มันเริ่มต้นขึ้นในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ย้อนกลับลงไปยังอำเภอเบตงในช่วงเวลาก่อนที่ตูนจะออกวิ่ง เล่าเรื่องไล่ขึ้นมาตามเส้นทางวิ่งขึ้นอำเภอแม่สาย หยุดที่อำเภอบางสะพานอีกครั้งเพื่อเล่าเรื่องของเด็กหญิงนักวิ่งคนหนึ่งที่ถูกรถเทรลเลอร์ทับขาทั้งสองข้าง และอาจต้องตัดขาทิ้งหากไม่ได้เงินทุนของโครงการก้าวฯ มาช่วยเอาไว้ทัน หลังจากนั้นก็พักยกที่สุพรรณบุรีอันเป็นบ้านเกิดของตูน เราได้ชมฟุตเทจวัยเด็กของตูนจากโฮมวีดีโอที่แม่ของเขาถ่ายไว้ และการเดินทางก็จบที่อำเภอแม่สาย อย่างที่เรารู้กัน เขาทำภารกิจนี้สำเร็จ

“ถ้าพี่ตูนทำได้ ทุกคนก็ทำได้” เป็นบทสรุปหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่มาจากจากคำพูดของคุณกบ หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์หลักและนักแต่งเพลงขาประจำของ ‘ตูน บอดี้แสลม’ รวมทั้งยังเป็นข้อความที่ขึ้นในตอนท้ายของเรื่องอีกด้วย ซึ่งถึงจะไม่ใช่ประโยคที่ถูกพูดซ้ำๆ ในหนัง แต่เราคิดว่ามันทรงพลังพอที่จะทำให้ผู้ชมหลายคนเดินออกไปจากโรงด้วยความเต็มอิ่มในใจ พร้อมที่จะออกไปลงมือทำอะไรที่ตนคิดอยากทำ

ในทางกลับกัน มันก็ทรงพลังพอที่จะทำให้เราตั้งคำถาม และไม่ใช่ตั้งคำถามกับสารคดีเรื่องนี้เท่านั้น แต่กับโครงการก้าวคนละก้าวในตัวมันเองด้วย เพราะไม่ว่าจะอย่างไร โครงการนี้ก็คือตัวละครหลักของหนังเรื่องนี้ คำถามที่เรามีก็คือ จริงไหมที่ทุกคนสามารถออกวิ่งเพื่อสังคมอย่างเขาได้ จริงไหมที่สิ่งเขาทำนั้นน่ายกย่องเยี่ยงบุคคลตัวอย่าง จริงไหมที่สิ่งที่เขาทำคือการเสียสละ และจริงไหมที่เสียงกรี๊ดที่เขาได้รับบนเวทีกับบนถนนนั้นเป็นเสียงกรี๊ดแบบเดียวกัน

อันที่จริงเรามีอีกหลายคำถามที่เก็บไว้ตั้งแต่ตอนที่โครงการยังไม่สิ้นสุด บางคำถามก็ถือวิสาสะตอบเองไปแล้ว แต่อีกหลายคำถามก็ยังปล่อยเอาไว้ รอให้ข้อมูลอื่นมาเติมให้เต็ม ด้วยความที่เราไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของตูนแบบสดๆ ในตอนนั้น จึงแอบเดาว่าอาจจะได้ข้อมูลใหม่จากหนังสารคดีเรื่องนี้ แต่เมื่อดูจบ เรากลับไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าเดิม เราคิดว่านี่ไม่ใช่ความผิดของหนัง แต่อาจเป็นเพราะกระแสข่าวเกี่ยวกับโครงการซึ่ง ‘โหมกระพือ’ มากกว่าที่เคยคิดไว้มากนัก สิ่งที่เราคิดว่ายังไม่รู้ กลับกลายเป็นว่ารู้แล้วเสียทั้งหมด

แรงโหมกระพือที่ว่าถูกถ่ายทอดออกมาตลอดเรื่อง ฟุตเทจจำนวนมากที่เก็บภาพตูนวิ่งไปบนถนน ยื่นมือรับธนบัตรสีเขียวสีแดงจากผู้คนที่มายืนรอบริจาค ก้มหลังย่อตัวลงไปกอดเด็กๆ และหยุดยืนถ่ายรูปกับเหล่าผู้บริจาคถูกฉายขึ้นจอซ้ำๆ ในความหมายที่ว่า ฟุตเทจไม่ได้ซ้ำกัน แต่เป็นการแสดงออกและการกระทำแบบเดียวกันซึ่งคือการวิ่งรับบริจาค ที่ถูกเล่นซ้ำในสถานที่ที่เปลี่ยนไป แต่หาได้เปลี่ยนเวทีไม่

เวทีที่ตูนยืนอยู่ในตอนที่โครงการกำลังดำเนินอยู่ในช่วงปลายปี 2560 กับเวทีที่ตูนกำลังยืนอยู่ระหว่างที่หนังยังอยู่ในโรงในเดือนกันยายน 2561 คือเวทีเดียวกัน ประกอบไปด้วยผู้ชมหน้าเดิมคือคนไทย (ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นด้วยกับโครงการหรือไม่) มีผู้เล่นกลุ่มเดิมคือโครงการก้าวคนละก้าวและสปอนเซอร์นับไม่ถ้วน มีหัวเรือหลักเป็นตูนซึ่งมีสถานะเป็นซูเปอร์สตาร์ (แม้ผู้กำกับและทีมจะพยายามนำเสนอตูนในหลายอารมณ์ทั้งขี้เล่น อารมณ์ร้าย และใจดี แต่ก็ยังลบความจริงที่ว่าเขาไม่ใช่คนธรรมดาไม่ได้) และยังมีคนมากมายโหนตูนอย่างต่อเนื่องอย่างที่ทุกคนคงจะรู้กันดี

เราไม่แปลกใจที่หนังไม่ได้มีแรงโหมกระพือรุนแรงเท่าตอนที่ตูนกำลังวิ่งอยู่ เพราะกระแสนั้นได้จบลงไปแล้วตั้งแต่ตูนวิ่งถึงจุดหมาย การใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการรับบริจาคอีกระลอกเพื่อโรงพยาบาลศิริราช จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการวิ่งครั้งที่สอง ซึ่งไม่อาจ ‘สด’ ‘ใหม่’ และ ‘จริง’ ได้เท่ากับการวิ่งครั้งแรก แต่ในฐานะภาพยนตร์ เราคิดว่านี่เป็นหนังที่ดูเพลิน และถึงจะไม่รู้สึกว่ามีจุดไหนในเรื่องเป็นไคลแม็กซ์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเบื่ออะไร

เราติดตามตัวละครหลักของเรื่องไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ได้ติดใจอะไรกับตัวบุคคลหรือคิดต่อต้านเขา ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นเพราะตูนในหนังก็ไม่ได้มีท่าที่อวยตัวเองแม้แต่น้อย และผู้กำกับและทีมเองก็ตั้งใจเล่าถึงเขาในแบบปกติสามัญและไม่อวยได้สำเร็จ ถึงแม้ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนจะทำให้เส้นเรื่องนั้นเสียด้วยการกล่าวชมเขาอย่างล้นเกิน รวมถึงตีความการแสดงออกต่างๆ ของเขาอย่างเกินเรื่อง และทั้งที่ตูนเองก็พูดอยู่หลายครั้งในหนังว่า เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ แต่ประโยคที่ปรากฏขึ้นบนจอตอนจบกลับย้ำชัดว่า เขาคือบุคคลตัวอย่างของพวกเราทุกคน

และหากคำถามคือ การกระทำใดของเขาที่เราควรเอาไปเป็นแบบอย่าง อย่างที่หนังพยายามเสนอ ตัวหนังเองไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเอาไว้ อย่างนั้นแล้ว ‘การกระทำ’ ที่ถูกพูดถึงอย่างลอยๆ ตลอดเรื่องนั้นหมายถึงอะไรกันแน่?

เราคิดว่า อาจเป็นการวิ่งรับบริจาค (ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นคนธรรมดา คงทำแล้วไม่ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับเขา) อาจเป็นการทำตามความเชื่อของตัวเอง (ซึ่งก็อย่างที่ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งบอกไว้ว่า เป็นคำที่ใช้กับคนที่ดื้อแล้วทำสำเร็จ ฉะนั้นถ้าดื้อแล้วทำไม่สำเร็จก็อาจไม่นับ) หรืออาจเป็นการทำเพื่อส่วนรวม (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นามธรรมมากๆ เว้นแต่จะหมายถึงการช่วยบริจาคกับโครงการ อย่างที่มี QR Code บอกใบ้ไว้ในตอนเครดิตจบ)

แต่ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในการกระทำใดที่กล่าวมา หรือต่อให้เป็นการกระทำอื่น ก็คงไม่ได้เป็นเหตุให้เราฝังจิตฝังใจว่าต้องยึดถือเป็นแบบอย่าง เพราะอย่างไรก็ตามการวิ่งรับบริจาค การทำตามความเชื่อ และการทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ ‘หน้าที่’ ที่ทุกคนจำเป็นต้องทำ ไม่ว่าจะในฐานะประชาชน หรือในฐานะวัยรุ่นวัยทำงานที่ถูกสังคมหล่อหลอมว่าชีวิตต้องขับเคลื่อนด้วยแรงบันดาลใจและความหลงใหลในอะไรสักอย่าง แต่เป็น ‘สิทธิ’ ในการตัดสินใจที่เราเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ ตามแต่ความพร้อมในด้านต่างๆ และการนิยามชีวิตและทัศนคติทางสังคมของแต่ละคนเอง

และหากจะถามต่อว่า ถ้าเราไม่ทำอย่างเขา แล้วเราควรทำอะไรในสถานการณ์นี้ที่หลายโรงพยาบาลในประเทศขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ อาจมีคนคิดในใจว่า เราควรจะมองที่ต้นเหตุของปัญหา เช่น ระบบสวัสดิการและการให้บริการทางการแพทย์ และเรียกร้องให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบอย่างรัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแลแก้ไข หรือบางคนอาจเลยเถิดไปถึงขั้นคาดหวังว่า ดังนั้นหนังเรื่องนี้ในฐานะสื่อน่าจะต้องสะท้อนปัญหาสังคมหรือตั้งคำถามกับระบบนี้สักหน่อย

แต่เราจะไม่คาดหวังอะไร ไม่ใช่ความผิดของผู้กำกับและทีมที่ไม่ตั้งคำถามกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะอย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นหนังที่สร้างเพื่อตอบสนองความต้องการของโครงการและสตูดิโออยู่ดี ถึงจะมีความพยายามที่น่าชื่นชมที่จะแตะบางปมปัญหา เช่น ความไร้ระเบียบของคนไทยที่มารอเจอตูนระหว่างวิ่ง หรือกระแสตีกลับทางอินเทอร์เน็ตที่ว่าตูนถูกอวยจนเว่อร์ แต่เมื่อเริ่มแตะแล้วไม่ได้ต่อ ข้อสังเกตเหล่านั้นจึงเหมือนไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังสักเท่าไร

ทำให้สำหรับเรา 2,215 กลายเป็นหนังชีวประวัติขนาดย่อของตูน หนังสร้างแรงบันดาลใจลอยๆ หรือไม่ก็สื่อที่เชิญชวนให้บริจาคเงินแก่โครงการไปโดยสมบูรณ์

Tags: , , , , , ,