หลังเกิดประเด็นดราม่าเรื่องการตัดต่อรูปสถานที่เที่ยวบนโลกโซเชียล เราจึงทำการสัมภาษณ์ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ไปเยือนไอซ์แลนด์ และสัมผัสกับแสงเหนือ (Aurora Borealis) มาแล้วจริงๆ เพื่อบอกคุณว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิต ทำไมคุณถึงควรออกตามล่าแสงเหนือ?”
ทำไมถึงต้องไปดูแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์
“สำหรับเรา เหตุผลแรกคืออยากเห็นแสงเหนือด้วยตาตัวเอง ครั้งหนึ่งเคยแพลนไว้ว่าจะไปดูแสงเหนือที่นอร์เวย์ แต่เปลี่ยนใจอยากไปดูที่ไอซ์แลนด์แทนตั้งแต่ได้ดูหนังเรื่อง The Secret Life of Walter Mitty เพราะหนังทำให้เราได้เห็นทัศนียภาพที่แปลกตาของประเทศนี้เสมือนอยู่บนดาวดวงอื่นเลยก็ว่าได้ เราก็เลยคิดว่าหากเราเดินทางไปดูแสงเหนือที่นี่ ก็จะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว”
การวางแผนและการเตรียมตัว
“ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มจากหาเพื่อนร่วมชะตากรรมก่อน แล้วมาดูรายละเอียดเรื่องการเดินทางว่าจะไปลงที่ประเทศอะไรก่อนที่จะต่อไปไอซ์แลนด์ ที่เราเลือกไปช่วงหน้าหนาวเพราะว่าจะได้มีโอกาสได้เห็นแสงเหนือมากกว่าในช่วงหน้าร้อน ที่สำคัญก็จะได้เห็นถ้ำน้ำแข็งอีกด้วย”
ความประทับใจต่อตัวสถานที่
“ประทับใจทุกที่ แม้แต่วิวสองข้างทางที่ขับรถผ่าน ไปถึงวันแรก เราเลือกไปสถานที่ที่มีคนเตือนว่าทางเข้าหายากมากและต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณหนึ่งกิโลเมตรอย่าง ‘น้ำตก Brúarfoss’ ปรากฏว่าวันนั้นพายุหิมะเข้าพอดี ก็ได้เจอกับนักท่องเที่ยวคนอื่นที่หลงทางเหมือนกัน ลำบากมากกว่าจะหาทางเข้าได้ ทางเดินก็เต็มไปด้วยโคลน กิ่งไม้ และหิมะสูงประมาณครึ่งขา ประกอบกับพายุหิมะที่กระหน่ำลงมา
“เราใช้ระยะเวลาในการเดินทางเข้าไปประมาณหนึ่งชั่วโมง โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาอะไรล่วงหน้าได้เลย และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะกลับออกมาได้ไหม แต่พอได้เจอตัวสถานที่จริงก็รู้สึกคุ้มค่า คิดว่าชีวิตนี้คงไม่ได้ทำอะไรอย่างนี้บ่อยๆ น่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ประทับใจที่สุดสำหรับทริปนี้”
ความรู้สึกตอนตามล่าแสงเหนือ
“3-4 วันแรกที่ไปถึงก็พบว่าสภาพอากาศไม่ดีเลย พายุเข้า ฟ้าปิดตลอด พอวันที่ 5-6 ฟ้าเปิด แต่ค่า KP กลับต่ำ ทำให้มองเห็นแสงเหนือได้ยากขึ้น ประมาณตี 3 เราก็พยายามขับรถไปหาที่มืดๆ แล้วรอ ตอนนั้นทั้งง่วงและหนาว หาอยู่ 3 ชั่วโมงก็ไม่เจอ เลยกลับมานอนต่อที่โรงแรม พอตอนเช้าเจ้าหน้าที่โรงแรมก็มาถามว่าเจอแสงเหนือไหม แล้วเขาก็พยายามช่วยเช็กพยากรณ์อากาศให้ โดยบอกว่าอีก 2-3 วัน ค่า KP จะสูงถึง 5 ซึ่งเป็นวันกลับของเราพอดี ก็ต้องลุ้นกันมากว่าจะได้เจอไหม เพราะต้องออกกันแต่เช้าด้วย
“คนรู้จักที่เคยมาที่นี่ก็บอกว่า ‘ยิ่งหายิ่งไม่เจอ ของอย่างนี้ขึ้นอยู่กับโชค’ เรากับเพื่อนก็เลยช่วยกันสวดมนต์ใหญ่เลย พอวันรุ่งขึ้นก็เลยออกไปดูดาวแบบไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่อยู่ๆ ก็ถ่ายติดแสงประหลาดที่มองด้วยตาเปล่าเป็นเหมือนกลุ่มเมฆจางๆ
“ตอนแรกคิดกันว่าต้องเป็นไฟจากบ้านใกล้ๆ ละมั้ง เลยลองตั้งกล้องถ่ายกันใหม่ ทีนี้มันเริ่มเขียวขึ้น เรากับเพื่อนก็เลยตื่นเต้นกันใหญ่ สักพักมันชัดขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นกรี๊ดกันลั่นรถเลย เพราะสุดท้ายเราก็ได้เห็นแสงเหนือกันจริงๆ! พอวันต่อๆ มาแสงเหนือก็ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ เราเลยรู้สึกกับเพื่อนว่าดีนะที่เราช่วยกันสวดมนต์ (หัวเราะ)”
ถ่ายรูปแสงเหนืออย่างไรให้อยู่หมัด
“ตัวเราเองหรือทุกคนที่ไปส่วนใหญ่ก็ไม่มีประสบการณ์เหมือนกัน รุ่นน้องที่เป็นช่างภาพแนะนำมาว่าให้ปรับรูรับแสง (F.Stop) และชัตเตอร์สปีด (Shutter Speed) ของกล้องที่ใช้ให้ต่ำ ซึ่งพอไปถ่ายจริงๆ ก็ต้องรอนานมากๆ กว่าจะได้รูปรูปหนึ่ง บางรูปต้องรอประมาณ 2-3 นาที
“อาจจะไม่ถึงกับต้องพกเลนส์ซูมไปจริงจัง แต่อย่างน้อยกล้องที่ใช้ถ่ายก็ควรปรับชัตเตอร์สปีดและรูรับแสงได้ ที่สำคัญควรจะพกขาตั้งกล้องไปด้วย เพราะว่าจะต้องใช้ความนิ่งในการถ่ายทำ อย่างคืนแรกที่เราพยายามจะถ่ายแสงเหนือในสภาพอากาศติดลบก็ต้องยืนกันนิ่งและทรมานกันมากๆ แถมรูปที่ได้ออกมาก็ยังมีความเบลออีกด้วย
“ต้องบอกก่อนว่าโทรศัพท์มือถือทั่วๆ ไปที่ปรับค่าชัตเตอร์สปีดหรือรูรับแสงไม่ได้จะถ่ายแสงเหนือติดค่อนข้างยากมากๆ นอกจากจะเป็นวันที่เราเห็นแสงเหนือด้วยตาเปล่าได้ชัดจริงๆ อย่างวันที่ค่า KP อยู่ที่ 5 เรามองเห็นแสงเหนือได้ด้วยตาเปล่า แต่ใช้โทรศัพท์ iPhone 6s ยังถ่ายติดเห็นแค่จางๆ”
มองแสงเหนือด้วยตาเปล่า
“จริงๆ ถ้าค่า KP ต่ำ แต่บรรยากาศรอบข้างมืด แล้วฟ้าเปิด เราจะมองเห็นแสงเหนือเป็นเหมือนหมอกและกลุ่มเมฆจางๆ สีเขียวอมเทา ซึ่งเราแทบจะแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่ามันคือแสงเหนือ แต่ถ้าวันที่ KP สูงขึ้นมาในระดับ 4-5 เราจะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้เลยว่าท้องฟ้ามันจะเริ่มเป็นเส้นๆ สีเขียว”
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแนะนำให้ดู
“จริงๆ แล้วแสงเหมือนมันมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วขึ้นอยู่กับค่า KP แต่ถ้าบรรยากาศแวดล้อมมันสว่างเราก็จะมองไม่เห็น ดังนั้นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มตกก็จะมีสิทธิ์มองเห็นได้ง่ายมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามันจะวิ่งผ่านบริเวณใด หรือช่วงเวลาไหน ขึ้นอยู่กับดวงเท่านั้นบอกเลย ยิ่งตามหายิ่งไม่เจอ แต่ฟลุกๆ ก็อาจจะเจอก็ได้”
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากไปเที่ยว
“ทริกสำหรับการตามล่าแสงเหนือ จริงๆ ก็ไม่ต้องเตรียมตัวมาก แต่ก็สามารถดูข้อมูลเรื่องพยากรณ์อากาศที่สามารถบอกเรื่อง KP ของแสงเหนือออโรราได้ประมาณหนึ่ง นอกจากนี้ก็ต้องสังเกตด้วยตัวเอง
“แต่ทริกสำหรับการเดินทางไปไอซ์แลนด์ที่สำคัญคือ คุณจะต้องเตรียมตัวเรื่องเครื่องแต่งกาย เพราะสภาพอากาศมันเปลี่ยนแปลงไปทุกๆ วัน ภายในวันเดียวมันสามารถเปลี่ยนจากอากาศที่ดีมากๆ ไปเป็นแย่มากๆ เลยก็ได้ สมมติแดดออก อากาศกำลังดี แต่ชั่วโมงถัดมาพายุหิมะก็อาจจะเข้าถึงขั้นที่อุณหภูมิติดลบเลยก็ได้
“ส่วนเรื่องการเดินทางก็จะใช้เป็นรูปแบบการเช่ารถของผู้ให้บริการทั่วไป ประกอบกับการใช้แผนที่ในกูเกิลแมปในการนำทาง ซึ่งการขับรถต่างประเทศก็จะใช้ใบขับขี่แบบสากล (International Driver´s License) เท่านั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด”
ฝากถึงคนที่ลังเลว่าจะไปหรือไม่ไปดี
“เราว่ามันเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้นะ เพราะถ้าอยู่เมืองไทยก็คงไม่ได้เจออะไรอย่างนี้ ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีทัศนียภาพหลากหลายมากๆ ขับรถแค่ชั่วโมงเดียวก็สามารถเห็นอะไรที่แปลกตาไปได้ทุกช่วง ไม่เคยไปโรดทริปที่ไหนแล้วตื่นตาตื่นใจนั่งดูวิวตลอดเหมือนที่นี่เลย
“ขับไปเรื่อยๆ ก็เจอหินดำๆ เหมือนอุกกาบาตตก พอเลยไปหน่อยก็จะเจอเทือกเขาใหญ่ๆ ตรงกลางก็จะมีธารน้ำแข็งหรือเกลเซียร์ยักษ์ (Glacier) หาดทรายสีดำ (Black Sand Beach) ที่เรามองว่ามีความคล้ายฮาวายมากๆ เพราะเกิดจากภูเขาไฟระเบิดเหมือนกัน เพียงแต่แตกต่างกันตรงภูมิประเทศ
“สุดท้ายเรามองว่าไอซ์แลนด์เป็นสถานที่ที่โรแมนติกมากๆ นะ แต่ถ้าไปสวีตด้วยกันสองคนกับคนรักก็จะมีความลำบากประมาณหนึ่ง เพราะมันไม่ได้เป็นการท่องเที่ยวที่ชีวิตสวยหรูขนาดนั้น แต่ใครที่รักธรรมชาติมากๆ หรือชอบการผจญภัยก็จะชอบที่นี่ เพราะมีธารน้ำแข็งเกลเซียร์ที่อยู่มาเป็นพันปี มีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับตึก ให้คุณสามารถทำกิจกรรมไต่ธารน้ำแข็งได้ด้วย“ในความเป็นจริงถ้าอยากดูแสงเหนืออย่างเดียวก็อาจจะเลือกไปประเทศอื่นก็ได้ แต่ด้วยภูมิประเทศที่แปลกตาของไอซ์แลนด์ ก็ทำให้เรายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งการได้ดูแสงเหนือและการได้ชมทัศนียภาพที่สวยงามของที่นี่”
FACT BOX:
ค่า KP หรือ KP Index คือค่าวัดการสั่นสะเทือนของสนามแม่เหล็กโลกที่เราสามารถใช้ทำนายการมองเห็นแสงเหนือแบบชัดเจนได้ ยิ่งค่า KP สูง เราก็มีสิทธิ์ที่จะมองเห็นแสงเหนือได้ง่าย โดยค่า KP ที่แนะนำในการดูแสงเหนือควรจะอยู่ที่ประมาณ 5 ขึ้นไป
คุณสามารถวัดค่า KP ได้จากเว็บไซต์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าสัก 2-3 วัน ซึ่งแนะนำว่าคนที่จะเดินทางไปดูแสงเหนือควรจะเช็กข้อมูลพยากรณ์อากาศล่วงหน้าให้ดี