นิวยอร์กคือมหานครที่เต็มไปด้วยศิลปะและงานออกแบบระดับโลก เมืองใหญ่แห่งนี้บ่มเพาะและดึงดูดศิลปินชื่อดังให้มาพักอาศัยและสร้างสรรค์งานชิ้นเอก ตลอดหลายสิบปีนิวยอร์กไม่เคยขาดศิลปินฝีมือฉกาจ ไล่ตั้งแต่ แอนดี วอร์ฮอล, มิลตัน เกลเซอร์ หรือ สเตฟาน แซกไมสเตอร์
The Momentum อยากตามหาศิลปินชื่อดังที่กำลังมาแรง จึงบินลัดฟ้ามานิวยอร์กจนได้พบกับ อเล็กซ์ โทรชูตท์ (Alex Trochut) กราฟิกดีไซเนอร์ชาวสเปนที่อาศัยอยู่ที่นิวยอร์กได้ 4 ปี เขาคือกราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Computer Arts ให้เป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกอันดับที่ 4 นอกจากนี้ยังเคยออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้กับ เคที เพอร์รี (Katy Perry) และร่วมงานกับ BBC, The Guardian, The New York Times และ Time
เราไปเยือนสตูดิโอของเขาซึ่งตั้งอยู่ที่ Greenpoint Avenue ในบรุกลิน ย่านนี้ถือเป็นย่านที่กำลังมาแรงอย่างมากในตอนนี้ในแง่ของความฮิปความเก๋ เพราะบรรดานักสร้างสรรค์และศิลปินทั้งหลายต่างหันมาเปิดสตูดิโอทำงานกันที่นี่ โดยดัดแปลงและรีโนเวตโรงงานเก่าให้เป็นพื้นที่รังสรรค์ผลงานของพวกเขาเอง
เราเดินผ่านตึกที่มีความดิบๆ เซอร์ๆ ที่ประดับด้วยสตรีทอาร์ต ใช้เวลาไม่นานจากสถานีรถไฟใต้ดิน ก็ได้จับมือกับ อเล็กซ์ โทรชูตท์ เขาทักทายเราอย่างเป็นมิตรแล้วเชิญเข้าไปพูดคุยกันที่สตูดิโอ
สตูดิโอของอเล็กซ์อยู่ในตึกที่อดีตเคยเป็นโรงงานผลิตดินสอ ทันทีที่เปิดห้องเข้าไปก็รู้สึกถึงความโล่ง โปร่ง สบาย สตูดิโอของเขาค่อนข้างกว้างและใช้โทนสีขาวเป็นหลัก มีผลงานของเขาแปะอยู่ตามผนัง รวมถึงผลงานของศิลปินคนอื่นๆ ที่เขาแชร์พื้นที่ทำงานกันเหมือนเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซในห้องนี้ บริเวณพื้นที่นั่งเล่นโดดเด่นด้วยบูตดีเจที่มีแผ่นเสียงวางเรียงราย คาดว่าสตูดิโอแห่งนี้คงใช้ทำงานกันตอนกลางวัน และกลายร่างเป็นคลับสุดเก๋ในตอนกลางคืนได้ไม่ยาก
Survival Technique: การทำงานได้หลายสไตล์คือเทคนิคการเอาตัวรอดที่ดีของศิลปิน
อเล็กซ์นั่งลงที่โต๊ะทำงาน เขาเริ่มแนะนำตัวว่าเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และศิลปินที่ไม่ได้มีสไตล์งานของตัวเองที่ตายตัว แต่ชอบผสมผสานสไตล์หลายๆ แบบเข้าด้วยกัน เหตุผลเพราะเขาเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์ แต่ก็สนใจการวาดภาพประกอบ และมาชื่นชอบการออกแบบเรขศิลป์ (typography) หรือการแสดงออกผ่านตัวอักษร
แนวคิดที่โดดเด่นของอเล็กซ์คือ เขามองว่าตัวอักษรนั้นสื่อความหมายได้ 2 ระดับ ได้แก่ ความหมายและรูปแบบ (meaning and form) เมื่อเราอ่าน ‘คำ’ เราไม่ได้ประมวลแค่ความหมายของคำคำนั้นอย่างเดียว แต่ยังมองเห็นรูปแบบของตัวอักษรในคำนั้นด้วย
“มันเหมือนกับการเลือกชุดให้เข้ากับกาลเทศะครับ เราคงไม่ใส่รองเท้าฟลิปฟลอปไปงานแต่งงาน หรือใส่ทักซิโดไปชายหาด สิ่งนี้ก็เหมือนกับการดีไซน์ตัวอักษร (typeface) ให้เข้ากับความหมายของคำที่จะสื่อนั่นเอง นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างความหมายและรูปแบบของตัวอักษร”
เขายกตัวอย่างงานที่สะท้อนแนวคิดนี้ให้ดู โดยหยิบผลงานจากมู้ดบอร์ดขนาดใหญ่ข้างหลังเขามาอธิบายทีละชิ้น หลายงานเป็นสเกตช์ของงานระดับโลกที่เขาเคยร่วมงานด้วย และอีกหลายงานก็เป็นเพียงดราฟต์ไอเดียที่ถูกปัดทิ้งจากลูกค้า
“นี่คือกำแพงแห่งความล้มเหลว (Wall of Fail) ของผมครับ!” อเล็กซ์หัวเราะอารมณ์ดี
“ยิ่งคุณเสี่ยงมากเท่าไร คุณก็จะได้ทำสิ่งใหม่มากขึ้นเท่านั้น จริงอยู่ที่ถ้าเรายึดติดกับสูตรการทำงานแบบเดิมๆ คุณจะไม่เจอความผิดพลาด แต่นั่นก็หมายถึง คุณจะไม่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งผมคิดว่าการจะเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ดีนั้น คุณต้องไม่กลัวความล้มเหลว และควรที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกๆ วัน นี่คือสิ่งที่ผมทำมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งคือการปรับฝีมือให้เข้ากับงานแต่ละโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมายมา ผมคิดว่าการทำงานได้หลายสไตล์คือเทคนิคการเอาตัวรอดที่ดี (a good survival technique) ของศิลปิน”
เมื่อเราถามเขาว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาสร้างตัวเองมายืนตรงจุดนี้ได้ จุดที่กลายเป็นศิลปินระดับโลก มีลูกค้าชื่อดังตั้งแต่ เคที เพอร์รี จนมาถึง BBC และคนรุ่นหลังจะถอดรหัสความสำเร็จนี้ได้อย่างไร เขาตอบทันทีว่าคือการทำงานหนัก
“มีหลายปัจจัยมากเลยครับ แต่สำคัญที่สุดคือคุณต้องทำงานหนัก และพัฒนาฝีมือตัวเองตลอด นอกจากนี้คุณควรมีความสามารถในการปรับตัว ดัดแปลงงานให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และความต้องการของงานแต่ละโปรเจกต์ เพราะทุกๆ วันเราจะถูกจับไปอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เราจำเป็นจะต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ และสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ ได้ด้วย ผมรู้สึกว่าความสนุกของการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์คือ ผมได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกๆ วัน “
แต่ถึงที่สุดแล้วคุณต้องมีโชคด้วย ผมรู้สึกตัวเองโชคดีมากที่ได้เรียนในสิ่งที่รัก รายล้อมด้วยอาจารย์และเพื่อนๆ ที่ดี ซึ่งผมได้เรียนรู้จากพวกเขาเยอะมาก”
มิตรภาพคือข้อตกลงของความไว้ใจและความเคารพที่ไม่ต้องมีคำพูด
หลังจากสนทนากันอย่างออกรสเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง อเล็กซ์ชวนเราออกไปเดินสูดอากาศและจิบกาแฟ เขาและเพื่อนๆ อีก 3 คนเดินนำเราไปที่ร้านกาแฟที่อยู่ไม่ไกลจากสตูดิโอ มันเป็นร้านกาแฟที่เหมือนหลุดออกมาจากนิตยสารแต่งบ้าน มีบาร์กาแฟเล็กๆ และโซนขายต้นไม้น่ารัก ตกแต่งด้วยไม้สีอ่อนให้ความรู้สึกผ่อนคลาย อเล็กซ์สั่งอเมริกาโนร้อนให้กับเราแล้วชวนมานั่งด้านนอกรับลมเย็นๆ
เราชวนเขาคุยต่อเรื่อง ‘เพื่อน’ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
“คนที่อยู่รอบตัวคุณจะส่งผลต่อการทำงานของคุณ ยิ่งในยุคนี้ที่เน้นการทำงานแบบ collaboration มันสำคัญมากที่คุณจะสร้างเน็ตเวิร์กยังไง ให้และรับไอเดียกันแบบไหน มันคือการแชร์ความคิดซึ่งกันและกันที่ไม่หยุดนิ่ง บรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์จึงจำเป็นมาก ผมบอกได้เลยว่าเพื่อนคือส่วนสำคัญ ถ้าไม่มีพวกเขา ผมก็คงไม่มีวันนี้ ผมโชคดีมากๆ ที่มีคนที่เก่งและให้แรงบันดาลใจอยู่รอบตัว เพื่อนๆ ที่ทำงานในสตูดิโอผมคือคนที่พิเศษ ซึ่งผมเรียนรู้จากพวกเขามากมายเหลือเกินในแต่ละวัน
“สำหรับผม มิตรภาพคือข้อตกลงของความไว้ใจและความเคารพที่ไม่ต้องมีคำพูด”
นอกเหนือจากเรื่องงานแล้ว คุณใช้เวลากับเพื่อนๆ ทำอะไรกัน – เราสงสัย
“ก็คงเหมือนผู้ชายทั่วไปครับ เราใช้เวลาด้วยกันทั้งกลางวันและกลางคืน ฟังเพลง ดูศิลปะ หรือไปทำกิจกรรมด้วยกัน โดยเฉพาะการกินอาหารอร่อยๆ และเบียร์ดีๆ”
ร่วมเฉลิมฉลองกับเพื่อนๆ ไปกับ ช้าง Limited Edition: เส้นสายที่ลื่นไหล สง่างาม และทันสมัย
เมื่อพูดถึงเบียร์ดีๆ เราชวนเขากลับมาที่สตูดิโออีกครั้ง เพราะทราบมาว่าเขาเพิ่งออกแบบขวดให้กับเบียร์ช้าง Limited Edition ซึ่งการร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของเบียร์ไทยที่ได้ทำงานกับศิลปินระดับโลก
“ครั้งแรกที่ผมเห็นโลโก้ช้าง ผมรู้สึกได้ถึงกลิ่นอายของการเขียนตัวอักษร (calligraphy) ของประเทศในเอเชีย และด้วยรูปร่างและฟอนต์ทำให้ผมนึกถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
การทำงานของเขาจึงเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้โลโก้ช้างโดดเด่นที่สุด และใช้วิธีที่หลากหลายในการทำให้โลโก้นี้กลมกลืนกับพื้นหลัง
“กระบวนการออกแบบนี้เป็นเหมือนการหาวิธีทำให้ตัวโลโก้และพื้นหลังสอดประสานกัน ด้วยการใช้สีที่มีอยู่แล้วในโลโก้ช้างครับ ตัวโลโก้เองมีรูปร่างที่ผมสามารถใช้เส้นสายมาเชื่อมต่อได้อย่างกลมกลืน ซึ่งก็เป็นการสร้างความสอดคล้องกันระหว่างโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว โลโก้ของช้างวางตัวเป็นแนวตั้ง ผมจึงพยายามหาวิธีที่จะสร้างรูปร่างหรือเส้นสายแนวนอนเพื่อให้ตัดกับตัวโลโก้”
ผลลัพธ์ก็คือเส้นสายที่เป็นรูปร่างที่ลื่นไหล เปรียบได้กับน้ำหรือลม และมีกลิ่นอายของเอเชียอยู่ ลวดลายที่พลิ้วไหวนี้เข้ากันดีกับโลโก้ของช้าง เป็นเหมือนการผสมรสชาติที่ช้างมีอยู่แล้วในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งอเล็กซ์เปรียบเทียบว่าเหมือนการทำอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว มาทำเป็นอาหารจานใหม่ที่น่ากินกว่าเดิม
“ผมคิดว่าสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากแพ็กเกจจิ้งนี้คือมันไม่ได้มีแค่เมสเสจเดียว เป็นดีไซน์ที่เปิดกว้าง สร้างบทสนทนาใหม่ๆ คุณจะคิดอย่างไรก็ได้ มองกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ แค่ปล่อยใจแล้วมอง มันเป็นแพ็กเกจจิ้งที่มีความซับซ้อน มีหลายเลเยอร์ ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคจะมองอย่างไร แต่ที่สำคัญคือมันเชื่อมโยงกับคุณค่าของช้างซึ่งก็คือ ความเป็นคนรุ่นใหม่ สง่างาม และทันสมัย”
เขาเดินมาดูขวดช้างแชมเปญซึ่งเราหิ้วมาฝากจากเมืองไทย นี่คือครั้งแรกที่เขาได้เห็นผลงานของเขาจริงๆ ครั้งแรก อเล็กซ์หยิบจับอยู่นานและชื่นชมว่าเทคนิคการพิมพ์ดีมาก เขาพอใจกับผลงานชิ้นนี้มาก
“ผมคิดว่าการวางแพ็กเกจจิ้งให้ห่อรอบตัวขวดเป็นวิธีที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่เหมือนใครเลยในนิวยอร์ก ลวดลายของขวดนั้นน่าตื่นเต้น นี่คือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับการนั่งดื่มคนเดียว แต่ควรจะเฉลิมฉลองกับเพื่อนๆ”
อเล็กซ์ยังคงสัมผัสขวดช้างแชมเปญด้วยความตื่นเต้น ก่อนจะหันมาทิ้งท้ายกับเราว่า
“ส่งขวดนี้มาให้อีกได้ไหม ผมชอบมันจริงๆ ครับ”
หมายเหตุ: คุณสามารถสัมผัสผลงานระดับโลกของ อเล็กซ์ โทรชูตท์ ในแบบช้าง Limited Edition เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนนี้เท่านั้น
Tags: art, design, USA, Newyork, illustration, ChangBeer, AlexTrochut, typography, ThaiBev, Studio, Beer