วันนี้เมื่อปี 2541 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ได้เริ่มรณรงค์ต่อต้านกระโปรงสั้น โดยมองว่าการสวมกระโปรงสั้นส่งเสริมการก่ออาชญากรรมทางเพศและขัดต่อประเพณีที่เหมาะสมของไทย

บนป้ายรณรงค์ที่ติดภายในมหาวิทยาลัยมีภาพวาดเป็นรูปช่วงครึ่งล่างของนักศึกษาหญิงที่สวมกระโปรงสั้น พร้อมกับรูปจระเข้ที่มีน้ำลายไหลกำลังแหงนมอง และมีตัวหนังสือเขียนว่า ‘อย่าล่อ’ อันมีความหมายสื่อในเชิงขบขันว่า ‘อย่าแต่งตัวล่อตะเข้’ นอกจากนี้ยังมีประโยคบริเวณด้านล่างของป้ายเขียนว่า ‘อย่าแต่งอย่างนี้ให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีจุฬาฯ’

เมื่อย้อนไปถึงบริบทในช่วงเวลาดังกล่าวของประเทศไทย พบว่าสังคมไทยมีความพยายามสร้างความเข้าใจในเรื่องเพศแก่เยาวชนและนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาผ่านโครงการต่างๆ เช่น ‘โครงการรณรงค์ค่านิยมใหม่’ ในปี 2539-2540 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างหญิงชาย และส่งเสริมให้เยาวชนในสถาบันอุดมศึกษามีส่วนร่วมในการรณรงค์แก้ไขปัญหาการค้าประเวณีในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการผลิตสื่อเพื่อใช้ในการรณรงค์เรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างหญิงชาย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ก็ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เผชิญกับเหตุการณ์การต่อต้านขนบดั้งเดิมของเหล่านิสิตหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่กระแสความเท่าเทียมเป็นประเด็นสำคัญในสังคมคนรุ่นใหม่ อาทิ ปี 2561 ที่มีตัวเเทนนิสิตออกมารณรงค์ให้ยกเลิกการแต่งกายชุดเครื่องแบบนิสิต ที่กำหนดเป็นกฎหมายตราไว้เป็นพระราชกฤษฎีกา เรียกว่า ‘พระราชกฤษฎีกา กำหนดเครื่องแบบนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2499’ โดยมองว่าการแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และไม่ควรที่จะต้องมีการบังคับ

หรือในปี 2564 ที่มีแถลงการณ์มติยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ของคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมองว่าเป็นการสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม ที่ค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

 

ภาพ: AFP

Tags: , , , ,