ย้อนกลับไปเมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน ในวันที่การศึกษายังไม่ถูกกำหนดให้เป็นเรื่องสำคัญบนวาระการคุยกันของบรรดาผู้นำในยุโรป อัลติเอโร สปิเนลลี กรรมาธิการวัยเกษียณชาวอิตาลี แห่งคณะกรรมาธิการยุโรปในขณะนั้น มองว่ามิติด้านการศึกษาและวัฒนธรรมที่แข็งแรงมีความสำคัญต่อการสร้างยุโรปที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย วิสัยทัศน์ของเขานำไปสู่โครงการสนับสนุนด้านการศึกษา ‘อีราสมุส’ (Erasmus: European Region Action Scheme for the Mobility of University Students) ตามชื่อของอีราสมุสแห่งเมืองรอตเทอร์ดาม นักมานุษยวิทยาและเทววิทยาชาวดัตช์ ผู้เชื่อว่าความรู้ไร้เส้นพรมแดน และเป็นที่รู้จักจากความกระหายใคร่รู้ของเขา สหภาพยุโรปก่อตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในวงการการศึกษา ทั้งหลักสูตรปริญญา การอบรมทักษะ ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ

เริ่มอย่างเป็นทางการในปี 1987 จาก 3,244 คนที่เข้าร่วมโครงการ กลายมาเป็น 9 ล้านคนในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่และคนในแวดวงการศึกษา ผู้ฝันจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพรมแดน ต่างช่วยกันรักษาสปิริตของอีราสมุสให้คงอยู่มายาวนานถึง 34 ปี จากนี้ต่อไป โครงการที่วันนี้เรารู้จักในนาม ‘อีราสมุสพลัส (Erasmus+)’ คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์เพิ่มอีก 12 ล้านคนทั่วโลก หากมองเฉพาะในช่วงปี 2014-2020 มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย และองค์กรด้านการศึกษา ทั้งในและนอกยุโรปเข้าร่วมกว่า 125,000 แห่ง สร้างอย่างน้อย 25,000 ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ทั่วโลก โดยมหาวิทยาลัยประมาณ 90% ทั่วยุโรปมีส่วนร่วมในโครงการนี้

ภายในอีราสมุสพลัสมีหลากหลายโปรแกรมที่เหมาะกับผู้เรียนและผู้ที่สนใจแตกต่างไป ตั้งแต่การฝึกอบรมระยะสั้น 3-12 เดือน หลักสูตรปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยในประเทศยุโรปร่วมกันสอน ไปจนถึงการให้ทุนสนับสนุนความร่วมมือระดับสากลของมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกยุโรป เพื่อทำโครงการสร้างหลักสูตรพัฒนาบุคลากรและสังคม รูปแบบการมีส่วนร่วมอย่างหลังนี้เรียกว่า CBHE หรือ Capacity Building in Higher Education Projects ซึ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับคนในแวดวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักวิจัย ไปจนถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผ่านการร่วมมือกันออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัยและมีความเป็นสากล พัฒนาหลักสูตรการอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะเฉพาะทางและถ่ายทอดสู่ชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการปฏิรูปเชิงนโยบายด้านอุดมศึกษา

นับตั้งแต่ปี 2015 มหาวิทยาลัยในไทยมีส่วนร่วมและได้รับทุน CBHE กว่า 55 โครงการ แต่ละโครงการเต็มไปด้วยเรื่องราวและประสบการณ์ของบุคลากรด้านการศึกษาจากไทย ที่ได้เรียนรู้การทำงานโดยตรงกับมหาวิทยาลัยทั้งในภูมิภาคและยุโรป เพิ่มทักษะทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ชีวิต จากปีนี้ไปจนถึงปี 2027 ด้วยงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้คนจากสังคมที่แตกต่างหลากหลาย และการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ไร้พรมแดน 

สหภาพยุโรปมีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งมั่นว่าจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โลกต้องการนวัตกรรมใหม่ องค์ความรู้ใหม่ เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด-19 โครงการอีราสมุสพลัสจึงต้องการต้อนรับนักการศึกษาหน้าใหม่ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยและองค์กรด้านการศึกษาขั้นสูงขนาดกลางและเล็ก เพิ่มโอกาสสร้างศักยภาพและเชื่อมบุคลากรในมหาวิทยาลัยไทยเข้ากับความเป็นไปด้านวิชาการระดับสากล

มหาวิทยาลัยไทยเดินไปพร้อมกับโลก

“เราคิดว่าถ้าเราจะเอาเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ยุโรปมีเข้ามาในประเทศเอเชียเพื่อพัฒนาอะไรสักอย่าง สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือการเกษตร”

ผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงที่มาของโครงการ SUNSpACe (Sustainable Development Smart Agriculture Capacity) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอีราสมุสพลัส รูปแบบ CBHE โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 8 มหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ทั้งในเอเชียและยุโรป ฝรั่งเศส สกอตแลนด์ ฮังการี ไทย ภูฏาน และเนปาล เน้นพัฒนาและออกแบบหลักสูตรจากองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทางยุโรปมี ผสานกับจุดแข็งและความท้าทายด้านเกษตรกรรมในเอเชีย นำไปสู่การอบรมและสร้าง Smart Farmer ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทำเกษตรแบบออร์แกนิก และช่วยให้เกษตรกรในเนปาลและภูฏานสามารถทำเกษตรทั้งในและนอกฤดูได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ในขั้นตอนการทำงานร่วมกันเพื่อออกแบบหลักสูตรที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ อาจารย์ภราดรเล่าว่า การปรับความรู้ความเข้าใจคือจุดเริ่มต้น

“ขั้นตอนแรกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการทำ Literature review และ Context analysis ที่แต่ละประเทศต้องไปทำมาว่าตอนนี้ Smart farmer ของเขามันเป็นอย่างไร อะไรที่เป็นความต้องการของเกษตรกรบ้าง องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วและยังไม่มีคืออะไร หลังจากนั้นจึงนำกลับมารวมกัน ผู้ร่วมโครงการทุกคนจากทุกประเทศก็จะเข้าใจปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่”

ขั้นตอนถัดมาเป็นจุดที่เกิดการแลกเปลี่ยนแชร์ความรู้ เมื่อมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ในโครงการต้องออกแบบหลักสูตรร่วมกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในรายละเอียดตามที่เสนอตอนสมัครขอรับทุน CBHE “ใครเก่งอะไรก็แชร์สิ่งนั้น อย่างคณะเราเก่งเรื่องอุปกรณ์เซนเซอร์ต่างๆ เราก็ช่วยออกแบบด้านนี้ มหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ที่ฝรั่งเศสเขาจะเก่งเรื่องเกณฑ์และมาตรฐาน ส่วนทางสกอตแลนด์เก่งด้าน Data analytics” ผลผลิตที่ออกมาคือหลักสูตรใหม่ที่ออกแบบโดย 8 มหาวิทยาลัยช่วยกันแบ่งปันองค์ความรู้ตามความถนัด ความสนใจ และจุดแข็งของตัวเอง

“มหาวิทยาลัยก็ได้หลักสูตรที่ดีออกมา ซึ่งเราก็ค่อนข้างมั่นใจว่าหลักสูตรของเรามีความทันสมัย มีเนื้อหาครบถ้วน ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม แล้วก็จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศของเราต่อไป”

เสียงสะท้อนจาก ผศ.ดร.ศศิธร ตรงจิตภักดี รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ดูแลโครงการ EU-SEA Academy for Beverage Technology (EU-SEA ABT) ที่เปิดให้บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองและเพิ่มเติมความรู้ผ่านการเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีเครื่องดื่มและการจัดการ รวมถึงหลักสูตรอบรมระยะสั้นแบบเฉพาะเรื่อง ที่บุคลากรจากมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ในโครงการรวมทีมกันพัฒนาขึ้นมากว่า 10 หลักสูตร โครงการนี้เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่าง 3 มหาวิทยาลัยในไทย และอีก 3 มหาวิทยาลัยในยุโรปที่เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ทั้งอิตาลี เยอรมนี และออสเตรีย นอกจากนี้ยังมีภาคธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรด้วย สุดท้ายแล้ว อาจารย์ทั้งสองคนให้ความเห็นเหมือนกันว่า คนที่ได้ประโยชน์จากการผสานจุดแข็งของแต่ละมหาวิทยาลัยก็คือผู้เรียน

“ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของโครงการในทุน CBHE คือ มันกลายเป็นว่าหลักสูตรที่เราออกแบบขึ้นมามันถูกรับรองจาก 8 มหาวิทยาลัยในโลกนะ มันมีคุณค่าสำหรับคนที่มาอบรม”

มหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์นานาชาติ ‘เพื่อน’ ที่มากกว่าแค่ส่งอีเมลหากัน

การจะออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้รับการรับรองโดยอย่างน้อยจาก 6-8 มหาวิทยาลัยทั่วโลก แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการสมัครขอรับทุนสนับสนุนจากอีราสมุสพลัสรูปแบบ CBHE คือการมีมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ อาจารย์ภราดรบอกว่า การมี ‘เพื่อนที่ดี’ ส่งผลดีต่อทั้งมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรที่ต้องร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ต่างชาติโดยตรง

คำว่า ‘เพื่อน’ นี่หมายถึงเพื่อนจริงๆ นะ ไม่ใช่แค่ส่งอีเมลหากัน ก่อนโควิดมันมีการเดินทางไปมาหากัน เช่น เวลามีอาจารย์จากเดนมาร์กเดินทางมาประชุม เขาก็แวะไปคุยกับท่านอธิการบดี แล้วก็คุยกันต่อเรื่อง MOU ในอนาคตว่ามหาวิทยาลัยจะทำอะไรร่วมกัน

“เรื่องของการทำวิจัย เวลาเราตีพิมพ์ผลงาน ถ้ามีแค่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 คนตีพิมพ์ผลงานด้วยกัน มันมีน้ำหนักน้อยกว่าผลงานที่ตีพิมพ์ร่วมกันโดยอาจารย์จาก มช. กับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสและเดนมาร์ก การนับ ranking ของมหาวิทยาลัย เวลาเขาดูความร่วมมือระหว่างประเทศ เขาไม่ได้นับว่ามหาวิทยาลัยส่งอีเมลหรือไฟล์เอ็กซ์เซลไปเท่าไร ไม่ได้นับว่ามี MOU อะไรบ้าง เพราะ MOU คุณเซ็นเท่าไรก็ได้ เขาดูว่าคุณมีกี่โครงการที่ร่วมมือกันทำจริง มีกี่ผลงานตีพิมพ์ที่ทำร่วมกัน มันคือ hard evidence หลักฐานของความร่วมมือที่มีน้ำหนักมากกว่า”

นอกจากประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยได้รับ ระบบการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์จะจัดสรรการประชุมแต่ละครั้งในแต่ละประเทศ จึงเป็นโอกาสให้อาจารย์และนักวิจัยได้เพิ่มประสบการณ์ทั้งด้านวิชาการและชีวิต นอกเหนือไปจากการเดินทางไปประชุมทั่วไปของทางมหาวิทยาลัยที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงตลอด 3 ปีของระยะเวลาโครงการ อาจารย์ศศิธรเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในยุโรปโดยตรง

“ส่วนตัวได้เรียนรู้เยอะมากๆ จากการเข้าร่วมโครงการนี้ ในแง่วิชาการ เราได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ จากทางยุโรป แล้วก็ยังได้เรียนรู้เรื่องการทำงาน แนวคิด การแก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานในลักษณะที่เป็นโครงการระดับนานาชาติ แล้วก็มีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ จากการไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ เราได้เรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรม การใช้ชีวิต อุปนิสัยของคนในยุโรปชาติต่างๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ของเราด้วย ที่ไปมาก็อิตาลี เยอรมนี แล้วก็ออสเตรีย”

นอกเหนือไปจากโครงการ CBHE อาจารย์ภราดรก็มีโอกาสทางวิชาการใหม่ๆ เข้ามาเสมอ จากการเชื้อชวนกันของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ นี่เป็นเป้าหมายหนึ่งของอีราสมุสพลัสที่ต้องการให้นักวิชาการที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้พัฒนาทักษะทางอาชีพแล้ว ยังได้สร้างเครือข่ายทางวิชาการในประเทศต่างๆ เพื่อร่วมมือและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ความร่วมมือระดับนานาชาตินี้ยังช่วยส่งผลดีต่อนักศึกษาที่มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนระยะสั้นในต่างประเทศมากขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ช่วยสนับสนุน

การขอทุนอีราสมุสพลัสรูปแบบ CBHE มีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคของเรากับมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ในยุโรป เมื่อถามว่าหากมาจากมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศเลย ควรจะเริ่มต้นอย่างไร อาจารย์ภราดรแนะนำว่า ใครที่ไม่เคยเขียนขอทุนอีราสมุสพลัสมาก่อนให้เริ่มต้นจากการหาข้อมูลโครงการที่ได้รับทุนในประเด็นที่คณะหรือมหาวิทยาลัยสนใจ เว็บไซต์ของโครงการที่ได้รับทุน CBHE ส่วนใหญ่มีรายละเอียดของมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ที่ระบุอาจารย์และบุคลากรที่ดูแลโครงการ รวมทั้งจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยนั้นๆ

“ทักเขาไปว่าฉันมาจากประเทศไทย ฉันอยากจะทำงานด้วย ฉันมีจุดเด่นจุดแข็งด้านนี้ ฉันเห็นว่าโครงการของคุณดีมาก ถ้าคุณจะส่งโครงการเพื่อขอทุนในครั้งหน้า ขอให้นึกถึงฉันด้วยนะ อันนี้จะง่ายที่สุด แนะนำว่าเราควรเลือกพาร์ตเนอร์ที่เคยได้รับทุนมาก่อน เพราะมหาวิทยาลัยของเขาจะอยู่ในฐานข้อมูลของสหภาพยุโรปอยู่แล้ว ที่สำคัญ เขามีประสบการณ์เขียนโครงการเพื่อขอทุน หากไม่เคยเขียนมาก่อนแล้วไปรวมขุนพลกันใหม่ เริ่มกันใหม่ ทำได้ แต่ยากกว่า”

นอกจากมหาวิทยาลัยในยุโรปแล้ว การชวนมหาวิทยาลัยในประเทศและภูมิภาคก็จะช่วยทำให้โอกาสในการได้เข้าร่วมทำโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นจากประสบการณ์ของอาจารย์ภราดร

“ตอนแรกเริ่มก็มีแค่เรากับทางยุโรป หลังจากนั้นเราก็ชวนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้ามาร่วมส่ง proposal ด้วย แม่ฟ้าหลวงก็มาอยู่ในลูป ทำไปทำมา แม่ฟ้าหลวงเขาก็ถูกพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศชวนให้เขียนส่งอีกโครงการหนึ่ง เขาก็ถามมาทางคณะเราว่าสนใจร่วมด้วยไหม”

ผสานศักยภาพของนักวิชาการไทยกับกระบวนการจัดการศึกษาแบบยุโรป

“ทางยุโรปเขาไม่ได้ทำเองโดยตรง เขามาช่วยสนับสนุนเรา คนที่ทำคือคนไทย ทุกโครงการที่ได้รับทุนมาแสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพ ถ้าเราได้รับโอกาส มันก็จะช่วยให้เราพัฒนาอะไรออกมาดีๆ ได้เยอะ”

มหาวิทยาลัยในไทยอาจจะคล้ายกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่อาจารย์ศศิธรมองว่าเรามีฐานที่ดีอยู่แล้ว หากโจทย์ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในไทย อันเป็นที่มาของโครงการ EU-SEA ABT คือการที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมีโอกาสและต้นทุนน้อยกว่าที่จะคอยอบรมเพื่อเติมทักษะและความรู้ให้กับบุคลากร หลักสูตรใหม่ที่โครงการนี้สร้างขึ้นมาจึงหมายถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของคนที่ทำงานในอุตสาหกรรม 

มองกลับมาที่บุคลากรทางการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ความสามารถที่มีอยู่แล้วจะถูกยกระดับ เมื่อได้รับโอกาสให้ได้เรียนรู้จากการมีส่วนร่วมโดยตรงในการทำงานกับมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ทั้งในและนอกยุโรป เพราะยังมีอีกหลายรายละเอียดที่มหาวิทยาลัยไทยสามารถเรียนรู้จากพาร์ตเนอร์ได้ สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทั้งสองคนพูดเหมือนกันเมื่อถูกถามว่า อะไรคือสิ่งสำคัญทางวิชาการที่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ในยุโรปผ่านโครงการอีราสมุสพลัส คือกระบวนการจัดการศึกษาแบบยุโรปที่ให้ความสำคัญกับการทำเฟรมเวิร์ก และการทดสอบหลักสูตรขณะออกแบบ รวมถึงการประเมินผลความรู้และสิ่งที่ผู้เรียนได้รับหลังจบหลักสูตรว่า ตรงกับความคาดหวังที่คนทำตั้งไว้ในตอนต้นหรือไม่

“สมมติว่าเราอยากจะฝึกอบรม Smart farmer เราจะคิดแค่ว่า เราจะจัดกี่วัน วิทยากรเป็นใคร คนเข้าร่วมกี่คน เราก็จัดแล้วก็จบใช่ไหม อยากได้ 300 เราก็หามา 300 อยากได้ 500 คนเราก็หามา 500 อยากได้ 1,000 คน เราก็หามา 1,000 แล้วก็จบไป พอถามว่าเรียนแล้วเขาเอาไปทำจริงกันกี่คน? ก็ไม่รู้เนอะ แล้วเขารู้จริงหรือเปล่า? ไม่รู้ แล้วหลังจากที่เราจัดฝึกอบรมเขารู้เพิ่มมากขึ้นเท่าไร? ไม่รู้ ไม่เคยถามว่ารู้อะไรมาก่อนบ้าง หลังเรียนแล้วรู้อะไรเพิ่มบ้าง สิ่งเหล่านี้จะถูกตั้งคำถามในระหว่างการออกแบบหลักสูตร ว่าก่อนหน้าการฝึกอบรมเขารู้อะไรบ้าง หลังฝึกเสร็จเขารู้เพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ที่เราคาดหวังไว้ว่าเขาจะได้จากเรา ให้เราลองไปทดสอบดูว่าเขาได้จริงไหม ลองไปติดตามเขาหลังจากนั้น 1 ปีดูสิ ว่าเขาทำได้ตามที่อมรมไปจริงหรือเปล่า มันจะมีเฟรมเวิร์กแบบนี้ที่ถูกเอามาใช้และทำให้เราต้องฝึกคิด

อาจารย์ภราดรเล่าให้ฟัง คล้ายกันกับที่อาจารย์ศศิธรบอกว่า ทีมงานในโครงการจะต้องทดสอบหลักสูตรก่อนเปิดให้คนเข้ามาเรียนจริง โดยต้องประสานกับพาร์ตเนอร์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มให้ส่งบุคลากรเข้ามาทดลองเรียนก่อน เพื่อประเมินและให้ความเห็น ทำให้นักวิชาการที่รับผิดชอบโครงการได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองในการออกแบบหลักสูตรที่มีคุณภาพในระดับสากล นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่ได้มาจากโครงการทุน CBHE ยังสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างหลักสูตรทั่วไปในมหาวิทยาลัย อย่างอาจารย์ภราดรใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาหลักสูตรในโครงการ SUNSpACe มาประยุกต์สร้างหลักสูตรทั่วไปในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ฝั่งนู้นเขาพัฒนาไปไกลมาก เมื่อเขาแลกเปลี่ยนส่งต่อความรู้มา เราก็ลองเอาไปปรับกับบริบทที่ประเทศไทยดูว่าจะเป็นยังไง เราก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ นี่คือประโยชน์ของโครงการที่เป็นความร่วมมือกับประเทศในยุโรปที่มีความเข้มแข็งด้านแนวคิด ระบบและการจัดการศึกษา องค์ความรู้ที่เขามี เรานำมา re-design สร้างหลักสูตรของเราเองได้ เดือนหน้าผมกำลังจะเปิดสอนหลักสูตร Smart farmer ในมหาวิทยาลัย เพราะอยากให้คนยังเรียนหลักสูตรออนไลน์ที่เราสร้างขึ้นมาต่อไปเรื่อยๆ ได้”

Global Researcher นักวิจัยไร้พรมแดน ก้าวข้ามข้อจำกัดในประเทศ

หนึ่งในลักษณะเด่นที่ทำให้โครงการในอีราสมุสพลัสมีคุณภาพและประสบความสำเร็จ คือการกระจายอำนาจ ให้โอกาสบุคลากรของมหาวิทยาลัยเป็นตัวหลักในการตามหาและสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ เพื่อริเริ่มโครงการตามความถนัดและความสมัครใจ โครงการอีราสมุสพลัสรูปแบบ CBHE สามารถเสริมสร้างศักยภาพของอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ด้วยปัจจัยนี้ เพราะเมื่อโครงการที่เสนอไปได้รับคัดเลือกเพื่อรับทุนสนับสนุนแล้ว การเคลื่อนย้ายของคนและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ช่วยในการทำงาน สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการขอจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบของมหาวิทยาลัยไทย โดยบุคลากรในทีมสามารถเบิกโดยตรงตามข้อกำหนดของทางสหภาพยุโรปได้เลย

“ในโครงการนี้เราจะได้รับการจัดสรรเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนในหลักสูตรที่เราสร้างขึ้น โดยปกติแล้ว การจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ ผ่านทางมหาวิทยาลัยก็จะต้องใช้งบประมาณ ใช้เวลายาวนาน และมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่การสั่งซื้อผ่านโครงการนี้มีขั้นตอนที่สะดวกมากกว่าระบบราชการทั่วไป”

ไม่เพียงก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สะดวกกว่าตามคำบอกเล่าของอาจารย์ศศิธรเท่านั้น อาจารย์ภราดรแลกเปลี่ยนว่าการได้เรียนรู้ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในยุโรปช่วยสร้าง ‘Global researcher’ ที่เข้าใจความเป็นไปในโลก ขยายขอบเขตความสนใจเกินพรมแดนไทยและเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจของโครงการอีราสมุสพลัสที่สนับสนุนให้บุคลากรด้านการศึกษามีวิธีมองโลกที่เป็นสากล

แม้กระทั่งหัวข้อวิจัยในประเทศเราก็มักจะถูกกำหนดโดยรัฐบาล จะให้ทุนหัวข้อนี้ ถ้าคุณไม่เขียนเรื่องนี้คุณไม่ได้เงิน แต่ในต่างประเทศ คุณจะเห็นว่าคนๆ นี้สนใจแค่การกระพือปีกของนกก็เป็นหัวข้อวิจัยได้ มันไม่สามารถหาได้ในประเทศไทย คนนี้กำลังสนใจเรื่อง Digital Twin การสร้างตัวเองที่เป็นอวตารบนโลกดิจิทัล คนนี้กำลังสนใจเรื่องการกระเพื่อมของไขมันเวลาเราขยับตัว นี่เรื่องจริงเลยนะ ผมทำเรื่อง Thai dance แล้วมีอาจารย์คนหนึ่งที่อยู่ที่อังกฤษบอกว่า ฉันก็สนใจเรื่องการขยับร่างกายของคน ภาพแบบนี้มันจะไม่ค่อยได้เห็นในประเทศไทย คำว่า Global researcher คือเรารู้ว่านักวิจัยในโลกกำลังทำอะไรกันอยู่ พวกเขาสนใจเรื่องอะไรกันอยู่ ผมคิดว่าโครงการอีราสมุสพลัสทำให้เกิด Global researcher mindset”

อาจารย์ภราดรบอกว่ามีบางหัวข้อที่นักวิจัยของไทยอาจจะ ‘ไม่อิน’ แต่การอยู่ในวงการการศึกษานั้นจำเป็นที่จะต้องรับรู้ว่าสังคมโลกกำลังสนใจเรื่องอะไร ขณะนี้อีราสมุสพลัสให้ความสนใจกับประเด็นทักษะดิจิทัล (digital skills) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) วิทยาศาสตร์สุขภาพ (health sciences) รวมทั้งหัวข้ออื่นๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องสังคม ชีวิต และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แน่นอนว่าในฐานะนักวิชาการ การรับรู้ความเป็นไปในแวดวงการศึกษาวิจัยมีความสำคัญ และจะง่ายขึ้นเมื่อมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยพาร์ตเนอร์ทั่วโลก นอกจากการนำเสนอโครงการที่อยู่ในความสนใจของสหภาพยุโรป จะช่วยทำให้นักวิชาการไทยมีโอกาสได้เรียนรู้จากความร่วมมือระดับสากลผ่านทุนสนับสนุนแล้ว อาจารย์ศศิธรบอกว่า การรับรู้เทรนด์งานวิจัยจะย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและสังคม

“สำคัญมากๆ ที่จะมี Global network เราจะต้องรู้ว่าคนอื่นเขาทำอะไร ไปถึงไหนแล้ว มีการอัพเดทอยู่ตลอด การที่เรามีเครือข่ายก็จะช่วยให้เราสามารถพัฒนานิสิตนักศึกษา รวมถึงบุคลากรของเราได้ง่าย และอาจนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคตที่อาจจะไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่างดียว ต่อไปเราอาจจะสร้างหลักสูตรเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นได้”

ในโลกโลกาภิวัตน์ อีราสมุสพลัสเชื่อว่า ความเข้าใจว่าท้องถิ่นและโลกเชื่อมกันอย่างไร การมีความรับผิดชอบและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นคุณค่าสำคัญของการเป็นพลเมืองโลก หัวใจของทุน CBHE ที่ต้องการสร้างศักยภาพให้นักวิชาการและบุคลากรด้านการศึกษาผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อสร้างหลักสูตรที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ และมีความหมายต่อท้องถิ่นในแต่ละประเทศ นอกจากจะช่วยพัฒนาการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังกำลังขับเคลื่อนภาคการศึกษาให้สร้างพลเมืองโลก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในสภาวะที่หลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเพียงประเทศเดียวอีกต่อไป

“วันนี้ถ้าผมอยากจะเชิญ keynote speakers เป็นอาจารย์จาก 10 ประเทศ มาพูดให้นักศึกษาฟัง มันไม่ยากเลย แค่ส่งอีเมลไปในเครือข่าย ปกติผมก็สอนคนเดียว แต่ช่วงโควิดการชวนมันง่าย แค่ต้องจัดสักสี่โมงเย็นนะ จะได้ไม่เช้ามากสำหรับฝั่งยุโรป นักศึกษาได้เรียนรู้เยอะมาก”

แม้ในสถานการณ์โควิดที่การเดินทางถูกจำกัด แต่เครือข่ายความร่วมมือระดับสากลที่ถูกสร้างไว้ก็ยังคงอยู่และขยายออกไปได้เรื่อยๆ และแม้จะยังเคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้ไกล แต่อาจารย์ภราดรบอกว่า

“ทุกวันนี้ผมยังต้องคุยกับใครสักคนบนโลกนี้ทุกสัปดาห์”

 

อ้างอิง

https://www.europarl.europa.eu/thinktank/en/document.html?reference=EPRS_BRI(2018)628313

https://www.erasmusplus.org.uk/blog/origins-of-the-erasmus-programme-–-interview-with-hywel-ceri-jones

https://www.etnmagazine.eu/erasmus/why-is-it-called-erasmus-not-only-after-erasmus-of-rotterdam/

https://ec.europa.eu/education/policies/international-cooperation/european-higher-education-world_en

https://ec.europa.eu/programmes/erasmus-plus/news/erasmus-2021-2027-programme_en

https://ec.europa.eu/programmes/erasmus-plus/programme-guide/part-a/important-characteristics_en

https://ec.europa.eu/assets/eac/erasmus-plus/factsheets/asia-central/thailand_erasmusplus_2020.pdf

https://sunspace.farm

https://www.sea-abt.eu

Fact Box

สามารถดูวิธีการสมัครโครงการได้ทาง https://ec.europa.eu/programmes/erasmus-plus/opportunities/organisations/innovation-good-practices/capacity-building-higher-education_en

Tags: , , , , ,