หากมองย้อนกลับไปตลอดทั้งปีที่ผ่านมา คงไม่เกินเลยไปนักหากจะพูดว่าปีนี้เป็นอีกปีที่หนักหนาสาหัสทีเดียว เพราะนอกจากจะมีโควิดสายพันธุ์เดลตาระบาดหนักในเมืองไทยจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมหลักหมื่น ปีนี้ยังรวมดาวภัยพิบัติต่างๆ ทั้งน้ำท่วมใหญ่และโรงงานไฟไหม้หลายแห่ง ด้านเศรษฐกิจเองก็ไม่น้อยหน้า ราคาข้าวตกต่ำจนถูกกว่ามาม่า คนทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหวถึงขั้นปิดกิจการฆ่าตัวตายกันก็ไม่น้อย ส่วนด้านการศึกษาไม่ต้องพูดถึง เพราะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มเติมอีก ส่วนคนที่ยังอยู่ในระบบก็ต้องเรียนออนไลน์เป็นปีที่สองจนเครียดและเหนื่อยล้ากันไปตามๆ กัน

ด้วยเหตุนี้ หลายคนคงแทบรอโบกมือลาปี 2021 ไม่ไหวแล้ว (แม้ว่าข่าวสายพันธุ์โอมิครอนจะทำให้รู้สึกว่าปีหน้าอาจไม่ได้ดีขึ้นกว่าปีนี้มาก)

ในสัปดาห์นี้ เพื่อให้เข้ากับการบอกลาปีเก่า Word Odyssey ขอพาไปดูคำต่างๆ ที่ใช้กล่าวอำลาในภาษาอังกฤษ พร้อมสืบสาวว่าแต่ละคำมีที่มาจากไหน

Goodbye

คำอำลาสุดมาตรฐานในภาษาอังกฤษนี้เริ่มปรากฏการใช้ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ว่ากันว่าย่นย่อมาจากคำว่า God be with you หรือ God be with ye (ขอพระเจ้าสถิตกับท่าน) ซึ่งพบว่าใช้เป็นคำบอกลาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 แล้ว

พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว God ใน God be with you กลายมาเป็น good ใน goodbye ได้ยังไง คำตอบก็คือ เนื่องจากคำทักทายส่วนใหญ่มักขึ้นต้นด้วย good เช่น good day, good evening, good night นักวิชาการจึงเชื่อกันว่าคนคงมองคำอำลานี้ว่ามีลักษณะคล้ายๆ กัน และแทนที่คำว่า God ด้วย good แทน ทำให้เกิดเป็น goodbye แบบที่เราเห็นกัน

แน่นอนว่าการเดินทางของ goodbye ไม่ได้จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะในเวลาต่อมายังถูกย่อเหลือแค่ bye-bye และ bye อย่างที่เราใช้ๆ กันทุกวันนี้ด้วย Farewell (interj.)

คำนี้เป็นอีกคำที่ใช้บอกลาได้ เพียงแต่ว่าปัจจุบันจะพบแต่ในงานเขียนเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครพูดจริงในชีวิตประจำวันแล้ว

คำว่า farewell เริ่มปรากฏว่ามีคนใช้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 ประกอบขึ้นจากคำว่า fare ที่เป็นกริยา หมายถึง เดินทาง (แบบที่ยังเจอได้ในคำว่า wayfarer หรือ seafarer) รวมกับคำว่า well ที่หมายถึง ดี พอรวมแล้วจึงหมายถึง ให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ เดินทางดีๆ นั่นเอง

คำนี้นอกจากจะใช้เป็นคำบอกลาได้แล้ว ยังใช้เป็นคำนามเพื่อพูดถึงการอำลาได้ด้วย เช่น I can’t wait to bid farewell to 2021. ก็คือ แทบอดใจรอบอกลาปี 2021 ไม่ไหว

Adieu

คำนี้คล้ายกับ farewell เล็กน้อย ตรงที่คนไม่ได้ใช้พูดกันแล้ว ส่วนใหญ่จะเจอก็แต่ในงานวรรณกรรมหรือบริบทที่ต้องใช้ภาษาที่ดูโบราณเท่านั้น

คำนี้แค่ดูโหงวเฮ้งก็รู้แล้วว่าต้องมาจากภาษาฝรั่งเศสแน่นอน (แต่คนฝรั่งเศสก็ไม่ใช้กันในชีวิตประจำวันแล้ว) คือมาจาก a dieu ในภาษาฝรั่งเศสกลาง ประกอบขึ้นจาก a ที่แปลว่า ไปยัง ไปสู่ รวมกับ dieu ที่แปลว่า พระเจ้า (เป็นญาติกับคำอย่าง deva ที่หมายถึง เทพ และ deify ที่แปลว่า ยกสถานะให้เป็นเทพเจ้า)

ทั้งนี้ ว่ากันว่า a dieu เป็นวลีที่ย่นย่อมาอีกรอบหนึ่งแล้ว เพราะเมื่อสืบสาวกลับไปถึงสมัยภาษาฝรั่งเศสเก่า จะพบว่า a dieu (หรือ a deu หรือ a diu ในภาษาฝรั่งเศสเก่า) ไปปรากฏในคำพูดที่ยาวกว่านั้น เช่น va a deu (ให้เดินทางโดยมีพระเจ้าเคียงข้าง) หรือ a diu remain (ให้พระเจ้าสถิตอยู่ด้วย)

ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน เรามักเจอ adieu ในสำนวน bid adieu คือ บอกลา เช่น It’s time for me to bid you all adieu. ก็คือ ถึงเวลาที่ผมต้องกล่าวลาทุกท่าน

ทั้งนี้ คำว่า adieu เรียกได้ว่าเป็นแฝดคนละฝากับคำว่า adiós ที่เป็นคำกล่าวลาในภาษาสเปน (ที่มีโอกาสได้ยินบ่อยๆ ในอเมริกา) ด้วย เพราะ adiós เองก็มาจาก a ที่แปลว่า ไปยัง ไปสู่ รวมกับ diós ที่แปลว่า พระเจ้า (ต้นตอเดียวกันกับ dieu ที่แปลว่า พระเจ้า ในภาษาฝรั่งเศส)

Ciao

แม้คำนี้จริงๆ แล้วจะใช้ได้ทั้งทักทายและบอกลาในภาษาอิตาเลียนซึ่งเป็นภาษาต้นทาง แต่ในภาษาอังกฤษใช้เป็นคำบอกลาในภาษาพูดแบบไม่เป็นทางการแทบทั้งนั้น

คำนี้มาจากคำว่า sciavo หรือ sciao ในภาษาเวนิซ ซึ่งแปลว่า ทาส ข้ารับใช้ สืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า sclavus ในภาษาละติน หมายถึง ทาส และเป็นคำเดียวกับที่ใช้เรียกคนเชื้อสายสลาฟในยุโรปกลาง ซึ่งถูกจับไปเป็นทาส

ส่วนที่คำที่หมายถึง ทาส กลายมาเป็นคำทักทายได้ ก็เพราะว่ากันว่าคำนี้เป็นคำที่ข้ารับใช้พูดเมื่อเจอกับเจ้านายหรือคนที่มีศักดิ์สูงกว่า คล้ายๆ กับที่คนในยุโรปกลางบางที่ยังใช้คำว่า servus ที่หมายถึง ข้ารับใช้ เป็นคำทักทาย หรือในภาษาอังกฤษที่ลงท้ายจดหมายว่า Your obedient servant เวลาพูดถึงกับคนที่ตนให้เกียรติ

ทั้งนี้ คำว่า ciao เริ่มปรากฏหลักฐานการใช้ในงานเขียนภาษาอังกฤษครั้งแรกในนิยาย A Farewell to Arms ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งมีฉากในเรื่องเป็นประเทศอิตาลี

So long

So long เป็นอีกคำพูดที่เราใช้บอกลาได้ เริ่มใช้ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีใครใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว

ที่น่าสนใจก็คือ นักวิชาการเองก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าคำนี้มีที่มาจากไหน บ้างก็บอกว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่า slán ที่เป็นคำกล่าวอำลาในภาษาไอริช บ้างก็ไปไกลถึงขนาดบอกว่าอาจมาจากคำว่า shalom ในภาษาฮีบรู ที่ใช้ได้ทั้งทักทายและบอกลา บ้างบอกว่าอาจจะเทียบเคียงได้กับ so lange ในภาษาเยอรมัน ที่ความหมายทำนองว่า จนกว่าจะพบกันใหม่ นอกจากนั้นก็ยังมีนักวิชาการบางคนที่เชื่อว่า คำนี้อาจเป็นคำทักทายของพวกคนเดินทะเล

สรุปก็คือ ที่มาของคำกล่าวลานี้คงเป็นที่ถกเถียงกันไปอีกนานจนกว่าจะพบหลักฐานอะไรใหม่ที่ชี้ชัดว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน

  

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://www.merriam-webster.com/words-at-play/so-long-origin

https://blog.oup.com/2018/03/the-origin-of-so-long/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , ,