สารภาพว่าก่อนที่จะเริ่มเขียนบทความนี้ออกมา ผู้เขียนนึกไม่ออกว่าช่วงเวลานี้ควรเขียนถึงหนังหรือซีรีส์เรื่องใด อาจเพราะมีหนังคุณภาพทั้งในโรงภาพยนตร์และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งให้เลือกดูมากมาย กระทั่งนึกถึงหนังเรื่องล่าสุดที่ได้ไปดูมาอย่างเรื่อง ‘ร่างทรง’ ซึ่งหากใครได้ดูแล้ว คงทราบดีว่า หนึ่งในประเด็นที่หนังเรื่องนี้ต้องการสื่อคืออำนาจความเป็น ‘หญิง’
ขณะเดียวกัน ผู้เขียนจึงนึกถึงประเด็นตรงกันข้ามกับอำนาจความเป็นหญิง หรือ ‘ปิตาธิปไตย’ ที่ว่าด้วยระบบสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งเพศชายเป็นผู้กุมอำนาจหลัก และหยั่งรากลึกกับโลกใบนี้มานาน พลันนึกไปถึงสารคดีเรื่อง House of Secrets: The Burari Deaths ที่เคยดูในเน็ตฟลิกซ์ และมีประเด็นเรื่องชายเป็นใหญ่สอดแทรกในเรื่อง จึงย้อนกลับไปดูอีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์เรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง
*** เนื้อหาต่อจากนี้มีการเปิดเผยถึงส่วนสำคัญของภาพยนตร์ และมีเนื้อหาที่อาจะกระทบกระเทือนจิตใจต่อผู้อ่านที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือจิตเวช***
ซีรีย์สารคดี House of Secrets: The Burari Deaths หรือ ฆาตรกรรมหมู่ 11 ศพปริศนา เป็นผลงานจากสองผู้กำกับ ลีน่า ยาดาฟ (Leena Yadav) และ อนุพฟ โชปรา (Anubhav Chopra) อันมีที่มาจากเหตุการณ์จริงของคดีสะเทือนขวัญ ฆาตกรรมหมู่ครอบครัว 11 ศพ ที่เกิดขึ้น ในย่านบูราลี กรุงนิวเดลี เมืองหลวงประเทศอินเดีย และเคยเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี 2018
สาเหตุที่คดีดังกล่าวชวนขนลุกไม่ใช่เพียงแค่จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต แต่เป็นเพราะลักษณะการตายอันแปลกประหลาด โดยมี 10 ศพถูกแขวนห้อยอยู่บนราวตะแกรงหลังคาบ้าน และอีกหนึ่งหนึ่งศพที่เหลือ ถูกแขวนไว้กับตู้เสื้อผ้าในห้องถัดไปไม่ไกล จุดน่าสังเกตุคือทั้ง 11 ศพ ถูกมัดมือไพล่หลัง ข้อเท้าถูกมัดชิดติดกันด้วยผ้าลักษณะคล้ายส่าหรี ดวงตาถูกปิดด้วยผ้า และหูทั้งสองข้างถูกอุดด้วย ‘อะไรบางอย่าง’ ตามคำให้การของชายขับรถส่งนมวัว ที่เป็นผู้พบเจอศพเป็นคนแรก
คำถามคือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้ง 11 ศพ เสียชีวิต ฆาตกรรมโดยคนนอก ฆาตกรรมกันเองภายในบ้าน หรือเป็นการฆ่าตัวตายยกครัว
ซีรีส์จำนวน 3 ตอน ตอนละประมาณ 40 นาทีนี้ ค่อยๆ พาคนดูเข้าไปพบกับการสืบคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ วิธีชันสูตรศพของนิติเวช และพาไปรู้จักพื้นเพ นิสัยใจคอ ของครอบครัว ‘จันทวัต’ ทั้ง 11 คน ผ่านปากคำบอกเล่าของญาติสนิท มิตรสหาย ทุกข้อสันนิฐานล้วนถูกหยิบยกมาถกเถียงกันไปต่างๆ นานา กระทั่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์พบหลักฐานสำคัญอย่างสมุดบันทึกปริศนาจำนวน 11 เล่ม
ภายในสมุดบันทึกเป็นลายมือของ ‘ละลิต’ หัวหน้าครอบครัวจันทวัต ที่เขียนคำสั่งของ ‘โภปาล สิงห์’ ผู้เป็นพ่อ ที่ต้องการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัวจันทวัต แต่เหตุใดเขาจึงสามารถติดต่อและเขียนในสิ่งโภปาลต้องการได้ ในเมื่อเขาตายไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน
เมื่อบันทึกถูกพลิกไปจนถึงหน้าสุดท้าย ก็มีการอธิบายถึงลักษณะการตายได้ละเอียดตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เช่นเดียวกับกระถางธูปในที่เกิดเหตุ ภาพกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง ที่ไม่มีใครอื่นเลยนอกจากครอบครัวจันทวัต ที่ดูเหมือนกำลังเตรียมการอะไรบางอย่างอยู่ เมื่อพิจารณาแล้ว เป็นไปได้ว่าครอบครัวนี้กำลังทำพิธี ‘อัตวิบากกรรม’ ร่วมกัน
คำถามถัดมา คือ ทำไมครอบครัวจันทวัตจึงต้องทำเช่นนั้น ใครเป็นสั่งการ ละลิดที่เป็นร่างทรงของผู้เป็นพ่อสั่งการใช่หรือไม่ (ถ้าเป็นหนังสยองขวัญตัวเลือกดังกล่าวน่าจะตรงที่สุด) แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น สารคดีพาเราเดินทางไปรู้จักประวัติของละลิดจากญาติอย่างละเอียด และพบว่าเจ้าตัวป่วยเป็น ‘PTSD’ หรือสภาวะอาการป่วยทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงที่เคยประสบถึง 2 ครา หนแรกประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ หนที่สอง เป็นการถูกทำร้ายจากเจ้านายในที่ทำงานจนเกือบตาย และทำให้เจ้าตัวช็อกจนพูดไม่ได้นานหนึ่งปี ก่อนจะเริ่มกลับมาพูดได้อีกครั้งขณะครอบครัวจันทวัตกำลังสวดมนต์บูชาหนุมาน
พื้นเพวัฒนธรรมทางสังคมของประเทศอินเดียขึ้นชื่อเรื่อง ‘ความเชื่อทางศาสนา’ และ อำนาจ ‘ปิตาธิปไตย’ แบบเคร่งครัด ละลิตเชื่อว่าตนหายได้จากการช่วยเหลือของวิญญาณผู้เป็นพ่อ แถมพ่อยังคอยกระซิบบอกให้เขาจัดแจงควบคุมชีวิตของคนในบ้านแบบเบ็ดเสร็จ ความวิกลจริตค่อยๆ คืบคลานกัดกินหัวใจละลิตขณะในมือถืออาญาสิทธิ์ความเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่ว่าคนในครอบครัวที่เป็นหญิงจะฉลาด มีความรู้ระดับปริญญาโท ก็ไม่อาจโต้เถียงอะไรได้
เมื่อพูดถึงอำนาจ ‘ปิตาธิปไตย’ ในความเหลื่อมล้ำทางเพศของชาวอินเดีย รวมถึงหลายประเทศในทวีปเอเชียที่ยังหลงเหลืออยู่ อาจเปรียบได้เหมือนการปกครองของกษัตริย์สมัยโบราณกาล ที่พร้อมทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี หรือชี้นิ้วสั่งให้พินาศยามใดก็ได้ ผนวกกับความเน่าเฟะของสังคมที่ยังมองเรื่องผู้ป่วยจิตเวช เท่ากับ ‘บ้า’ และการถูกรังแกจากสังคม สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนชายคนหนึ่ง ให้กลายเป็นผู้ทำร้ายครอบครัวด้วยความ ‘ไม่รู้’ ได้
ฉากหนึ่งในซีรีส์ ขณะทำพิธีศพ สัปเหร่อชาวอินเดียได้เอ่ยถึงบทสนทนาระหว่างอรชุนยอดนักรบตระกูลปาณฑพและพระกฤษณะจากคัมภ์ภควัทคีตา (มหาภารตะ) ไว้ว่า “นี่อรชุน จิตใจเราไม่อาจผุกร่อนได้ มันไม่อาจถูกทำลายหรือฆ่าได้ มันอยู่ยงคงกระพัน มันเป็นอมตะ” เพราะอรชุนไม่กล้าทำสงครามกับตระกูลเการพที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดได้ พระกฤษณะจึงเทศนาคัมภีร์ภควัตคีตาว่าการทำสงครามรบรากับพี่น้องครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งผิด ถึงแม้ร่างกายจะตายไปจากโลก แต่จิตวิญญาณยังคงอยู่ เป็นการชำระล้างจิตใจในชาตินี้ ซึ่งนี่อาจเป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญที่อาจทำให้คนดูอย่างเราได้ขบคิดว่า ความเชื่อศาสนาเองก็มีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรม หากเกิดการตีความที่ผิดพลาด ทวนเข็มกระเเสโลกยุคโลกาภิวัฒน์
เหนือสิ่งอื่นใด อำนาจ ‘ปิตาธิปไตย’ หรืออำนาจในทำนองเดียวกัน อาจไม่ใช่สิ่งที่โลกยุคใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘ความเท่าเทียม’ พึงปรารถนา เพราะเราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า คนที่มีอำนาจอยู่ในมือขณะนั้นมีจิตใจ สามัญสำนึก ที่บิดเบี้ยวไปทางใด
การมีสิทธิ์หรือเสียงที่เท่าเทียมกัน ทุกคนพร้อมฟังกันและกัน ไม่ว่าในสถาบันใดในสังคม จึงอาจเป็นทางป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เหตุการณ์สะเทือนขวัญเช่นในซีรีส์เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก
Tags: Screen and Sound, House of Secrets: The Burari Deaths