The Momentum ได้จัดวงสนทนาระหว่างคนข่าวในแอพพลิเคชัน Clubhouse โดยชวนพลพรรคคนข่าวมาหารือต่อยอดจาก Collective (2019) ภาพยนตร์สารคดีที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ 

การพูดคุยครั้งนี้มี ‘เอม’ – นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว workpointTODAY และ ‘หวี’ – พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER  ร่วมด้วย สุภชาติ เล็บนาค รองบรรณาธิการ The Momentum มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ว่า สื่อและมวลชนจะร่วมกับขับเคลื่อนให้รัฐสั่นสะเทือนอย่างไรได้บ้าง ทำอย่างไรการนำเสนอความจริงจะร่วมทำให้สังคมดีขึ้นได้

ประเด็นสำคัญจากการพูดคุย 1 ชั่วโมง 10 นาที มีดังต่อไปนี้

1. ทำไมต้องภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Collective 

Collective คือภาพยนตร์สารคดีจากประเทศโรมาเนียที่เข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ปีนี้ ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม บอกเล่าโศกนาฏกรรมไฟไหม้ผับ Colectiv ที่กลายมาเป็นชนวนเปิดโปงการคอร์รัปชันอื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการออกมากดดันรัฐบาลจนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงในเวลาต่อมา นับว่าเป็นสารคดีที่แสดงให้เห็นถึงอานุภาพของสื่อ และความไม่พอใจของประชาชนผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ 

(อ่านบทความเรื่อง The Collective ทาง https://themomentum.co/screenandsound-collective/)

สื่อโรมาเนียทำได้อย่างไร แล้วสื่อประเทศไทยสามารถทำเช่นนั้นได้บ้างหรือไม่ นี่คือคำถามที่ทำให้ The Momentum เปิดวงสนทนาต่อยอดจากสารคดีเรื่องนี้

2. ในสารคดี The Collective มีประโยคหนึ่งคือ “เพราะการปิดปากของสื่อ ไม่เข้าไปซักถาม จึงอนุญาติให้รัฐบาลสามารถโกหกประชาชนได้ง่ายมากขึ้น” คิดว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะนี้ไหม

การทำงานของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันทำให้คนเสพข่าวและคนทำข่าวทำงานได้ไม่เต็มที่ เราไม่เคยเห็นนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เดี่ยวๆ เลย ไม่พอใจก็เดินหนี สิ่งนี้ทำให้ประเทศไทยอาจจะดูเหมือนมีอิสรภาพ แต่ความจริงแล้ว ที่ได้มากันนั้นยังไม่เท่าที่ควร

ในความเป็นจริง สื่อพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเต็มที่เพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้ แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่นัก รัฐควรเรียกสื่อไปให้ข้อมูล และอธิบายสถานการณ์ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ หรือสถานการณ์การดำเนินการต่างๆ มันอยู่ที่ขั้นตอนใด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน หรือสาเหตุว่าทำไมถึงช้า

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือหากมองสื่อเป็น Fourth Estate หรือฐานันดรที่ 4 ที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ เพื่อทำการตรวจสอบว่าเหล่าฐานอันดรที่ 1 2 3 (กษัตริย์ ศาสนา และประชาชน) ได้ดำรงอยู่ หรือทำงานเพื่อประชาชนจริงหรือไม่ แต่พอมีการตั้งกฎหมายมาตรา 44 ว่าห้ามวิจารณ์การทำงานของรัฐ ก็ยิ่งทำให้สื่อทำงานได้ยากขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข

พงศ์พิพัฒน์เสริมว่า เมื่อคราวที่พลเอกประยุทธ์มาเยี่ยม The Matter เมื่อปีที่แล้ว ประยุทธ์ถามทุกคนว่าเคยเห็นเขาไปทำอะไรสื่อตรงๆ ไหม หลายคนก็บอกว่าไม่เคย แต่ว่าสิ่งที่ประยุทธ์ทำนั้นคือการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้นมา ซึ่งส่งผลให้คนที่ทำหน้าที่สื่อนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 

3. ในสารคดีมีฉากหลังจากสื่อไม่สามารถสื่อสารและวิพากย์การทำงานของรัฐได้โดยตรง สื่อจึงทำการ ‘แหก’ เพื่อเปิดโปงการทำงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายตรงข้ามแทน ซึ่งก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในเวลาต่อมา คิดว่าสื่อในประเทศเราสามารถทำแบบนี้ได้ไหม

นภพัฒน์จักษ์ให้ความเห็นว่า บางอย่างมันทำไม่ได้ เพราะว่าเราไม่สามารถทำอะไรที่มากกว่าขอบเขตของนักข่าวได้ เราทำได้แค่รายงาน และถกเถียง แต่เราไม่สามารถทำอะไรได้รุนแรงจนเขารู้สึกว่าเขาต้องลาออก มันคือบริบท และบรรยากาศของการเมืองในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ทุกอย่างถูกควบคุมหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอของสื่อ เสียงตอบรับของประชาชน เช่น มีประชาชนลงชื่อขอให้คนในรัฐบาลเขาลาออกผ่าน Change.org แต่ถ้าเขายังได้รับการหนุนหลังอยู่ เขาก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เขาต้องลาออก ทั้งที่เป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างสื่อและประชาชนที่ชัดเจนแล้วว่าไม่มีใครเอาเขาแล้ว น่าแปลกใจในประเทศไทย ที่อย่างไรเขาก็ไม่ออก

อีกเรื่องคือ สื่อมักโดนเข้าใจผิดว่ามีพลัง แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วพลังมันไม่ได้อยู่ที่สื่อ มันอยู่ที่ประชาชนด้วย สื่ออย่างเดียวไม่สามารถโค่นล้มอะไรได้โดยแท้จริง แค่ข่าวข่าวเดียว ต่อให้ทำได้ดีที่สุดในชีวิต มันก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ถึงจะมีผลกระทบประมาณหนึ่ง แต่ว่าก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ยกตัวอย่างภาพยนต์เรื่อง Spotlight (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ที่สร้างจากเรื่องจริงที่เกี่ยวกับการทำข่าวที่เปิดโปงความลับของกลุ่มศาสนจักร) ที่คนฮือฮามาก เขาทำข่าวกว่า 400 ชิ้น ใช้เวลากว่า 4-5 ปี กว่าศาสนจักรจะยอมมีการเปลี่ยนแปลง ขนาดเรื่องนี้ยังทำขนาดนี้เลย ต้องทุ่มพลังมากขนาดนี้

สมัยก่อนสื่อเคยมีการทำงานระยะยาวคู่กับ NGO หรือ Whistleblower เพื่อทำการเปิดโปงในระยะยาวเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ว่าการทำงานลักษณะนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ซึ่งการทำงานลักษณะนี้อาจจะเป็นทางเลือกในการทำงานเพื่อให้สื่อมีพลังมากขึ้น

สุดท้าย พงศ์พิพัฒน์ได้เปรียบเปรยการทำข่าวเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ ซึ่งคนทำข่าวนั้นจะเป็นคนวางจิ๊กซอว์เริ่มต้นให้เพื่อให้หลายๆ คนมาช่วยกันวางจิ๊กซอว์ของตัวเองเพื่อให้เกิดภาพเต็มๆ ได้ แต่ยังไงสื่อก็ต้องการความช่วยเหลือจากหลายๆ ภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

4. ในฐานะสื่อ เราจะสามารถสร้างมหกรรมการต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้นจากแต่ละภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้จริงไหม

สิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับประชาชน ตอนนี้รัฐบาลเองก็เข้มแข็งขึ้นมากในแง่ของอำนาจตุลาการ อำนาจของทหาร ต่อให้เราเอากองบรรณาธิการของสำนักข่าวดังๆ มานั่งประชุมกัน ตัดสินใจขึ้นมาว่าต้องการนำเสนอข่าวเรื่องอะไร อยากจะดันประเด็นไหนให้มันอยู่ในสายตาของมวลชน แต่ว่าถ้ากระแสสังคมมันไม่เอื้อ สื่อพูดมากแค่ไหนคนก็ไม่สนใจ

เพราะว่าสื่อไทยยังคงทำงานอยู่ภายใต้กรอบบางอย่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือมีแรงกระเพื่อมได้ยาก เพราะว่าที่จริงแล้วหน้าที่ หรือผลงานของสื่อ หรือคนทำข่าวนั้นไม่ได้ทำหน้าที่สูงส่งอะไรเลย บางทีก็แค่เอาเอกสารราชการที่มันอ่านยากๆ มาแปลให้มันง่าย คนก็ชมแล้ว ทั้งที่สื่อแค่เอาความจริงมาตีแผ่เฉยๆ แค่นั้นเอง

5. คิดว่า ‘การด่า’ สามารถเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนได้ไหม เพราะไม่กี่วันที่ผ่านมามีหลายคนตั้งคำถามโดยเฉพาะการจัดการเรื่องวัคซีนของรัฐบาลที่เกิดการพัฒนาขึ้นตามลำดับได้ด้วยเสียงก่นด่าของประชาชน

ความเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้จำเป็นว่าต้องมีคนลาออก แต่ว่าบางทีมันอาจจะกะเทาะไปได้ทีละน้อย ตัวอย่างที่น่าสนใจและเพิ่งเกิดขึ้นคือ การที่ประชาชนสังเกตุเห็นว่าประยุทธ์ไม่ใส่หน้ากากจึงเข้าไปถล่มในเฟซบุ๊ก สื่อก็ประโคมข่าว คนก็เรียกร้องจนผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ไปเก็บค่าปรับกับประยุทธ์เพราะว่าไม่ใส่หน้ากาก ฟังดูอาจจะเป็นบทลงโทษเล็กน้อย แต่มันคือความผิดแรกที่ประยุทธ์ได้รับบทลงโทษ

ตอนนี้เราอาจจะมองหาความเปลี่ยนแปลงที่มันเล็กๆ น้อยๆ ก่อน สื่อมีหน้าที่เอาความจริงมาตีแผ่ และทุกคนก็จะเป็นช่วยกันผลักดัน เรื่องอะไรผิดก็ด่า ดีก็ชม เราทำสะสมไปทีละน้อยจนมันเกิดความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่จริงๆ 

เมื่อก่อนเราไม่สามารถรายงานข่าวเรื่องคนโดนฟ้องมาตรา112 ได้ ไม่สามารถใช้คำว่า ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ได้ด้วยซ้ำแต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นการรายงานมากขึ้น เพดานมันเริ่มขยับ ถึงแม้มันพูดไม่ได้หมด แต่เราก็เริ่มมีความกล้าที่จะรายงานถึงปัญหาและข้อเรียกร้องต่างๆ สื่อเสนอก่อน และสังคมก็ตามมา หรือ สังคมเริ่มเรียกร้อง สื่อก็จำเป็นต้องรายงานตามมวลชน

6. ในสารคดี พอมีสื่อที่พยายามเปิดโปงรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าเขามีความตั้งใจจริง ทำให้ประชาชนบางคนยอมแลกกับความปลอดภัยตัวเอง นำแหล่งข่าวที่ตัวเองมีมาให้สื่อเจ้านี้นำเสนอต่อ คำถามคือ สื่อในประเทศไทยจะทำอย่างไรดี เพื่อให้ประชาชนจึงจะไว้ใจสื่อจนกล้าที่จะส่งข่าวให้กับสื่อแบบนี้ได้บ้าง

ตอนนี้ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ถ้ารับแหล่งข่าวที่สุ่มเสี่ยงมา มันก็ไม่สามารถพูดในที่แจ้งได้เต็มที่ ซึ่งถ้าในฝั่งสื่อมีการศึกษาทำการบ้าน โดยเฉพาะในส่วนของกฎหมายเต็มที่แล้ว บางทีอาจจะต้องมีกฎหมายบางอย่างเพื่อเอื้อตรงนี้ ต่อให้รู้อยู่แก่ใจว่าต้องถูกฟ้องร้อง แต่ถ้าสื่อมีเกราะป้องกันตัวทางกฎหมายก็พอมีหนทางให้สู้ต่อไปได้

แต่หากพูดในเชิงอุดมคติ ณ ตอนนี้ ยังมองว่าอันดับแรกสื่อต้องทำให้เห็นว่ากำลังสนใจเรื่องนี้ และที่สำคัญคือ สื่อต้องเป็นสถาบันที่คนเชื่อถือว่าจะเอาข้อมูลนี้ไปทำประโยชน์ได้ ต้องทำให้คนรู้ว่าเราเป็นสื่อที่พึ่งได้ ถ้าสื่อไม่มีความน่าเชื่อถือก็จบ ในทางกลับกัน สื่อเองก็ต้องตรวจสอบให้มั่นใจด้วยว่า ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข่าวนั้นมีเป้าหมายแอบแฝง (Hidden Agenda) อะไรบ้าง

7. แล้วสิ่งใดที่ประชาชนสามารถทำร่วมกับสื่อได้บ้าง นอกจากการทำหน้าที่เป็นแหล่งข่าว 

อยากให้ประชาชนกลับมามีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างกับสื่อที่ตัวเองเชื่อถืออีกครั้ง ถ้าเห็นว่าข่าวไหนดีก็แชร์ บางทีประชาชนอาจจะเข้าถึงที่มาของแหล่งข่าวได้มากกว่าสื่อเสียอีก ถ้าเป็นแบบนั้นก็ส่งมาให้พวกเราที่เป็นสื่อได้เลย อยากให้ประชาชนทุกคนทำหน้าที่ช่วยกันเป็นทั้งแหล่งข่าว ผู้บริโภค และช่วยแชร์ข่าว สื่อต้องการจากประชาชนแค่ 3 ด้านเท่านั้น

สื่อไหนเห็นว่าดีก็อยากให้ช่วยสนับสนุน และบอกต่อว่าน่าเชื่อถือ และพยายามตรวจสอบสื่อ ถ้าเกิดว่าสื่อสำนักไหนดูทำข่าวไม่เข้าท่า ก็อยากให้ช่วยส่งเสียงไปให้ถึง ตั้งคำถามและตรวจสอบถึงการรายงานข่าวของสื่อสำนักนั้น ซึ่งการกระทำแบบนี้มันจะทำให้สื่อหลายๆ สำนักเองระวังตัวมากขึ้น และมีการไตร่ตรองมากขึ้นด้วย

8. เมื่อประชาชนตั้งคำถามต่อสื่อ 

Pana Janviroj (พนา จันทรวิโรจน์ กรรมการบริหาร กลุ่มข่าว Asia News Network) คือผู้ฟังคนแรกที่ยกมือขึ้นมาขอร่วมวงสนทนาด้วย โดยเขาได้แบ่งปันทรรศนะของตัวเองว่ารัฐบาลจะต้องสื่อสารกับประชาชนทุกวัน แต่เราไม่เคยมีโฆษกที่มีคุณภาพ ไม่เคยมีบุคลากรเกรด A ทั้งที่โฆษกนั้นควรจะมีความสำคัญเบอร์ 2 รองจากนายกรัฐมนตรี เพราะว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องสื่อสารกับประชาชนแทนที่นายกรัฐมนตรี 

พนาเล่าต่อว่า สื่อมีความหลากหลายมาก แต่ว่าไม่ว่าจะดีแค่ไหน ก็ไม่มีประเทศไทยที่คนเชื่อสื่อเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามันคือธุรกิจตลาดเสรี และมีคนสนับสนุนเบื้องหลัง ทำให้คนไม่เชื่อในสื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทุกคนมีอคติของตัวเอง จึงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถเข้าใจการทำงานของสื่อได้จริงๆ 

ผู้ยกมือคนต่อมาคือ คุณ Ahn Onsanit ที่ได้ยกตัวอย่างที่ดีในการทำงานของสื่อที่สามารถช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ได้ โดยยกตัวอย่างกรณีคดี 1MDB ในมาเลเซีย ที่เหล่านักข่าวได้มองเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ประชาชนเริ่มเห็นความหวัง หรือกรณีจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เราเห็นนักข่าวตั้งคำถามจนเห็นความเลิ่กลั่ก เราต้องหาปัญหาแรกเริ่มในเชิงโครงสร้าง และในเชิงลึกเพื่อให้นำมาถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงได้

ต่อมา คุณ Poomsak Ngamwiwattham ก็ได้เข้ามาตั้งคำถามที่สำคัญถึงการโต้ตอบของรัฐบาลว่า ข่าวจากสื่อต่างๆ นั้นคือ Fake news หรือข่าวปลอม และทำไมสื่อถึงไม่ยอมตอบโต้อะไรกับรัฐบาลเลย จนทำให้เขาในฐานะประชาชนรู้สึกว่าสื่อกำลังยอมแพ้ แล้วเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะสามารถเชื่อถือสื่อได้อย่างไร ในเมื่อสื่อนั้นไม่ได้ดูมีความร่วมมือกันจริงๆ จังๆ อีกด้วย

ในส่วนนี้ นภพัฒน์จักษ์ได้แสดงความเห็น พร้อมทั้งไขข้อข้องใจให้กับผู้ถามว่า สื่อหลายๆ สื่อก็มีความถนัดในการรายงานข่าวที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นข้อดี เพราะว่าจะได้เป็นการรายงานข่าวที่ครอบคลุมจากหลายๆ ด้าน อีกทั้งการตอบโต้นั้นไม่ใช่การไปเถียงกับรัฐบาลว่าพูดเท็จ แต่เป็นการนำเสนอตีแผ่ความจริงออกมาเรื่อยๆ ให้การรายงานข่าวของสื่อนั้นเป็นคำตอบในตัวเอง

คนที่ยกมือสุดท้าย Thanyarat Doksone ได้มาสะท้อนว่าสื่อนั้นคือเทียนไข หรือคือกระจก โดยจะนำทาง หรือสะท้อนสังคม แต่สุดท้ายพลังก็อยู่ที่ประชาชน พร้อมให้กำลังใจเหล่านักข่าวและคนสื่อด้วยกันว่า อย่าหวั่นไหว ท้อถอย เพราะความจริงก็คือความจริง โดยได้สนับสนุนให้ทุกคนที่ฟังอยู่ไปดูภาพยนตร์สารคดี Collective นี้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในสายอาชีพนักข่าวยิ่งควรไปดู เพราะมันเหมือนการจุดไฟในตัวนักข่าวในลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ขณะนี้โรงหนังถูกสั่งระงับการใช้บริการไปก่อนจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย

สุดท้ายแล้ว ผู้ร่วมพูดคุยทุกท่านขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งหมดหวังในสื่อ สามารถชี้ได้เลยว่าใครทำพลาดอะไร ให้ทุกคนช่วยกันพัฒนาสื่อไปด้วยกัน เพราะถ้าเกิดว่าสื่อแข็งแรง สังคมก็จะแข็งแรง

Tags: , , , , ,