คงไม่มีชาติไหนในโลกนี้อีกแล้ว ที่มี ‘ไส้กรอก’ เป็นอาหารขึ้นชื่อและมีความหลากหลายเท่าเยอรมนี คนไทยเราอาจคุ้นเคยกับไส้กรอกเยอรมันอยู่บ้าง หากไม่ใช่ตามผับ บาร์ หรือโรงเบียร์ ก็สามารถพบเห็นได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต หน้าตาเป็นไส้กรอกที่เราอาจเคยเห็นจากเมนู ‘ไส้กรอกรวม’ แต่นั่นเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ เท่านั้น

ในเยอรมนีมีไส้กรอกหลากหลายและแตกต่างกันถึง 1,500 ชนิด ชาวเยอรมันบริโภคไส้กรอกเฉลี่ยต่อคนราว 30 กิโลกรัมต่อปี รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 2.5 ล้านตัน แค่นี้คงเป็นเหตุเพียงพอที่จะสรุปว่า เยอรมันเป็นชนชาติที่ชอบกินไส้กรอก

และต่อไปนี้คือ ไส้กรอก 10 ชนิดที่ชาวเยอรมันนิยมชมชอบรับประทานที่สุด…

1. บราตวัวร์สต์ (Bratwurst)

เฉพาะบราตวัวร์สต์อย่างเดียว ในเยอรมนีก็มีมากกว่า 50 ชนิดแล้ว แตกต่างกันตั้งแต่ขนาด รูปลักษณ์ ไปจนถึงส่วนผสมที่ให้รสชาติ Brat ในภาษาเยอรมัน ซึ่งมาจากคำกิริยา braten ซึ่งแปลว่า ทอด อบ หรือย่าง แต่ชื่อดั้งเดิมของไส้กรอกชนิดนี้มาจากภาษาเยอรมันโบราณ Brät หมายถึง เนื้อสับอย่างดี

2. เนิร์นแบร์เกอร์ (Nürnberger)

ไส้กรอกจากเมืองเนิร์นแบร์ก (หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Nuremberg) เป็นที่จดจำง่ายตรงขนาด ซึ่งเล็กประมาณนิ้วมือ มีประวัติความเป็นมาย้อนหลังไปถึงปี 1313 ตามธรรมเนียมดั้งเดิมมักนำมาย่างไฟ เสิร์ฟคราวละหกชิ้น พร้อมๆ กับเซาแอร์เคราต์ (Sauerkraut) ที่คล้ายผักกาดดอง มันฝรั่ง และมัสตาร์ดที่ข้างจาน

3. เคอร์รีวัวร์สต์ (Currywurst)

เคอร์รีวัวร์สต์เป็นชื่อเมนูไส้กรอก ที่มีการบริโภคกันในเยอรมนีต่อปีมากกว่า 800 ล้านชิ้น มีขายในทุกเมืองตามซุ้มขายอาหารประเภทฟาสต์ฟูด เป็นไส้กรอกต้มหรือทอด ราดด้วยซอสมะเขือเทศ และโรยผงกะหรี่ มีต้นกำเนิดในเบอร์ลินยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแฮร์ตา ฮอยแวร์ (Herta Heuwer) เป็นคนคิดสูตร เป็นเมนูคลาสสิกถึงขนาดว่ามีพิพิธภัณฑ์เคอร์รีวัวร์สต์ในเบอร์ลินด้วย

4. ไวส์วัวร์สต์ (Weisswurst)

ชื่อของมันหมายถึง ไส้กรอกสีขาว เป็นไส้กรอกเนื้อลูกวัวสไตล์บาวาเรียน ที่ไม่ใส่ทั้งสารกันบูดหรือรมควัน จึงเป็นไส้กรอกที่ต้องรับประทานขณะยังสดใหม่ในแต่ละวัน ชาวเยอรมันท้องถิ่นจะแนะนำให้รับประทานไวส์วัวร์สต์ก่อนเสียงระฆังโบสถ์จะดังในตอนบ่าย ส่วนวิธีรับประทาน จะใช้ปากดูดเนื้อไส้กรอกข้างในจากผิวก็ได้ หรืออยากจะดูดีกว่านั้น ให้ใช้มีดผ่ากลางไส้กรอก แล้วใช้ส้อมจิ้มเนื้อลอกจากผิวของมัน

5. บลูตวัวร์สต์ (Blutwurst)

ไส้กรอกเลือด ปกติแล้วจะทำจากเลือดหมูและเบคอน ผ่านกรรมวิธีการปรุงสุกแล้ว จึงสามารถรับประทานได้ทันทีหรือนำไปปรุงร้อน ในบางรัฐของเยอรมนีมีการนำไส้กรอกเลือดไปปรุงแต่ง มีชื่อเรียกแตกต่างออกไป เช่นในไรน์แลนด์มี ‘Himmel und Erde’ (ฟ้าและดิน) เสิร์ฟพร้อมมันฝรั่งบดราดแอปเปิลซอส ส่วน ‘Tote Oma’ (ยาย/ย่าตาย) ของเบอร์ลิน เสิร์ฟพร้อมไส้กรอกตับและมันฝรั่งพูเร ว่ากันว่า หน้าตาของมันคล้ายรถประสบอุบัติเหตุ แต่รสชาติสุดยอด

6. ลันด์เยแกร์ (Landjäger)

เยแกร์ (Jäger) ในภาษาเยอรมันแปลว่า นักล่า ลันด์เยแกร์เป็นประเภทของไส้กรอกรมควันที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละท้องถิ่นที่ใช้ภาษาเยอรมัน สามารถเก็บถนอมได้นานโดยไม่ต้องพึ่งพาตู้เย็น มันจึงกลายเป็นไส้กรอกที่หลายคนนิยมนำติดไม้ติดมือไปเป็นของว่างเวลาออกจากบ้าน ตั้งแต่นักโบกไปจนถึงทหาร

7. เม็ตต์วัวร์สต์ (Mettwurst)

เป็นไส้กรอกอีกประเภทที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่รสจัด ทำจากเนื้อสับ ซึ่งปกติแล้วใช้เนื้อหมู แต่บางครั้งก็ใช้เนื้อวัว ผ่านกรรมวิธีการถนอมอาหารด้วยการบ่มหรือรมควัน เม็ตต์วัวร์สต์ของเยอรมนีทางใต้ปกติมีเนื้อนุ่ม ใช้ทาขนมปังได้ ตรงกันข้ามกับของทางเหนือ ที่มีลักษณะแข็ง คล้ายซาลามีมากกว่า

9. เลแบร์วัวร์สต์ (Leberwurst)

ไส้กรอกตับ มีรูปทรงแตกต่างกันหลายอย่าง มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด รวมทั้งรสชาติ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา ส่วนใหญ่รับประทานโดยการทาบนขนมปัง หรือนำไปทำเป็นเมนูอาหารต่างๆ มีส่วนผสมหลักตามชื่อคือ ตับ ส่วนมากใช้ตับหมูหรือตับลูกวัว แต่บางแห่งก็ใช้ตับห่าน ไก่งวง หรือแอนโชวีก็มี

9. เทวัวร์สต์ (Teewurst)

ชาวเยอรมันมักหาวิธีรับประทานไส้กรอกให้ได้ทั้งวัน ไส้กรอกชาจึงเป็นไส้กรอกที่มีไว้สำหรับมื้อเช้าไปจนถึงมื้อเย็น ไส้กรอกชาถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี 1866 เดิมไม่มีชื่อ แต่เพราะชาวเยอรมันนิยมรับประทานขนมปังกับชาในยามบ่าย และค้นพบว่ารสชาติของมันเมื่อทาบนขนมปังแล้ว เข้ากันได้ดีกับชา ต่อมาจึงตั้งชื่อว่าไส้กรอกชา

10. ซาลามี (Salami)

ซาลามี มีต้นกำเนิดจากอิตาลี แต่กลายมาเป็นไส้กรอกยอดนิยมของชาวเยอรมัน และเป็นอะไรได้มากกว่าท็อปปิงบนหน้าพิซซ่า ในอิตาลีซึ่งเป็นต้นกำเนิด ผู้คนนิยมรับประทานซาลามีกับขนมปังพร้อมกาแฟเป็นอาหารเช้า ในเยอรมนีก็เช่นกัน พวกเขาจะแล่ซาลามีเป็นชิ้นบางๆ เสิร์ฟระหว่างอาหารเช้า หรือในมื้อเย็นที่คนเยอรมันยุคเก่าเรียกว่า ‘Abendbrot’ (อาเบนด์โบรต = ขนมปังตอนเย็น) ที่มีสรรพสิ่งสำหรับประกบขนมปัง คล้ายๆ เมนู Cold Cut

 

ที่มาภาพ pixabay

 

อ้างอิง:
www.swp.de
www.dw.de
munchies.vice.com

Tags: , , , ,