ไฟสงคราม ที่ลามมาถึงวงการลูกหนัง
ไฟสงครามที่ถูกจุดขึ้นโดยประเทศมหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่าง ‘รัสเซีย’ หลังจากไม่พอใจต่อจุดยืนของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘ยูเครน’ ที่แสดงเจตจำนงต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มนาโต (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) กำลังลุกลามสร้างความเสียหายไปหลายภาคส่วน ตั้งแต่ปัญหาภัยความมั่นคง ความปลอดภัยของประชาชน ไปจนถึงแวดวงต่างๆ อาทิ วงการกีฬา ที่กีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอลได้รับผลกระทบเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในวงการลูกหนังของรัสเซียหรือยูเครน
ไม่ว่าจะเป็นทีมฟุตบอลจากยูเครนที่เคยคว้าแชมป์สโมรสรยุโรป ‘ยูฟ่าคัพ’ ในฤดูกาล 2009/2010 อย่าง ชัคตาร์ ดอแนสก์ (Shakhtar Donetsk) สโมสรที่ไม่สามารถเล่นฟุตบอลในสนามเหย้าของตนเองมาตั้งแต่ปี 2014 จนเกิดความขัดแย้งกับทีมดินาโม เคียฟ (Dynamo Kyiv) เมืองที่ชัคตาร์ ต้องขอใช้สนามเหย้าร่วม
หรือทางฝั่งของรัสเซียก็มี โรมัน อับราโมวิช (Roman Abramovich) มหาเศรษฐีนักธุรกิจเจ้าของสโมสรเชลซี ยอดทีมจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ หนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีแฟนบอลมากที่สุดในโลก ที่ทางสหราชอาณาจักรอ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลรัสเซีย และอาจทำให้ถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้ชีวิตในอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลให้เชลซีอาจต้องประสบกับปัญหาทางด้านการเงินจากการคว่ำบาตรของสหประชาชาติต่อรัสเซีย
ล่าสุดมีการตัดสินใจยกเลิกการใช้เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียเป็นสนามแข่งในนัดชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปถ้วยใหญ่ที่สุดอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รวมถึงมีการยกเลิกสปอนเซอร์จากรัสเซียของสโมสรชื่อดังหลายแห่ง เพื่อแสดงออกว่าไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าวของรัสเซีย
จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้จะส่งผลต่อวงการลูกหนังโดยตรงไม่มากก็น้อย Game On สัปดาห์นี้ขอพาไปสำรวจภัยสงครามที่ลุกลามมาถึงวงการฟุตบอล นอกเหนือจากทั้งความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ มีสิ่งใดที่ต้องถูกเพลิงสงครามเผาไหม้ให้เป็นเถ้าถ่านอีกบ้าง
การล่มสลายของสหภาพโซเวียต นาโต และอเมริกา จุดเริ่มต้นความขัดแย้งของเพื่อนบ้านที่เคยรัก
จุดเริ่มต้นความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนต้องย้อนไปในปี 1949 ที่มีการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) กลุ่มพันธมิตรระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งภายหลังมีประเทศสหรัฐฯ เป็นแกนหลัก เพื่อป้องกันภัยจากการขยายอำนาจของสหภาพโซเวียตและเยอรมัน จนในช่วงปี 1955 เมื่อเยอรมันได้ถูกรับเชิญให้เข้าร่วมกับนาโต ทางฝั่งโซเวียตจึงจัดตั้งพันธมิตรของตัวเองขึ้นมาบ้าง ในชื่อขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอร์ (Warsaw Pact) เพื่อรวมกองกำลังทหารของประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์ เพื่อคานอำนาจกับนาโต ที่มีท่าทีแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าต้องการรุกคืบขยายอำนาจเข้ามาทางฝั่งตะวันออก
หรือกล่าวได้อีกอย่างว่านี่คือสงครามเย็น (Cold War) ในการขยายอิทธิพลของทั้งสองขั้วอำนาจนั่นเอง
จนในปี 1990 โซเวียตที่นำโดยประธานาธิบดี มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ได้มีการพูดคุยกับฝั่งนาโต เพื่อต้องการคำมั่นว่าจะไม่ขยายอำนาจอิทธิพลมายังกลุ่มประเทศเขตอิทธิพลโซเวียตเก่า โดยทางนาโตได้ให้สัญญาว่า ‘จะไม่ขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกแม้แต่นิ้วเดียว’ พร้อมกับแสดงเจตจำนงว่าต้องการที่จะเข้าร่วมกับนาโตด้วย แม้จะโดนปฏิเสธกลับมาก็ตาม โดย แอนเดอร์ส รัสมุสเซน อดีตเลขาธิการนาโต ได้กล่าวว่า “รัสเซียต้องแสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงจะพิจารณารับเป็นสมาชิกอย่างจริงจัง”
หลังจากการล่มสลายของกลุ่มสหภาพโซเวียต ทางกลุ่มนาโตยังคงขยายอิทธิพลมายังประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่า “ประเทศดังกล่าวมีอธิปไตยในการตัดสินใจ และต้องการที่จะเข้าร่วมกับนาโตเอง” ทำให้ในยุคของประธานนาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้ฟื้นฟูประเทศรัสเซียให้แข็งแกร่งขึ้น ตั้งมั่นที่จะทวงคืนอำนาจจากประเทศที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตคืนมาจากนาโตให้จนได้ โดยในปี 2008 ปูตินได้เชือดไก่ให้ลิงดู โดยการบุกเข้ารุกรานประเทศจอร์เจียที่ต้องการจะเข้าร่วมกับนาโต ผลสุดท้ายคือจอร์เจียต้องยอมเสียดินแดนบางส่วน เพื่อตั้งขึ้นเป็นประเทศใหม่
แม้ภาพลักษณ์ของรัสเซียจะกลายเป็นประเทศเผด็จการทหารและบ้าสงคราม แต่ในมุมมองของรัสเซีย การที่ยอมให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมกับนาโต ก็เปรียบเสมือนว่าชาติตะวันตกจะส่งกองทัพมาประจำการเพื่อเตรียมจ่อบุกรัสเซียเมื่อใดก็ได้ การกระทำดังกล่าวของรัสเซียจึงเชื่อว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
ส่วนเหตุการณ์ความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซียเริ่มต้นขึ้นในปี 2014 โดยยูเครนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติสมาชิกของสหภาพโซเวียตเดิม ที่ ณ ขณะนั้น ได้ดำเนินการเข้าร่วมกับนาโตและสหภาพยุโรปจนมีความคืบหน้าไปอย่างมาก แต่ประธานาธิบดียูเครนในตอนนั้นอย่าง วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับรัสเซียแทน ทิ้งทุกอย่างที่ได้ดำเนินการมา จนทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นเพื่อโค่นเขาลงจากอำนาจได้สำเร็จ ซึ่งชาติตะวันตกมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ไม่น้อย
รัสเซียจึงได้เปิดฉากทำสงครามแบบย่อมๆ จนสามารถ ‘ยึด’ เอาดินแดนบางส่วนทางตะวันออกของยูเครน อย่างเมืองดอแนสก์และลูฮานสก์ รวมถึงไครเมีย มาเป็นของตัวเองได้สำเร็จ สาเหตุที่รัสเซียจะเสียยูเครนไม่ได้เด็ดขาด เพราะยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เปรียบเสมือนกับสวนหลังบ้านของตน ที่มีทั้งเส้นทางการขนส่ง แร่ธาตุถ่านหิน ทรัพยากรต่างๆ อีกทั้งหากปล่อยให้ยูเครนตกไปอยู่กับนาโต วันดีคืนดี หากนาโตส่งกองกำลังมาประชิดชายแดนรัสเซียคงจะตกอยู่ในที่นั่งลำบากแน่ๆ
กระทั่งไฟแห่งความรุนแรงได้มาปะทุหนักในช่วงพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจพบว่าพลทหารของรัสเซียได้เข้าประชิดเขตแดนยูเครน จนล่าสุดมีการบุกยึดกรุงเคียฟและเชอร์โนบิลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลอย่างแน่นอน เพราะทั้งสองประเทศมีความสำคัญต่อวงการฟุตบอลยุโรปอยู่ไม่น้อย
ในวันที่อดีตแชมป์ยุโรปอย่าง ‘ชัคตาร์’ ต้องห่างไกลจากบ้านเกิดอย่าง ‘ดอแนสก์’
‘ชัคตาร์ ดอแนสก์’ คือสุดยอดสโมสรฟุตบอลชั้นแนวหน้าของยุโรป หนึ่งใน 20 ทีมยอดเยี่ยมที่ถูกจัดอันดับโดยยูฟ่า ทีมแรกจากยูเครนที่สามารถเข้ารอบชิงชนะเลิศไปคว้าถ้วยของรายการยูฟ่าคัพกลับบ้านมาฝากชาวเมืองดอแนสก์ได้ในฤดูกาล 2009/2010 และเคยเป็นแชมป์ลีกยูเครน 7 สมัย แต่ก็เป็นทีมที่ไม่สามารถเล่นฟุตบอลที่ ‘ดอนบาส อารีนา’ (Donbass Arena) สนามเหย้าบ้านเกิดของตัวเองได้แม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
อย่างที่ได้อธิบายไปว่าในปี 2014 รัสเซียได้ทำการบุกยึดเมืองดอแนสก์ โดยมีกลุ่มชาวยูเครนแบ่งแยกดินแดนผู้เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับรัสเซียกระจายตัวอยู่เต็มทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกับเมือง ดอแนสก์ เมืองที่มีชายแดนติดกับประเทศรัสเซียโดยตรง ทำให้ผู้คนมากกว่า 1.5 ล้านคน ต้องละทิ้งบ้านเกิดของตัวเอง และอพยพหนีไปเพื่อความปลอดภัยของตน ซึ่งรวมไปถึงทีมงาน ผู้บริหาร และนักเตะทุกคนของทีมชัคตาร์ ที่ต้องละทิ้งดอแนสก์และดอนบาส อารีนา ผืนหญ้าที่พวกเขามาความผูกพันมากที่สุด
ด้วยความที่ดอแนสก์เป็นเมืองชายแดนติดกับรัสเซียจึงทำให้ผู้คนมีความผูกพันทางภาษาและวัฒนธรรมต่างจากที่อื่น ประจวบเหมาะกับเมื่อสโมสรชัคตาร์จำเป็นจะต้องลี้ภัยไปยังเมือง ‘เคียฟ’ ที่มีสโมสรเจ้าถิ่นอย่างทีมดินาโม เคียฟ (Dynamo Kyiv) คู่แข่งผู้คอยแย่งแชมป์กันมาเป็นเวลานาน มิหนำซ้ำยังมีความชาตินิยมสูง ทีมชัคตาร์จึงถูกแฟนบอลเจ้าถิ่นโห่ร้องขับไสไล่ส่งราวกับเป็นคนรัสเซีย
และนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ชัคตาร์จำเป็นจะต้องใช้สนามรวมกับทีมฟุตบอลในยูเครนหลายสโมสรอย่างอารีนา เลียฟ (Arena Lyiv), เมทาลิสต์ คาร์คีฟ (Metalist Kharkiv) จนในปัจจุบันที่ต้องต้องใช้สนามโอลิมปิสกี สเตเดียม (Olympic National Sports Complex) สนามเหย้าของทีมดินาโม เคียฟ ที่จงเกลียดจงชังชาวชัคตาร์เสียเหลือเกิน จนความฝันของแฟนบอลและทีมชัคตาร์ได้เปลี่ยนไป จากการประสบความสำเร็จในโลกฟุตบอล บัดนี้พวกเขาหวังเพียงแค่กลับไปยังดอนบาสอารีนา บ้านเกิดที่พวกเขาจากมาเพียงเท่านั้นก็พอแล้ว
แต่ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันที่รัสเซียต้องการที่จะบุกยูเครนเต็มรูปแบบ และการสั่งระงับการแข่งขันเกมลีกแล้ว ความฝันของพวกเขาช่างดูห่างไกลเหลือเกิน
โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีหัวใจสิงห์ ที่เสี่ยงโดนลงดาบจากรัฐบาลอังกฤษ เพราะสนิทปูติน
ไม่เพียงแค่วงการฟุตบอลยูเครนเท่านั้น สงครามระหว่างสองประเทศอาจส่งผลกระทบต่อวงการฟุตบอลผู้ดีอังกฤษอีกด้วย เมื่อ ‘โรมัน อับราโมวิช’ (Roman Abramovich) มหาเศรษฐีชาวรัสเซียผู้เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซีแห่งพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เจ้าของถ้วยสโมสรยุโรปปีล่าสุด กำลังถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลอังกฤษ
นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ของอังกฤษ เพิ่งประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศรัสเซีย เพราะการกระทำในการยกพลเข้าบุกโจมตีประเทศยูเครน และแน่นอนว่าอับราโมวิชคืออีกหนึ่งบุคคลที่ทางรัฐบาลอังกฤษจับตามองอยู่ เนื่องจากเขาคือมหาเศรษฐีชาวรัสเซียเป็นผู้มีความสนิทสนมกับ วลาดิมีร์ ปูติน
มีการคาดการณ์ว่าเมื่อสงครามมีการทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้อับราโมวิชต้องสูญเงินจำนวนมหาศาล เพราะเขาคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของเหมือง Evraz โดยจากเหตุการณ์ล่าสุดทำให้มูลค่าหุ้นของเขาลดลง 29% หรือคิดเป็น 680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังไม่รวมถึงตลาดหุ้นรัสเซียที่มีการปรับตัวลดลงมากกว่า 50% ภายในวันเดียวเท่านั้น
ซึ่งหากรวมเข้ากับการลงดาบของรัฐบาลอังกฤษ อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสโมสรเชลซี เพราะเชลซีเป็นอีกหนึ่งทีมที่ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการซื้อตัวนักเตะ โดยเมื่อต้นฤดูกาลที่ผ่านมา ได้มีการใช้เงินเพื่อซื้อศูนย์หน้าชาวเบลเยียม โลเมลู ลูกากู ด้วยเงินจำนวน 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทีมอินเตอร์มิลาน และฤดูกาลก่อนหน้าก็ได้ใช้เงินไปทั้งหมด 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างทีมสายเลือดใหม่ โดยการซื้อตัวนักเตะอย่าง ไค ฮาแวตซ์, ติโม แวร์เนอร์, เบน ชิลเวลล์ และเอดูอาร์ เมนดี้ การขาดอับราโมวิชจึงทำให้เงินที่จะเข้ามายังสโมสรเชลซีลดลงไปเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน แม้ว่าภายหลังสโมสรจะสามารถสร้างรายได้ด้วยความนิยมของตัวสโมสรเองแล้วก็ตาม
การถอดถอนสปอนเซอร์ที่มาจากดินแดนหมีขาวของทีมยักษ์ใหญ่
เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศฝั่งตะวันตกไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัสเซีย จนถึงขั้นที่ยอดทีมจากบุนเดสลีกาของเยอรมันอย่างชาลเก้ 04 (Schalke 04) ได้ทำการยกเลิกสัญญากับสปอนเซอร์หลักบนเสื้อทีมของตนอย่างบริษัทน้ำมัน Gazprom บริษัทเชื้อเพลิงที่ทำรายได้อันดับ 1 ในประเทศรัสเซีย ที่เคยมีชื่ออยู่บนเสื้อของสโมสรชาลเก้มานานถึง 15 ปี และเป็นผู้ให้เงินทุนขณะที่สโมสรต้องเผชิญกับวิกฤติหนี้สินขนาดใหญ่ จนต้องขายผู้เล่นหลักออกไปเกือบหมด จากทีมที่เคยยิ่งใหญ่แห่งลีกเยอรมัน กลับกลายเป็นเพียงทีมกลางๆ เท่านั้น การประกาศตัดสัมพันธ์กับ Gazprom ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าจุดยืนของรัสเซียในสายตาของเวทีโลกย่ำแย่เพียงใด
เช่นเดียวกับบริษัทสายการบินสัญชาติรัสเซียอย่าง Aeroflot ที่ถูกทางสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ หนึ่งสโมสรที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดในโลก ยกเลิกใช้บริการ หลังจากที่ร่วมธุรกิจกันมายาวนานถึง 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งเห็นได้ชัดว่านี่คือความต้องการของสหประชาติที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่ประเทศรัสเซีย
สนามแข่งขันนัดชิงชนะเลิศที่ถูกเปลี่ยนจากรัสเซียสู่ฝรั่งเศส
วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของประเทศรัสเซียเป็นแฟนบอลเดนตายของสโมสรเซนิต เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และนับตั้งแต่นัดชิงศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก การแข่งขันรายการใหญ่ที่สุดของสโมสรในยุโรปที่มอสโก ในปี 2008 รัสเซียก็ไม่ได้สิทธิในการเป็นเจ้าภาพจัดเวทีสุดท้ายของรายการฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปอีกเลย ดังนั้น การที่ปีนี้ (2022) สนามที่จะใช้เตะในนัดชิงชนะเลิศถูกเลือกให้เป็นสนามกีฬาเครสตอฟสกี ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จึงเป็นสิ่งที่ปูตินเฝ้าคอยมาเป็นเวลานานเกือบ 14 ปี
แต่เมื่อการกระทำของปูตินและรัสเซียเป็นสิ่งที่ผิดในสายตาสหประชาชาติ ล่าสุดยูฟ่าจึงมีมติตัดสินใจยึดสิทธิในการเป็นเจ้าภาพนัดชิง ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และย้ายเวทีนัดชิงไปยังสนามสตาดเดอฟร็องส์ ณ กรุงปารีส แทน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากรัสเซียกำลังอยู่ในภาวะสงคราม แต่เหตุผลที่แท้จริงต่างเป็นที่รู้ดีว่า กลุ่มประเทศตะวันตกต้องการที่จะคว่ำบาตรรัสเซียจากการที่บุกเข้าโจมตียูเครน การกระทำดังกล่าวจึงราวกับเป็นการหยามเกียรติของปูตินอย่างมาก
หลังจากรอคอยมานานแสนนาน แต่ในช่วงวินาทีสุดท้ายกลับถูกแย่งชิงไปง่ายๆ ทว่าในเมื่อสิ่งที่รัสเซียทำนั้นไม่ถูกต้องในสายตาประชาคมโลก หลายฝ่ายจึงมองว่าเป็นการตัดสินใจที่คู่ควรแล้ว
ไฟสงครามที่เผาไหม้ความฝันของนักฟุตบอล
ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ในหลากหลายมิติ และต้องทำความเข้าใจในมุมมองของทั้งสองฝ่ายให้ชัดเจนก่อนจะตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่อย่างไรก็ดี สงครามและการพรากชีวิตผู้คนไม่ควรที่จะเป็นคำตอบของความขัดแย้งทั้งสิ้น
เพราะไฟแห่งสงครามไม่เพียงแค่สร้างรอยร้าวระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ยังเผาไหม้ความฝันของหลายๆ คนที่เพียงแค่อยากจะเล่นฟุตบอลในบ้านเกิดของตัวเองอีกครั้ง
ที่มา
https://www.thesun.co.uk/world-cup-2018/6084556/vladimir-putin-russia-world-cup-football-team/
https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat/photos/pcb.4930905643652772/4930843496992320/
https://www.facebook.com/jingjungfootball/photos/a.1763433500538559/3003396559875574/
Tags: สงคราม, รัสเซีย, ฟุตบอล, ยูเครน, Game On, ชัคตาร์ โดเน็ตส์, ดอแนสก์