การออมเพื่อการเกษียณ เป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น เพราะประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคาดว่าในปี 2020  จะมีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วน 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ* ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมีเงินออมเพื่อใช้ในการเกษียณไม่มาก

การออมเงินเป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละคน แต่หากคนส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอใช้จ่าย ย่อมเป็นปัญหาของสังคมและประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน มีคนที่เข้าสู่ระบบการออมเพียง 15 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ออมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ให้คำตอบว่า ควรมีเงินเท่าใดถึงเพียงพอต่อการใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ และมีตัวเลขหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง คือ ‘หลังเกษียณต้องมีเงินอย่างน้อยสี่ล้านบาท’
เงินสี่ล้านบาทถือเป็นจำนวนเงินที่มากสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ อาจไม่คิดจะฝันถึงเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้  (บัญชีเงินฝากธนาคารกว่า 98 เปอร์เซ็นต์เป็นบัญชีที่มีเงินฝากน้อยกว่าหนึ่งล้านบาท)

แต่รู้หรือไม่ว่า เงินสี่ล้านบาทนี้ อาจไม่ใช้เงินก้อนใหญ่ที่จะทำให้เราอยู่อย่างสุขสบาย หากแต่เป็นเงินก้อนที่เราพออยู่ได้อย่างไม่ลำบากมากนักเท่านั้นเอง

เงินก้อนสี่ล้านบาทนั้น มีที่มาจากหลักคิดเบื้องต้นที่ว่า ถ้าหลังเกษียณจากการทำงานแล้ว เราต้องการใช้เงินใช้วันละ 500 บาท (เดือนละ 15,000 บาท) เป็นเวลาอีก 20 ปี (240 เดือน) แปลว่าเราต้องมีเงินก้อนเท่ากับ 15,000 x 240 = 3,600,000 บาทเพื่อรองรับการใช้จ่าย

 

บัญชีเงินฝากธนาคารกว่า 98 เปอร์เซ็นต์เป็นบัญชีที่มีเงินน้อยกว่าหนึ่งล้านบาท

สี่ล้านบาทนั้นเป็นเงินที่ไม่น้อยเลย เมื่อวิเคราะห์กันโดยละเอียดแล้ว เงินก้อนใหญ่ก้อนนี้กลับไม่ใช่เงินมากมายอะไร เนื่องจาก

1. เงินจำนวน 500 บาทต่อวัน เป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ใช้ในการดำเนินชีวิต ดังนั้นผู้ที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเองหรือยังต้องใช้รถยนต์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจต้องมีเงินจำนวนมากกว่านี้เพื่อเป็นค่าเช่าบ้านหรือค่าบำรุงรักษารถยนต์

2. เงินจำนวน 500 บาทต่อวัน ยังต้องใช้สำหรับการใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเมื่ออายุเข้าสู่วัยชรา มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยบ่อยครั้งกว่าตอนเป็นหนุ่มสาว บางคนอาจเลือกที่จะรักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐที่ค่ารักษาไม่แพง แต่สำหรับคนที่เคยมีประกันสุขภาพและคุ้นเคยกับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน บริษัทประกันส่วนใหญ่ก็จะให้ทำประกันสุขภาพจนถึงช่วงอายุหนึ่งเท่านั้น เช่น 65 ปี และอาจมีค่าเบี้ยประกันที่ค่อนข้างแพง จึงอาจต้องปรับตัวมารักษาในโรงพยาบาลของรัฐ หรืออาจต้องต้องเตรียมเงินมากขึ้น

3. เงินจำนวน 300-500 บาทต่อวัน เพียงพอต่อค่าอาหารสามมื้อ หากคิดแบบการกินอยู่แบบประหยัด ค่าอาหารที่ประมาณ 40 บาทต่อมื้อ วันหนึ่งรวมกัน 120 บาท ทำให้เหลือเงินต่อวัน 380 บาทเพื่อไปทำอย่างอื่น แต่ราคาอาหารที่มื้อละ 40 บาทนั้นเป็นราคาปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตจะสูงกว่านี้มากจากผลของเงินเฟ้อ กล่าวคือ ถ้าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อีก 20 ปีข้างหน้า ราคาอาหารจะเท่ากับมื้อละ 72 บาท เท่ากับว่าราคาอาหารสามมื้อในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเท่ากับ 216 บาทต่อวัน ทำให้เหลือเงินต่อวันเพียง 284 บาทเพื่อไปทำอย่างอื่น (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะราคาแพงขึ้นเช่นกัน) และยิ่งหากเงินเฟ้อระยะยาวเท่ากับ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ราคาอาหารจะเท่ากับมื้อละ 106 บาทในอีก อีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้แทบจะไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่น

 

คงไม่มีใครหวังว่า เมื่อเกษียณจากการทำงานแล้ว จะต้องมาอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่ได้ไปไหน  (เพราะเงินไม่พอ)

4. เงินจำนวน 500 บาทต่อวัน ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่ไหนด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างหนึ่ง เพราะคงไม่มีใครหวังว่า เมื่อเกษียณจากการทำงานแล้ว จะต้องมาอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่ได้ไปไหน (เพราะเงินไม่พอ)

5. เงินจำนวน 500 บาทต่อวัน จะถูกใช้หมดเมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี ดังนั้นผู้ที่มีสุขภาพดีและอายุยืนกว่าคนอื่น หากเตรียมเงินไว้ไม่มากพอ อาจจะประสบความยากลำบากอย่างมากในช่วงบั้นปลายชีวิตก็ได้

ทั้งห้าข้อนี้ทำให้เราเห็นว่า เงินสี่ล้านบาทเป็นเงินก้อนใหญ่ที่เราควรจะต้องมีก็จริง แต่ถ้าอยากมีชีวิตที่สุขสบายหลังจากที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต เช่น ได้กินอาหารที่มีคุณภาพเป็นบางครั้ง ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีโดยไม่ต้องรอคิวครึ่งค่อนวัน ตลอดจนได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศตามสมควร เราจะต้องเตรียมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณไว้มากกว่าสี่ล้านบาทอีกพอสมควร

หรือไม่เช่นนั้น ก็คงต้องภาวนาให้ลูกหลานเติบโตขึ้นมาแล้วมีทั้งเงินและเวลามากพอที่จะแบ่งปันทั้งเงินและเวลาส่วนหนึ่งมาดูแลเราได้ และต้องไม่ลืมว่า ลูกหลานของเราแต่ละคนต่างก็มีภาระหน้าที่ของตัวเอง และที่สำคัญที่สุดคือ เขาเหล่านั้นก็ยังต้องเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้เพื่อใช้ในอนาคตยามเกษียณของตัวเขาเองเช่นกัน

 

 

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

 

อ้างอิง:
*  ข้อมูลจากสหประชาชาติ

Tags: , , ,