ในภาวะที่บ้านเมืองมีผู้ติดเชื้อโควิดวันละเหยียบหมื่น มีคนเสียชีวิตคาบ้านและข้างถนน ผู้คนตกงานและยากจนเฉียบพลันมากมาย ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ถ้าหลายคนที่ยังสุขภาพแข็งแรงและรักษาคุณภาพชีวิตของตัวเองไว้ได้ในระดับหนึ่งจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจหรือรู้สึกผิดที่จะมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ บ้างในชีวิต แค่จะกินอาหารดีๆ สักมื้อเพื่อชุบชูจิตใจหรือสั่งซื้อของสวยๆ งามๆ มาใช้ยังคิดแล้วคิดอีกว่า ตัวเองควรทำหรือโพสต์ลงในโลกออกไลน์ไหม ทั้งที่จริงๆ แล้ว การมีความสุขไม่ใช่เรื่องผิดแม้แต่น้อย

แต่ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่ายังมีคนอีกกลุ่มที่แลดูไม่เป็นเดือดเป็นร้อนกับความเป็นไปของบ้านเมืองสักเท่าไร แม้ในภาวะที่มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายสิ้นเนื้อประดาตัวเช่นนี้ ก็ยังรู้สึกว่าประเทศไทยเป็น ‘แดนสุขี’ บางคนพูดถึงขั้นว่าจะล็อกดาวน์อีกครึ่งปีก็ไม่กระทบอะไรทั้งนั้น ทั้งยังออกมาตำหนิผู้ที่ออกมาชี้ถึงความผิดพลาดของการบริหารบ้านเมืองราวกับว่าเป็นผู้ที่คุกคาม ‘ฟองสบู่แห่งความสุข’ ของตน

สัปดาห์นี้ คอลัมน์ Word Odyssey จะพาไปเจาะลึกคำภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับความสุขและพึงพอใจในชีวิต เผื่อเราจะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมบางคนยังใช้ชีวิตแสนอภิรมย์แบบตัดขาดจากความทุกข์ร้อนที่รายรอบได้ ในยามที่ประเทศส่อแววมุ่งสู่ปากเหว

Happy คุณต้องโชคดี 

คำว่า happy ที่หมายถึง มีความสุข ในทุกวันนี้ มาจากคำว่า hap ที่แปลว่า โชค แล้วเติมส่วนเติมท้าย -y เข้าไปเพื่อทำให้กลายเป็นคำคุณศัพท์ แรกเริ่มเดิมทีคำนี้ไม่ได้แปลว่า มีความสุข แต่หมายถึง โชคดี, โชคเข้าข้าง (ในปัจจุบันความหมายที่เกี่ยวกับความโชคดีเจอได้ไม่เยอะ อาจจะพบเจอได้บ้างในวลีอย่าง happy accident หรือ happy coincidence ที่หมายถึง เหตุบังเอิญที่กลายเป็นเรื่องดี

แต่เนื่องจากเราก็คงจินตนาการออกว่า คนที่เกิดมาโชคดี เช่น บังเอิญถูกแจ็กพ็อตด้านพันธุกรรมเกิดมาหน้าตาสวยหล่อ หรือเกิดมาในบ้านรวยล้นฟ้าหรือตระกูลทรงอำนาจ มีบ้านช่องกว้างขวางและทรัพยากรมากพอจะให้กักตัวได้อย่างปลอดภัย และใช้ชีวิตได้อย่างแสนอภิรมย์ในช่วงที่มีโรคระบาด น่าจะมีความสุขได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ความหมายหลักของคำว่า happy จะเปลี่ยนจาก โชคดี มาเป็น มีความสุข, ยินดี, เบิกบาน อย่างที่เราคุ้นเคยอยู่ในทุกวันนี้ เช่น I’m genuinely happy that the government is finally making efforts to join COVAX. (ดีใจจริงๆ ที่รัฐบาลพยายามเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์)

ทั้งนี้ คำว่า hap ที่แปลว่า โชค ที่อยู่ใน happy ยังพบได้ในอีกหลายคำในภาษาอังกฤษ เช่น hapless ที่แปลว่า อับโชค หรือ mishap ที่หมายถึง เคราะห์ร้าย คำดาษดื่นอย่าง happen ที่แปลว่า เกิดขึ้น หรือ บังเอิญ ก็ได้ด้วย และคำว่า happenstance ที่หมายถึง เรื่องบังเอิญ

Blissful & Blithe คุณต้องไม่แยแสโลก 

อีกสองคำที่เกี่ยวข้องกับการมีความสุข ก็คือ blissful และ blithe ซึ่งเป็นญาติกันเพราะคำว่า bliss ใน blissful นั้นมาจาก blithe ซึ่งเป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยภาษาอังกฤษเก่านั่นเอง

ถึงแม้ทั้งสองคำที่จะเป็นญาติกัน แต่วิวัฒนาการทางความหมายของทั้งสองคำนี้ไม่เหมือนกัน เรามาเริ่มต้นที่คำว่า blithe กันก่อน คำนี้แรกเริ่มเดิมทีเคยหมายถึง ใจดี, เป็นมิตร อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ค่อยๆ พัฒนามาหมายถึง มีความสุข, ร่าเริง เป็นหลัก 

แต่ย่างเข้าศตวรรษที่ 20 ความหมายของคำนี้ก็แปรผันไปอีก จากที่หมายถึงมีความสุขเฉยๆ กลายไปเป็น มีความสุขเพราะไม่สนใจใยดี ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ (ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นว่า ที่หลายคนมีความสุขได้ก็เพราะเมินความเป็นไปต่างๆ ในโลก) ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักเห็นคำนี้ปรากฏร่วมกับคำว่า disregard และ indifference ที่หมายถึง ความไม่สนใจใยดี เช่น His speech and mannerism reflect a blithe disregard for the plight of the people in his country. (คำพูดและท่าทางสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้แยแสต่อความเดือดร้อนของคนในประเทศ)

ส่วนคำว่า blissful หรือ bliss แม้จะต่างจาก blithe ตรงที่มักใช้กับความสุขล้นปรี่ (a blissful weekend สุดสัปดาห์ที่แสนสุข) หรือความปีติอิ่มเอมในอุดมคติ (marital bliss ความสุขสมบูรณ์ในชีวิตสมรส) แต่อย่างหนึ่งที่คล้ายกับ blithe ก็คือมักใช้ในกรณีที่มีความสุขเพราะไม่รับรู้เรื่องชาวบ้านชาวช่อง ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีสำนวนอย่าง Ignorance is bliss. (ความไม่รู้คือความสุขสบายใจ) หรือ blissful ignorance (ความเขลาอันแสนสุข) แม้แต่รูปกริยาวิเศษณ์ก็มักปรากฏเกี่ยวกับคำที่แปลว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ อย่าง unaware และ ignorant เช่น Many are blissfully unaware of the lies that they are being fed. (หลายคนไม่รู้เลยว่ากำลังโดนป้อนคำโกหกแต่ก็ยังมีความสุขดี)

Ecstatic คุณต้องหลุดออกจากร่าง 

คำว่า ecstatic ซึ่งเป็นรูปคุณศัพท์ของ ecstasy เป็นอีกคำที่ใช้บรรยายความสุขได้ โดยมีความหมายเฉพาะเจาะจงหมายถึง ความสุขแบบล้นปรี่, ความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น

คำนี้สืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า ekstasis ในภาษากรีกซึ่งใช้ในพระคัมภีร์ไบเบิล หมายถึง ภวังค์ ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณคล้ายจิตหลุดออกจากร่าง มาจากคำว่า existanai อีกทอดหนึ่ง ซึ่งประกอบจาก ek- ที่แปลว่า ออก รวมกับ histanai ที่แปลว่า จัดวาง, ยืน มีความหมายรวมว่า การนำสิ่งๆ หนึ่งออกไปจากที่ตั้ง

พอคำนี้เข้ามาในภาษาอังกฤษ นอกจากจะใช้เรียกภวังค์และประสบการณ์ทางจิตที่ข้ามพ้นประสบการณ์ทางกาย (ซึ่งอาจเกิดจากพิธีกรรมทางศาสนา การใช้สารเสพติด หรือแม้แต่เซ็กซ์) แล้ว ในอดีตยังนำมาใช้เรียกภาวะที่อารมณ์ต่างๆ ท่วมท้นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ โกรธ ตกใจ หรือสิ้นหวัง แต่ในปัจจุบันแทบจะใช้กับภาวะสุขล้นเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น She was ecstatic to learn that her father did not have COVID. (เธอดีใจเป็นบ้าเป็นหลังที่รู้ว่าพ่อไม่ได้ติดโควิด) พัฒนาการทางความหมายนี้แสดงให้เห็นว่าในภาษาอังกฤษมองภาวะที่จิตหรือการรับรู้ของเขาถูกพาข้ามขอบเขตประสบการณ์ทางร่างกายนั้นเป็นภาวะเปี่ยมสุขนั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า ecstasy นี้ยังถูกนำมาใช้เรียกยาเสพติดที่คนไทยเรียกกันว่า ‘ยาอี’ ด้วย เพราะเมื่อเสพแล้วให้ความรู้สึกล่องลอยเหมือนตัวเราหลุดออกจากร่าง

Content คุณต้องไม่หวังเกินกว่าที่มี 

คำว่า content ใช้พูดถึงความสุขและพึงพอใจ สืบสาวที่มากลับไปได้ถึงคำว่า contentus ในภาษาละติน หมายถึง จำกัด หรืออยู่ในขอบเขต ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า con- ที่แปลว่า ด้วยกัน และกริยา tenere ที่แปลว่า ถือ, มี (เป็นญาติกับคำว่า contain และ continent ด้วย)

คำว่า content นี้ เข้ามาในภาษาอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และใช้ในความหมายว่า มีความสุขและพึงพอใจกับสิ่งที่มี ตั้งแต่สมัยนั้น เช่น I’m content with the fact that I’m still alive and haven’t gone insane. (ฉันพอใจที่ยังมีชีวิตอยู่และยังไม่เสียสติไปเสียก่อน)

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะงงว่าความสุขและพึงพอใจเกี่ยวกับอะไรกับการจำกัดหรือขอบเขต ที่สองสิ่งนี้มาเกี่ยวกันได้ ก็เพราะความพึงพอใจคือภาวะที่เราไม่มีความต้องการสิ่งอื่นใดเกินจากขอบเขตของสิ่งที่มีอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ต้องการสิ่งอื่นใดเพิ่มเติม เช่น ถ้ารัฐมีวัคซีนให้เลือกแค่สองชนิด และเราไม่คาดหวังมากกว่านั้น เราก็จะมีความสุขและพึงพอใจกับสิ่งที่มี หรือถ้ารัฐบริหารจัดการโรคระบาดได้เท่านี้แต่เราไม่คาดหวังมาตรฐานที่สูงกว่านี้ เราก็จะมีความสุขและพึงพอใจ

คุณต้องมีเพียงพอ Satisfied

คำว่า satisfied ที่แปลว่า พอใจ และเป็นรูปหนึ่งของกริยา satisfy นั้น มาจากกริยา satisfacere ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจาก คำว่า satis แปลว่า เพียงพอ และกริยา facere แปลว่า ทำ รวมกันได้ความหมายว่า ทำให้เพียงพอ หรือ ชดใช้ให้ครบ

คำนี้ในภาษาอังกฤษใช้ในความหมายว่า พอใจ เป็นหลัก เช่น He’s very satisfied with his life because he has more money than he could ever spend in this lifetime. (เขาพอใจกับชีวิตมาก เพราะมีเงินมากเกินกว่าจะใช้ให้หมดได้ในชาตินี้)

เมื่อดูจากที่มาของคำแล้ว จะเห็นได้ว่าความพึงพอใจในความหมายของคำว่า satisfied นี้ หมายถึงความพึงพอใจที่มาจากการที่มีสิ่งที่ต้องการเพียงพอ ได้รับสิ่งที่คาดหวังเพียงพอ ไม่ได้มีอะไรที่ต้องการขาดพร่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนเราจะมีความสุขหรือพอใจได้ก็ต้องมีสิ่งที่ต้องการพอเพียงก่อน ดังนั้น เราก็พอจะอนุมานได้ว่า คนที่ใช้ชีวิตแสนสุขได้โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจเลยแม้แต่น้อย ก็คือคนที่มีชีวิต

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hayes, Justin Cord. The Unexpected Evolution of Language: Discover the Surprising Etymology of Everyday Words. F+W Media: Avon, 2012.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

Tags: ,