สิบปีก่อน พิเชษฐ กลั่นชื่น นักออกแบบท่าเต้นร่วมสมัย และศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2549 จัดตั้งคณะ Pichet Klunchun Dance Company ผ่านระยะเวลาของการเริ่มต้น เติบโต เปลี่ยนแปลง สร้างงานท้าทายขนบที่น่าสนใจ และปลุกปั้นนักเต้นรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับแวดวงนาฏศิลป์ร่วมสมัย

วันนี้ ภายในโรงละครช้างอันเป็นโรงเต้นและที่พำนักของเขาในบริเวณพื้นที่เงียบสงบย่านประชาอุทิศ พิเชษฐและคณะเต้นของเขายังคงต่อยอดองค์ความรู้ นำนาฏศิลป์ไทยมาปรับใช้เพื่อคิดค้นงานใหม่ๆ อยู่เสมอ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกับงานล่าสุดที่ชื่อ ‘No.60’ อันเป็นชุดความรู้ที่มาจากการถอดรื้อท่ารำแม่บทใหญ่ 59 ท่า ก่อนจะคลี่คลายกลายเป็นท่าเต้นร่วมสมัยที่ 60 ซึ่งเขาใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้ากว่า 16 ปี

ใครจะเชื่อว่าครั้งหนึ่ง พิเชษฐ กลั่นชื่น คือชื่อที่กรมศิลปากรไม่นับเป็นพวก ถูกตีตราว่าเป็นผู้ร้ายทำลายวัฒนธรรม จากการนำสิ่งที่เรียกว่านาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างโขนมาตีความ ดัดแปลง และแสดงในมุมมองใหม่ แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีเสียงกระแนะกระแหนนินทาคอยโจมตีงานของเขาอยู่เสมอ

หากลองขยับมองภาพกว้างในระดับสังคม สายพานแห่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาที่ยังคงดำเนินอยู่ของทุกสาขา ล้วนต้องเคยมีผู้ลุกขึ้นยืนตั้งคำถามกับความเชื่อแบบเดิมๆ กล้ารื้อถอนความคิด หวังนำพาไปสู่สิ่งใหม่ จนเกิดกระแสต่อต้านและแปะป้ายให้เป็นผู้ร้าย เช่นเดียวกับพิเชษฐที่ต้องกลายเป็น ‘ปีศาจ’ ในสายตาของฝั่งอนุรักษนิยมแห่งแวดวงนาฏศิลป์ไทย หากแต่เขายังคงยืนหยัดในสิ่งที่ทำ ในงานที่สร้าง โดยเชื่อว่าการใช้งานเป็นเครื่องพิสูจน์คำกล่าวหาคือคำตอบที่ดีที่สุด

“ผมคิดว่าการมีปีศาจสักตัวในประเทศนี้คือความจำเป็น” พิเชษฐกล่าวพลางผุดยิ้มในตอนหนึ่งของบทสนทนา

ไม่ต่างอะไรกับการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสังคมในขณะนี้ คำถามที่ไม่เคยมีใครคิดหรือกล้าถามเกิดขึ้นมากมาย มุ่งตรงไปยังกลุ่มผู้มีอำนาจเดิมในสังคม ที่เป็นผู้กุมอดีตและกุมบังเหียนอนาคตของพวกเขาไว้ในมือ ซึ่งสุดท้าย เวลาจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะอยู่ข้างอดีตหรืออนาคตที่ลุกขึ้นมาท้าทาย

ในวัยห้าสิบปี พิเชษฐยังดูคล่องแคล่ว ร่างกายสมส่วนเต็มไปด้วยมัดกล้าม ทว่ายืดหยุ่นและอ่อนช้อย ภายใต้แววตาเฉียบคม คำพูดดุดัน เขาย้ำในสิ่งที่พยายามสร้างผ่านผลงานว่า

“เด็กรุ่นใหม่ต้องโตมากับวันพรุ่งนี้ เราจะต้องตอบคำถามเขาไปพร้อมกับวันพรุ่งนี้ให้ได้”

หากให้มองย้อนกลับไปช่วงสิบปีที่ผ่านมา คณะ Pichet Klunchun Dance Company เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน จากวันแรกที่ก่อตั้ง

คอมพะนีเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ตอนเริ่มต้นเราไม่มีพื้นที่ เราไม่มีสถานที่ วันนี้เรามีสถานที่ของเราเอง มีโรงละครของตัวเอง จะเห็นได้ว่าในด้านวัตถุ เราเติบโตขึ้น เรื่องนักเต้น ในวันที่เราเริ่มคอมพะนี เรามีนักเต้นที่ทำงานแบบไม่เต็มเวลา แต่ตอนนี้นักเต้นเราทำงานเต็มเวลา มีระบบการจ่ายเงินเดือนแบบเต็มเวลา นี่คือพัฒนาการ นอกจากนี้นักเต้นเราเริ่มโตขึ้นและสร้างงานของตัวเอง บางคนได้ทุนไปเรียนเกี่ยวกับศิลปะการเต้นที่อเมริกา หรือหลายๆ ประเทศ 

ส่วนของโปรดักชัน ในวันที่เราเริ่มต้น เรายังใช้หลักการและวิธีการที่เป็นเทคนิคของรำไทย และองค์ความรู้ที่มาจากรำไทย แต่วันนี้เราสกัดเอาองค์ความรู้เดิมทั้งหมด มาสร้างเป็นชุดองค์ความรู้ใหม่ของคอมพะนีเองที่ชื่อว่า No.60 จะเห็นว่าพัฒนาการของคอมพะนีเติบโตเป็นลำดับขึ้นตอนมาตลอดในทุกๆ มิติ

แล้ววัตถุประสงค์ที่วางไว้ตั้งแต่แรกเปลี่ยนไปบ้างไหม

ผมมองว่าตัวคอมพะนีเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกๆ สามถึงสี่ปี มันจะมีชุดความคิดใหม่มาเรื่อยๆ ตอนแรกเป็นชุดความคิดแค่เพียงว่าเราจะสร้างคอมพะนีขึ้นมาได้อย่างไร เราจะมีคนมาทำงานร่วมกันได้อย่างไร สามปีต่อจากนั้นเราก็มองว่า พอเรามีคนเข้ามาแล้ว เราจะอยู่ให้ถาวรได้อย่างไร ก็เปลี่ยนเป็นชุดความคิดต่อไปในการดำรงอยู่ พอเข้าสู่กระบวนการของการดำรงอยู่ สิ่งที่เราต้องมองต่อไปคือ เราต้องมีเทคนิคของตัวเราเอง เราต้องมีหลักการและเหตุผลของตัวเราเองในเชิงศิลปะ หลังจากนั้น พอเราได้คนแล้ว เราได้ความมั่นคงแล้ว เราจะอยู่กับอนาคตที่ไปไกลกว่านั้นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกๆ สามถึงสี่ปีของคอมพะนี 

ตอนนี้คอมพะนีอยู่ในช่วงชุดความคิดแบบไหน

พอครบรอบสิบปีของคอมพะนี เราก็วางแผนเอาไว้แล้วว่าจะทำอะไร ในขณะที่เราสร้างหลักการของ No.60 ที่เป็นหลักการแบบนาฏศิลป์ไทยสมัยใหม่ หลักคิดแบบใหม่ขึ้นมา เราก็มองว่าจะบวกรวมความเป็นเราเข้าไว้กับเทคโนโลยีและนวัตกรรม นี่คือสิ่งที่เรามองในโลกอนาคต คือทำอย่างไรศิลปะและการเต้นจะอยู่กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ เราต้องการที่จะพาศิลปะของเราไปไกลกว่าพื้นที่ที่เราเคยไป อย่างเช่น เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีส่วนเข้าไปในโลกไซเบอร์ที่มันไม่มีข้อยุติในมิตินั้น หรือเป็นไปได้ไหมที่เราจะไปสู่อวกาศ

ฟังดูเป็นเป้าหมายที่ล้ำมาก การไปอวกาศหมายความว่าอย่างไร แล้วในความเป็นจริงศิลปะนาฏศิลป์ไทยพร้อมจะไปถึงจุดนั้นหรือยัง

อันนี้เราต้องกลับไปในตำราที่เราเขียนเอาไว้ว่านาฏศิลป์ไทยมาจากอะไร 

ในตำราเราเขียนไว้ชัดเจนว่า นาฏศิลป์ไทยถูกสร้างขึ้นมาจากเทวดา นางฟ้า เทพเจ้า คำถามที่ง่ายมากคือ เทวดา นางฟ้า เทพเจ้าอยู่ที่ไหน อยู่บนสวรรค์ สวรรค์อยู่ที่ไหน อยู่นอกโลก แสดงว่าคนพวกนี้อยู่อวกาศ ดังนั้นมันก็ไม่ได้แปลกอะไรถ้าผมจะพาศิลปะกลับไปที่อวกาศอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเราเขียนไว้ในหนังสือแบบนั้น แสดงว่าเราเชื่อจริงๆ แล้วเราก็เรียนในหนังสือกันมา การที่ผมจะนำพาเทคนิคนี้กลับไปสู่จุดเริ่มต้นของมัน ผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแตกต่างหรือเป็นเรื่องเพ้อเจ้ออะไร ถ้าทุกคนบอกว่าสิ่งที่ผมคิดเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ นั่นแสดงว่าสิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือเป็นเรื่องเพ้อเจ้อด้วย แล้วเราก็เรียนเรื่องเพ้อเจ้อมาทั้งชีวิต 

ผมกำลังทำให้สิ่งที่เราเชื่อเป็นความจริงขึ้นมา ไอเดียที่เราตั้งไว้คือ การกลับไปในระบบการรำที่ไม่มีแรงโน้มถ่วงเป็นอย่างไร เพราะวันที่เรานำการรำมาร่ายรำอยู่บนโลกนี้มันมีแรงโน้มถ่วง แต่ถ้ากลับไปสู่พื้นที่ที่ไม่มีแรงโน้มถ่วง มันอาจจะตีลังกาก็ได้ มันอาจจะไม่ได้เป็นโครงสร้างอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ก็ได้ นี่คือสมมติฐานที่เราตั้งไว้ในงานต่อไปที่เรากำลังจะทำ

แนวคิดที่คุณนำเสนอนี้ มีคนเห็นด้วยเยอะไหม

ผมเจอน้องคนหนึ่งที่เขาทำงานอยู่ เอ็มไอที (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์) ที่อเมริกา เขาเป็นนักเรียนไทยที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เราคุยกันเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ เขาได้เห็นการถอดรื้อท่ารำแม่บทใหญ่ 59 ท่า ในรูปแบบไดอะแกรมของ No.60 ที่ผมเขียน แล้วบอกว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากที่เราควรจะทำงานร่วมกัน และพัฒนาสิ่งเหล่านี้

ผมกระโดดข้ามไปนิดหนึ่ง เมื่อช่วงที่ผ่านมา เรามีโครงการที่ชื่อ ‘HACK นาฏศิลป์’ เกิดขึ้น เราพานักวิทยาศาสตร์กับนักคอมพิวเตอร์มาทำงานกันที่นี่ แล้วดูว่าเราจะพัฒนาตัวนาฏศิลป์ไทยไปสู่เทคโนโลยีได้อย่างไร เดือนเมษายนนี้เราจะจัดอีกครั้ง เราจะเชิญครูนาฏศิลป์มาร่วมโครงการกับเรา เพื่อให้ครูนาฏศิลป์เรียนรู้ระบบและวิธีการสอนนาฏศิลป์แบบใหม่ที่เป็นระบบเทคโนโลยี และอธิบายชุดความคิดแบบหลักการและเหตุผล บวกรวมไปกับความเชื่อและจิตวิญญาณที่มีอยู่เดิม สิ่งนี้จะตอบคำถามได้ว่า ทำไมถึงต้องมีวิชานาฏศิลป์

พูดถึงงาน No.60 ซึ่งคุณบอกว่าใช้เวลาคิดค้นทดลองถึง 16 ปี ทำไมถึงใช้เวลานานขนาดนั้น

เราไม่เข้าใจตั้งแต่ต้นว่ามันคืออะไร ในเรื่องหลักการทางศิลปะของการใช้ร่างกาย เรารู้ว่าท่ารำเป็นอย่างไร แต่เราไม่เข้าใจว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ ความซับซ้อนของมันมีอยู่เยอะมาก เราต้องแยกองค์ประกอบออกมาเป็นชิ้นๆ ว่าโครงสร้างหลักคืออะไร องค์ประกอบหลักคืออะไร แล้วในองค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบมีความหมายอย่างไร ทำไมในสังคมนี้ถึงใช้ชุดความคิดนี้และชุดโครงสร้างแบบนี้มาเป็นเครื่องมือในการจัดการระบบทางความเชื่อของสังคม เหมือนเราต้องถอดมันทั้งระบบเพื่อทำความเข้าใจในการเขียนมันขึ้นมาใหม่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงใช้เวลานาน

เราคิดได้ก็จริง แต่ว่าบางทีเราทำไม่ได้ สมองเราคิดได้ว่ามันแยกระบบเป็นแบบนี้ นั่นเป็นกระบวนการที่หนึ่ง แต่พอเราเข้าใจมันแล้ว ร่างกายเราจะทำมันได้อย่างไรก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง หลังจากนั้น เราจะสังเคราะห์สิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นชุดองค์ความรู้ได้อย่างไร หลังจากที่ทำได้แล้วและเป็นสิ่งใหม่ ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง พอหลังจากที่ได้กระบวนการใหม่ เราจะไปสอนคนอื่นให้ทำได้เหมือนเราได้อย่างไร ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง จะเห็นได้ว่ามันผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนมาก กว่าจะสรุปมาถึงสิ่งที่เป็นในปัจจุบันใน No.60 ผมว่าสิบกว่าปียังเร็วเกินไปด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้กระบวนการเสร็จสิ้นหรือยัง

ตอนนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการของการใช้ คือให้คนอื่นใช้ ดูว่าคนอื่นใช้ได้หรือไม่ อย่างไร ใช้อย่างที่เราใช้ได้ไหม อย่าง HACK นาฏศิลป์ ที่เราจะทำในเดือนเมษายนเป็นฟรีเวิร์กช็อปสำหรับครูนาฏศิลป์ไทย เพื่อเข้ามาเรียนระบบของ No.60 แล้วนำไปสอนนาฏศิลป์ไทยในวิถีใหม่ เราอยากรู้ว่า ระบบที่เราคิดบวกรวมกับสิ่งเดิมจะสอนให้เด็กสามารถที่จะเรียนอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นได้ไหม มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้ไหม แล้วเรียนไปพร้อมกับวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ได้ไหม

มีฟีดแบ็กที่น่าสนใจจากคนที่ได้เห็นงานนี้บ้างไหม

ถ้าเป็นคนสายอนุรักษนิยม สายนาฏศิลป์ ทุกคนตื่นเต้น แต่ก็จะถามว่า แล้วทำไปทำไม นี่คือคำถามคลาสสิกเลย เขาบอกว่าของเดิมก็ดีอยู่แล้ว ซึ่งผมก็เข้าใจเขา เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้เวลา แต่ถ้าเป็นคนสายวิทยาศาสตร์ที่เราทำเวิร์กช็อปกันใน HACK นาฏศิลป์ ทุกคนมือเป็นระวิงเลย 

มีคนหนึ่งเป็นนักเขียนโปรแกรมเมอร์ เขียนชุดภาษาของระบบทั้งหมดใน No.60 ให้ใหม่ เพื่อเข้าไปสู่แอพลิเคชันแล้วเล่นเป็นเกมได้ หรือถอดออกมาเป็นระบบได้ ส่วนอีกคนช่วยคำนวณออกมา อีกคนใช้วิธีการให้คอมพิวเตอร์สร้างการเคลื่อนไหวจากของเดิมและของใหม่ทีละเฟรม เพื่อดูว่ามันมีความแตกต่างกันอย่างไร

เวลาถูกถามว่าทำไปทำไม คุณตอบเขาว่าอย่างไร

คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ เรามีพรุ่งนี้ ถ้าเราไม่มีพรุ่งนี้ เราไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เด็กรุ่นใหม่นี้ต้องโตมากับวันพรุ่งนี้ เราจะต้องตอบคำถามเขาไปพร้อมกับวันพรุ่งนี้ให้ได้ หรือเราต้องสอนสิ่งเหล่านี้ (นาฏศิลป์ร่วมสมัย) ให้มันอยู่กับวันพรุ่งนี้ให้ได้

คุณเองก็เคยถูกตั้งคำถาม ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงานที่ทำหลายต่อหลายครั้งว่าเป็นขบถ เป็นผู้ทำลายศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ทุกวันนี้ยังมีคำพูดเหล่านี้หลงเหลืออยู่ไหม

ผมคิดว่าการมีปีศาจสักตัวในประเทศนี้คือความจำเป็น ประเทศนี้ต้องสร้างปีศาจขึ้นมาสักตัวหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดเทวดาขึ้น ความจริงแล้วผมไม่ได้เป็นหรอกในสิ่งที่เขาพูด แต่เขาบังคับให้ผมต้องเป็น แล้วต้องรักษาผมเอาไว้ด้วยให้ผมเป็นปีศาจ เพื่อเขาจะได้เป็นคนดี แล้วก็โจมตีผมไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีให้กับเขาในการที่เป็นผู้ดูแลและเป็นผู้อนุรักษ์ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ใครล่ะจะเป็นเหมือนกับผู้ร้ายคนนี้

ที่ถามผมว่า ยังมีคำพูดทำนองนี้หลงเหลืออยู่ไหม ถ้าในสังคมสมัยใหม่ หรือเด็กรุ่นใหม่ ไม่มีแล้ว ผมไม่ได้เป็นปีศาจ ผมเป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นบุคคลที่ทำงานศิลปะ แต่ในอีกฝั่งที่เป็นฝั่งอนุรักษ์ ผมยังคงเป็นสิ่งนั้นในสายตาเขาตลอดเวลา

ในแต่ละช่วงชีวิต เราจะมีชุดความคิดเปลี่ยนไปเสมอ หากมองย้อนกลับไป คุณยังเห็นด้วยกับการแสดงที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ไหม เช่น งานโขนขาวดำ, ฉุยฉาย หรือ I’m a demon

เห็นด้วยมาก (ตอบทันที) และผมคิดว่าสิ่งที่ทำวันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากๆ ด้วย มันจึงนำพาเรามาสู่ชุดองค์ความรู้ใหม่ เข้าใจหลักการและเหตุผลในอดีตที่ผ่านมาอย่างทะลุปรุโปร่งจนเป็นวันนี้

คำชมกับคำด่า อันไหนมีผลกับคุณมากกว่ากัน

คำด่า คำด่าเป็นเรื่องดีมากสำหรับผม ผมชอบมาก เพราะผมคิดว่า เราต้องทำให้สิ่งที่เขาด่าเป็นสิ่งที่ผิด และต้องพิจารณาสิ่งที่เขาพูด เอาสิ่งที่เขาพูดมาวิเคราะห์ว่าทำไมเขาพูดแบบนั้น แล้วเราจะทำให้สิ่งที่เขาพูดนั้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนหรือเป็นการสร้างงานให้กับเราได้อย่างไร อย่างเช่น ถ้าเขาบอกว่าพิเชษฐเป็นผู้ทำลาย ทำลายในความหมายของเขาคืออะไร ขอบเขตที่เขาพยายามตีกรอบคำว่าทำลายมันอยู่ตรงไหน นั่นคือสิ่งที่ผมจะพิจารณา 

พอเราพิจารณาสิ่งที่เขาพูดแล้ว ก็กลับมามองที่งาน อ๋อ สิ่งที่เขามองว่าเราทำลาย อาจจะเป็นเพราะว่าเราไปทำลายระบบความคิดแบบเดิมๆ รูปแบบและวิธีการแบบเดิมๆ หรือว่าเราไปทำลายอำนาจเดิมที่เขามีอยู่ หรือเราไปทำลายตัวโครงสร้างของสังคมที่เป็นโครงสร้างแบบอำนาจนิยมที่รวมศูนย์อำนาจไว้ในจุดๆ เดียว เราไปทำให้มันแตกออกจากกัน ความหมายของคำว่าทำลายเป็นแบบนี้หรือเปล่า ถ้ามันเป็นแบบนี้ แสดงว่าเราทำถูกทางแล้ว

 เวลาต้องทำงานที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดกระแสต่อต้าน คุณวางแผนอย่างไร

ต้องรีบทำ ถ้ารู้ว่าอันนี้สุ่มเสี่ยงต้องรีบทำเลย (หัวเราะ) เพราะแสดงว่างานนั้นใช่ และงานนั้นมีผลในการขับเคลื่อน ทำให้เกิดการตื่นตัวหรือตั้งคำถาม สังคมต้องการการตั้งคำถาม สังคมต้องการการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมต้องการการตอบคำถาม สังคมต้องการการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ถ้างานจะทำให้มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ต้องรีบทำเลย

คุณเคยโดนวิพากษ์วิจารณ์มาหลายครั้ง คิดว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่พอใจคืออะไร

มนุษย์อยู่บนพื้นฐานของความกลัว กลัวที่จะสูญเสีย มันมีอยู่แค่นี้เอง เพราะฉะนั้น การที่เขาโจมตีเราหรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะนำมาซึ่งการสูญเสียของเขาในบางมิติ ถ้าสมมติว่าเขาได้ประโยชน์ เขาจะไม่พูดหรอก

มีคำพูดอะไรที่เคยได้ยินแล้วมันกระทบใจ หรือสั่นคลอนความเชื่อของคุณบ้างไหม

(นิ่งคิด) ไม่เคย ผมไม่เคยเจอเหตุผลไหนที่ทำให้รู้สึกว่าต้องกลับมาพิจารณาในสิ่งที่ตัวเองทำอีกครั้งหนึ่ง ผมไม่เคยเจอใครที่พูดแบบเฉียบคม และยกเหตุผลในหลักการมาสื่อสารกับผมเลย ส่วนใหญ่ที่ผมได้รับเป็นเพียงแค่ว่า ‘นี่มันคือการทำลาย’ หรือ ‘นี่มันทำให้วัฒนธรรมอันดีงามเสื่อมเสีย’ มันเป็นเหตุผลที่พูดกันมาเป็นร้อยปีพันปี แต่พอถามลงลึกไป เขาก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้

เหตุผลไหนที่คุณรับไม่ได้มากที่สุด

(นิ่งคิด) เหตุผลที่ไร้เหตุผล ผมรับไม่ได้มากที่สุด (หัวเราะ) ผมยกตัวอย่างไม่ได้ แต่ผมเห็นว่าอันนี้เป็นเหตุผลที่ไม่มีเหตุผลเลยที่เอามาพูดกัน หรือเอามาอ้างกัน เช่น ‘มันเป็นของสูง’ อะไรคือของสูง ก็ไม่มีคำอธิบาย หรือ ‘มันเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษสั่งสมมา’ คืออะไร เขาสั่งสมมาไม่ได้ให้คุณเอามาเก็บ เขาสั่งสมให้คุณเอามาใช้ เขาสร้างเพื่อคุณเอามาใช้ เขาสร้างเพื่อให้คุณพัฒนาต่อ

 ฟังแล้วนึกถึงประเด็นก่อนหน้านี้ที่กระทรวงวัฒนธรรมห้ามใช้ท่ารำไทยในเกมผีของไทย แล้วคุณก็ออกมาเสนอว่าให้ใช้ท่ารำของคุณ

แทนที่เราจะให้เด็กได้เข้าใจศิลปะมากขึ้น แทนที่จะทำให้ศิลปะไปงอกงามหรือเติบโตในสาขาวิชาอื่นหรือสิ่งอื่นได้ แต่กลับปฏิเสธ การที่มีสถาบันการศึกษาที่สอนกันอยู่ในตอนนี้ทั้งประเทศสิบกว่าสถาบันที่เป็นของหน่วยงานวัฒนธรรมโดยตรง ผมคิดว่าการที่คุณออกมาพูดแบบนี้มันกำลังบอกว่า สิ่งที่คุณทำอยู่มันไม่เข้มแข้งและไม่แข็งแรงพอ กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คุณยังมาโจมตี แล้วบุคลากรของคุณเป็นหมื่นคน คุณเอาอยู่เหรอ คุณจะดูแลได้เหรอ

 มันสะท้อนถึงความล้มเหลว

มันสะท้อนถึงความล้มเหลวชัดเจน เป็นอะไร ทำไมถึงจะต้องมามีปัญหากับคนคนเดียวอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่มีคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นเป็นครูบาอาจารย์ มีตำแหน่งเป็นดอกเตอร์ เป็นรองศาสตราจารย์ เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นอะไรอีกสารพัดที่มีอำนาจล้นฟ้า

ถ้าให้เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางสังคมทุกวันนี้ เราเริ่มเห็นว่าคนรุ่นใหม่นำศิลปวัฒนธรรมไปใช้ในการประท้วงบนถนนมากขึ้น คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

เรื่องนี้เกิดมานานแล้ว ไม่ใช่ในเฉพาะประเทศนี้ ถ้าเราไปไล่ดูในประวัติศาสตร์ ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ศิลปะเป็นกระบวนการของการกลั่นกรองความคิด ความปรารถนาของเรา ที่เป็นนามธรรมให้ออกมาในสิ่งที่เป็นรูปธรรม และจับต้องได้ เพราะฉะนั้น การที่เราจะแสดงตัวตนของเราหรือทัศนคติของเราเพื่อให้สิ่งที่เราคิดหรือต้องการจะบอกสถิตย์อยู่ในสภาวะที่ให้คนเห็นหรือมาจับต้องได้นานมากขึ้น จึงต้องผ่านมาเป็นศิลปะ แล้วก็วางมันเอาไว้ ตั้งมันเอาไว้ เขียนมันเอาไว้ บันทึกมันเอาไว้ พอเราทำเสร็จ เราเดินไป เห็นไหมว่ามันมีอีกคนหนึ่งมาเห็น เพราะฉะนั้นก็จะเห็นเจตจำนงและเจตนาในสิ่งเหล่านี้ ส่วนคนที่มาเห็นแล้วพึงพอใจ หรือเห็นด้วยกับเรา ก็จะส่งผลให้เขาสามารถสานต่อสิ่งนั้นได้ หรือทำให้เขารับรู้ว่าฉันไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีคนที่คิดเหมือนกัน

แต่ในขณะที่ผมพูดตรงนี้เสร็จและเดินออกไป จะเห็นว่ามันจบลงตรงนั้น ศิลปะมันเป็นเครื่องมือในการบันทึก ความเป็นนามธรรมในชุดความคิดของเรา ทัศนคติของเรา ในสิ่งต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว ศิลปะเปิดช่องให้คนมาเชื่อมต่อได้ ทำงานร่วมต่อกันไปได้ เห็นไหมว่าเวลามีคนเขียนตัวหนังสือหนึ่งคำบนถนน ก็จะมีอีกคนมาเขียนเพิ่มอีกหนึ่งคำ มันเปิดช่องให้เราทำงานไปพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมศิลปะถึงเข้ามาทำหน้าที่ในเรื่องของการเมือง ศาสนา สังคม มาตลอดเป็นระยะเวลาเป็นพันปี

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมือง

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ถ้าเราไปไล่ในประวัติศาสตร์ เอาแค่ประเทศไทยก็ได้ ศิลปินรุ่นเก่าๆ ที่ได้รับการปูนบำเหน็จบำนาญ เป็นใหญ่เป็นโตกันทุกวันนี้ ก็มาจากการประท้วงทั้งนั้น เราเห็นว่าเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มาตลอด และเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังด้วย เพราะมันเข้าไปกระทบกระบวนการทางความรู้สึกและจิตวิญญาณที่ลึกลงไปข้างใน มันไม่ต้องการคำอธิบายที่เวิ่นเว้อ แต่มันรับรู้ได้ในสภาวะแค่การมองเห็นนั้น แล้วประโยคอีกร้อยประโยคมันกลับมาทันที หรือความหมายทั้งหมดมันมาได้ทันที

บางคนบอกว่าศิลปะมักซ่อนนัยบางอย่างเอาไว้ แต่ทุกวันนี้คนต้องการการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา อนาคตศิลปะแบบซ่อนนัยจะยังมีที่ทางอยู่ไหม

มันไม่มีอะไรตรงไปตรงมา ทุกอย่างมีนัยทั้งหมด แม้กระทั่งมีคนคนหนึ่งที่บอกว่าเขาเป็นคนพูดตรงมาก จริงๆ สิ่งที่เขาพูดว่า ‘ตรง’ ก็มีนัยอยู่ ไม่มีสิ่งใดบริสุทธิ์ ทุกอย่างล้วนมีสิ่งแอบแฝงหรือเคลือบแคลงอยู่ทั้งนั้น ผมมองว่านี่คือความงามด้วยซ้ำไป ที่จะทำให้คนที่อ่าน หรือพิจารณาสิ่งนั้น ต้องทำงานอย่างมีสติ ต้องอ่านมันอย่างมีสติ

เมื่อไม่นานมานี้ คุณเพิ่งแสดงงานชื่อ ‘7’ ที่ใช้ศิลปะการเต้นรำแบบนาฏศิลป์ร่วมสมัยมาเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงความอยุติธรรมในสังคม การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามเรื่องสังคมและการเมืองมันมีพลังอย่างไรในมุมคุณ

ศิลปะทำหน้าที่พวกนี้ได้หมด แต่บางครั้งมันต้องมีกลวิธีเหมือนกัน เช่น วิธีการนำเสนอ เคยได้ยินประโยคนี้ไหม ‘สิ่งที่คุณเห็น ไม่ใช่สิ่งที่คุณรู้สึก’ มีหลายครั้งที่เราเห็นคนทะเลาะกันแล้วเราขำ ทำไมเราขำล่ะ หรือบางทีเราเห็นเพื่อตบหัวกัน แทนที่จะสงสาร เรากลับขำ ศิลปะทำอะไรบางอย่างแบบนี้เหมือนกัน คือสิ่งที่คุณเห็นไม่ใช่สิ่งที่คุณรู้สึก มันสร้างอีกชุดความหมายหนึ่งของความรู้สึกและสะท้อนอีกเรื่องหนึ่งเอาไว้

หากเป็นการใช้ศิลปะมาเคลื่อนไหวทางสังคม แต่เป็นในเชิงล้อเลียน คุณคิดว่าทำได้ไหม

เคยดูละครนอกหรือโขนสดไหม มันคือการเล่นโขนแต่ว่าเปิดหน้า แต่งหน้า แล้วร้องเหมือนลิเก คือศิลปะมันทำหน้าที่นี้มาตลอด ศิลปะเป็นเรื่องของการล้อเลียนไปด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วในเมื่อคนแสดงออกไม่ได้ คนถูกประณาม ถูกจับ ศิลปะก็เข้ามาทำหน้าที่ในการทำงานของมันอีกแบบหนึ่ง ผมไม่ได้พูดเรื่องของคุณ ผมเล่าเรื่องเทวดาองค์หนึ่งที่มันกำลังนิสัยเสีย เห็นไหม วรรณกรรมเหล่านี้ถูกเขียนมาตั้งแต่อดีต ทำไมถึงต้องเล่าเรื่องพวกนี้ ทำไมต้องมีตัวละครที่เป็นพระมหากษัตริย์ ทำไมต้องมีตัวตลก ทำไมต้องมีเทวดาเข้ามาช่วย สิ่งเหล่านี้คือนัยที่มันถูกทำงาน ในขณะที่ประเทศ ชนชั้น หรือในขณะที่สถานการณ์ของบ้านเมืองนั้น มันเอาผิดกันแบบเอาเป็นเอาตาย สิ่งเหล่านี้จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่แทน

แต่บางคนตั้งคำถามว่าการล้อเลียนอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง คุณจะตอบว่าอย่างไร

ผมจะตอบว่า ถ้าสิ่งนั้นมันไม่ได้เป็นผลดีแล้วมันเกิดความขัดแย้ง ก็ต้องมาถามกันอีกว่าผลดีกับใคร และผลเสียกับใคร คุณยืนอยู่ในฝั่งที่จะได้รับผลดีหรือผลเสีย คุณมีความจริงใจที่จะทำความเข้าใจกับหลักการและเหตุผลของมันขนาดไหน มันต้องกลับมาที่ตรงนี้

มองดูการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในเวลานี้ กับสิ่งที่คุณทำมาตลอดกับแวดวงนาฏศิลป์ไทย มีจุดร่วมคือการพยายามรื้อถอนชุดความคิดเดิมหรือเปล่า

(ยิ้ม) จิ๊กซอว์ต้องช่วยๆ กันต่อ หลายๆ อย่างมันต้องช่วยกันต่อ เดี๋ยวมันก็จะเป็นภาพเดียวกันได้

ในฐานะคนที่เคยผ่านการตั้งคำถามกับความคิดเดิมมา การเปลี่ยนแปลงความคิดหรือความเชื่อคนมันยากขนาดไหน

การเปลี่ยนความคิดของคนไม่ยาก แต่จะทำให้คนคนนั้นสละซึ่งอำนาจที่ตัวเองมีอยู่มันยาก ผมเชื่อว่าสิ่งที่เด็กพูดอยู่ทุกวันนี้ หรือสิ่งที่งานศิลปะมันพูดอยู่ เขารับรู้ แล้วเขาก็รู้ด้วยว่าเด็กพวกนี้พูดอะไรอยู่ แต่ถ้าเขาเปลี่ยน เขารู้ว่าอำนาจหรือสิ่งที่เขามีอยู่จะสูญเสียไป แล้วการสูญเสียไปซึ่งอำนาจ มันจะนำพาไปซึ่งความผิดที่ถูกกระทำเอาไว้ มันจะนำไปสู่การเปิดเผยเรื่องราวที่มันถูกเก็บเอาไว้ หรือถูกครอบงำเอาไว้ทั้งหมด

สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือ มันจะเกิดพื้นที่ที่ทำให้เขาอยู่ยาก มันจะเกิดความสว่างขึ้น มันจะเกิดความชัดเจนขึ้น แล้วเมื่อเขาสูญเสียอำนาจมันก็ยากแล้ว มันเป็นเรื่องของการสูญเสียอำนาจ เพียงแค่เราบอกว่า เฮ้ย คุณทำแบบนี้ไม่ถูกนะ เขาเข้าใจ มนุษย์ทุกคนเข้าใจหมด แต่เขารู้ว่าเขาจะสูญเสียอะไร ฉะนั้น เขาจึงทำเป็นว่าเขาไม่เข้าใจ

ทุกวันนี้คุณอยากเปลี่ยนความคิดคนที่อยู่ในแวดวงนาฏศิลป์ที่คอยโจมตีคุณอยู่ไหม

ผมล้มเลิกความคิดนี้มาตั้งแต่ประมาณปีที่ 5 ที่ผมทำงาน ผมรู้สึกว่า ไม่ต้องเปลี่ยนความคิดเขาดีกว่า มันเป็นเรื่องยาก เพราะความคิดเขาอยู่ภายใต้อำนาจที่เขาถืออยู่ ฉะนั้น เราสร้างอำนาจในการต่อรองกับสิ่งที่เขาเชื่อดีกว่า คืออำนาจของสังคม อำนาจของหลักการ อำนาจของเหตุผล อำนาจของคนรุ่นใหม่

แต่ใช้คำว่าอำนาจก็น่าเกลียดไปหน่อย ผมใช้คำว่าหลักการแล้วกัน การได้มาซึ่งอีกหลักการหนึ่ง มันจะนำพาไปสู่การที่เราสามารถที่จะทำให้เขาเห็นได้ว่า ทั้งหมดมันไม่ได้ถูกควบคุมด้วยเขาอีกแล้ว มันมีคนอื่นที่ทำได้ มีคนอื่นที่เป็นอิสระและพร้อมที่จะเติบโตไปมากกว่าสิ่งที่เขาเป็น แล้วก็ทำให้พื้นที่ของเขามันแคบลง ทำให้พื้นที่ที่เขาอยู่ ที่เขาพูด ที่เขาคิด มันแคบลงไปเรื่อยๆ

การจะได้มาซึ่งหลักการที่คุณว่า พื้นฐานคือการเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งเดิม คุณคิดว่าจะทำอย่างไรคนในสังคมจึงจะได้ทัศนคติในการตั้งคำถามขึ้นมา ไม่ว่ากับเรื่องสังคม หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม

ผมคิดว่าวันนี้ทุกคนตั้งคำถามแล้ว และตั้งคำถามหนักมากด้วย หลังจากปี 2000 เราเข้าสู่ระบบที่เราเรียกว่า globalization มีการเปลี่ยนแปลงในการสื่อสาร เทคโนโลยี มีการสร้างนวัตกรรม มีการเข้าถึงข้อมูล หลักการและเหตุผล มีความเป็นอิสระที่ไม่ต้องพึ่งรัฐในการที่จะมีชีวิตรอดได้ ในการที่จะประกอบอาชีพได้ ในการที่จะเป็นตัวของตัวเองได้ ผมคิดว่ากระบวนการเหล่านี้ทำให้คนเริ่มตั้งคำถาม

แต่ว่าคนในสังคมไม่ได้ตั้งคำถามแบบตรงๆ แต่ตั้งคำถามผ่านสิ่งอื่น เช่น ทำอย่างไรฉันถึงจะมีอาชีพของฉันเองได้ อ๋อ มันมีเครื่องมือสื่อสารแบบนี้อยู่ ฉันสามารถขายของออนไลน์ได้ คือมันถูกตั้งคำถามด้วยวิธีการแบบนี้มาก่อน ผ่านอาชีพ ผ่านการอยู่รอด พอผ่านมาได้ก็จะกลับมาตั้งคำถามกับสังคมหรือโครงสร้างในการเมืองการปกครองต่อไปว่า จริงๆ แล้วฉันยังต้องการเขาอยู่ไหม เราต้องการกรมส่งออกอีกไหม เราต้องการกระทรวงแรงงานอีกไหม ในขณะที่สมัยก่อนเราจะไปเมืองนอก เราต้องไปกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เขาส่งเราไป วันนี้มันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว ทุกคนสามารถที่จะประกอบอาชีพหรือมีชีวิตที่เป็นอิสระได้ ซึ่งคนเหล่านี้แหละจะตั้งคำถาม เพราะทุกอย่างถูกสร้างด้วยแขนและขาและสติปัญญาของเขาเอง

คุณคิดดูนะ นั่นคือปี 2000 ปีนี้ 2021 ผ่านมา 20 ปี เห็นหรือยังว่าการสุกงอมของมันเป็นอย่างไร เด็กที่กำลังทำงานหรือประท้วงกันอยู่ตอนนี้ อยู่ในวัยยี่สิบกว่า ซึ่งก็คือผลผลิตที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2000

ในแง่ของนาฏศิลป์หรือศิลปะไทยร่วมสมัย คุณคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ควรตั้งคำถามอะไรกับมันมากที่สุด

กับนาฏศิลป์เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนที่สอนหรือองค์กรที่ดูแลอยู่ ยังอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย หรือการที่จะออกมาเพื่อทำอะไรก็แล้วแต่ เขามีหลักการแบบครอบงำทั้งระบบที่มหัศจรรย์มาก หนึ่ง ใช้จิตวิญญาณในการตัดสิน เห็นไหมว่ามันมีพิธีกรรมของการไหว้ครู มันมีผี มีความเชื่อ เขาครอบงำคุณภายใต้การควบคุมจิตวิญญาณของคุณไว้แล้วลำดับที่หนึ่ง

สอง ครูที่เป็นบุคคลที่สอนก็เข้ามาจัดการ ฉันถ่ายทอดศิลปะชั้นสูงให้กับเธอ เธอต้องอนุรักษ์ เธอเป็นคนดี คนพวกนี้ฝังชิปของความเป็นคนดี ของความเป็นครูกับศิษย์ที่ต้องนับถือ ฉะนั้นในเชิงกายภาพ เราอยู่ใต้ภายใต้อำนาจนั้นอีก หลังจากนั้นเมื่อออกไปทำงานข้างนอกในระบบของสังคม เราจะเห็นว่าเครือข่ายทั้งหมดที่เขาวางเอาไว้ เป็นเครือข่ายที่มาจากองค์กรเดียวทั้งหมด

เพราะฉะนั้น มันยังคงเหมือนเดิมในทุกอย่าง แล้วเวลาที่คุณถูกตัดสินผ่านสังคมแบบสังคมนาฏศิลป์ คุณจะโดนอัปเปหิ เนรเทศออกไปจากกลุ่ม นั่นคือความที่มันยังคงอำนาจนี้เอาไว้ได้

แต่คุณก็สามารถยืนหยัดผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้ตลอด หากให้คุณแนะนำคนที่มีความคิดแบบคุณ แต่อาจยังไม่เข้มแข็งในความเชื่อมาก เขาควรมีทัศนคติอย่างไร ในการยืนหยัดความเชื่อ ไม่สยบยอมต่อสิ่งเดิม และตั้งคำถามสู่สิ่งใหม่

อันดับแรก เรื่องความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา บุญคุณ สิ่งเหล่านี้แยกออกไปก่อนจากงานและอาชีพที่เราทำ เรารัก เราเชื่อ เราศรัทธา เราเก็บเอาไว้เป็นเรื่องส่วนตัวของเรา ต่อให้เขาจะด่าว่าเราอัปรีย์ จัญไร เนรคุณ อะไรก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นเรื่องที่เขาด่า แต่เรายังคงมีศรัทธาและเชื่อในสิ่งนั้นอยู่ และเรายังคงนับถือเขาอยู่ปกติ ในฐานะที่เขาเป็นครูบาอาจารย์เรา อย่าไปรู้สึกสะเทือนหรือหวาดกลัวกับสิ่งที่เขาว่า แยกออกจากกันเสีย

สอง คุณต้องสร้างงานเพื่อเป็นสิ่งที่ปกป้องและพิสูจน์ความเป็นตัวคุณ ว่าคุณกำลังคิดหรือทำอะไรอยู่ ซึ่งจะใช้เวลานาน แต่อย่าสั่นคลอน ทำไปเรื่อยๆ

สาม สิ่งที่คุณสร้างและสิ่งที่คุณทำต้องถูกอธิบายอย่างเป็นหลักการและเป็นเหตุผล ในทุกๆ มิติของการสร้าง คุณต้องบอกเขาให้ได้ว่าคุณสร้างมันด้วยเหตุผลอะไร สร้างทำไม ส่งผลไปสู่อะไร และความหมายของสิ่งนั้นคืออะไร ทั้งในระบบสังคมเอง สังคมศิลปะเอง และในชุดของความเชื่อเอง คุณต้องอธิบายให้หมด

สี่ สิ่งที่คุณสร้าง สิ่งที่คุณทำ ต้องยืนหยัดและบอกให้เขาเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า มันจะส่งผลไปสู่คนและมนุษย์รุ่นต่อไปในอนาคตข้างหน้า มันเอื้อประโยชน์กับคนอื่น มันเอื้อประโยชน์กับมนุษยชาติที่จะเอาไปหยิบใช้ หรือเอาไปเพื่อประกอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งในอนาคตข้างหน้าให้ได้

ห้า งานที่ทำต้องสามารถที่จะเชื่อมโยงได้กับทุกๆ มิติของชุดองค์ความรู้อื่น

สิ่งที่ยากมากของสังคมไทยน่าจะเป็นการแยกเรื่องงานออกจากเรื่องบุญคุณ

ใช่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนที่กุมอำนาจอยู่จึงประสบความสำเร็จ 

ปรัชญาหรือความเชื่อของคุณในวัยนี้คืออะไร

ผมไม่มีปรัชญา ผมไม่มีความเชื่อ เพราะมันทำให้ผมตัน ถ้าคุณเชื่อ คุณก็เชื่ออย่างเดียว ถ้าคุณมีปรัชญา คุณก็มีปรัชญาอย่างเดียว แต่โลกไม่ได้มีอย่างเดียว และชีวิตไม่ได้ประกอบไปด้วยสิ่งเดียว

ในวัยห้าสิบ คุณคิดกับเรื่องอะไรมากที่สุด

วันนี้ผมสนใจเรื่องพื้นที่ว่างมากที่สุด ผมรู้สึกว่าทุกอย่างมันเยอะมาก และความเยอะมันทำให้เราไม่ได้ใช้สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ของเราที่มีอยู่ ไม่ได้ใช้ศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ ผมเลยมองหาว่าทำอย่างไรเราจะเจอพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ว่าง พื้นที่ว่างอาจจะเป็นความหมายของพื้นที่ใหม่หรือสิ่งใหม่ที่เรากำลังทำอยู่ก็ได้ ความจริงก็เป็นการตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า เรานามธรรมเกินไปไหม อย่างที่ผมเล่าไปตอนต้นว่า ทุกสามสี่ปีเราจะมีเป้าหมายใหม่ แต่วันนี้ผมอยากไปหาที่ว่าง อยากหาว่ามันหมายความว่าอย่างไร ตัวผมเองก็ถามคำถามนี้ง่ายๆ กับตัวเองอยู่เหมือนกันว่า พื้นที่ว่างที่ผมพยายามจะอธิบายและผมก็ไม่เข้าใจมัน คืออะไรกันแน่

ถ้าวันหนึ่งมีเด็กรุ่นใหม่บอกว่า งานของพิเชษฐ กลั่นชื่น เชยมาก เขาต้องการจะรื้อทำลายเพื่อสร้างสิ่งใหม่ คุณจะรู้สึกอย่างไร

นี่คือสิ่งที่ผมเฝ้ารอเลย ผมอยากให้คนด่า อยากให้คนบอกว่าทุเรศ ทำงานแบบนี้ได้อย่างไร โคตรเชย โบราณ ไม่เห็นเข้าท่าตรงไหนเลย เดี๋ยวจะทำให้ดู เจ๋งกว่านี้ ผมไม่ได้พูดเล่น และไม่ได้พูดตลกด้วยนะ นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่ผมเฝ้ารอในชีวิต รอให้คนมารื้อ ให้คนมาทำลายสิ่งที่ผมคิด เพราะผมรู้ว่าเขาจะทำสิ่งที่ดีกว่าที่ผมทำ และรู้ว่าเราจะมีคน มีประชาชน มีเยาวชนที่มีคุณภาพกว่าผม

Fact Box

พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2552 เป็นศิลปินนักเต้น และออกแบบท่าเต้นที่มีพื้นฐานจากนาฏศิลป์ไทย นำมาดัดแปลงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น งานหลายชิ้นของเขามักได้รับการชื่นชมควบคู่กับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ

Tags: , , ,