ขบวนมอเตอร์ไซค์ของพนักงานขับรถส่งอาหาร ภายใต้ชุดยูนิฟอร์มหลากสีสันที่จอดเรียงรายอยู่แถวหน้าสุดยามจอดติดไฟแดง กลายเป็นภาพชินตาไปแล้วในวันนี้
หลายปีที่ผ่านมา เทรนด์การสั่งอาหารมากินที่บ้านกลายเป็นพฤติกรรมยอดนิยมของคนเมือง ส่งผลให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี ไม่ว่าจะเป็น Grab, LINE MAN, Food Panda, Gojek, Robinhood เติบโตทะลุฟ้า ประเมินกันว่า ปัจจุบัน ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีมีมูลค่าสูงถึงปีละ 35,000 ล้านบาท และมีการจัดส่งอาหารมากกว่า 70 ล้านครั้งต่อปี
ยิ่งช่วงโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ คนออกไปไหนไม่ได้ ก็ยิ่งสั่งกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจที่พังระเนระนาดถีบให้คนตกงานหันมาขับรถส่งอาหารกันทวีคูณ เพราะเป็นอาชีพอิสระ เวลาทำงานยืดหยุ่น สมัครง่ายๆ เพียงมีรถมอเตอร์ไซค์สักคัน สมาร์ตโฟนสักเครื่อง ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา และไม่ติดประวัติอาชญากร ทุกวันนี้จึงมีกลุ่มคนขับรถส่งอาหารหรือที่เรียกว่า ‘ไรเดอร์’ นับแสนคนบนท้องถนน
ทว่าภายใต้ถ้อยคำโฆษณาอันสวยหรูว่าอาชีพนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น กลับปรากฏข่าวเกี่ยวกับสวัสดิการอันย่ำแย่ นโยบายกดขี่เอารัดเอาเปรียบ จนทำให้เราเห็นการออกมาประท้วงของเหล่าไรเดอร์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อบริษัทต้นสังกัดหลายครั้ง
ปัญหาใหญ่สุดอันเปรียบเสมือน ‘แอก’ บนบ่าคนขับรถส่งอาหารของแอพพลิเคชันต่างๆ คือการที่พวกเขาเป็น ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ (platform labour) ซึ่งอยู่ภายใต้การจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ไม่ถูกกำกับด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ทำให้บริษัทสามารถ ‘ทำอะไรก็ได้’ ที่นายจ้างปกติไม่สามารถทำได้
บางบริษัทเรียกพวกเขาว่า ‘พาร์ตเนอร์’ ซึ่งเป็นคำที่คลุมเครือว่าเป็นพนักงานหรือหุ้นส่วนกันแน่ แต่ในความเป็นจริงคือ ไรเดอร์ทำงานเป็นรายชิ้น ไม่มีสัญญาจ้าง ทำให้ไม่มีหลักประกันของรายได้ขั้นต่ำ ความมั่นคงทางอาชีพจึงแทบเป็นศูนย์ ขณะเดียวกัน สวัสดิการต่างๆ ที่ควรจะมีก็ไม่มี เช่น ค่าสึกหรอของยานพาหนะ นึกภาพไรเดอร์ต้องขี่วิ่งรับส่งอาหารวันละหลายรอบ ทำให้รถเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ค่าโทรศัพท์เวลาติดต่อกับลูกค้า ค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้ แม้กระทั่งเกิดอุบัติเหตุ ก็ไม่อาจเบิกค่ารักษาพยาบาลได้จริง เนื่องจากติดเงื่อนไขบางประการของบริษัท
ที่แย่กว่านั้นคือเมื่อไม่อยู่ในสถานะ ‘พนักงานประจำของบริษัท’ (ทั้งที่สภาพการทำงานชี้ชัดว่าทำงานให้บริษัท) เหล่าไรเดอร์จึงไม่สามารถเข้าไปเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ได้ เสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น ลาป่วยตามวันหยุดตามเทศกาล ลาคลอด การชดเชยเมื่อตกงาน หนำซ้ำบริษัทต่างๆ ยังมีสิทธิ์ลงโทษหรือออกกฎระเบียบ เช่น การออกนโยบายให้คนขับวิ่งงานให้เยอะที่สุด ผ่านงานพ่วง หรืองานแบตช์ (Batch) แต่รายได้กลับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น, การปิดระบบหรือหักเงินเมื่อยกเลิกงาน และถ้าไรเดอร์คนใดอยากแก้ต่างเมื่อถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม ก็ไม่มีกลไกในการรับฟังปัญหาที่มีประสิทธิภาพ มีเพียงแค่วิธีโทรติดต่อผ่านคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น
นอกจากรายได้อันน้อยนิดไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไปและไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สวัสดิการที่ย่ำแย่ รวมถึงกฎระเบียบของบริษัทที่ ‘ไม่แฟร์’ กับคนทำงาน เหล่าไรเดอร์ยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ความเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน เพราะต้องรีบไปส่งอาหารให้ทัน สุขภาพที่เสื่อมลงทุกวัน ไหนจะปวดหลัง มือสั่นจากการต้องขี่มอเตอร์ไซค์นานๆ ปอดพังเพราะสูดควันพิษ ปวดท้องจากโรคกระเพาะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการทำงานไม่เป็นเวลา ยังไม่นับปัญหาสุขภาพจิตอันเป็นผลจากความเครียดสะสม
ใบหน้าเกรียมแดด เนื้อตัวชุ่มโชกด้วยเหงื่อ ท้องร้องครวญครางเพราะความหิว สมองว้าวุ่นครุ่นคิดวางแผนว่าทำอย่างไรถึงจะไปส่งอาหารได้ทันเวลา เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่คือ ‘อาชีพที่น่าเห็นใจ’ ที่สุดอาชีพหนึ่งในเวลานี้
ทัศนคติของคนบางกลุ่มในสังคมก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะคลิปวิดีโอ คอมเมนต์ ถ้อยคำก่นด่าเหยียดหยามดูถูกที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ข้อหาพูดจาไม่สุภาพ ในความเป็นจริง เสียงห้าวๆ ที่พูดผ่านโทรศัพท์อาจเหนื่อยล้าหรือกำลังตะโกนแข่งกับเสียงดังบนท้องถนนเพื่อคุยกับลูกค้า ข้อหาตัวเหม็นสกปรกเวลาไปรอรับอาหารที่ร้าน ถ้ามองด้วยความเห็นอกเห็นใจก็จะพบว่าการขี่รถตากแดดทั้งวันต้องร้อน ต้องเหงื่อแตกเป็นธรรมดา ข้อหาขับรถสวิงสวาย ถ้าไตร่ตรองดูดีๆ เราอาจต้องตั้งคำถามกันใหม่ว่าควรโทษคนขับหรือโทษนโยบายบริษัทที่กดดันให้พวกเขาต้องรีบ
บางสถานการณ์ การที่คนคนหนึ่งทำอะไรลงไปนั้น ถ้าพิจารณาเบื้องลึกเบื้องหลัง บริบทแวดล้อม และเงื่อนไขต่างๆ ประกอบ เราอาจจะเห็น ‘โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม’ ที่บีบบังคับพวกเขาอยู่
ล่าสุดกับข่าวที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเตรียมจัดระเบียบไรเดอร์ โดยอ้างว่าได้รับร้องเรียนจากประชาชนเรื่องขับรถเร็ว วุ่นวาย ติดตั้งกล่องใส่อาหารขนาดใหญ่เกินไปจนบดบังทัศนวิสัย เสี่ยงเกิดอันตรายบนท้องถนน ยิ่งเห็นใจอาชีพคนขับรถส่งอาหารผู้หาเช้ากินค่ำ ถูกกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หน่วยงานรัฐไม่เหลียวแล ไม่ใส่ใจ และไม่สนใจเข้าไปรื้อกฎหมาย ปฏิรูปโครงสร้างใหม่ทั้งระบบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่แม้แต่จะเข้าข้างคนทำงานตัวเล็กๆ แต่กลับทำหน้าที่เป็น ‘คนกลาง’ ไกล่เกลี่ยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่โกยรายได้เป็นพันล้านจากหยาดเหงื่อคนทำงาน จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นเหล่าไรเดอร์ออกมารวมตัวประท้วง ส่งเสียงไปยังสังคมให้รับรู้ถึงปัญหาใหญ่ที่หมักหมมอยู่
เมื่อไม่มีใครช่วยพวกเขาได้ หนทางสุดท้ายจึงเหลือแค่การออกมาสู้ด้วยตัวเอง
Tags: Rider, Delivery, From The Desk