แม้จะเสียชีวิตไปนานเกือบสามทศวรรษแล้ว แต่ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) ยังคงเป็นดาราฮอลลีวูดในความทรงจำของผู้คน เธอเป็นที่รู้จักของชาวโลกในฐานะทูตสันถวไมตรียูนิเซฟ และนักแสดงนำใน Roman Holiday หรือ Breakfast at Tiffany’s หนังสือชีวประวัติหลายเล่มมักกล่าวถึงเธอในแง่มุมความเป็นดารามีชื่อเสียง แต่ไม่เคยมีเล่มไหนพูดถึงประสบการณ์ของเธอในช่วงห้าปีที่นาซีเยอรมันยึดครองเนเธอร์แลนด์
“ชีวิตช่วงนั้นทำให้เธอเป็นอย่างที่เธอเป็น” ลูคา ดอตติ (Luca Dotti) ลูกชายของออเดรย์ เฮปเบิร์นเขียนคำนำในหนังสือ Dutch Girl: Audrey Hepburn and World War II ของโรเบิร์ต มัตเซน (Robert Matzen) ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2019 เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งออเดรย์ยังเป็นเด็กสาว ต้องเห็นภาพลุงของตนเองถูกฆ่า ต้องเผชิญกับความหิวโหยในฤดูหนาวปี 1944 รวมถึงต้องรับรู้ความจริงว่าพ่อของเธอเป็นสายลับให้กับนาซี ส่วนแม่มีใจฝักใฝ่ในพรรคนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ออเดรย์ คาธลีน รัสตัน (Audrey Kathleen Ruston) เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1929 ในเบลเยียม พ่อเป็นนายธนาคารสัญชาติอังกฤษ ส่วนแม่มีเชื้อสายขุนนางของเนเธอร์แลนด์ ผู้เป็นพ่อทิ้งครอบครัวไปตอนเธออายุหกขวบ จากนั้นแม่ก็พาเธอและพี่ชายต่างพ่ออีกสองคนโยกย้ายไปอยู่อังกฤษ
หลังจากพักอาศัยอยู่ต่างถิ่นได้ไม่นาน สงครามโลกครั้งที่สองก็สั่นคลอนแผ่นดินอังกฤษ ครอบครัวของเธอจึงหวนกลับไปเนเธอร์แลนด์ และเพื่อปกปิดพื้นเพเชื้อชาติอังกฤษ ออเดรย์จำต้องเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของแม่ และเปลี่ยนชื่อของตนเองเสียใหม่เป็น เอ็ดดา ฟาน ฮีมสตรา (Edda van Heemstra)
เด็กสาวป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อ เหตุเพราะขาดสารอาหารในช่วงภาวะขาดแคลน เธอเคยพูดเล่าเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์สื่อในภายหลังว่า ช่วงแร้นแค้นนั้น เธอและคนในครอบครัวแทบไม่มีอะไรจะกิน มื้อเช้ามีเพียงน้ำร้อนกับขนมปังคนละชิ้น มื้อเที่ยงมีแต่มันฝรั่งต้ม แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เธอจะเลิกให้การสนับสนุนผู้ยึดครองชาวเยอรมัน จนกระทั่งต่อมา ลุงของเธอถูกพลพรรคนาซีฆ่าตาย ทั้งเธอและสมาชิกในครอบครัวจึงเปลี่ยนใจไปอยู่ฝ่ายต่อต้านนาซี
หลังสงครามสิ้นสุด ออเดรย์เดินทางไปอังกฤษ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเต้นบัลเลต์ในอนาคต แต่ฝันของเธอก็ดับวูบลงเมื่อรู้ตัวในภายหลังว่ากล้ามเนื้อขาของเธอเป็นอุปสรรค ท้ายที่สุดเธอเบนเข็มไปสู่การแสดง และในปี 1951 ออเดรย์ เฮปเบิร์น (นามสกุลที่สองของตระกูล) เดินทางสู่นิวยอร์ก ปลายทางที่ฮอลลีวูด จนกระทั่งกลายเป็นนักแสดงมีชื่อเสียง
โรเบิร์ต มัตเซน (Robert Matzen) เจ้าของหนังสืออัตชีวประวัติ Dutch Girl ให้ความเห็นเรื่องอดีตช่วงยึดครองของนาซีที่เฮปเบิร์นไม่ปรารถนาจะเอ่ยถึงนั้น เป็นไปได้ว่าเธอเลือกที่จะปกปิดเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นด้วยเหตุผลส่วนตัว ในช่วงสงครามเธอพักอาศัยอยู่ในเมืองอาร์เนม ที่ซึ่งนาซียึดครอง และเธอหารายได้จากการเต้นบัลเลต์ ซึ่งตอนนั้นเธอก็ต้องเต้นให้กับนาซี หรือแม้จะเต้นในที่สาธารณะ ผู้ชมส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวเยอรมันอยู่ดี เมื่อสงครามยุติแล้ว เธอจะถูกตัดสินอย่างไรถ้าเรื่องเหล่านี้ถูกเผยแพร่ในสื่อ
ในวัย 25 ปี ออเดรย์ เฮปเบิร์นสามารถคว้ารางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Roman Holiday นับแต่นั้นมาเธอก็กลายเป็นดาราระดับแถวหน้าของฮอลลีวูด สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการในเวลาต่อมาด้วยผลงานภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s, Charade หรือ My Fair Lady รวมเวลาทั้งสิ้น 19 ปีก่อนที่เธอจะถอนตัวออกจากวงการ
รักแรกของออเดรย์เป็นรักที่เธอพบเจอในปี 1954 ระหว่างการซ้อมบทละครบรอดเวย์เรื่อง Ondine เขาคือ เมล เฟอร์เรอร์ (Mel Ferrer) ไม่กี่เดือนถัดมาทั้งสองก็แต่งงานกัน และมีโอกาสได้ร่วมแสดงหนังคู่กันอีกครั้งในปี 1956 เรื่อง War and Peace มีลูกชายคนแรก ฌอน เฮปเบิร์น เฟอร์เรอร์ (Sean Hepburn-Ferrer) หลังจากแท้งมาสามครั้ง และครองชีวิตคู่กับเฟอร์เรอร์นาน 14 ปี
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองจากการหย่าร้าง ออเดรย์จึงเดินทางไปกรีซ ระหว่างล่องเรือยอร์ชที่นั่น เธอได้รู้จักกับอันเดรีย ดอตติ (Andrea Dotti) จิตแพทย์ชาวอิตาเลียน ทั้งสองตกลงปลงใจแต่งงานกัน และไม่ช้าออเดรย์ก็ตั้งครรภ์ลูกชายคนที่สอง ลูคา ดอตติ
ในช่วงเวลานั้น แม้ยังติดถ่ายทำหนังอยู่อีกห้าเรื่อง แต่ออเดรย์เริ่มผันตัวเองมารับบทบาทแม่บ้านอิตาเลียนมากขึ้น เธอค้นพบความชอบในการทำอาหาร และติดใจเส้นพาสตาราวกับยาเสพติด เธอมักพกพาเครื่องปรุงสำหรับพาสตาติดกระเป๋าทุกครั้งที่มีการเดินทาง มันคือเมนูง่ายๆ ที่เธอชื่นชอบ ทุกค่ำวันอาทิตย์เธอมักนั่งหน้าจอทีวี ในมือถือจานสปาเกตตีราดด้วยซอสมะเขือเทศ
ที่นอกบ้าน ออเดรย์คือดารา แต่ในบ้านเธอคือแม่บ้าน แต่แล้วชีวิตคู่กับอันเดรีย ด็อตติ ก็ไม่จีรัง ผ่านการครองคู่นาน 11 ปี เธอก็หย่าอีกครั้ง
ไม่ช้าต่อมาเธอได้รู้จักความรักยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายกับโรเบิร์ต โวลเดอร์ส (Robert Wolders) ชายที่เคยคุ้นชินกับความหิวโหยคล้ายเธอในเนเธอร์แลนด์ อดีตเบื้องหลังที่คล้ายกันนี้เอง ที่ผลักดันให้ทั้งสองร่วมกันทำงานช่วยเหลือเด็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนา กระทั่งออเดรย์ได้รับเลือกเป็นทูตสันถวไมตรียูนิเซฟในที่สุด
ตลอดระยะเวลาห้าปี พวกเขาเดินทางไปประเทศด้อยโอกาสและรวบรวมเงินบริจาค จากงานช่วยเหลือมนุษยชนทำให้ออเดรย์ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ในสหรัฐอเมริกา และเธอรับมอบมาด้วยความปีติระคนประหลาดใจ นั่นเพราะคิดว่าเธอไม่เคยสำเร็จการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน
ปี 1992 เธอเริ่มรู้สึกไม่ไหวกับการทำงานให้ยูนิเซฟ สภาพร่างกายเธอไม่เหมือนเดิม อาจมีผลจากการที่เธอสูบบุหรี่จัดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในปีเดียวกัน แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เธอได้รับการผ่าตัดและรักษาด้วยเคมีบำบัด แต่เธอก็พ่ายแพ้
ออเดรย์ เฮปเบิร์นเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มกราคม 1993 ที่บ้านของเธอในโทโรเชนาซ สวิตเซอร์แลนด์ หลังจากนั้นไม่นาน ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ปี 1993 เธอได้รับรางวัล Jean Hersholt Humanitarian Award ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษออสการ์กิตติมศักดิ์ด้านมนุษยธรรม
อ้างอิง
Robert Matzen, Dutch Girl: Audrey Hepburn and World War II, GoodKnight Books (2019)
https://www.nzz.ch/panorama/menschen/das-bild-hinter-der-ikone-audrey-hepburn-1.18580938
https://www.vogue.de/mode/star-style/star-style-audrey-hepburn
Tags: Something Between, Audrey Hepburn, ออเดรย์ เฮปเบิร์น