นับตั้งแต่โลกของเราได้มีระบบการเงินไร้ตัวกลางอย่าง ‘Decentralize Finance’ หรือ DeFi ทางเลือกที่ให้บริการทางด้านการเงินนอกเหนือจาก ‘ระบบธนาคาร’ ทั้งการฝากเพื่อรับดอกเบี้ย การค้ำประกัน การกู้ยืม และการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ทำให้กิจกรรมทางการเงินของโลกคริปโตเคอร์เรนซีมีมากขึ้น เกิด Usecase ที่แท้จริงของเหล่าสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา บวกกับการมาถึงของกระแสโลกเมตาเวิร์ส และวิธีการได้มาของคริปโตเคอร์เรนซีผ่านรูปแบบการเล่น ‘Game-Fi’ ยิ่งทำให้กิจกรรมในโลกของบล็อกเชนนั้นคึกคักมากขึ้นไปอีก

ในเมื่อกิจกรรมของโลกของบล็อกเชนมีมากขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ต้องการจะอัพเกรดระบบการเงินไร้ตัวกลางให้ดีขึ้นตามไปด้วย เพราะด้วยการมาถึงของ Game-Fi นี่เอง ที่ทำให้บล็อกเชนนั้นมีธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหา ‘ความล่าช้าในการทำธุรกรรม’ และ ‘ค่าบริการที่แพง’ (อ่านต่อได้ที่ Cryptonian EP27 https://bit.ly/3cPaLB1) แต่หนึ่งในปัญหาที่เรียกได้ว่ายังคงเป็นช่องโหว่ของแพลตฟอร์ม DeFi ก็คือเรื่องของ ‘ปัญหาสภาพคล่อง’

ไม่ว่าจะเป็นการเงินแบบดั้งเดิมหรือการเงินในโลกใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ให้บริการทางการเงินคือ จำเป็นที่จะต้องมีสภาพคล่องที่ ‘เพียงพอ’ สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และสำหรับแพลตฟอร์ม DeFi 1.0 นั้น มีวิธีที่เพิ่มสภาพคล่องให้กับตัวเองได้อย่างชาญฉลาด นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Liquidity Pool หรือ LP ซึ่งพูดง่ายๆ คือการฝากเหรียญเพื่อรับเหรียญ Governance Token ของแพลตฟอร์มเป็นผลตอบแทน เช่นเดียวกับการฝากเพื่อรับดอกเบี้ย โดยอัตราดอกเบี้ยจะลดลงตามจำนวนผู้ฝากที่มากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์ม DeFi ที่ให้บริการ DEX (Decentralize Exchange), บริการกู้ยืม หรือให้บริการทางด้านการเงินต่างๆ เปิด Liquidity Pool เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตนเอง

จนในช่วงซัมเมอร์ปี 2020 มูลค่าของตลาด DeFi พุ่งทะยานไปสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น หลังจากที่นวัตกรรมการเงินกระจายศูนย์เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง จนในปัจจุบันสถาบันการเงินดั้งเดิมอย่าง ธนาคารต่างๆ ได้หันมาให้ความสนใจในระบบ DeFi เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างที่มีให้เห็นกันได้อย่างชัดเจน คือการเปิดตัว SCBX ของธนาคารไทยพานิชย์

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้ที่ได้รับ Governance Token มานั้น ไม่รู้ว่าเหรียญที่ได้มาสามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างไร? ทำให้ผู้ที่ได้รับ Governance Token ของแพลตฟอร์มนั้นๆ ตัดสินใจที่จะขายเหรียญเพื่อนำไปซื้อเหรียญอื่นที่มี Usecase การใช้งานที่มากกว่า เพราะเหรียญเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ผู้ใช้งานเลือกแพลตฟอร์มในการฝากเหรียญจากอัตราผลตอบแทนที่แพลตฟอร์มมอบให้มากกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แพลตฟอร์มใดที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำไม่สามารถที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้งานมาฝากเหรียญในระยะยาวได้ ทำให้ปัญหาสภาพคล่องของแพลตฟอร์มไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างที่คาดคิดไว้

แนวคิดของ DeFi 2.0 จึงเป็นการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องโดยใช้ระบบ Protocol Own Liquidity (POL) คือ ในเมื่อการใช้สภาพคล่องจากผู้ที่มาฝากเหรียญมันนั้นไม่ยั่งยืน ก็สร้างสภาพคล่องของตัวเองขึ้นมาใหม่เสียเลย หนึ่งในแพลตฟอร์มที่ใช้ระบบ POL และประสบความสำเร็จในการใช้งานคือแพลตฟอร์ม OlympusDAO โดยระบบดังกล่าว เปิดให้ผู้ที่มาฝากเหรียญเพิ่มสภาพคล่องให้กับ OlympusDAO สามารถซื้อเหรียญ OHM ซึ่งเป็นเหรียญของแพลตฟอร์มในราคาส่วนลดจากราคาตลาดได้

ทำให้ผู้ที่ฝากเหรียญไว้กับแพลตฟอร์มสามารถทำกำไรจากการซื้อ Governance Token ได้ เพราะได้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่าตลาด ส่วนแพลตฟอร์มก็ได้สภาพคล่องจากการขายเหรียญและผู้ที่มาฝากเหรียญไว้ นอกจากนี้ เหรียญ OHM ยังมีสินทรัพย์ในแพลตฟอร์ม OlympusDAO คอยรองรับไว้ และทางแพลตฟอร์มก็พร้อมที่จะซื้อเหรียญกลับไปเสมอ เมื่อราคาของเหรียญ OHM ลดลงถึงจุดหนึ่ง ทำให้ทางแพลตฟอร์มมีสภาพคล่องของตัวเอง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการฝากเหรียญของผู้ใช้บริการมากอย่างที่ DeFi 1.0 เคยทำมา

ปัญหาสภาพคล่องยังคงเป็นสิ่งที่ต้องคอยดูแลและแก้ไขสำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเงินแบบกระจายศูนย์ แม้ว่า POL จะเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ แต่เรายังคงไม่ทราบถึงอนาคตของ DeFi ว่าจะเป็นอย่างไร 

ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ภายใต้การแข่งขันอย่างเสรี ได้กำเนิดนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า DeFi 2.0 จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรต่อไปในอนาคต

ภาพ: OlympusDAO

ที่มา:

https://medium.com/@multifarm_fi/q-a-with-xh3b4sd-why-is-olympus-dao-unique-and-what-is-its-role-in-defi-2-0-8ae90db72d0 

https://verso.finance/defi-2-0-the-next-wave-in-crypto/ 

https://finematics.com/defi-2-0-explained/ 

https://bitcoinaddict.org/2021/11/25/defi-wtf-guide-book-defi-2-0/ 

https://decrypt.co/84858/is-defi-2-0-a-thing-yet 

Tags: , , , ,