ประชาคมโลกต่างออกมาเตือนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้หลีกเลี่ยงการไปเยือนเมียนมา หลังจากที่รัฐบาลทหารส่งสัญญาณถึงแผนการเปิดประเทศ แม้ว่าจะมีการละเมิดสิทธิและความรุนแรงในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลักพาตัวและการสังหารโดยทหาร ตลอดจนการขาดแคลนอาหารและเกิดไฟฟ้าดับเป็นประจำ
กว่าหนึ่งปีหลังจากยึดอำนาจและขับไล่อองซานซูจี กองทัพเมียนมาได้ประกาศแผนการที่จะเปิดให้บริการเพื่อการท่องเที่ยวอีกครั้ง และเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศในวันที่ 17 เมษายน ทว่าปฏิกิริยาของทั่วโลกกลับออกมาตรงกันข้าม
ไมเคิล อิเชอร์วูด (Michael Isherwood) ประธานภารกิจเพื่อมนุษยธรรมในพม่า และผู้อำนวยการโครงการของ Backpack Medics เป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมากล่าวว่า ไม่แนะนำให้เดินทางไปเมียนมา เนื่องจากมองว่า หากเมียนมาเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง มันจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารเป็นหลัก
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว ติน ตูน ไนง์ (Tin Tun Naing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผน การเงินและการลงทุนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา เคยให้สัมภาษณ์กับเดอะสเตรทส์ไทมส์ว่า ไม่ใช่เวลาสำหรับการเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ และเรียกร้องให้ผู้คนอย่าไปเยือนเมียนมา หลังจากมีเสียงเรียกร้องให้เมียนมาเปิดประเทศเมื่อปลายปีก่อน
ในช่วงต้นปี 2020 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งนำโดยอองซานซูจีใช้วิธีปิดพรมแดนเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 แต่การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ทำให้อำนาจดังกล่าวตกอยู่ในมือของกองทัพ เกิดกลุ่มต่อต้านขึ้น และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมียนมาก็เต็มไปด้วยความรุนแรง การประท้วง และการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
มิเชล บาเชเลต์ (Michelle Bachelet) ข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า วิกฤตด้านมนุษยธรรมของเมียนมายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความรุนแรงอย่างเป็นระบบโดยกองกำลังความมั่นคง “เศรษฐกิจกำลังจะพังทลาย ปัจจุบันผู้คนกว่า 14.4 ล้านคนได้รับการประเมินว่าอยู่ในความต้องการด้านมนุษยธรรม” เธอกล่าวและคาดการณ์ว่า การขาดแคลนอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน ‘ไม่แนะนำให้ทุกคนเดินทางไปเมียนมา’ โดยระบุความเสี่ยงที่อาจถูกควบคุมตัวหรือถูกจับกุมตามอำเภอใจของกองทัพ
ตามข้อมูลของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,600 คน จากการสังหารของกองกำลังความมั่นคง มีผู้ถูกควบคุมตัว 1.25 หมื่นคน มีผู้พลัดถิ่น 4.4 หมื่นคน และมีผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีก 14 ล้านคน รวมถึงมีรายงานเด็กหลายร้อยคนถูกจับตัวเพื่อเรียกค่าไถ่
ปีที่แล้ว สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พยายามเป็นตัวกลางในแผนเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเผด็จการเมียนมา แต่ก็มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เบอร์ตี อเล็กซานเดอร์ ลอว์สัน (Bertie Alexander Lawson) ซีอีโอของสำปัน ทราเวล เอเจนซีท่องเที่ยวบูติกในเมียนมากล่าวว่า ภาพลักษณ์ของความมั่นคงน่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทางการเมียนมาต้องการ เพราะความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในเมียนมาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 2-3 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่ายังมีความเป็นไปได้ในการเดินทางเข้าเมียนมาอย่างปลอดภัย หากนักท่องเที่ยวเลือกเดินทางไปกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ช่วยรับรองความปลอดภัยอย่างจริงจัง แต่ทั้งนี้ ผู้มาเยือนก็ควรได้รับแจ้งก่อนถึงบริบทและสถานการณ์ในเมียนมา และต้องคำนึงให้ดีว่าพวกเขาจะส่งผลกระทบเชิงบวกหรือลบต่อชุมชนเมียนมาหรือไม่
โจเชน ไมส์เนอร์ (Jochen Meissner) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Uncharted Horizons Myanmar บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวในย่างกุ้ง คืออีกบุคคลที่ไม่แนะนำให้เดินทางมาเมียนมา เพราะแม้แต่ในย่างกุ้งก็มีการโจมตีด้วยระเบิดหรือการลอบสังหารทุกวัน กองทัพจำนวนมากก็อยู่กันตามท้องถนน ถึงแม้ว่ารัฐบาลเผด็จการทหารจะมีการคอยตรวจสอบให้สถานที่ท่องเที่ยวหลักปลอดภัยก็ตาม “ทุกอย่างที่นี่ไม่โอเคเลย” เขากล่าว
ปัจจุบัน ผู้เดินทางเข้าเมียนมาต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วเท่านั้น และต้องกักตัวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ พร้อมตรวจ PCR อีก 2 ครั้ง
Tags: เมียนมา, Report