“ความสัมพันธ์ของเรากับวัดนี้คือ เห็นเพื่อนไปบวชตอนมัธยมแล้วรู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก เพราะวัดพระธรรมกายดูแปลก เหมือน 21st Century Boy เลย บวกกับตอนทำธีสิสเจอข่าวพระนั่งสมาธิเพื่อขัดขวางตำรวจที่จะเข้าไปตรวจสอบวัดพระธรรมกาย ก็เลยตัดสินใจทำสารคดีเรื่องนี้”

จุดเริ่มต้นของการผูก ‘วัดพระธรรมกาย’ เข้ากับ ‘สารคดี’ ผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง อหิปัสสิโก (Come And See) ของ ‘ไก่’ – ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เคยสร้างชื่อผ่านสารคดีเรื่องดังมาแล้วอย่าง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว (2018) ที่ครั้งนี้เขาใช้ ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ ถึงวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และมุมมองต่อคำว่าศาสนาของวัดพระธรรมกายเป็นสารตั้งต้น ก่อนจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น ความสัมพันธ์ของศาสนากับรัฐและวัฒนธรรมของประเทศไทย

“สิ่งได้กลับมาคือบทบาทของพระพุทธศาสนากับสังคมไทย การรับมือของศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกับรัฐไทยหรือรัฐอื่นๆ เราไม่ได้สนใจเรื่องคดีเท่าไหร่นัก มันพ้นคำว่า พระธัมมชโยหายไปไหน หรือใครเป็นคนโกงไปแล้ว”

นอกจากเรื่องราวของ เอหิปัสสิโก ไม่ว่าจะเป็นตัวเนื้อหาที่ท้าทายศีลธรรม รวมทั้งเหตุการณ์ ‘เกือบจะโดนแบน’ อันเป็นข่าวดังเมื่อเดือนที่ผ่านมา The Momentum ยังได้ชวนณฐพลมาพูดคุยถึงนิยามคำว่าสารคดี ทั้งในแง่ของการจำกัดความ เส้นแบ่งของหนัง สารคดีกับข่าว ตลอดจนปัญหาที่คนทำหนังสารคดีไทยต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 

อย่างน้อยเพื่อให้คนไทยได้เข้าใจกันเสียทีว่า สารคดีไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่คิด

ศาสตร์ในการทำหนังมีหลากหลายรูปแบบทั้งหนังฟิกชัน โฆษณา มิวสิกวิดีโอ ทำไมคุณถึงสนใจในสารคดี 

จริงๆ เราเองก็เป็นคนที่เรียนจบสาขาภาพยนตร์แล้วทำงานเหมือนคนเรียนด้านนี้ทั่วไป จบมาก็กำกับมิวสิกวิดีโอ กำกับหนังสั้น เขียนบทหนัง อยู่ในวงการบันเทิงเป็นปกติเลย แต่อีกขาหนึ่งเราก็ทำงานกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เขาทำงานกับองค์กรเอ็นจีโอบ่อยๆ ซึ่งงานที่เป็นจุดเปลี่ยนคือช่วงน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2554 ที่เรากับพี่ๆ ได้ทำแอนิเมชันชื่อ รู้สู้ flood

ตอนแรกก็คาดหวังแค่ให้คนรู้จักได้ดู ไม่อยากให้เขาตื่นตระหนกไปกับข้อมูลที่มีอยู่เต็มไปหมดในโซเชียลมีเดีย แต่พอได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง มีคนแชร์ออกไปเยอะขึ้นจนเกิดเป็นกระแสมากกว่าที่คาดหวังไว้ ก็เลยกลายเป็น ‘อิมแพ็กต์’ ที่เรามองเห็นว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ใช้เปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้นได้

เราเริ่มเข้าใจว่าศิลปะประเภทหนังไม่จำเป็นต้องทำเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว หลังจากนั้นเลยสนใจทำงานที่สื่อสารกับสังคมมากขึ้น ค่อยๆ สะสมความชื่นชอบมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งเราเริ่มสังเกตจากเฟซบุ๊กตัวเองว่าเราชอบเขียนถึงหนังประเภทสารคดีมากกว่าหนังประเภทฟิกชันไปแล้ว เลยเกิดความรู้สึกประมาณว่า หรือว่าต้องไปเรียนต่อวะ? ขึ้นมาในใจ เพราะเราอยากรู้วิธีการทำงานที่ถูกต้อง กลไกข้างหลังงานประเภทนี้เป็นอย่างไร เลยตัดสินใจไปเรียนต่อ School of Visual Arts ที่สหรัฐอเมริกา

ฟังดูเหมือนกับคุณค้นพบว่าจริงๆ แล้ว สารคดีก็เป็นเพียงสื่อที่คุณใช้สำหรับถ่ายทอดอะไรบางอย่างในใจออกมา

เรามองว่าสารคดีก็เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ต่างไปจากหนังที่สร้างเพื่อจรรโลงใจเลย 

ตอนนั้นยังทำงานอย่างอื่นอยู่ ยังกำกับมิวสิกวิดีโอ ยังกำกับโฆษณา ยังเขียนบทความ เราก็รู้ว่าควรจะเลือกเครื่องมือแบบไหนเพื่อถ่ายทอดประเด็นหรือโจทย์ที่ได้รับออกมา ดังนั้นทุกอย่างมีพื้นที่และความเหมาะสมของมัน ไม่ใช่จะทำอะไรก็เลือกใช้แต่สารคดี แล้วมองว่าสื่อแบบนี้เท่านั้นที่จะเป็น Silver Bullet เปลี่ยนแปลงสังคมได้ทันที ทั้งที่บางทีการทำหนังฟิกชันอาจจะเหมาะสมมากกว่าด้วยซ้ำ คุณไม่เห็นหรือว่างานฟิกชันบางเรื่องก็ตั้งคำถามต่อสังคมได้ดีไม่แพ้สารคดีเลยด้วยซ้ำ

อย่างสารคดี รู้สู้ flood พอเราเอาชุดข้อมูลหนึ่งมาเล่าเป็นแอนิเมชัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนเอาไปต่อยอดจนเกิดการถกเถียงขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง เรารู้สึกว่าสารคดีมีน้ำหนักอีกแบบหนึ่งที่สร้างอิมแพ็กต์ขึ้นมา ทั้งที่เราไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ ไม่ได้คิดทฤษฎีเปลี่ยนโลกอะไรขึ้นมาเลย เราแค่ใส่ข้อมูล เรียบเรียง แล้วก็ใส่อารมณ์ให้มันเท่านั้นเอง 

มีสารคดีเรื่องไหนบ้างที่ทำให้คุณอยากเป็นผู้กำกับสารคดี

ถ้าให้นึกเร็วๆ เรื่องที่ทิ้งคำถามให้เราคิดต่อจริงๆ จังๆ คือ If a Tree Falls: A Story of the Earth Liberation Front (2011) เป็นเรื่องราวของกลุ่มก่อการร้ายที่รณรงค์เรื่องโลกร้อนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแปลกตรงที่คนพวกนี้เป็นอนุรักษ์ธรรมชาติแบบหัวรุนแรง คือในขณะที่กลุ่มอื่นของประท้วงหรือออกแคมเปญกัน กลุ่มนี้ไประเบิดรีสอร์ตที่สร้างทับผืนป่าเลย เรามองว่าเป็นการการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คนที่เขาไม่ได้ประนีประนอมกับเรื่องธรรมชาติก็มีเหมือนกัน ยื่นจดหมาย รณรงค์ มันเอาไม่อยู่ กูเผาแม่งเลย เพราะตอนนี้โลกต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เลยทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่คนกลุ่มนี้พูดหรือทำว่าถูกต้องไหม มันสร้างคำถามในใจแล้วทำให้เราค้นพบว่าปัญหาต่างๆ ไม่ได้มีคำตอบเดียว มันมีวิธีที่หลากหลาย อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเชื่อแบบไหน

นอกจากนี้ก็มีสารคดีเรื่องอื่นๆ ที่เปิดโลกของเราในแง่ต่างๆ ถ้าในภาคของผู้กำกับสารคดี เราว่าเรื่อง Act of killing (2012) ที่คนอเมริกันเข้าไปขอให้นักฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อินโดนีเซียทำหนังเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เขาเคยทำก็น่าสนใจ หลังดูจบเราตื่นเต้นมาก สารคดีทำแบบนี้ได้เหรอ คือมันไม่จำเป็นต้องค่อยๆ แอบถ่าย เป็นมนุษย์ล่องหน แต่นี่เดินเข้าไปในกล้อง เอาตัวเองไปอยู่ในเนื้อหาที่กำลังถ่ายทอดเลย น่าสนใจดีไม่ต่างกับที่ ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) ชอบเอากล้องไปทิ่มหน้าคนสัมภาษณ์เลย

ใน Hooligan Sparrow (2016) ก็เป็นอีกเรื่องที่อยู่ในใจ เพราะตอนไปเรียนที่นิวยอร์กซึ่งต้องทำธีสิสเพื่อเรียนจบ นันฟู หวาง (Nanfu Wang) ผู้กำกับเรื่องนี้เขาก็ต้องทำธีสิสจบเหมือนกัน ซึ่งเขาเลือกทำสารคดีเกี่ยวกับเอ็นจีโอในจีนที่ออกมารณรงค์คดีเด็กประถมถูกข่มขืน ทั้งที่ตอนนั้นการเคลื่อนไหวในจีนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและทำได้ยากมาก ระหว่างที่ถ่ายทำสารคดีนี้ทั้งตัวคนประท้วงและตัวผู้กำกับเองก็โดนคุกคาม ถูกตำรวจไล่ล่า รัฐบาลคอยจับตาอยู่ตลอด สารคดีเรื่องนี้เลยกลายเป็นเรื่องของการรณรงค์และการถ่ายสารคดีของนันฟู หวาง ไปในตัว ตอนดูจบเรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่งานธีสิสนะ คุณถึงกับยอมละทิ้งโอกาสที่จะได้อยู่ในประเทศบ้านเกิดเลยหรือ แสดงว่างานที่ออกมา ตัวเขาต้องเชื่อมั่นว่าทรงพลังและยิ่งใหญ่มากๆ 

คุณมองว่าตัวเองมีสไตล์การกำกับสารคดีไหม

หนังเรื่องหนึ่งมันก็ไม่ได้มีวิธีการเดียว แล้วแต่ว่าสถานการณ์คืออะไร สิ่งที่เราอยากที่จะถ่ายทอดคืออะไร แล้ววิธีการไหนเหมาะสม เอาเข้าจริงเบื้องหลังหนังสารคดีส่วนใหญ่หลายๆ เรื่อง สิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจจะทำตั้งแต่แรกกับปลายทางมักไม่เหมือนกัน 

อย่างเช่น Act of killing (2012) ต้นกำเนิดจาก โจชัว โอเฟนเมอร์ (Joshua Oppenheimer) ไปทำสารคดีเกี่ยวกับชนชั้นแรงงานในโรงงานปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย แล้วเกิดไปรับรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เข้า ก็เลยขอสัมภาษณ์ญาติของเหยื่อที่โดนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปรากฏว่าหลังจากนั้นสารคดีโดนแทรกแซง ถูกคุกคาม มีคำสั่งว่าห้ามถ่าย จนตัวโจชัวถอดใจจะกลับบ้านอยู่แล้ว แต่ทีมงานบอกว่าลองสู้กันอีกสักตั้งไหม ลองไปสัมภาษณ์ฝั่งคนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดู สุดท้ายเลยกลายเป็นสารคดีที่เราได้ดูกัน 

เห็นไหมจากทุนนิยมสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มันคนละเรื่องเลย

ดังนั้นวิธีการเล่าในแต่ละเรื่องจะขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหาที่เล่าจะเป็นอย่างไร

ไม่เสมอไป บางคนที่เขามองว่าวิธีนี้เท่านั้นที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ก็มีไมเคิล มัวร์ เลือกที่จะทำสารคดีที่ต้องมีกูอยู่ในเรื่อง กูเป็นคนเล่า กูเป็นคนพาไปดูตลอด คนแบบนี้ก็มี แต่คนที่ไม่มีสไตล์เลยก็มีเช่นกัน

การทำสารคดีส่วนใหญ่ดูไม่ได้เรียกร้องความสวยงามในเชิงศิลป์เท่าไหร่นัก แต่มักสนใจการนำเสนอประเด็นเสียมากกว่า คำถามก็คือระหว่างหนังที่มีความเป็นศิลปะมากๆ กับข่าวที่เน้นนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา คุณมองว่าสารคดีใกล้เคียงกับสิ่งไหนมากกว่า 

ต้องเข้าใจก่อนว่าพื้นที่ของสารคดีค่อนข้างคลุมเครือ แม้กระทั่งคนทำงานในแวดวงนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ตลอด ภาพเคลื่อนไหวที่ได้รับการแปะป้ายว่าเป็นสารคดีเรื่องแรกคือ Nanook of the North (1922) ที่ถ่ายทอดชีวิตชาวเอสกิโมในกรีนแลนด์ที่ชื่อว่านานูก ซึ่งตอนนั้นประสบความสำเร็จมาก มีคนชื่นชมว่าสารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตอีกแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชาวเอสกิโมล่าสัตว์ด้วยธนู ปาหอก พายเรือคายัก แต่สุดท้ายมีการเปิดเผยว่าสารคดีเรื่องนี้ถูกจัด​ฉากขึ้นมา ซึ่งในปี 1920-1922 เอสกิโมไม่ใช่แบบนี้แล้ว พวกเขาใช้ปืนล่าสัตว์ สวมแจ็กเก็ต แต่งตัวสไตล์โมเดิร์น แต่ตัวผู้กำกับเขาอยากจะรื้อฟื้นวิถีชีวิตแบบเก่าขึ้นมา เลยจัดฉากถ่ายทำภาพยนตร์นี้ขึ้น จึงกลายเป็นคำถาม ว่า Nanook of the North ถือเป็นสารคดีหรือไม่ 

 

Nanook of the North (1922)

Nanook of the North (1922)

เรื่องนี้คุยกันได้ไม่จบสิ้นเลยว่าเส้นแบ่งของสารคดีต้องสมจริงขนาดไหน ซึ่งคนที่ทำสารคดีนี้เองก็จะมีเส้นแบ่งอยู่ตลอดเวลา เช่น Casting JonBenet (2017) พยายามจะนำเสนอเรื่องราวคดีฆาตกรรมนางงามเด็กเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนตอนนี้คดีก็ยังปิดไม่ลง ซึ่งผู้ต้องสงสัยก็มีทั้งพี่ชาย พ่อ แม่ มีลุงซานตาคลอสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผู้กำกับเลยรวบรวมคนในเมืองนั้นทุกคนมาแสดงเป็นผู้ต้องสงสัยในคดี เช่น พาชายวัยกลางคนในเมืองมาเล่นเป็นพ่อ แล้วถามความเห็นเกี่ยวกับคดีนั้น ก่อนจะร้อยออกมาเป็นเรื่องราวซึ่งมีทุกบทบาทที่เป็นผู้ต้องสงสัยเลย แบบนี้เราจะจำกัดความว่าเป็นสารคดีได้ไหม

หรือเอาให้สุดโต่งเลยคือ All These Sleepless Nights (2016) ที่ผู้กำกับออกตัวว่านี่คือหนัง แต่วิธีการของเขาคือเข้าไปสัมภาษณ์เด็กหนุ่มว่าชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง ทำอะไรอยู่ แล้วจากนั้นผู้กำกับก็เอาเรื่องราวไปเขียนบทต่อ แล้วก็เซตเป็นฉากให้คนที่ถูกสัมภาษณ์มาเล่น เลยถูกตั้งคำถามว่านี่เป็นชีวิตปกติของเขา หรือเป็นเรื่องราวที่ผู้กำกับสร้างขึ้น

ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องข่าวเลยนะว่าอันไหนคือข่าว อันไหนคือสารคดี ประเด็นนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ถ้าจะให้มาขีดเส้นก็ยังมีความกำกวมอยู่ดี ในอเมริกามีจะมีปัญหาตรงที่คนทำสารคดีชอบใช้ประโยชน์จากการเป็นนักข่าวเข้าไปถ่ายทำ พอวิธีคือการเข้าหาอะไรบางอย่างที่มีอยู่ก่อน เขาจะใช้ความเป็นนักข่าวมาเป็นใบเบิกทางโดยที่ไม่ค่อยได้ตั้งคำถามเลยว่า ความแตกต่างของสารคดีและข่าวอยู่ตรงไหน

ดังนั้นอย่าไปแบ่งเส้นจำกัดความมันจะดีกว่า

จริงๆ ก็ควรแบ่งได้ เพราะโลกเรายังต้องการ ‘การแปะป้าย’ ให้กับสิ่งของอยู่ เพื่อมีไว้ให้สื่อสารเข้าใจกัน เช่น แก้วน้ำ ตัวเราเองอาจจะเรียกว่ากรวยใสมีรูตรงกลางก็ได้ แต่การมีอยู่ของคำว่าแก้วก็เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเวลาพูดคำว่า ‘แก้ว’ หมายถึงสิ่งไหน หรือเวลาเห็นรูปทรงนี้จะได้เข้าใจว่าเป็นแก้ว

แต่สารคดีซับซ้อนกว่านั้นตรงที่มันไม่มีรูปทรงที่ชัดเจนคอยให้จำกัดความว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน จึงมีคำว่าสารคดีแปะป้ายเอาไว้แบบหลวมๆ ว่าหมายถึงการทำสื่อศิลปะประเภทนี้

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ สารคดีมักวนเวียนอยู่กับเนื้อหาบางอย่างที่เฉพาะกลุ่มค่อนข้างสูง แล้วทำไมสารคดีส่วนใหญ่ถึงมักคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง เป้าหมายของการทำสารคดีคืออะไร

เรามองว่าจุดประสงค์ก็แล้วแต่คนว่าจะคาดหวังอย่างไรกับงานที่ตัวเองทำมากกว่า แต่เอาเข้าจริงก็ปกตินะ ทำเพลงก็อยากให้คนฟัง ทำหนังก็อยากให้คนดู 

แต่ไม่ได้บอกว่าทุกคนจะมีแนวคิดแบบนี้ไปเสียหมด สารคดีเป็นลูกเมียน้อย ทำแล้วรวยยาก จะคืนทุนได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย ดังนั้นใครสักคนจะทำสารคดีจริงๆ เขาต้องสนใจกับมันมากๆ เพราะสุดท้ายเราก็ไม่สามารถไปคาดหวังได้ว่าคนดูจะตอบรับอะไร สำหรับสารคดี สารตั้งต้นควรจะตอบสนองอะไรบางอย่างกับคนทำก่อน 

แต่ถ้ามันจะมีจุดประสงค์แอบแฝงบางอย่างก็มีได้ อย่างใน เอหิปัสสิโก (Come And Seeตอนแรกเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะฉายวงกว้าง เพราะเป็นวิทยานิพนธ์ เรารู้ข้อจำกัดของศาสนา การถกเถียงในสังคมไทยมันอ่อนไหว มันมีความเสี่ยงจะพูดถึงสิ่งนี้ในรูปแบบหนัง 

แล้วทำไมถึงเปลี่ยนใจนำออกมาฉายให้คนทั่วไปได้ดู

ตอนแรกเราเอาสารคดีเรื่องนี้ฉายในวงปิด ในคลาส ในอีเวนต์ต่างๆ มาแล้ว แต่พอเราจะจัดฉายในโรงเพื่อให้คนที่ช่วยเหลือและคอยสนับสนุนเรามาดูด้วยกันแบบเหมาโรง ก็เลยติดต่อพี่จ๋อง (พงศ์นรินทร์ อุลิศ) เพื่อขอฉายที่ House Samyan ซึ่งเขาก็ชอบมากถึงขั้นเสนอว่าจะเอามาฉายที่โรงเลยไหม แต่ถ้าจะขึ้นจอโรงภาพยนตร์ให้เราส่งสารคดีไปเซนเซอร์ก่อน มันก็เลยเป็นเรื่องขึ้นมา

พอถึงจุดที่คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ตัดสินใจฉายในที่สาธารณะ กลายเป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่ง ความท้าทายในแบบที่คนในวงกว้างเขาจะคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่เราอยากนำเสนอ คือมันค่อยๆ พัฒนาไปเป็นลำดับ ไม่ได้เริ่มจากการทำขึ้นมาเพราะอยากสำรวจความคิดเกี่ยวกับศาสนาและวัดพระธรรมกายของคนในหมู่กว้าง

แต่พอความคาดหวังยิ่งใหญ่กว่าที่คุณเคยตั้งเป้า มีความกังวลบ้างไหม 

ถ้าฝั่งวัดพระธรรมกาย เราไม่กลัวเลย เพราะลองให้คนในวัดดูแล้ว พวกเขาก็ชอบกัน จริงๆ หนังเราไม่มีประเด็นล่อแหลมอะไรเลย ทุกคนจินตนาการไปเยอะมากว่าหนังมันจะต้องเปิดโปง ขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลัง ทั้งที่ทุกคนยังไม่รู้เลยว่าหนังเกี่ยวกับอะไร มันเลยน่าสนใจมาก เราเลยตัดสินใจไม่ทำตัวอย่างหนัง ก่อนที่จะตัดสินใจทำตัวอย่างในเวลาต่อมา เพราะเราอยากให้คนสงสัยว่าหนังเกี่ยวกับอะไร

ส่วนถ้าเรื่องอื่นๆ นอกจากฝั่งวัดก็ไม่ใช่คำว่ากลัวอยู่ดี แต่คือคำว่าอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมากกว่า มันเหมือนการทดลอง อยากรู้ว่าคนจะมีความเห็นอย่างไร เพราะพูดตามตรง หนังเรื่องนี้มันซ้อมมาเยอะมาก จนวันจริงไม่เหลือความตื่นเต้นแล้ว มันซ้อมกับวงเล็ก วงใหญ่ วงนักศึกษา วงของคนเกลียดวัดพระธรรมกาย วงของคนรักวัดพระธรรมกาย ดังนั้นจึงไม่ใช่ความกลัว แต่เป็นการตั้งตารอความเห็นต่อหนังเรื่องนี้ เพราะหนังเรื่องนี้พร้อมรับทุกธงในใจของคนดู คนที่ชอบวัดพระธรรมกายดูแล้วก็จะรู้สึกอย่างหนึ่ง คนเกลียดวัดพระธรรมกายดูแล้วก็จะคิดอย่างหนึ่ง คนที่ทั้งไม่เกลียดและไม่ชอบดูก็อาจจะมองวัดพระธรรมกายอีกอย่างหนึ่ง เพราะหนังไม่ได้เป็นจบแบบปลายปิด ดูแล้วต้องรู้สึกเหมือนกันหมด เราไม่ได้ทำหนังที่ชี้ให้คนไปในทางเดียวกัน เอหิปัสสิโก เหมือนกับโยนอะไรบางอย่างลงไปกลางวงแล้วให้คุยกัน แล้วแต่มึงเลยว่าคิดเห็นอย่างไร ซึ่งในรอบซ้อมที่เราฉายกับวงเล็กๆ มา ก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง 

ในวงฉายหนังรอบเล็กๆ มีคนที่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้บ้างไหม

ชอบหรือไม่ชอบ สุดท้ายเราสนใจการพูดกันบนตัวเนื้อหาของหนังมากกว่า ส่วนความเห็นประมาณว่าตรงนี้ยาวไป ตรงนี้สั้นเกิน อยากให้เพิ่มเรื่องนี้ ลดเรื่องนั้นลงหน่อย เรารับได้ เพราะสุดท้ายเราสนใจความเห็นที่เขามองว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร กระทบกับตัวเขาอย่างไร คิดเห็นกับการนำเสนอแบบนี้อย่างไร ซึ่งเรามองว่าไม่มีถูกผิดเลย

ในฐานะผู้กำกับ คุณได้อะไรจากการไปถ่ายทำภายในวัดพระธรรมกายช่วงนั้นบ้าง

ต้องเข้าใจก่อนว่าเราไม่ได้เข้าไปขุดคุ้ยอะไรวัดพระธรรมกายนะ เข้าไปถ่ายตามปกติเลย 

ช่วงแรกของการถ่ายทำเราเริ่มต้นด้วยมุมมองคนนอกมากๆ ความสัมพันธ์ของเรากับวัดนี้คือเห็นเพื่อนไปบวชตอนมัธยม แล้วเรารู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก เพราะวัดพระธรรมกายดูแปลก เหมือน 21st Century Boy เลย บวกกับตอนทำธีสิสแล้วเจอข่าวพระนั่งสมาธิเพื่อขัดขวางตำรวจที่จะเข้าไปตรวจสอบวัดพระธรรมกาย ก็เลยตัดสินใจทำสารคดีเรื่องนี้

 

Reuters/Athit Perawongmetha

หลังจากนั้นก็เข้าไปด้วยความอยากเข้าใจว่าคนที่เขาศรัทธาวัดธรรมกายมากๆ เขาคิดอย่างไร อะไรที่ทำให้วัดพระธรรมกายกลายเป็นแบบนี้ เหมือนสนามบอลที่เราเข้าไปในฐานะผู้เล่นทีม A มาสำรวจผู้เล่นทีม B ว่าคุณเตะอย่างไร มีเทคนิคอย่างไร วิธีล็อกหลบคู่ต่อสู้เป็นอย่างไร เราอยากเข้าใจพวกเขา แต่พอทำไปเรื่อยๆ เรากลับเริ่มถอยห่างลงมานั่งบนอัฒจรรย์แทน แล้วก็ตั้งคำถามว่ากีฬานี้คืออะไร ทำไมถึงต้องมาเตะกัน กลายเป็นว่าตอนนี้เราไม่ได้มองผ่านระนาบความขัดแย้งแบบทีม A ปะทะทีม B แล้ว แต่มันคือมุมมองผู้ชมว่าทำไมสนามถึงเป็นสี่เหลี่ยม ทำไมลูกฟุตบอลต้องเป็นทรงกลม ทำไมต้องมีสองประตู ทำไมต้องมีกรรมการ กรรมการทำหน้าที่อย่างไร ทำไมกฎของมันถึงเป็นอย่างนี้ 

เหมือนกับว่าพอเราทำไปเรื่อยๆ ก็ได้เจอคำถามที่ใหม่กว่าเดิม เจอคำถามที่ต้องย้อนกลับไปถามตัวเองตอนนั้นว่าทำไมตั้งคำถามแบบนี้ อะไรที่ทำให้คิดแบบนี้และทำแบบนี้ มันจึงพ้นไปกว่าแค่วัดนี้ถูกหรือผิด วัดนี้โกงหรือไม่โกง 

มันชวนตั้งคำถามไปไกลกว่าเพียงแค่จะเลือกอยู่ข้างไหนในปัญหาที่เกิดขึ้น

ใช่ มันคือบทบาทของพระพุทธศาสนากับสังคมไทย มันคือความสัมพันธ์ของศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกับรัฐไทยหรือรัฐอื่นในโลก มันเลยคำว่าพระธัมมชโยหายไปไหนหรือใครเป็นคนโกงกันไปแล้ว เราไม่ได้สนใจเรื่องคดีเท่าไหร่นัก

Reuters/Athit Perawongmetha

ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่คุณเข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องการเซนเซอร์ให้ฟังหน่อย

ก็เป็นตามขั้นตอนของการพิจารณาภาพยนตร์ทั่วไป คือเราเข้าไปยื่นเอกสารแล้วก็นัดวันว่าสะดวกวันไหนที่จะให้กรรมการพิจารณาหนังของเรา จนกระทั่งถึงวันนัด เขาก็โทรมาแจ้งว่า คณะกรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์ดูแล้วเขากังวลว่าการที่หนังเรื่องนี้พูดถึงคดีที่ยังไม่จบแบบนี้ เขาไม่อยากให้รื้อฟื้นคดีความขึ้นมา เพราะจะเกิดความแตกต่างทางความคิด แล้วก็ถามว่า ถ้าไม่ฉายได้ไหม จะเสียหายไหม ก็ถามลองเชิงเราดู 

เสียหายสิครับ ทำหนังก็อยากให้คนดู มันเป็นคำถามที่ไม่ควรถามคนทำหนังไหม (หัวเราะ) เขาก็เลยบอกเดี๋ยวจะไปแจ้งให้กรรมการให้ทราบ ก่อนจะโทรมาบอกอีกรอบตอน 6 โมงเย็นว่าจะยังไม่ลงมติวันนี้ แต่เดี๋ยวจะแจ้งกลับภายใน 15 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะปกติไม่ว่าจะล่าช้าอย่างไรเขาต้องประกาศผลวันนั้นเลยว่าการจัดเรตอยู่ประเภทไหน ฉายได้หรือไม่ เราก็เลยไปคุยกับรุ่นพี่ในสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เขาก็ตื่นเต้น หลังจากนั้นพอทางคณะกรรมการให้เข้ามาชี้แจง ทางสมาคมเขาเลยออกข่าวให้ประชาชนรอจับตาดู เลยเกิดเป็นปรากฏการณ์บนโลกอินเทอร์เน็ต 

พอถึงวันนัด มีนักข่าวเต็มไปหมดเลย คณะกรรมการก็ออกมาทีละคน ไม่ตอบนักข่าวสักคำถาม ในใจเราก็คิดแล้วว่า กูโดนแน่ๆ (หัวเราะ) แล้วเขาใช้เวลาคุยกันเองนานมาก เป็นชั่วโมงเลย จนสุดท้ายคณะกรรมการกลับไปหมดแล้ว เขาเรียกเราเข้าไปฟังเพื่อแจ้งว่า เอหิปัสสิโก ได้เรต ท ทั่วไป  

จากที่คิดว่าจะโดนแบน

ใช่ งงมาก แล้วเราก็ไม่ได้ไปชี้แจงอะไรด้วย เขาตัดสินกันเองเรียบร้อย เขาบอกว่าที่ต้องพิจารณา 2 รอบ เพราะต้องเชิญคนจากกรมศาสนามาพิจารณา 

คิดว่าแรงกดดันของสังคมมีผลต่อการพิจารณาครั้งนี้ไหม

เราตอบไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในห้องประชุม เกิดอะไรขึ้นในหัวของคณะกรรมการแต่ละคน แต่ถ้าบอกว่าเกี่ยวข้องแล้วจะมีประโยชน์ต่อทุกคนก็จงบอกไปเถอะว่าเกี่ยวข้องกัน (หัวเราะ) เพราะเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าจริงหรือเปล่า 

ภายใต้สังคม ณ ตอนนี้ เวลานี้ มีการปิดกั้นการแสดงออกมากด้วยการใช้กฎหมายมาควบคุม หนังที่พูดประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องวัดพระธรรมกายกับศาสนาพุทธในไทยก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะถูกแบน เพราะในยุคสมัยที่คนพูดตรงไปตรงมาแบบนี้ในหลายๆ ประเด็นก็ยังโดนคดีความ 

ถ้าโดนแบนคุณรับได้ไหม

รับได้ ยังคุยกับทีมงานอยู่เลยว่าโดนแบนก็ดีเหมือนกัน เพราะมันจะใช้เป็นจุดในการเรียกร้องหรือผลักดันอะไรหลายๆ อย่าง แต่ไม่โดนแบนก็ดีกับเราในฐานะคนทำหนัง

“เอาเข้าจริงการที่ต้องมานั่งลุ้นว่าหนังจะถูกแบนหรือไม่ มันไม่ควรเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก แล้วมันก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีด้วยว่าหนังผ่านเซนเซอร์และไม่โดนแบน สารคดีไม่ควรอยู่ในสภาพที่หนังทุกเรื่องต้องส่งเซนเซอร์เพื่อลุ้นว่าจะโดนตัดอะไรออกไปบ้างหรือจะโดนแบนหรือไม่ มันไม่ควรเป็นแบบนั้น มันเป็นหน้าที่และสิทธิของคนดูที่ควรมีสิทธิพิจารณาสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการถกเถียงและต่อยอดด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลางมาบอกว่า อันนี้ถูก อันนี้ผิด อันนี้ห้าม”

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น สะท้อนปัญหาอะไรในวงการสารคดีในเมืองไทยบ้าง

ถ้าหนังโดนแบนจะตอบได้ชัดเจนว่านี่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพ ทำหนังมาเป็นปีไม่ได้ฉาย เราต้องยกเพดานการเซนเซอร์ในประเทศไทย แต่สุดท้ายหนังกลับได้ฉาย (หัวเราะ) 

เราเลยมองว่าการได้ฉาย ในแง่ดีคือกรรมการเซนเซอร์ช่วงเวลานี้ ภายใต้สังคมแบบนี้ เขาก็ยังอนุญาตให้เราพูดสิ่งเหล่านี้ได้ อย่างน้อยที่สุดเรายินดีที่หนังเรื่องนี้จะเป็นหมุดหมายหนึ่ง เป็นกรณีศึกษาหนึ่งในเส้นทางประวัติศาสตร์การทำสารคดี ว่าในครั้งหนึ่งเคยมีคนทำหนังเรื่องนี้แล้วเกือบไม่ได้ฉายนะ ไม่ว่าหนังจะดีจะแย่อย่างไรก็ตาม มันเคยมีหนังเรื่องนี้ที่พูดเรื่องวัดพระธรรมกายแล้วเกือบโดนแบน

ถ้ามองว่าเป็นปัญหาอะไรไหม มันคงไม่ใช่ปัญหาหรอก มันคงเป็นแค่ ‘เหตุการณ์หนึ่ง’ ในวงการสารคดีไทยมากว่า 

แต่ถ้าถามว่าปัญหาของสารคดีไทยตอนนี้คืออะไร มันพูดยาก เราคงไม่พูดว่าคนดูสารคดีน้อยหรอก เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว สารคดีไม่ใช่กระแสหลักอยู่แล้ว คนไม่ได้เปิดสารคดีดูเล่นๆ เพื่อความบันเทิง เหมือนละคร เหมือนหนัง มันเทียบเคียงกันไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าข้อจำกัดข้อสารคดีอะไรในบ้านเราที่ท้าทายบ้าง เรามองว่าคือภาพจำของคำว่าสารคดีนี่แหละ ภาพจำที่พอพูดว่าสารคดีแล้วอาจารย์ประจำชั้นสวนทันควันเลยว่า ใครจะไปดู อี๋ น่าเบื่อ ซึ่งเป็นเรื่องจริง (หัวเราะ) 

ตอนทำสารคดีพี่ตูน (2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว) แล้วไปหาอาจารย์ที่โรงเรียน เขาพูดแบบนั้นเลย มันเป็นภาพจำที่เขาเข้าใจ ทั้งที่ความจริงหนังสารคดีไม่ได้มีรูปแบบเดียว 

ปัจจุบันศิลปะในเมืองไทยกำลังก้าวหน้า ถูกใช้เป็นเครื่องมือสะท้อนปัญหาสังคมในหลากหลายมิติ สิ่งที่น่าสนใจคือ การหยิบยืมเรื่องราว เหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งความสูญเสียจากการกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ คิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้ทำงานศิลปะที่ต้องมีความรับผิดชอบ หรือมีความเคารพเนื้อหาที่หยิบยืมมาด้วยไหม

ตอบยากมาก เราว่าเรื่องนี้ควรเป็นกรณีศึกษาที่ต้องมาคุยกัน เพราะสารคดีหยิบยืมชีวิตของคนอื่นมาใช้เป็นผลงานอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของศิลปะประเภทนี้เลย ซึ่งก็มีการถกเถียงมาตลอดในเรื่องจริยธรรมในการทำสารคดี เป็นวงคุยที่น่าสนใจมาก 

อย่างสำนักข่าวยังมีกฎระเบียบว่ามีเรื่องไหนบ้างที่ต้องเซนเซอร์ ทำสิ่งไหนได้หรือไม่ได้ แต่คนทำสารคดีไม่มีตรงนี้เลย ไม่มีองค์กรกลางมาบอกว่าคุณทำสิ่งนี้ได้หรือไม่ได้ ดังนั้นคนทำสารคดีจะตกอยู่ในสุญญากาศเหล่านี้บ่อยมาก 

สมมติว่าเราถ่ายชีวิตชายคนหนึ่งที่ฐานะยากจนมาก แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งบ้านเขาโดนตัดไฟเพราะไม่มีเงินไปชำระ คำถามคือตัวเราที่ถ่ายทำสารคดี อยู่กินกับเขามา 2 ปี จะต้องช่วยค่าไฟเขาไหม หรือเราจะถ่ายเพื่อบันทึกความจริงของชีวิตที่เกิดขึ้น เพื่อเอาไปถ่ายทอดแล้วให้เกิดผลลัพธ์ด้านความรู้สึกกับคนดู แค่นี้ก็ตอบยากแล้ว แล้วเรื่องตัดไฟเป็นเรื่องที่พื้นฐานมาก อะไรที่รุนแรงกว่านี้ ไปแตะเรื่องกฎหมายหรือศีลธรรม เช่น สารคดีหนึ่งถ่ายทำผู้อพยพที่กำลังขึ้นเรือหลบหนี แต่เรือที่กำลังขึ้นเป็นเรือยาง ไม่มีเครื่องช่วยชีวิตเลย ในฐานะคนทำสารคดี เราจะห้ามไม่ให้เขาไปแล้วพาเขาไปบนรถเราไปแทนไหม หรือจะถ่ายตอนเขาออกทะเลไปแบบนั้นเลย 

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ผู้กำกับทำสารคดีกับเด็กคนหนึ่ง อยู่กินกันมาหลายปี สนิทกับทุกคนในครอบครัว แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งลูกเขาแอบขายกัญชา เราในฐานะผู้ใหญ่และคนทำสารคดีเรื่องนี้อยู่จะบอกพ่อแม่ไหม หรือเราจะถ่ายความจริงชุดนี้ต่อไป จะเห็นได้ว่ามันไม่มีจริยธรรมกลางที่เป็นกฎชัดเจน อยู่ที่ทัศนคติของคน อยู่ที่สถานการณ์ตอนนั้นว่าเราจะรับผิดชอบอะไรมากกว่ากัน

ถ้าเป็นคุณจะทำอะไรกับเรื่องเด็กขายกัญชา

(หัวเราะ) ตอบไม่ได้ นี่เป็นโจทย์ที่ชอบให้คนอื่นคิด ไม่เคยคิดเอง เพราะรู้ว่าจริงๆ เวลาตอบก็จะนำไปสู่คำถามต่อๆ ไปอีกมากมาย แต่เรื่องกัญชามันง่ายตรงที่ว่ามันเป็นการบันทึกหลักฐานความผิด ถ้าเผยแพร่ออกไปทั้งเด็กและเราก็โดนจับเพราะมันเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ถ้าเป็นประเด็นที่ท้าทายศีลธรรมแบบนั้นจะยากกว่า

ตลอดชีวิตที่คุณรู้จักกับคำว่าสารคดี ศิลปะประเภทนี้เปลี่ยนแปลงตัวคุณอย่างไรบ้าง

ได้มีข้ออ้างในการไปยุ่งเรื่องคนอื่นมากขึ้น (หัวเราะ)

เราเป็นคนทำสารคดีเพราะอยากเข้าใจเรื่องนั้นๆ มากขึ้น มันพาไปสู่สิ่งที่เราสนใจ ได้อยู่ที่นั่น ได้คุยกับคนนั้น คนนี้ ด้วยความที่เราเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว เลยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่สารคดีเป็นเหมือน ‘บัตรผ่าน’ ให้เราได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการมากขึ้น ได้ไปมีประสบการณ์แบบที่คนทำอาชีพอื่นอาจจะไม่มี เมื่อก่อนเราอาจได้แค่หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าชายคนนั้นตอนรุ่งเช้าเขาทำอะไร กินอะไร แต่พอทำสารคดี เราเลือกที่จะไปนั่งถ่ายเขากินข้าวตอนตี 5 จริงๆ เลยก็ได้

เราว่ามันน่าสนใจมาก หนังทุกเรื่องที่เราทำ ที่คนอื่นทำ สิ่งที่ผู้ชมได้ดูแค่เล็บนิ้วก้อยของประสบการณ์ทั้งหมดที่คนทำหนังได้มาเอง จากฟุตเทจ 700 ชั่วโมงตัดเหลือ 1 ชั่วโมงครึ่ง 

ประสบการณ์ ความทรงจำ คือสิ่งเราได้มาจากตั๋วที่ชื่อว่า ‘สารคดี’

 

Tags: , , , , , ,