ชายหาดขาวนวล ทะเลใส ฟ้าสีคราม ถนนรอบเกาะ เครื่องดื่มเย็นเฉียบ กลิ่นเกลือทะเล ชุดว่ายน้ำ และเซ็กซ์ (หน้า 26)

จินตนาการถึงบางสิ่งที่อยู่ห่างไกล ฉากฤดูร้อนในฝันที่ไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมใครต่อใครถึงยกให้ฤดูแดดแผดเผาเป็นฤดูที่ขึ้นชื่อว่าผู้คนตกหลุมรักกันมากที่สุด ไม่ต้องไปดูสถิติเชิงจิตวิทยาหรือประชากรศาสตร์ที่ไหน เอาแค่ยกนิ้วขึ้นมานับเพลงที่มีไตเติลว่า ‘Summer Love’ ก็ปาเข้าไปสี่ซ้าห้าเพลง ร่ายมาตั้งแต่ Summer Love (1957) เก่ากึ๊กในตำนานของโจนี เจมส์ ร่วมสมัยขึ้นมาหน่อยกับ Summer Love (2012) ของวง One Direction และล่าสุด Summer Love (2021) โดยจัสติน ทิมเบอร์เลก ไหนจะภาพยนตร์ที่ก็มีชื่อ Summer Love มาตั้งแต่ปี 1958 ยัน 2006 ยังไม่นับอีกสารพัดเรื่องที่มีเหตุเกิดในฤดูร้อน นึกไวๆ ก็ A Walk to Remember, Call Me By Your Name หรือตำนานรักฤดูร้อนอย่าง The Notebook และ Roman Holiday

มันอะไรกันกับฤดูร้อน ถึงได้ร่วงหล่นหลุมรักกันนัก?

แต่ถึงแม้จะไร้ฤดูร้อนตามแบบฉบับไมอามี ซานโตรินี ที่มี ชายหาด ขาวนวล ทะเลใส ฟ้าสีคราม ถนนรอบเกาะ เครื่องดื่มเย็นเฉียบ กลิ่นเกลือทะเล ชุดว่ายน้ำ และเซ็กซ์ เป็นฉากหลัง แม้ฉากบรรยายใน ฝัน/ฤดูร้อน จะเป็นคลอรีนสระว่ายน้ำ พัดลมเพดานพัดเอื่อย เนื้อตัวเหนียวเหงื่อ ก็ไม่ได้ทำให้ฤดูร้อนต้องมนต์น้อยลงไป ‘เขา’ ในเรื่องก็ยังตกหลุมรัก ‘เธอ’ ทั้งแปดคน ในเรื่องสั้นแปดตอนของ ฝัน/ฤดูร้อน อยู่ดี

พูดให้ถึงที่สุดก็คือ

บทความรักมันจะเกิด มันก็ต้องเกิดอยู่ดี

ไม่ว่าฉากหลังจะเป็นชายหาดขาวนวล หรือในโรงหนังเก่ามีกลิ่นอับก็ตาม อย่างเช่นทุกฉากตอนใน ฝัน/ฤดูร้อน ที่ความรู้สึกหวิววาบบางครั้งก็จู่โจ่มท่ามกลางดึกดื่นหน้าร้านสะดวกซื้อ กลางสระว่ายน้ำเก่าราคายี่สิบบาท ที่แม้สุดท้ายแล้วความทรงจำระหว่างพวกเขาจะสั้นเพียงเรื่องสั้นสิบกว่า, หรือน้อยกว่าสิบ, หน้า แม้สุดท้ายแล้วพวกเขาต้องจากกันไป ในฤดูฝนที่กำลังตามมา หรือก่อนที่ฤดูร้อนจะพลันจบลง อย่างทุกฉากตอนใน ฝัน/ฤดูร้อน ก็ตาม 

แต่ก็อย่างว่า เมื่อความรู้สึกรักมาทักทาย ใครเล่าจะหักห้ามได้

ฝัน/ฤดูร้อน

ผลงานเรื่องสั้นเล่มที่สองของชยพล ทองสวัสดิ์ ต่อจาก สายลมที่พัดผ่านบนดาดฟ้า (2560) ที่ไม่แปลกใจเมื่ออ่านจนถึงหน้าสุดท้าย จะพบคำแนะนำตัวว่าเขาเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการแห่งหนึ่ง ด้วยฝีไม้ลายมือการเขียนจัดจ้าน มีรสมือบางอย่างเป็นเอกลักษณ์ และก็ไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกัน เมื่อเขาแนะนำตัวว่า “เติบโตในยุค 90s แต่มักฝันถึงชีวิตในยุค 60s อยู่บ่อยๆ” ก็ด้วยฉากประกอบเรื่อง (แต่ง?) ของเขา มักเป็นฉากปลาย 90s ที่คุ้นเคย หากถูกนำไปย้อมสีให้ติดทินต์ซีเปียเก่าขึ้น หม่นขึ้น จนอดีตที่เก่าแล้วมัวขึ้นไปอีกอย่างประหลาด ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศบ้านเรือนในเชียงใหม่ ที่เอื้อให้หนุ่มสาวขี่มอเตอร์ไซค์นัดเจอกันตามสวนสาธารณะข้างสวนสัตว์ หรือขับรถขึ้นเขาไปคุยเรื่องของเรากันได้

โรงหนังแสตนด์อะโลน สระว่ายน้ำสโมรสรหมู่บ้าน สวนรุกขชาติห้วยแก้ว สุดถนนยาสุคุนิ-โดริ ฯลฯ บางส่วนของสถานที่ ฉากหลังของ ‘เธอ’ แต่ละคนใน ฝัน/ฤดูร้อน ที่เริ่มต้นต่างกันไป หากมีปลายทางสุดท้ายไม่ต่างกัน นั่นคือเมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลง หรืออันที่จริงแล้วก่อนที่ฤดูร้อนจะสิ้นสุดลงด้วยซ้ำ เธอและเขา ก็จะโคจรห่างกันไปคนละทิศคนละทาง ไม่ได้ลงเอยกันอยู่ดี

มันเป็นเรื่องตลกเรื่องหนึ่งเท่านั้น

หนึ่งใน ‘เธอ’ บอกกับเขาในฉากจบตอนหนึ่งของความสัมพันธ์สามเส้าที่ไม่ลงตัวเสียที ประโยคที่ดูเหมือนว่า ‘เขา’ ก็ใช้กระซิบปลอบตัวเองเสมอมากับความสัมพันธ์ที่ดูมีแววจะเข้าท่า ทว่าก็จบลงไป จบลงไปโดยที่ผู้อ่าน หรือเป็นได้ว่าแม้แต่ผู้เขียนเอง ก็หวังว่าจะแสดงออกมากกว่านี้ จริงใจกับความรู้สึกตัวเองกว่านี้ หรืออย่างน้อยถามชื่อเธอตอนเธอยังยืนอยู่ตรงหน้า ใต้ร่มคันนั้นด้วยกัน ในวันฝนกระหน่ำที่ชินจุกุ สุดถนนยาสุคุนิ-โดริก็ยังดี 

แต่เขาก็ไม่ทำ

ได้แต่ปล่อยให้ชั่วขณะที่ความรักอาจเกิดขึ้นได้ผ่านไป

ปล่อยให้ “มันเป็นเรื่องตลกเรื่องหนึ่งเท่านั้น”

แต่ไม่หรอก

ความรัก ไม่ว่าจะสั้นแค่ไหน

มันเคยเป็นเป็นเรื่องตลกของใครกัน

ภาพจาก Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด)

หากฉันมีเธออยู่

รับรู้ร่วมทาง ดังเก่า

คงเป็นสุขเหนือใคร คลายเศร้า

สุดที่รัก หากฉันคืนคอย

เสน่ห์บางอย่างของหนังสือเล่มบางเล่มนี้คือ เป็นหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยรูป รส กลิ่น เสียง ประสาทสัมผัสอัดแน่นในตัวอักษร ทั้งบทเพลงจากเทปม้วนเก่าที่เสียบคาไว้ในรถพ่อ, รูปหน้าใครบางคนจากฤดูร้อนคราก่อนที่ผ่านเข้ามา, กลิ่นเหงื่อ ชื้นแฉะ ผิวแสบจากแดดแผดเผา ไอระอุจากพื้นคอนกรีตก่อนมรสุมจะเข้า, ไหนจะรสเค็มปะแล่มของน้ำตา เมื่ออ่านจบ วางหนังสือลง ทอดถอนใจแล้วนึกขึ้นได้ว่า ฤดูร้อนปีนี้ ไม่เหลือใครจากฤดูร้อนที่ผ่านมาสักคน

โปรดจงคืน คืนกลับมาหา

โปรดจงมา มาร่วมกันฝัน

หากหลงรอคอยเก้อ

หรือเธอมีใครคงมั่น

รักให้เลิศ แสนนานคราคู่ 

แต่จงรู้ หากฉันคืนคอย

เมโลดี้เสียงคีย์บอร์ดทำนองยุค 90s ผุดขึ้นในความคิดจนนิ้วเผลอกระดิกตาม ฝัน/ฤดูร้อน พร่างพราวไปด้วยเอฟเฟกต์การอ่านเช่นนั้น มันทำให้ร้องเพลงตามยามพูดถึงเพลง เหงื่อเม็ดเป้งผุดขึ้น หน้าร้อนฉ่ายามนึกถึงสัมผัสชิดใกล้ ไปจนถึงร่ำไห้ในใจเมื่อนึกถึงคนที่อยู่ๆ ก็แลดูแปลกหน้าราวกับเป็นคนจากดินแดนแสนไกล

และอดสะอื้นไปเสียกันใหญ่ไม่ได้ เมื่อนึกถึงฤดูร้อนในปีนี้ ที่แม้การสานสัมพันธ์ในฤดูร้อนที่ผ่านมาจะว่ายากแล้วสำหรับ ‘เธอ’ และ ‘เขา’ แต่อย่างน้อย ในความร้อนระอุนั่นก็ยังมีความเบาของอิสระที่ได้ใช้ชีวิต มีสวนสาธารณะให้ไปในวันที่ทนไม่ได้กับพัดลมเพดานพัดเอื่อย มีสระว่ายน้ำให้ว่ายในราคายี่สิบบาท มีโรงหนังให้ไปตากแอร์แม้กลิ่นเครื่องปรับอากาศจะอับชื้นแฉะ อย่างน้อยที่สุด ในฤดูร้อนเช่นนั้น ก็ยังมีพื้นที่ให้ไปมีความสัมพันธ์, แม้อายุสั้น, ให้ฝัน

ตรงกันข้ามอย่างถึงที่สุดกับฤดูร้อนในปีนี้ ที่ทั้งโรคระบาด บรรยากาศบ้านเมืองภายใต้เศรษฐกิจตกต่ำพาร้านค้าปิดกันระนาว ไร้พื้นที่สาธารณะให้ย่างกรายยืดเส้นยืดสายจากการอัดตัวเบียดเสียดกันในบ้าน ยิ่งไร้โอกาสได้พบเจอ ได้สานสัมพันธ์ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

กลายเป็นฤดูร้อนที่หล่นหายในความทรงจำ

Fact Box

ฝัน/ฤดูร้อน เขียนโดย ชยพล ทองสวัสดิ์ ออกแบบปกโดย อุษา นพประเสริฐ จัดทำศิลปกรรมและรูปเล่มโดย สิริลักษณ์ ตะเภาหิรัญ พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 190 หน้า ราคา 190 บาท

สั่งซื้อได้ตามร้านหนังสืออิสระทั่วไป เช่น Readery, Candide Books, happening shop หรือ The Booksmith

Tags: ,