วันนี้ (26 ตุลาคม 2564) ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาศาลอุธรณ์ คดีของปอย ป่าแส หรือแม่ของชัยภูมิ ป่าแส ผู้เสียชีวิต ที่ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทางกองทัพบก ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ปืนเอ็ม 16 วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแสเสียชีวิต ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง และกองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายใดๆ เมื่อ 26 ตุลาคมปีที่ผ่านมา
เวลาประมาณ 08.30 น. ศาลได้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวไปปีหน้า เป็นวันที่ 26 มีนาคม 2565 เนื่องจากศาลยังทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ
The Momentum พาย้อนรอยคดีของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อสู้ชาติพันธุ์ลาหู่ ผู้ต่อต้านยาเสพติด แต่กลับถูกปลิดชีวิตด้วยกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ทหาร ด้วยข้อหามีความผิดฐานครอบครองและจำหน่ายยาเสพติด โดยที่เขาไม่มีแม้แต่โอกาสในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์
1. ชัยภูมิ ป่าแส คือใคร
ชัยภูมิ ป่าแส หรือ ‘จะอุ๊’ อายุ 17 หากนับตามวันเกิดตามบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ที่หมายถึงการเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เขาจะมีอายุ 21 ปี (ข้อผิดพลาดจากการสำรวจข้อมูลทางทะเบียน) ขณะนั้นเขากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนักกิจกรรมกลุ่มรักษ์ลาหู่ ที่มีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มเยาวชนทำกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ รวมถึงวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติด
นอกจากนี้เขายังมีผลงานเพลงชื่อ จงภูมิใจ ที่แต่งให้คนไร้สัญชาติ และยังมีผลงานภาพยนตร์สั้น ได้แก่ เข็มขัดกับหวี ได้รับรางวัลช้างเผือกพิเศษดีเด่น และ ทางเลือกของจะดอ ได้รับรางวัลชมเชย รัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหนังไทย รวมถึงการเป็นหนึ่งในทีมงานสารคดีที่ผลิตโดยกลุ่มรักษ์ลาหู่ เช่น รายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส นอกจากนี้ชัยภูมิยังเป็นคนที่ร่วมรณรงค์เรียกร้องการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติของคนชาติพันธุ์ และเป็นแกนนำในการจัดค่ายต่างๆ
2. นักกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด แต่ถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยข้อหาครอบครองและจำหน่ายยาเสพติด
เช้าของวันที่ 17 มีนาคม 2560 ชัยภูมิถูกวิสามัญฆาตกรรมพร้อมกับตั้งข้อหามีความผิดฐานครอบครองและจำหน่ายยาเสพติด ที่บริเวณด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวงในอำเภอเชียงดาว โดยผลชันสูตรศพพบว่าเขาถูกยิงด้วยปืนเอ็ม 16 ด้านเจ้าหน้าที่รายงานว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารร้อย ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5 ซึ่งประจำจุดตรวจยาเสพติดด่านทหารสามแยกรินหลวงได้เรียกรถยนต์ฮอนด้า แจ๊ซ สีดำ ซึ่งเป็นรถของชัยภูมิ เพื่อตรวจค้น ภายหลังตรวจค้นพบยาบ้าจำนวน 2,800 เม็ด ซุกอยู่ในเครื่องกรองอากาศ จึงจับตัวนักกิจกรรมชาวลาหู่ ผู้ขับเคลื่อนต่อต้านยาเสพติด แต่ชัยภูมิกลับขัดขืนและควักระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ จึงถูกสังหารและเสียชีวิตคาที่
3. “จะให้ทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็กลัวตายเหมือนกัน” พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ภายหลังเกิดเหตุ โฆษกประจำกองทัพบกออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันสุดวิสัยของทหาร เพราะชัยภูมิขัดขืนต่อสู้ และประสงค์จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ถึงแก่ชีวิต ด้านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนแล้ว แต่เนื่องจากผู้เสียชีวิตมีระเบิดอยู่ในมือ จึงต้องป้องกันตัว จะให้ทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็กลัวตายเหมือนกัน ส่วนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า อย่าคิดว่าเพียงเพราะเขาเป็นนักกิจกรรมชาติพันธุ์จึงถูกวิสามัญ รัฐบาลไม่เคยคิดแบบนี้ ขอร้องอย่าเพิ่งพูดกันไปมา เดี๋ยวจะเสียรูปคดี
4. “เขายิงเพียงนัดเดียว ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว” พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 (ตำแหน่งขณะนั้น)
แม่ทัพภาคที่ 3 ได้กล่าวถึงกรณีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิว่า เรามีหลักฐานชัดเจนในการโอนเงินการใช้จ่าย เด็กคนหนึ่งที่ไม่ทำอะไรเลย ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง การเคลื่อนไหวด้านสังคม ด้านเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่เขาเข้าไปในวงจรยาเสพติด อาจจะมีความจำเป็นทางการเงินเลยหลงผิด
ต่อมา เตือนใจ ดีเทศน์ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เงินที่เข้ามาในบัญชีของชัยภูมิเป็นเพียงหลักพันเท่านั้น ซึ่งมาจากการขายกาแฟออนไลน์ และขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยหลักฐานกล้องวงจรปิดต่อสังคม
5. ภาพกล้องวงจรปิดที่หายสาบสูญ
พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ดูภาพกล้องวงจรปิดดังกล่าวแล้ว แต่ยังระบุไม่ได้ว่าใครผิด ส่วนตัวจะไม่ขอแทรกแซงหรือสั่งให้นำมาเปิดเผย พร้อมบอกให้สังคมรอก่อน ต่อมา สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้กล่าวว่ามีข้อมูลอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถสรุปได้ แต่พนักงานสอบสวนกลับส่งให้อัยการ และยังพบประเด็นที่น่าสงสัยคือ เครื่องบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ (17 มีนาคม 2560) หายไป ทั้งๆ ที่ผ่านมาพลเอกเฉลิมชัยและพลโทวิจักขฐ์ต่างออกมายืนยันว่าได้เห็นภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดแล้ว
ขณะที่ รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความของชัยภูมิ กล่าวว่า “ทีมทนายความพยายามให้ข้อเท็จจริงไปสู่ศาลมากที่สุด คือเรื่องของการที่จะมีภาพจากกล้องวงจรปิดที่ด่านรินหลวง ซึ่งไม่ได้เข้ามาสู่สำนวนคดี เพราะกล้องที่ทหารส่งไปให้ตำรวจแล้วตรวจพิสูจน์ ทางตำรวจบอกว่าไม่พบข้อมูลภาพในเหตุการณ์วันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 10.00 น. ก็แสดงว่าภาพเหตุการณ์ในจุดสำคัญหายไป”
พร้อมกันนั้นสุมิตรยังกล่าวต่อว่า ประเด็นอาวุธที่พบในจุดเกิดเหตุ มีดที่ทหารอ้างว่าชัยภูมิใช้ต่อสู้นั้น ไม่พบลายนิ้วมือของเขา ส่วนระเบิดกลับพบดีเอ็นเอของหลายคนปะปนกับชัยภูมิ
“เป็นไปได้ เพราะว่าหลักฐานสำคัญไม่ได้เข้ามาคือกล้องวงจรปิด เราขอให้ศาลเรียกหลักฐานดังกล่าวสองครั้ง ศาลไม่เรียกเพราะเห็นว่าหลักฐานต่างๆ เท่าที่มีนั้นเพียงพอแล้วในการมีคำสั่ง ในมุมของศาลก็ถูกต้องหากศาลจะสั่งเพียงเท่านี้ แต่หากต้องการชี้ความจริงบางประการ กล้องวงจรปิดเป็นส่วนสำคัญมากในการวินิจฉัย ทั้งนี้ในชั้นสอบสวน ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการยังมีอำนาจในการเรียกหลักฐานเพิ่มเติมได้ เพราะสำนวนการสอบสวนยังไม่สรุป ทั้งสองหน่วยงานยังมีอำนาจเรียกกล้องวงจรปิดได้” สุมิตรชัยกล่าว
6. กระบวนการยุติธรรมที่ถูกกังขา
หลังจากการไต่สวนหลังการเสียชีวิตเสร็จสิ้นเมือเดือนมิถุนายน 2560 ภายใต้หลักฐานสำคัญภาพของกล้องวงจรปิดหายไป โดยกองทัพระบุว่าถูกบันทึกเทปทับไปแล้ว คดีนี้จึงถูกตั้งคำถามจากสังคมเป็นอย่างมาก บ้างก็กล่าวว่ามีการ ‘ยัดยา’ หรือเพราะเป็นบุคคลชาติพันธุ์จึงถูกปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยม ในที่เกิดเหตุมีหลักฐานที่เป็นกล้องวงจรปิดถึง 9 ตัว แต่ภาพดังกล่าวไม่เคยเปิดเผยมายังสาธารณชน สุมิตรชัยได้ตั้งคำถามต่อคดีนี้ต่อว่า ชัยภูมิมีระเบิดจริงหรือไม่ ภาพที่ปรากฏในข่าวว่ามีระเบิดคือหลังจากที่เขาเสียชีวิต ระเบิดหยิบมาจากรถของเขาจริงหรือไม่ หลักฐานเหล่านี้หายไป เหลือเพียงคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น นอกจากนี้บริเวณนั้นมีกล้องวงจรปิดถึง 9 ตัว ใช้ได้จริง 6 ตัว มีหนึ่งตัวบันทึกภาพลานตรวจค้นได้ แต่หลักฐานนี้กลับหายไป
7. ไม่มีข้อมูลใดๆ จากภาพกล้องวงจรปิด
ภายหลังที่ถูกกระแสสังคมกดดันทวงถามภาพกล้องวงจรปิด พร้อมกับที่ทางทนายความและองค์กรเครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรม ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการทหารบก เพื่อขอข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ทางสำนักงานเลขานุการกองทัพบกได้ออกหนังสือมาชี้แจงเหตุกรณ์ดังกล่าวว่า วันที่ 24 มีนาคม 2560 กองบัญชาการควบคุมที่ 1 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 5 (บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.5) ได้ถอดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดออกจากจุดตรวจบ้านรินหลวง เพื่อเตรียมการส่งให้สถานีตำรวจภูธรนาหวาย
และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 กองกำลังผาเมืองได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมดำเนินการเปิดดูข้อมูลภาพเหตุการณ์ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 แต่ภาพในเครื่องบันทึกข้อมูลเป็นภาพของวันที่ 20-25 มีนาคม 2560 ไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 เนื่องจากเป็นระบบบันทึกซ้ำอัตโนมัติของเครื่อง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ทดลองทำสำเนาไฟล์ข้อมูลในช่วงวันที่ 17 มีนาคม 2560 ในช่วงเวลา 10.00-10.10 น. เพื่อเปิดดู แต่ก็ไม่พบภาพข้อมูลใดๆ ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 จึงไม่ได้เก็บสำเนาไฟล์ดังกล่าว เพราะไม่มีข้อมูลบันทึกไว้
8. 4 ปี กับคดีที่ไร้ผู้รับผิด
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ห้องพิจารณา 503 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษา กรณีแม่ของชัยภูมิเป็นโจทย์ฟ้องกองทัพบท ให้ชดใช้ทางละเมิดกรณีทหารในสังกัดกองทัพบกได้วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ภายหลังการวิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ศาลมองว่า พลทหารยิงผู้ตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ จึงไม่ถือว่าละเมิดต่อโจทก์ศาลพิพากษายกฟ้อง
จากการพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้แม่ของชัยภูมิและทางทนายความยังคงตั้งข้อสังสัยต่อคดีหลายประการ เช่น ลายนิ้วมือที่ห่อยาเสพติดไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นลายนิ้วมือของชัยภูมิ จึงได้มีการยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เพื่อหาความยุติธรรมให้ชัยภูมิและครอบครัว พร้อมกับต้องการสร้างบรรทัดฐานความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ห้องพิจารณา 503 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษา กรณีแม่ของชัยภูมิเป็นโจทย์ฟ้องกองทัพบท ให้ชดใช้ทางละเมิดกรณีทหารในสังกัดกองทัพบกได้วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ภายหลังการวิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ศาลมองว่า พลทหารยิงผู้ตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ จึงไม่ถือว่าละเมิดต่อโจทก์ศาลพิพากษายกฟ้อง
จากการพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้แม่ของชัยภูมิและทางทนายความยังคงตั้งข้อสังสัยต่อคดีหลายประการ เช่น ลายนิ้วมือที่ห่อยาเสพติดไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นลายนิ้วมือของชัยภูมิ จึงได้มีการยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เพื่อหาความยุติธรรมให้ชัยภูมิและครอบครัว พร้อมกับต้องการสร้างบรรทัดฐานความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
ภาพ: ไทยพีบีเอส
Tags: Report, ทหาร, กระบวนการยุติธรรม, ชัยภูมิ ป่าแส