วันนี้ (27 ธันวาคม 2564) ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลได้เผยฉายารัฐบาลไทยที่ตั้งเป็นประจำทุกปี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเห็นของเหล่าสื่อมวลชนไทยที่มีต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

ฉายารัฐบาลในปีนี้ได้แก่ ‘ยื้อยุทธ์’ ที่มีความหมายทั้งการที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องยื้อเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไว้ให้นานที่สุด แม้จะมีการชุมนุมขับไล่นายกฯ หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการ ‘ยื้อแย่ง’ ผลประโยชน์และอำนาจของเหล่านักการเมือง ที่มีข่าวให้เห็นตลอดว่าใครมีแววจะแตกหักกับใคร หรือใครย้ายพรรคย้ายพวกไปอยู่กับใคร ซึ่งเรื่องความแตกแยกเป็นประเด็นเด่นของปีนี้ ต่างจากปีที่แล้วที่เรื่องเด่นของรัฐบาลคือการกู้เงินมากเสียจนถูกเรียกว่า ‘รัฐบาล VERY กู้’

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา: ชำรุดยุทธ์โทรม

พลเอกประยุทธ์ถูกตั้งฉายาว่า ‘ชำรุดยุทธ์โทรม’ โดยวัดจากผลงานการบริหารราชการตลอดปีที่ผ่านมาที่เรียกได้ว่า ‘ล้มเหลว’ ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคโรคระบาด การบริหารจัดการทั่วไป วาทกรรมที่พูดออกมาในแต่ละครั้งที่ลงพื้นที่น้ำท่วม ผู้สื่อข่าวจึงลงความเห็นว่า แม้พลเอกประยุทธ์จะยังได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แต่เขานั้นช่างทรุดโทรมทั้งร่างกายและจิตใจ แตกต่างจากปีก่อนที่ถูกเรียกว่า ‘ตู่ไม่รู้ล้ม’

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ: รองช้ำ

ทางด้านของรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของตระกูล ‘3 ป.’ ปีก่อนถูกเรียกว่า ‘ป้อมไม่รู้โรย’ ในปีนี้ถูกตั้งฉายาว่า ‘รองช้ำ’ จากความแตกแยกกันของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ทั้งเพื่อนในกลุ่ม 3 ป. หรือลูกน้องคนสนิทที่เหมือนจะตีตัวออกหาก จนผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบฯ มองว่า พลเอกประวิตรอยู่กึ่งกลางของความขัดแย้ง และไม่สามารถเลือกข้างที่ชัดเจนได้ จึงต้องเจ็บช้ำน้ำใจในฐานะพี่ใหญ่ที่แก้ปัญหาไม่ได้

อนุทิน ชาญวีรกูล: ว้ากซีน

ประเด็นเรื่องโควิด-19 ในปีนี้ยังคงร้อนแรงเหมือนกับปีที่แล้ว จึงทำให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกเรียกว่าเป็นรัฐมนตรี ‘ว้ากซีน’ ซึ่งเป็นคำล้อของ ‘วัคซีน’ ที่เต็มไปด้วยปัญหาและคำครหา ทั้งชนิดของวัคซีนที่รัฐบาลเลือกใช้จนเกิดประเด็นถกเถียงถึงประสิทธิภาพ การกระจายวัคซีน ปัญหาการลัดคิวฉีดวัคซีน วัคซีนหลักไม่มาตามนัด ฯลฯ แต่เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมักตอบคำถามสื่อมวลชนแบบขอไปที หรือเวลาโต้ตอบกับประชาชนในโซเชียลมีเดียส่วนตัว อนุทินจะโต้ตอบอย่างรุนแรงแทบทุกครั้ง จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า ‘ว้ากซีน’

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ: สายขม นมชมพู

ข่าวใหญ่ที่ว่า ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ติดโควิด-19 นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของปีนี้เช่นกัน เนื่องจากเกิดการวิเคราะห์กันทั้งในวงเพื่อนฝูงจนถึงเพจต่างๆ ว่า รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อจนติดโควิด ก่อนศักดิ์สยามได้ดำเนินการแจ้งความสื่อมวลชนที่ตีข่าวว่าเขาไปเที่ยวสถานบันเทิงจนติดโควิด รวมถึงแจ้งความ มงคลกิตติ์ สุขสินธารนนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ หลังจาก มงคลกิตติ์ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กว่าศักดิ์สยามไปเที่ยวทองหล่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 และเป็นหนึ่งในตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดคลัสเตอร์ทองหล่อกว่าหมื่นคน

นอกจากนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ศักดิ์สยามชี้แจงข้อกล่าวหาในญัตติที่ว่าตนเป็นคนเสเพล เที่ยวแหล่งอบายมุขจนเป็นต้นตอการระบาดของโควิดในพื้นที่ทองหล่อว่าไม่เป็นความจริง รูปที่มงคลกิตติ์นำมาแสดงเป็นรูปที่ตนกำลังนั่งร้องเพลงในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ไม่เกี่ยวข้องการแพร่ระบาดเมื่อเดือนมีนาคม 2564 หากสังเกตจากรูป จะพบว่ามีเครื่องดื่มที่ดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แต่เป็นนมเย็น และการที่ไปเที่ยวในที่ที่มีสุภาพสตรีก็เป็นเรื่องปกติของคนที่มีสถานภาพโสด จนทำให้ศักดิ์สยามถูกสื่อตั้งฉายาว่า ‘สายขม นมชมพู’ ซึ่งยังคงเป็นฉายาที่เกี่ยวกับสี จากปีก่อนที่ถูกเรียกว่า ‘ศักดิ์สบายสายเขียว’

พิพัฒน์ รัชกิจประการ: ดีลล่มระดับโลก

อีกหนึ่งประเด็นที่สร้างเสียงฮือฮาได้พักใหญ่ ก่อนรัฐบาลไทยจะประกาศว่าทำตามแผนที่วางไว้ไม่ได้ คือการจัดงานเคานต์ดาวน์ส่งท้ายปีที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเชิญ ‘ลิซ่า’ – ลลิษา มโนบาล ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี BLACKPINK มาร่วมงานใหญ่ที่จังหวัดภูเก็ต โดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมายืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าลิซ่าจะมาร่วมงานแน่นอน จนเกิดเสียงวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่ หรือหากยังไม่ได้รับคำตอบแน่นอนจากค่ายต้นสังกัด รัฐบาลไม่ควรให้ข่าวว่าศิลปินตกลง สุดท้ายค่ายต้นสังกัดของ BLACKPINK ออกจดหมายว่า ลิซ่าไม่สามารถมาร่วมงานปีใหม่ที่ไทยได้ เนื่องจากตารางงานที่ไม่ลงตัว สื่อมวลชนจึงตั้งฉายาให้เขาว่า ‘ดีลล่มระดับโลก’ ที่ทำให้รัฐบาลไทยเสียชื่อและเสียความเชื่อมั่นไปไม่น้อยจากเหตุการณ์นี้

สุชาติ ชมกลิ่น: สุชาติ ชมเก่ง

เมื่อไรที่มีการสัมภาษณ์แล้วต้องพูดถึงนโยบายรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลหรือพลเอกประยุทธ์ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มักจะกล่าวขึ้นต้นประโยคด้วยการชื่นชมการทำงานของพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรอยู่เสมอ ไหนจะการท้ามงคลกิตติ์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แทนนายกรัฐมนตรีว่า “ใครแพ้ให้ลาออก” หรือ “หากไม่รับคำท้าไม่ใช่ลูกผู้ชาย” จึงไม่แปลกใจที่สื่อประจำทำเนียบฯ จะตั้งฉายาให้เขาว่า ‘สุชาติ ชมเก่ง’

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์: นายกฯ บางโพล

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในปีที่แล้วถูกเรียกว่า ‘เช้าสายบ่ายเคลม’ จากการที่มักเข้าประชุมไม่ตรงเวลา มาสายบ่อย มักนิ่งเงียบเมื่อเรื่องที่สังคมพูดถึงจะส่งผลลบต่อตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าเป็นเรื่องดีจะรีบเคลมผลงานทันที ซึ่งในปีนี้จุรินทร์มักถูกยกมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกเวลาทำโพลสำรวจว่าอยากเห็นใครเป็นนายกฯ และมีบางโพลที่ระบุว่า จุรินทร์เหมาะสมกับการขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ทว่าก็แค่บางโพลเท่านั้น

สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์: มหาเฉื่อย 4D

สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ กรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานว่านิ่งนอนใจกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศจนเกินไป แม้ความเดือดร้อนของประชาชนจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่รัฐบาลและสุพัฒน์พงษ์ยังคงทำตัวเหมือนไม่เดือดร้อน ประกอบกับบุคลิกที่มักเดินถือแก้วกาแฟแล้วเดินทอดน่อง กับการปราศรัยนโยบายเหมือนกับการบรรยายธรรม และเวลานำเสนอนโยบายทีไรจะต้องพูดถึงนโยบาย 4D อยู่ตลอด จึงเป็นที่มาของฉายา ‘มหาเฉื่อย 4D’

ส่วนวาทะแห่งปี 2564 อาจเป็นหนึ่งในการเลือกที่คะแนนขาดลอยว่าต้องเป็นคำว่า “นะจ๊ะ” ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การลงท้ายประโยค “นะจ๊ะ” ของพลเอกประยุทธ์ มักมาพร้อมกับการชี้แจงหรือถ้อยแถลงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น การระบาดของโควิด-19, ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่, ปัญหาความยากจน หรือการชี้แจงงบประมาณ นายกรัฐมนตรีมักลงท้ายด้วยนะจ๊ะเพื่อหวังคลี่คลายความตึงเครียด ทว่าประชาชนส่วนใหญ่มองว่าใช้ผิดเวลา ขาดภาวะผู้นำ สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำไทยล้มเหลวในการสื่อสารมากเพียงใด

Tags: , , , , , , , ,