คุณผู้อ่านเคยได้ยินตำนานของชาวกรีกโบราณเกี่ยวกับนางแพนโดรา (Pandora) และกล่องของเธอไหมครับ

เรื่องราวมีอยู่ว่า นางแพนโดราเป็นมนุษย์ผู้หญิงคนแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยมือของพระเจ้าเฮฟเฟสตุส (Haphaestus) จากคำสั่งของพระเจ้าซุส (Zeus) เพื่อแก้แค้นโพรมีเทียส (Prometheus) ที่ขโมยไฟจากภูเขาโอลิมปัสไปให้เป็นของขวัญแก่มนุษย์บนโลก

แต่การแก้แค้นที่แท้จริงของพระเจ้าซุส ไม่ใช่การส่งนางแพนโดรามาบนโลกมนุษย์ แต่คือการส่งกล่องที่ข้างในมีแต่ความหายนะต่างๆ นานามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือแม้แต่ตั๊กแตนเป็นล้านๆ ตัวที่จะมากินผลผลิตทางเกษตรกรรมตามลงไปกับแพนโดราด้วย

แพนโดราซึ่งไม่รู้ว่าข้างในกล่องมีอะไรได้รับกล่องใบนั้นไว้ พร้อมกับคำสั่งจากโพรมีเทียสว่า

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ห้ามเปิดกล่องนี้ดูอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้นมนุษยชาติจะต้องประสบกับภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวง”

แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของแพนโดรา (ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่พระเจ้าซุสคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นแล้ว) วันหนึ่งเธอจึงแอบเปิดกล่องเพื่อดูว่าข้างในมีอะไรกันแน่ ทำไมโพรมีเทียสถึงไม่ให้เธอเปิด ซึ่งก็ส่งผลให้ความเลวร้ายต่างๆ นานาที่ถูกพระเจ้าซุสกักขัง ออกมาสร้างความหายนะให้กับโลกมนุษย์

 

ความอยากรู้อยากเห็นของคน

นิยายของแพนโดราสอนให้เรารู้ว่าความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) ของคนเรานั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะถ้าเรารู้อยู่แล้วว่า ถึงรู้ไปก็มีแต่จะเสียใจหรือมีแต่สิ่งที่เลวร้ายตามมา (ก็เหมือนกับคำที่นิยมพูดในภาษาอังกฤษที่ว่า ‘curiosity kills the cat’ นั่นเอง)

คำถามก็คือ พฤติกรรมที่นักจิตวิทยาเรียกกันว่า The Pandora Effect นั้นมีความเป็นจริงแค่ไหนกัน

ในการพิสูจน์ The Pandora Effect นี้ คริสโตเฟอร์ ชี (Christopher Hsee) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก และโบเวน รวน (Bowen Ruan) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ทำการสุ่มคนมาทำการทดลองในห้องแล็บ หลังจากนั้นพวกเขาทั้งสองก็แยกกลุ่มคนเหล่านี้ออกเป็นสองกลุ่มและเริ่มทำการทดลอง

 

ในตอนเริ่มการทดลอง ทั้งสองคนได้แกล้งบอกกับคนทั้งสองกลุ่มว่า

“ผมอยากจะให้คุณนั่งรอกันตรงนี้ก่อนเริ่มการทดลองของเรานะครับ ระหว่างการนั่งรอคุณก็จะเห็นว่าบนโต๊ะข้างหน้าของคุณนั้นมีปากกาวางอยู่ 10 ด้าม ซึ่งถูกวางเอาไว้หลังจากการทดลองของอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทดลองของคุณเลย คุณจะกดมันเล่นแก้เซ็งก็ได้ในระหว่างที่กำลังรอการเริ่มการทดลองของเรา อันนี้แล้วแต่คุณนะครับ แต่ถ้าคุณกดเล่นแล้วช่วยกรุณาเอาปากกาไปวางไว้ในอีกกล่องหนึ่ง เพราะปากกานั้นเราไม่สามารถใช้กับการทดลองในอนาคตได้แล้วนะครับ”

หลังจากนั้นพวกเขาก็บอกกับคนในกลุ่มแรกว่า “ใน 10 ด้ามนี้ คุณจะเห็นว่า 5 ด้ามมีสติกเกอร์สีเขียวอยู่ ส่วนอีก 5 ด้ามนั้นมีสติกเกอร์สีแดงอยู่ ถ้าคุณกดปากกาที่มีสติกเกอร์สีแดง คุณจะเจอไฟฟ้าอ่อนๆ ช็อตเอานะครับ ซึ่งค่อนข้างจะเจ็บพอสมควรนะครับ ส่วนปากกาที่มีสติกเกอร์สีเขียวนั้นไม่มีอะไรซ่อนอยู่นะครับ”

ส่วนกลุ่มที่สองนั้นได้รับคำสั่งที่แตกต่างดังนี้ “ใน 10 ด้ามนี้ 5 ด้ามจะมีไฟฟ้าอ่อนๆ ซ่อนอยู่นะครับ ถ้ากดลงไปคุณจะเจอไฟฟ้าอ่อนๆ ช็อตเอานะครับ ซึ่งค่อนข้างจะเจ็บพอสมควร”

พูดง่ายๆ ก็คือคนในกลุ่มแรกรู้เป็นที่แน่นอนว่าปากกาด้ามไหนมีไฟช็อต (certainty) ส่วนคนในกลุ่มที่สองนั้นไม่รู้ (uncertainty)

 

คุณว่ากลุ่มไหนจะกดปากกามากกว่ากัน?

 

ตามปรีชาญาณนั้นเราอาจจะคิดว่าคนในกลุ่มแรกน่าจะกดปากกาเพื่อเป็นการแก้เซ็งในจำนวนที่มากกว่ากลุ่มที่สอง นั่นเป็นเพราะคนในกลุ่มแรกนั้นรู้ว่าปากกาด้ามไหนมีไฟฟ้าซ่อนอยู่ (นั่นก็คือปากกาที่มีสติกเกอร์สีเขียวสีแดง 5 ด้ามนั่นเอง) พวกเขาจึงสามารถหลีกเลี่ยงการกดปากกาเหล่านี้ได้ ส่วนคนในกลุ่มที่สองนั้นไม่รู้ว่าปากกาห้าด้ามไหนมีไฟฟ้าซ่อนอยู่ เพราะฉะนั้นจะเสี่ยงกดไปทำไม

แต่ในการทดลองจริงๆ นั้น การที่มีความไม่แน่นอน หรือ uncertainty ว่าปากกา 5 ด้ามไหนมีไฟฟ้าซ่อนอยู่ ทำให้คนในกลุ่มที่สองมีความอยากรู้ว่า เอ๊ะ! แล้วมันด้ามไหนกันนะที่ไม่ควรกด

จึงทำให้จำนวนปากกาที่ถูกกดในกลุ่มที่สอง (= 5.11 ด้าม) มีมากกว่าจำนวนปากกาที่ถูกกดในกลุ่มที่หนึ่งเกือบเท่าตัว (= 3.04 ด้าม)

 

รู้ทั้งรู้ แต่ก็ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย

การทดลองของคริสโตเฟอร์ ชี และโบเวน รวน ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์มากขึ้นว่

ในกรณีที่มีความไม่แน่นอน (uncertainty) เข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่ารู้ไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา แถมการรู้ยังทำให้เราเจ็บหรือเสียใจ แต่ด้วยความที่เราอยากขจัดความไม่แน่นอนให้หมดไป จึงทำให้เกิดเป็นความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาในใจของเราอย่างช่วยไม่ได้

และด้วยเหตุผลนี้เองทำให้คนเราอยากรับรู้รายละเอียดของข่าวร้ายๆ อย่างเช่น รายละเอียดของการที่แฟนนอกใจ หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ มากกว่าเลือกที่จะไม่รู้

ทั้งๆ ที่เรารู้อยู่แก่ใจว่า ถ้ารู้รายละเอียดแล้ว ความเสียใจจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 

อ่านเพิ่มเติม  
Hsee, C.K. and Ruan, B., 2016. The Pandora Effect: The Power and Peril of Curiosity. Psychological Science, 27(5), pp.659-666.

Tags: , , ,