ยังจำความรู้สึกเหนื่อยใจและท้อแท้เวลาเรียนภาษาต่างประเทศได้ไหม ศัพท์ทั่วๆ ไป ท่องมาปีแล้วปีเล่าก็ยังรู้จักไม่หมดทุกคำเสียที แล้วไหนจะยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สำนวน สุภาษิต คำพังเพย’ ที่เขียนอย่างแต่แปลอีกอย่างอีกเป็นร้อยเป็นพันสำนวน มีบ้างที่สำนวนในภาษาหนึ่งอาจมีใช้เหมือนกันในอีกภาษาหนึ่ง แต่ถ้าสำนวนนั้นมีเหมือนกันทั้งรูปศัพท์และความหมายเกือบครึ่งโลก อย่างนี้มันไม่ธรรมดา!
มีโครงการวิจัยด้านภาษาศาสตร์โครงการหนึ่งชื่อว่า Widespread Idioms in Europe and Beyond: Toward a Lexicon of Common Figurative Units (2012) ที่ได้สำรวจอย่างละเอียดถึง 74 ภาษาในยุโรปและอีก 17 ภาษานอกยุโรป (มีภาษาในเอเชียด้วย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม มองโกเลีย รวมถึงภาษาชนเผ่าต่างๆ แต่ไม่ได้สำรวจภาษาไทย) ว่ามีสำนวนอะไรบ้างที่มีใช้เหมือนกันทั้งรูปศัพท์และความหมาย โครงการวิจัยนี้สรุปว่า มีสำนวนเกือบ 200 สำนวนที่มีลักษณะเป็น ‘Widespread Idioms’ ของแท้ และจากจำนวนนี้ พบว่ามีสำนวน ‘rare item’ ประมาณ (แค่) สิบกว่าสำนวนที่ภาษาไทยปัจจุบันก็มีใช้ (หรืออาจจะรับมาใช้) กับเขาเหมือนกัน! มาดูกันเลยดีกว่าว่าสำนวนที่คนกว่าครึ่งโลกมีใช้ในภาษาตัวเองและไทยเราก็มีเหมือนกันมากที่สุด 10 อันดับมีอะไรบ้าง
อันดับ 10 ข้ามศพ (ข้าไปก่อนเถอะ!)
ดูเหมือนว่าคนอย่างน้อยก็ครึ่งโลกรู้สึกตรงกันว่า ถ้าต้องมีชีวิตอยู่เพื่อเห็นอะไรที่ทิ่มแทงใจ ยอมตายไปเลยเสียดีกว่า คาดว่าที่มาของสำนวนที่ใช้พูดแสดงความไม่เห็นด้วย คัดค้าน และต่อต้านอย่างหนักแน่น เพื่อรักษาหรือปกป้องอะไรบางอย่างของตนสำนวนนี้เริ่มจากนักเขียนชาวเยอรมันในสมัยปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ผลิตและใช้ซ้ำสำนวน ‘over my dead body’ ในงานประพันธ์ จนกระทั่งเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วยุโรปและดินแดนอื่น จากการสำรวจ สำนวน ข้ามศพข้าไปก่อนเถอะ ปรากฏในภาษาต่างๆ อย่างน้อย 31 ภาษา
อันดับ 9 จูงจมูก
เวลาคนไทยใช้สำนวน จูงจมูก คงนึกถึงภาพวัวควายที่ถูกสนตะพายให้มนุษย์ลากจูงไปตามต้องการ ซึ่งใช้เป็นภาพเปรียบเทียบลักษณะเหตุการณ์ที่คนคนหนึ่งถูกอีกคนชี้นำและบงการ แต่ภาพสัตว์ที่ถูกลากจูงไปนั้นแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและวัฒนธรรม ภาพของสัตว์ที่ถูกจูงจมูกในภาษาอื่น นอกจากวัวควายแล้วก็ยังมีม้า กระทิง และหมี (ในละครสัตว์) ด้วย แต่ไม่ว่าภาพในความคิดของคนแต่ละท้องถิ่นจะเป็นสัตว์ชนิดใด อย่างน้อยมีถึง 33 ภาษาที่รู้จักความหมายของสำนวนนี้
อันดับ 8 ปูทาง
นักภาษาศาสตร์สองท่านคือ George Lakoff และ Mark Johnson บอกว่ามนุษย์มองโลกเป็นเชิงเปรียบและแสดงออกผ่านภาษา เช่นว่าการจะบรรลุวัตถุประสงค์หรือความสำเร็จในเรื่องหนึ่งนั้น มันมี ‘เส้นทาง’ จากจุดเริ่มไปถึงเส้นชัย สำนวน ปูทาง จึงเกิดมาจากการใช้อุปมา ‘ทาง’ สู่ความสำเร็จนี้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม มีอีกสมมติฐานว่าสำนวนนี้น่าจะแพร่หลายจากคำในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า ‘Prepare ye the way of the Lord, make his paths straight’ (Mattew 3:3 and Mark 1:2) ประเด็นนี้คงต้องสืบค้นดูว่าในชุมชนที่ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา เขามีสำนวนนี้ใช้กันก่อนคนจะรู้จักไบเบิลหรือไม่ และจากการสำรวจพบว่ามีอย่างน้อย 34 ภาษาที่สะท้อนวิธีมองหนทางสู่ความสำเร็จเป็น ‘เส้นทาง’ (Way) เหมือนกันเป๊ะ ๆ
อันดับ 7 ดาบสองคม
ที่มาของรูปศัพท์คำว่า ดาบสองคม หรือ ‘two-edged sword’ ยืนยันชัดเจนว่ามาจากคัมภีร์ไบเบิล แต่ความหมายที่ใช้ในไบเบิลนั้นไม่ได้หมายความถึงสิ่งที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียหรือสิ่งที่ให้ประโยชน์แต่ก็มีความเสี่ยงอย่างที่ภาษาในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้กัน อย่างไรก็ตาม สำนวนดังกล่าวนี้มีรูปศัพท์ที่เหลื่อมคำกันออกไปบ้าง ในภาษาตระกูลเจอร์แมนิกส่วนมากใช้ ‘ดาบสองคม’ ในภาษาตระกูลโรมานซ์มักใช้ ‘อาวุธสองคม’ และในภาษาอื่น ๆ อย่าง โรมาเนียน, บัลแกเรียน, อัลบาเนียน, กรีก, เตอร์กิช ฯลฯ ใช้ว่า ‘มีดสองคม’ และสำนวน ดาบสองคม นี้ รู้จักกันในภาษาถึง 42 ภาษาทีเดียว
อันดับ 6 ตามรอย(เท้า)
สำนวนนี้อาจเกี่ยวข้องกับอุปมา ‘ทาง’ สู่ความสำเร็จที่ปรากฏเหมือนกันในหลายภาษา และขยายภาพสิ่งที่ทำเพื่อไปสู่ความสำเร็จด้วยอุปมา ‘รอยเท้า’ ของคนที่ย่ำเดินไปตามเส้นทางนั้น ในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้สำนวน ตามรอยเท้า เช่นกัน ใน Peter 2:21 “(…) because Christ also suffered for us, leaving us an example, that ye should follow his steps.” หากจะย้อนอดีตให้ไกลออก การใช้อุปมา ‘รอยเท้า’ แทนสิ่งซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดได้สร้างสรรค์ขึ้นก็มีปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างคัมภีร์พระเวท ดังตัวอย่างบทสรรเสริญพระวิษณุที่ว่า “Through all this world strode Vishnu: thrice his foot he planted, and the whole world was gathered in his footsteps” ไม่น่าแปลกใจที่อุปมาอันเก่าแก่นี้กลายมาเป็นสำนวน ตามรอยเท้า ที่มีใช้กันอย่างน้อยถึง 49 ภาษา
อันดับ 5 ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
เชื่อว่าเด็กไทยที่ผ่านยุคเรียนสังคมศึกษาแบบท่องจำ คงยังจำ “กฎหมายฮัมมูราบี มีโทษตาต่อตาฟันต่อฟัน” กันได้ สำนวนนี้แรกเริ่มก็มาจากประมวลกฎหมายแห่งอาณาจักรบาบิโลเนีย ซึ่งเก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของโลก วิธีการลงโทษผู้กระทำผิดของประมวลกฎหมายนี้ยึดหลักการแก้แค้น แบบใครทำกรรมอะไรไว้ก็จงได้รับกรรมนั้นคืนสนอง อันเป็นลักษณะการลงโทษที่โจรผู้ร้ายขยาดเหลือเกิน และกลายเป็นสำนวนที่พบแพร่หลายในกว่า 53 ภาษา
อันดับ 4 ลงเรือลำเดียวกัน
สำนวน ลงเรือลำเดียวกัน ที่มีความหมายสื่อถึงสภาวะที่ทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์อันไม่สู้จะดีนักร่วมกันนี้มีที่มาจากยุคกรีกโบราณ นักปราชญ์และกวีในยุคนั้นต่างเปรียบ ‘รัฐ’ เป็น ‘เรือ’ โดยมีผู้นำของรัฐเป็นกัปตัน การใช้อุปมา ‘Ship of State’ นี้ยังคงสะท้อนให้เห็นอยู่ในสุนทรพจน์ทางการเมืองในภาษาตะวันตกหลายภาษา สุนทรพจน์ที่อดีตประธานาธิบดีโอบามากล่าวในรัฐสภาอังกฤษปี 2011 ก็มีการเปรียบเปรยการบริหารประเทศว่าเป็นการแล่นเรือเช่นกัน ดังที่ว่า “There may have also been some hurt feelings (…) But fortunately, it’s been smooth sailing ever since!” น่าสังเกตว่าในภาษาไทยของเราก็มีสำนวน ‘ตลอดรอดฝั่ง’ ซึ่งมีความหมายว่า ผ่านอุปสรรคมาจนถึงจุดหมายปลายทางได้ นี่ก็อาจแสดงได้ว่าในภาษาไทยก็มีมโนทัศน์เรื่องการเผชิญสถานการณ์ยากลำบากเป็นการล่องเรือเหมือนกัน นอกจากภาษาไทยแล้วก็มีอีกกว่า 54 ภาษาที่ใช้สำนวนนี้เหมือนกัน แม้ว่าจะใช้ศัพท์แตกต่างกันออกไปบ้างว่า ‘อยู่ในเรือลำเดียวกัน’, ‘นั่งเรือลำเดียวกัน’ และ ‘ไปเรือลำเดียวกัน’ แต่ความหมายนั้นเหมือนกันทุกประการ
อันดับ 3 ขนลุก / ขนหัวลุก
ไม่น่าแปลกใจที่ปฏิกิริยาทางสรีรวิทยา อย่างเช่นความรู้สึก ‘ขนลุก’ เป็นบ่อเกิดที่มาของสำนวนในภาษาต่างๆ ก็แหม จะมีคำพูดไหนที่บรรยายความรู้สึกให้คนอ่านคนฟังเข้าใจได้ดีเท่าการบรรยายด้วยปฏิกิริยาทางร่างกายที่ทุกคนต้องเคยรู้สึกล่ะจริงไหม แต่นอกจากสำนวนนี้จะใช้ในความหมายที่ว่า ‘รู้สึกหวาดกลัวหรือตกใจกลัว’ แล้ว ในภาษาส่วนใหญ่ยังใช้เพื่อสื่ออารมณ์โกรธและกังวลด้วย (อย่างเช่นเวลาแมวพองขนขู่) หลักฐานเก่าแก่อย่างมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์และคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมก็ปรากฏการใช้สำนวน ขนลุก เพื่อบรรยายอาการหวาดผวาตกใจกลัว (เพราะเห็นพลังงานบางอย่าง) ด้วยเช่นกัน และจากการวิจัยพบว่า สำนวนนี้มีใช้อย่างน้อยถึง 67 ภาษาทีเดียว
อันดับ 2 เติมเชื้อไฟ / เอาน้ำมันไปราดกองไฟ
สำหรับสำนวนที่ใช้พูดถึงการทำให้สถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกประหนึ่งเปลวไฟที่ยิ่งโหมลุกไหม้เมื่อมี ‘เชื้อไฟ’ เข้ามาเติม ภาษาส่วนใหญ่ระบุชัดเจนเลยว่าเชื้อไฟที่ว่านั้นคือ ‘น้ำมัน’ แต่ก็มีบ้างที่ใช้ศัพท์คำอื่นในฐานะเชื้อไฟ เช่น ไม้ ฟืน ถ่านหิน ฟาง แม้แต่สารเคมีไวไฟอย่างน้ำมันก๊าดและดินปืนก็มีใช้เช่นกัน ส่วนที่มาของสำนวน เอาน้ำมันไปราดกองไฟ นี้ก็ไม่พ้นงานประพันธ์ยุคคลาสสิกของกวีชาวกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดให้สำนวนนี้แพร่หลายถึงอย่างน้อยใน 71 ภาษาทั่วโลก
อันดับ 1 เล่นกับไฟ
สำนวนที่ปรากฏเหมือนกันมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งสำนวนนี้สันนิษฐานว่ามีที่มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาแต่โบราณ ใคร ๆ ก็รู้ว่าการนำไฟร้อน ๆ มาเล่นเพื่อความสนุกสนานเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มเสี่ยง สำนวน เล่นกับไฟ ส่วนมากจึงพบการใช้ในรูปประโยคคำสั่งในลักษณะห้ามปรามและตักเตือน ในบางภาษาสำนวนนี้ยังมีความหมายไปในเชิงเปรียบ ‘หญิงชู้’ เป็นไฟก็มี ยืนยันได้เลยว่าสำนวนสากลสำนวนนี้สามารถนำไปพูดกับคนค่อนโลกได้เข้าใจตรงกันแน่นอน เพราะจากการสำรวจ พบว่ามีอย่างน้อย 64 ภาษาในยุโรปและอีก 8 ภาษานอกยุโรปที่มีใช้เหมือนกัน
สำนวนสุภาษิตเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อ ทัศนคติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่ใช้ภาษานั้นๆ อย่างตัดกันไม่ขาด คนต่างถิ่นถ้าไม่รู้จักก็อาจจะเดาความหมายไม่ออกหรืออาจแปลความผิด ดังนั้น ถ้าจะใช้สำนวนสุภาษิตคุยกับชาวต่างชาติก็ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจถูกต้องตรงกันนะคะ
อ้างอิง:
Lakoff, G. and Johnson, M. Metaphors We Live By. Chicago: University of Chicago Press, 1980.
Piirainen, Elisabeth. Widespread Idioms in Europe and Beyond: Toward a Lexicon of Common Figurative Units. New York: Peter Lang, 2012.
FACT BOX:
Widespread Idioms (WIs) คือสำนวนที่ใช้ตรงกันทั้งรูปศัพท์ที่ประกอบขึ้นและความหมายในภาษาจำนวนมาก
Tags: figurativelanguage, language, Idioms, widespreadidioms