เป็นที่ทราบกันดีว่า การสบตาระหว่างพูดคุย ช่วยเพิ่มรสชาติการสนทนา ทั้งยังทำให้ผู้ฟังเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดได้มากยิ่งขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าบางครั้งการสบตาระหว่างพูดคุยมากเกินไปก็ส่งผลให้บทสนทนาติดขัดและพังทลายลงได้ในเวลาเดียวกัน
ในงานวิจัยที่ชื่อ Eye Contact Marks the Rise and Fall of Shared attention in Conversation โดย โซฟี วอลต์เจน (Sophie Wohltjen) และ ทาเลีย วีทลีย์ (Thalia Wheatley) นักวิจัยจากวิทยาลัยดาร์ตมัธ สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าเมื่อคนสองคนกำลังพูดคุยกัน รูม่านตาจะขยายและประสานกันเป็นระยะ ซึ่งสอดคล้องกับบทสนทนา ณ ช่วงเวลานั้นที่ลื่นไหลและพูดคุยกันอย่างออกรสมากที่สุด แต่ภาวะที่ช่วยให้สนทนากลมกล่อมนี้ จะเกิดขึ้นเพียง ‘พริบตา’ เท่านั้น ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นความกระอักกระอ่วนหากเรายังจ้องตาระหว่างคุยกันต่อไป
โดยงานวิจัยได้ทำการทดลองให้อาสาสมัครจำนวน 10 คน สวมแว่นตาและพูดคุยกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตลอดการพูดคุยจะมีการอัดวิดีโอเอาไว้เพื่อให้คู่สนทนาแสดงความเห็นในภายหลังว่าแต่ละช่วงของการสนทนาเขารู้สึกอย่างไรบ้าง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการจ้องตา และเรื่องราวในบทสนทนา
ผลปรากฎว่า ช่วงบทสนทนาลื่นไหลที่สุดม่านตาของพวกเขาจะขยายและเคลื่อนตัวคล้ายคลึงกันมาก แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ก่อนที่รูม่านตาจะหดเล็กลง สบตากันน้อยลง และบทสนทนาเริ่มมีความเห็นแตกต่างกันมากขึ้น จากนั้นก็จะวกกลับมาพูดคุยกันอย่างลื่นไหล ขณะสายตาประสานกันอีกครั้ง กล่าวโดยรวมคือ การสนทนาและการจ้องตามีความสัมพันธ์เป็นคลื่น มีจังหวะขึ้นลง สูงสุด ต่ำสุดตามอารมณ์ ไม่ได้ซิงค์กันอยู่ตลอดเวลา
จากทั้งสองกรณีสรุปได้ว่า หากการสนทนามีความลื่นไหล เห็นพ้องต้องกันในประเด็นใด การสบตากันจะช่วยส่งเสริมให้คู่สนทนาเข้าถึงอารมณ์ของอีกฝ่ายได้อย่างชัดเจน แต่ภายหลังจากสบตา ภาวะของความลื่นไหลทางกายภาพก็จะลดลงอย่างฉับพลัน คู่สนทนาจะเริ่มหลีกเลี่ยงการสบตาระหว่างพูดคุยมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องตามกลไกลทั่วไปของการพูดคุย ที่ต้องมีจังหวะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคู่สนทนา เพื่อให้บทสนทนาสามรถต่อยอดได้จากความคิดเห็นที่เหมือนและแตกต่างจากอีกฝ่ายได้
ดังนั้น การมีจังหวะหลบตา พลางสบตา เป็นครั้งคราวอย่างเป็นธรรมชาติ จะทำให้การพูดคุยมีความลื่นไหลจนสามารถสร้าง ‘จุดพีค’ ของบทสนทนาได้ดีกว่าการจ้องไม่วางตา
อ้างอิง:
–https://www.pnas.org/content/118/37/e2106645118
Tags: Psychology, การสบตา, Phenomena