถุนายน 2512 นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในนครนิวยอร์ก, ลอสแอนเจลิส, ซานฟรานซิสโก และชิคาโก สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยก็มี ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ เหตุการณ์ที่สร้างความรุนแรงต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยับยั้งการจัดงานพาเหรด ‘Gay Pride’ ในจังหวัดเชียงใหม่ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว และคนเชียงใหม่ก็ยังคงจัดงานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวทุกปี
“ในฐานะผู้แทนราษฎร ขอแจ้งว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่คณะรัฐมนตรีขอเวลา 60 วันเพื่อไปศึกษา จากกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะกลับเข้าสู่การพิจารณาในสภาอีกครั้งวันที่ 8 มิถุนายนนี้ การสมรสคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกพรากไป หวังว่าผู้แทนราษฎรทุกท่านจะโหวตเห็นด้วยในการรับร่าง ขอให้ทุกท่านอย่ามองเป็นเรื่องพรรคการเมืองแต่เป็นเรื่องของทุกคน”
ธัญวัจน์กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของเดือนมิถุนายนว่า ก่อนหน้านี้เคยยื่น ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และวันที่ 8 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันที่ร่างดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง การรอคอยตลอดระยะเวลา 720 วัน ไม่ใช่แค่เขาเท่านั้นที่รอ แต่หมายถึงประชาชนคนไทยผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกจำนวนมากที่กำลังรอคำตอบจากรัฐบาลอยู่เช่นกัน และพวกเขาต้องการเพียงแค่เห็นว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นในสังคมไทย