ในยุคที่สตาร์ตอัปกำลังมาแรงและผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด หลายคนคงสงสัยว่าสตาร์ตอัปทำงานกันอย่างไร บางคนถึงขนาดหาโอกาสไปฝึกงานกับสตาร์ตอัป เพราะใฝ่ฝันอยากทำสตาร์ตอัปของตัวเอง แต่อยากสะสมประสบการณ์ หาแรงบันดาลใจ และหาไอเดียตุนไว้ก่อน บางคนมีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว แต่อยากเข้าใจวิธีคิด ส่วนบางคนอยากฝึกงานเพราะสงสัย สนใจ หรืออยากพัฒนาตัวเอง
ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เข้าร่วมโครงการ Career Launcher ของ CareerVisa Thailand ซึ่งผ่านประสบการณ์การฝึกงานกับสตาร์ตอัป จึงอยากนำสิ่งที่พวกเขาบอกเล่ามาแบ่งปัน สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าการฝึกงานเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
โจ – กรณ์ปกฤษ์ กีรติยพัทน์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝึกงานที่ Globish สถาบันสอนภาษาอังกฤษผ่านสื่อออนไลน์แนวใหม่ที่กำลังมาแรง และเป็นสตาร์ตอัปที่ชนะเลิศในรายการ ‘เสือติดปีก’ เมื่อปี 2559
โจได้รับมอบหมายให้ออกแบบโฆษณา นอกจากนั้นก็มีพี่มาสอนเรื่องการทำการตลาดออนไลน์ โดยมีโจทย์คือทำอย่างไรให้คนเข้าเว็บไซต์มากขึ้น
เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โจจึงตั้งเป้าหมายว่าจะทำโฆษณาให้ได้วันละชิ้น แต่จริงๆ แล้วเขาใช้เวลาชิ้นละ 2-3 วัน จึงทำให้รู้สึกเครียด
โจบอกว่า “ผมเป็นคนชอบแข่งขัน เพราะฉะนั้น เวลาเจอเพื่อน จะไม่อยากน้อยหน้าเพื่อน” แต่เมื่อพี่ที่ทำงานบอกว่า “ถ้าแข่งขันก็จะแข่งขันจนกว่าคนอื่นหรือเราจะตาย” ทำให้โจถามตัวเองว่า “หรือเราไม่ได้ทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ”
เมื่อนึกได้ว่าเคยฝันว่าอยากเข้าใจเรื่องจิตวิทยา อยากเข้าใจผู้คนมากขึ้น โจจึงเปลี่ยนไปฝึกงานกับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์
“ถ้าคนอื่นพูดถึงข้อเสียของเรา แสดงว่าเรามีจุดที่พัฒนาได้” – โจ กรณ์ปกฤษ์
โจได้รับมอบหมายให้ตอบอีเมล วางแผนว่าจะรับคนอย่างไร รับถึงวันไหน ทำอย่างไรให้คนมาสมัครงาน บางครั้งก็ได้ช่วยเลือกคนด้วย และออกแบบโปสเตอร์รับสมัครงาน ซึ่งเสียงตอบรับจากพี่ๆ ในฝ่ายก็ค่อนข้างดี ทำให้โจคิดว่า “หรือการออกแบบจะเป็นงานที่ทำได้ดี”
แต่หลังจากเผยแพร่โปสเตอร์ประมาณ 1 สัปดาห์ก็ไม่มีคนสมัครงานเลย โจจึงคิดว่า “การออกแบบก็ไม่ได้แย่ คำพูดก็ขอให้พี่ๆ ฝ่าย content marketing ช่วยเขียนให้ ก็เลยงงว่าทำอะไรผิด เลยตั้งคำถามว่าหรือข้อมูลยังไม่ชัดเจน ผมไม่ชอบอะไรซ้ำๆ เดิมๆ จึงออกแบบใหม่หมดเลย แล้วก็ปล่อยโปสเตอร์ออกไป รับสมัคร 2 ตำแหน่ง ก็มีคนสมัครเข้ามา แต่จำนวนก็ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้”
ถึงแม้จะมีอุปสรรค แต่โจก็ยังมองโลกในแง่ดี “ถ้าคนอื่นพูดถึงข้อเสียของเรา แสดงว่าเรามีจุดที่พัฒนาได้”
โจบอกว่าการฝึกงานครั้งนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ในหลายๆ ด้าน
กัล – กัลป์ยกฤต ดีเด่นกีรติสกุล บัณฑิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืออีกคนที่ไปฝึกงานด้าน EdTech ที่ SkillLane สถาบันออนไลน์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการดึงศักยภาพของคนทำงานที่ไม่มีเวลาฝึกฝนทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ การเงิน หรือการแสดง ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้เรียนหลักแสนคน
กัลเล่าว่า “ด้วยความที่เป็นเด็กฝึกงาน ต้องบอกว่าได้ทำทุกอย่าง ทั้งงานแปลเอกสารด้านกฎหมายที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจคำศัพท์ และต้องแปลออกมาให้เข้าใจง่าย งานบริหารจัดการทั่วไป งานเขียนบทความที่พี่ๆ ก็เปิดโอกาสให้ลองเขียน เพราะเขารู้ว่าเราชอบการเขียน งานที่ต้องคุยกับลูกค้า เราสนุกมาก เพราะได้ทำอะไรหลายอย่างนอกเหนือจากงานด้านการตลาด ในส่วนของงานด้านการตลาด ที่เป็นหน้าที่หลัก คือการดูแลผลิตภัณฑ์ใหม่ของ SkillLane ซึ่งเราได้อ่านกรณีศึกษา คิดคำถามสำหรับการวิจัยตลาด ร่วมทำการสนทนากลุ่ม (focus group) และทำการวิเคราะห์หาข้อสรุปเพื่อนำเสนอในที่ประชุม ตอนนั้นรู้สึกว่าพี่ๆ มั่นใจในตัวเรามาก จึงให้เราทำงานนี้ เพราะผลที่ออกมาก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยตัดสินว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ควรจะเดินไปในทิศทางไหน”
นอกจากนั้น กัลยังได้พยากรณ์ยอดขาย และตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้ว่าการตลาดนั้นใช้ไอเดียเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้ตัวเลขด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ เพราะกัลไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านการตลาด
ตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้ว่าการตลาดนั้นใช้ไอเดียเพียงอย่างเดียวไม่ได้
แต่ต้องใช้ตัวเลขด้วย
อีกงานหลักที่กัลได้ทำคือคิดคำถามสำหรับวิดีโอถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก “ตอนแรกคิดไม่ถึงเลยว่าวิดีโอถ่ายทอดสดของเฟซบุ๊กจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการทำตลาด การถ่ายทอดสดช่วยสร้างความน่าสนใจและเป็นการประชาสัมพันธ์คอร์ส รวมทั้งช่วยกระตุ้นยอดขายได้มาก งานนี้ค่อนข้างท้าทายสำหรับเรา เพราะต้องดูคอร์สแล้วดึงเนื้อหาที่น่าสนใจ วิเคราะห์ และตั้งคำถามให้ดึงดูดผู้ฟัง เป็นงานที่ดูเหมือนง่าย แต่ความจริงไม่ง่ายเลย เราต้องคิดว่าจะถามอะไร คำถามจะน่าสนใจไหม แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี พี่ๆ ก็มาช่วยดูตลอด ไม่รู้ว่าเพราะเราเรียนจบปีสี่ด้วยหรือเปล่า จึงได้รับความไว้วางใจขนาดนี้”
สำหรับเรื่องที่คาดไม่ถึง กัลเล่าว่าตอนที่ทำการสนทนากลุ่ม รู้สึกประหลาดใจที่สตาร์ตอัปก็ยังใช้เครื่องมือนี้ เพราะกัลนึกว่าสตาร์ตอัปจะเลือกใช้เครื่องมือที่ลงทุนน้อยกว่านี้ เช่น แบบสอบถาม นอกจากนั้น กัลประหลาดใจที่ถึงขนาดมีสิ่งตอบแทนเป็นบัตรกำนัลเงินสดมูลค่าหนึ่งพันบาท ก็ยังหาคนมาได้น้อยมาก ซึ่งกัลมองว่าเป็นเพราะคนให้คุณค่ากับเวลาและความสะดวกสบายมากกว่าที่คิด นอกจากนั้นก็ยังมีผลจากการสนทนากลุ่มที่ไม่คาดคิด เช่น ตอนแรกบริษัทตั้งสมมติฐานไว้ว่าคนจะดูคอร์สออนไลน์ขณะเดินทาง แต่พบว่าคนกลับดูคอร์สออนไลน์ที่บ้านหรือในยามว่าง ในการสนทนากลุ่มไม่มีใครดูคอร์สออนไลน์ขณะเดินทางเลย เพราะฉะนั้น โฆษณาจึงต้องเปลี่ยนไปตามผลจากการสนทนากลุ่ม
ผู้เข้าร่วมโครงการคนสุดท้ายคือ ชมพู่ – ศรินทิพย์ ธัญญะเศรษฐ์ นักศึกษาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ชมพู่ฝึกงานที่ Asiastartups เป็นเวลา 2 เดือน ในตำแหน่ง Marketing Associate โดยสตาร์ตอัปแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนกับสตาร์ตอัปในประเทศไทยและประเทศในเอเชีย
“บริษัทจะจับคู่นักลงทุนกับสตาร์ตอัปที่น่าสนใจและน่าลงทุน เพราะฉะนั้น การที่ชมพู่ได้ไปฝึกงานกับ Asiastartups ชมพู่จึงได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อรับฟังไอเดียใหม่ๆ จากสตาร์ตอัปที่ติดต่อกับบริษัทเพื่อขอระดมทุนจากนักลงทุน ซึ่งแต่ละครั้งที่ได้ฟัง ชมพู่ก็ได้รับความรู้ใหม่ ได้เรียนรู้ว่าการที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่แค่การมีไอเดียแปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่การมีทีมที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน ชมพู่เห็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นมุมานะของผู้ก่อตั้งทุกคนที่มีเป้าใหม่อยากสร้าง impact ให้กับสังคมไทย ให้คนไทยได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นจากการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ที่บริษัทผลิตออกมา อีกทั้งยังมีบริษัทที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป้าหมายของเขาคือการทำเพื่อสังคม ทำเพื่อส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ทำให้ชมพู่มีแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับประเทศของเราบ้าง ในขณะที่โลกเราเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว การให้สิ่งดีๆ กับสังคมหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึงเช่นกัน”
“ได้เรียนรู้ว่าการที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่แค่การมีไอเดียแปลกใหม่เพียงอย่างเดียว แต่การมีทีมที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน” – ชมพู่ ศรินทิพย์
หน้าที่ของ Marketing Associate ซึ่งชมพู่ได้รับมอบหมาย คือการจัดการเว็บไซต์ การทำวิดีโอ และเขียนอีเมลโปรโมตบริษัทเพื่อส่งให้กับสตาร์ตอัปกว่า 200 ราย
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และเป็นงานที่ได้ลงมือทำจริงๆ ซึ่งชมพู่ได้รับความไว้วางใจและรู้สึกถึงความเชื่อมั่นในตัวเราจากบริษัท Asiastartups”
แต่อุปสรรคก็เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องพบเจอเสมอ
“เมื่อฝึกงานไปได้สักพัก ชมพู่ก็ได้เรียนรู้ว่าการทำงานนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดขึ้นได้ทุกวัน การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่บริษัทต้องเผชิญและปรับตัว ชมพู่จึงได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นอกจากนั้น การที่ชมพู่ได้ทำผลงานต่างๆ ให้กับบริษัท ผลตอบรับก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ทั้งหมด และก็อาจจะไม่ได้รวดเร็วแบบที่ตั้งใจไว้ แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ชมพู่ได้เรียนรู้ว่าการที่เราได้ทำอะไรอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลรับจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำสิ่งเหล่านั้นคือเรื่องสำคัญมากกว่า เพราะมันคือการเรียนรู้ เพื่อให้เราได้พัฒนาตัวเองต่อไปในวันข้างหน้า ถ้าผลตอบรับออกมาดี มันคือความภาคภูมิใจของเรา แต่ถ้าผลตอบรับออกมาไม่ดี แทนที่เราจะเสียใจ ชมพู่กลับมองว่ามันคือการเรียนรู้ มันคือประสบการณ์ เมื่อเราทำมันอย่างสุดความสามารถแล้ว เราควรมองหาวิธีแก้ไขและพัฒนาตัวเองต่อไป”
เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า “ชมพู่เชื่อว่าการจะประสบความสำเร็จในชีวิต เราต้องผ่านอุปสรรคและปัญหามากมาย ดังนั้น ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ชมพู่เชื่อว่าทุกคนจะผ่านมันไปได้ เพียงแค่เรามีใจที่แน่วแน่เท่านั้นเอง”
นับได้ว่าทั้งสามคนได้รับความไว้วางใจให้ลงมือทำงานจริงขณะฝึกงานในสตาร์ตอัป และพวกเขาก็มีอารมณ์ร่วมกับมัน เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็มีเครียดบ้างเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม ทุกคนเชื่อว่าการที่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีค่า ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับจะมีประโยชน์ในวันข้างหน้า ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พูดง่ายๆ คือมี growth mindset นั่นเอง
การฝึกงานในสตาร์ตอัปเป็นโอกาสให้ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมองค์กรที่แปลกใหม่ และเป็นโอกาสในการเรียนรู้วิธีคิดและการทำงานของสตาร์ตอัปซึ่งกำลังมาแรงในยุคนี้ ขณะเดียวกันก็นำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรขนาดใหญ่ได้ด้วย ที่สำคัญคือเราน่าจะมีโอกาสได้ลงมือทำงานจริงมากกว่าการฝึกงานในองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีพนักงานมากอยู่แล้ว
ผู้เขียนเชื่อว่าโอกาสมักจะอยู่กับคนที่มองหา เพราะฉะนั้น หากคุณสนใจจะฝึกงานกับสตาร์ตอัป จงอย่าลังเลที่จะมองหาโอกาสนั้นให้กับตัวคุณเอง
Tags: internship, ฝึกงาน, Globish, SkillLane, Asiastartups, Career, Launcher, CareerVisa, startup, Thailand