หากมองผ่านๆ จากชื่อหนัง ภาพที่ปล่อยออกมา และโปสเตอร์ซึ่งมีรูปผีใต้ผ้าห่มสีขาวอยู่เด่นหรา เราอาจหลงเชื่อไปได้ง่ายๆ ว่า A Ghost Story เป็นหนังผีหรือหนังสยองขวัญอีกเรื่องหนึ่ง
จริงๆ แล้วจะเรียกเช่นนั้นก็ไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว เพราะหนังเรื่องนี้มีผีและจังหวะหลอนๆ อยู่ เพียงแต่อาจไม่ใช่หนังผีในแบบที่หลายๆ คนเคยรู้จัก ไม่มีจังหวะตุ้งแช่ ไม่มีเส้นเรื่องของการกำราบผี ไม่มีความกดดันชนิดที่คนดูลุ้นตัวเกร็งจนต้องยกมือขึ้นปิดตา อาจเหมาะกว่าหากจะเรียกมันว่าเป็นหนัง ‘หลังสยองขวัญ’ หรือ ‘post-horror’ ตามที่บทความในเว็บไซต์ The Guardian ได้ตั้งข้อสังเกตไว้
บทความได้พูดถึงกระแสหนังกลุ่มหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ ที่เหมือนจะสยองแต่ก็ไม่สยองเสียทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น A Ghost Story (2017), It Comes At Night (2017), Personal Shopper (2016) หรือ The Witch (2015) หนังเหล่านี้ล้วนโดดเด่นด้วยองค์ประกอบเหนือธรรมชาติหรือสยองขวัญบางอย่าง แต่ละทิ้งขนบการดำเนินเรื่องเดิมๆ เพื่อครุ่นคิดถึงประเด็นหนักๆ อย่างเช่น A Ghost Story ที่ ‘เรื่องราวของผี’ กลับเป็นการละเลียดสำรวจความหมายของกาลเวลา ความทรงจำ ความตาย และการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
A Ghost Story
A Ghost Story เป็นผลงานของ เดวิด โลเวอรี (David Lowery) คนทำหนังชาวอเมริกันที่เริ่มมีโปรไฟล์น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการเข้าไปทำหน้าที่เป็นมือตัดต่อให้หนังอินดีเฮี้ยนๆ อย่าง Sun Don’t Shine (2012) กับ Upstream Color (2013) กำกับหนังเล็กๆ ขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง Ain’t Them Bodies Saints (2013) หรือกระโดดไปทำหนังเด็ก Pete’s Dragon (2016) ให้สตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์
ลักษณะเด่นๆ ที่เห็นได้ชัดว่าส่งผ่านจาก Ain’t Them Bodies Saints มาถึง A Ghost Story คือความขึงขังใคร่ครวญและการสำรวจอารมณ์ตัวละครอย่างลุ่มลึกแต่ไม่ฟูมฟาย อย่างไรก็ดี ความโดดเด่นและน่าชื่นชมเป็นพิเศษของ A Ghost Story อยู่ที่การคุมองค์ประกอบประหลาดและน่าขันอย่างผีใต้ผ้าขาวออกมาให้เข้ากับบรรยากาศจริงจังของหนัง หรือจะเป็นการปล่อยให้คนดูล่องไปกับการดำเนินเรื่องอย่างเชื่องช้า ชวนให้นึกถึงหนังของ ไฉ้หมิงเลี่ยง และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ซึ่งโลเวอรีกล่าวว่าเป็นแรงบันดาลใจ) อย่างเช่นในฉากอันเลื่องชื่อฉากหนึ่งที่จอจับค้างภาพอยู่ที่ตัวละครของ รูนีย์ มารา ซึ่งกำลังตะบี้ตะบันกินพายทั้งถาด! ไปจนถึงการเลือกใช้กรอบภาพในอัตราส่วน (aspect ratio) 1:33:1 มุมมน ซึ่งนอกจากจะสะท้อนความจำกัดคับแคบของการติดอยู่กับพื้นที่แล้ว ยังให้อารมณ์ของภาพเก่าๆ และการหวนไห้อีกด้วย
เรื่องราวในหนังเริ่มที่คู่สามีภรรยา (เคซีย์ แอฟเฟล็ก และ รูนีย์ มารา ที่เคยแสดงคู่กันมาแล้วใน Ain’t Them Bodies Saints) ในบ้านชานเมือง เมื่ออยู่ๆ อุบัติเหตุพรากชีวิตตัวสามีไปอย่างกะทันหัน จนเขากลายมาเป็นผีที่สิงอยู่กับบ้าน เฝ้าดูชีวิตและกาลเวลาเคลื่อนคล้อยไหลผ่านไป โดยที่เขาไม่อาจกอบโกยหรือทำอะไรได้มาก
A Ghost Story จึงเข้มข้นไปด้วย ‘พื้นที่’ และ ‘เวลา’ เพราะแทบทั้งเรื่องของหนังดำเนินไปในสถานที่เดียวก็คือในบ้าน สถานที่ซึ่งมีชีวิตดำเนินไปควบคู่กับชีวิตหลังความตายและจำกัดอาณาบริเวณการสิงของผี ในขณะที่เวลาหมุนเวียนเคลื่อนคล้อยผ่านสิ่งของและผู้คนที่อยู่ในบ้านไปเรื่อยๆ ไปจนถึงกาลที่บ้านสลายตัวลง จะเห็นได้ว่าความหมายของพื้นที่ในหนัง มีทั้งพื้นที่ที่เรามองเห็นเป็นสิ่งปลูกสร้าง ซ้อนทับไปกับพื้นที่นามธรรมอันมาจากการรับรู้ของเรา สิ่งที่ผียึดติดจึงไม่ใช่กายภาพของบ้าน หากแต่เป็นพื้นที่สมมติ หรือพื้นที่ที่ถูกให้ความหมายโดยตัวเขาเอง ซึ่งก็คือพื้นที่ที่ถูกหลอกหลอนโดยความทรงจำของเขา อาจกล่าวได้ว่าในขณะที่เขาเป็นผี เขากลับถูกหลอกหลอนด้วยความทรงจำของตัวเอง
เมื่อการให้ความหมายหรือกระบวนการสร้างความทรงจำต้องยึดโยงกับวัตถุหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างเสียไม่ได้ การมีอยู่ของเวลาจึงเข้ามาสั่นคลอนการให้ความหมายของเรา ไม่แปลกที่มนุษย์จะดิ้นรนชั่วชีวิต ต่อกรกับเวลาและความตายด้วยการสร้างความทรงจำส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นผลงานศิลปะอันยิ่งใหญ่หรือความดีงามต่างๆ เพื่อให้คนที่ยังเหลือรอดได้บอกเล่าและจดจำถึง เราหวังว่ามรดกตกทอด (legacy) ของเราจะอยู่รอดต่อไปภายหลังเราตายดับ
ด้วยวิธีนี้เองที่เราปลอบประโลมตัวเองว่าความตายไม่ใช่การดับสูญของทุกสิ่ง แต่การดำรงอยู่ของเรายังสามารถดำเนินต่อไปบนโลกได้ในอีกความหมายหนึ่ง ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า เราเองก็ถูกหลอกหลอนตลอดมาโดยกับความทรงจำของบรรพบุรุษผู้ตายจาก
แน่นอนว่าหนังไม่ได้มอบคำตอบปลอบประโลมใดๆ นอกไปจากการครุ่นคิดในกรอบของสุญนิยม (nihilism) ซึ่งเป็นกลุ่มแนวคิดที่ตั้งคำถามว่า ท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล มนุษย์ผู้เล็กจ้อยจะสามารถทิ้งร่องรอยใดไว้เบื้องหลังได้บ้าง หรือที่จริงทุกสิ่งไม่มีคุณค่า เพราะสิ่งต่างๆ ล้วนดำรงอยู่เพื่อรอวันสูญสลาย แม้กระทั่งความทรงจำที่มนุษย์ฝากฝังไว้ในกาลเวลา ความพยายามที่จะสรรสร้าง กอบโกย หรือเหนี่ยวรั้งความทรงจำ จึงไม่ต่างไปจากการตักตวงเม็ดทรายด้วยมือเปล่า เพียงเพื่อมันจะได้ร่วงหล่นไหลผ่านมือเราไปเท่านั้น
A Ghost Story จึงเป็นหนังที่จับเอาความกังวลที่มนุษย์มีต่อการดำรงอยู่ของตนมาพรรณนาได้อย่างงดงาม จริงอยู่ว่าความกังวลดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร มีหนังอีกมากมายที่ครุ่นคิดเกี่ยวกับความเปลืองเปล่าของการเกิดมาเป็นคน แต่ A Ghost Story ก็ได้มอบรูปทรง ภาพ และเสียงใหม่ๆ ให้กับความกังวลดังกล่าว เพื่อที่เราคนดูจะได้ใคร่ครวญถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนในโลกที่ซับซ้อนขึ้นอย่างในทุกวันนี้
FACT BOX:
- หนังไปฉายพรีเมียร์ที่เทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และถูกซื้อสิทธิ์จัดจำหน่ายไปตั้งแต่ก่อนเริ่มเทศกาลโดย A24 บริษัทหนังอินดีไฟแรงที่หลังๆ มีหนังเด็ดๆ เต็มไปหมด เช่น The Lobster (2015), Krisha (2015), Swiss Army Man (2016), 20th Century Women (2016), American Honey (2016) ไปจนถึงเจ้าของรางวัลหนังยอดเยี่ยมออสการ์ปีล่าสุดอย่าง Moonlight (2016)
- หลังจาก A Ghost Story โลเวอรียังมี Old Man and the Gun หนังดรามาอาชญากรรมที่ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้วและมีกำหนดฉายปีหน้า โดยจะเป็นผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของโรเบิร์ต เรดฟอร์ด ที่ออกมาประกาศเกษียณอายุนักแสดงไปเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าโลเวอรีจะยังสานสัมพันธ์อันดีกับดิสนีย์ต่อไปเพราะเขาถูกวางตัวให้มากำกับ-เขียนบท Peter Pan เวอร์ชันรีเมก
- การแสดงกับ ‘ผ้าคลุมผี’ ก็ยุ่งยากน่าดู แอฟเฟล็กต้องสวมกระโปรงด้านในเพราะตัวผ้าคลุมปิดตัวเขาไม่มิด แถมยังต้องมีคนคอยจับไม่ให้รูที่เจาะไว้ตรงตาเลื่อนเวลาหันไปหันมา การแสดงใต้ผ้าก็ต้องทดลองกันหลายรอบว่าแบบไหนแสดงออกมาแล้วได้ภาพที่พอดี ไม่ดูเหมือนขยับเขยื้อนมากหรือน้อยเกินไป จนบางฉากโลเวอรีต้องมาถ่ายใหม่เพราะได้ผลลัพธ์ที่ไม่พอใจ ปรากฏว่าตอนถ่ายใหม่ก็ไม่ได้เอาแอฟเฟล็กกลับมาเล่นแล้ว แต่เป็นเดวิด พิงค์ ผู้กำกับศิลป์ของหนังที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับแอฟเฟล็กแทน (อ้าว!)