ใครว่ามีแต่คนไทยเท่านั้นที่บ่นเรื่องระบบขนส่งสาธารณะไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน ผู้สูงอายุซื้อของออนไลน์ไม่เป็น หรือคนรุ่นใหม่ไม่สนใจสิทธิและเสรีภาพ?
กลุ่มบริษัท ACORN ได้จัดทำงานวิจัย Asia MIND Research ร่วมกับ Sinus Consult เพื่อศึกษาผู้บริโภคระดับภูมิภาคเอเชีย ครอบคลุม 11 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการศึกษาภาพรวมและทิศทางของผู้บริโภคในกลุ่มอายุ 15-70 ปี ผ่านการตอบแบบสอบถามจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 9,500 คน โดยเจาะกลุ่มเฉพาะคนเมืองที่มีรายได้สูง-ปานกลาง มีอำนาจการซื้อ หรือคิดเป็น 50% ด้านบนของสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละประเทศ
งานวิจัยชิ้นใหม่นี้อาจทำให้เราได้มุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม ค้นพบอินไซต์ที่ซ่อนอยู่ หรือแม้แต่วางแผนการตลาดกันใหม่
ทำไมเอเชียจึงเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ?
– มีประชากรสูงถึง 4.4 พันล้านคน หรือ 60% ของประชากรโลก
– ปี 2030 ประชากรในเอเชียจะเพิ่มเป็น 66% ของประชากรโลก
– เอเชียเป็นผู้นำด้าน Mobile Digitalization มีผู้ใช้สมาร์ตโฟนกว่า 800 ล้านรายในปี 2015
– ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะมองอนาคตในเชิงบวกมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
– 52% ของผู้บริโภคในเอเชียวัย 15 ปีขึ้นไป จะมองอนาคตในเชิงบวก
ประเทศที่ทุกเจเนอเรชันมองอนาคตในเชิงบวกมากที่สุด
1. อินโดนีเซีย (83%)
2. จีน (75%)
3. ฟิลิปปินส์ (74%)
4. ประเทศไทย (66%)
5. เวียดนาม (66%)
6. มาเลเซีย (52%)
7. เกาหลีใต้ (41%)
8. สิงคโปร์ (40%)
9. ไต้หวัน (37%)
10. ฮ่องกง (24%)
11. ญี่ปุ่น (15%)
*ดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทยคือ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การเป็นที่ยอมรับในสังคม และความปลอดภัยในการดำรงชีวิต
ประเด็นที่ทุกประเทศในเอเชียกังวลมากที่สุด คือ
– การเข้าถึงการศึกษา
– สิทธิและเสรีภาพด้านการแสดงออก เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และฮ่องกง
– การเลือกตั้งที่โปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตย เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ไทย
– ความเท่าเทียมทางเพศ ได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด
ความพอใจด้านระบบขนส่งสาธารณะ
– ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียพอใจแค่ 5% เท่านั้น
– คนไทยพอใจกับขนส่งมวลชนทุกรูปแบบเพียง 2%
ความแตกต่างของผู้บริโภคไทยแต่ละเจเนอเรชัน
งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้วิเคราะห์พฤติกรรม ทัศนคติ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไทยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน เช่น การซื้อของและจ่ายเงินทางออนไลน์ โดยแบ่งตามกลุ่มอายุเป็น 5 เจเนอเรชัน คือ กลุ่มวัยรุ่น (15-19 ปี) มิลเลนเนียลส์ (20-27 ปี) เจนวาย (28-39 ปี) เจนเอ็กซ์ (40-55 ปี) และกลุ่มสูงวัย (56-70 ปี)
ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่าผู้บริโภคไทยจะยึดถือคนที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบด้านการใช้ชีวิตและการทำงาน บุคคลเหล่านี้เปรียบเสมือนตัวแทนของคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย เช่น เด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับเทคโนโลยีดิจิทัลจะชื่นชอบ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านไอที รุ่นมิลเลนเนียลส์และเจนวายจะสนใจคนที่มีบทบาททางการเมือง เช่น บารัก โอบามา และผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น สตีฟ จ็อบส์ และบิล เกตส์ ขณะที่รุ่นเจนเอ็กซ์และกลุ่มสูงวัยจะได้รับอิทธิพลจากดาราศิลปินชื่อดัง หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น เดวิด เบ็กแฮม และ ออง ซาน ซูจี
ที่สำคัญ น้อยคนจะรู้ว่าเด็กวัยรุ่นและเจนวายมีแนวโน้มกังวลเรื่องความเสมอภาคทางสังคม ความหลากหลายทางเพศ เสรีภาพด้านการแสดงออก และระบบการศึกษา ผิดกับเจนเอ็กซ์และคนสูงวัยที่กังวลเรื่องสุขภาพ การเข้าถึงการรักษา และความขัดแย้งทางศาสนามากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของและจ่ายเงินทางออนไลน์ในแต่ละเจเนอเรชัน
สินค้าออนไลน์ที่จะมาแรงในอนาคต
– ประกัน
– ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับบริการเดินทางท่องเที่ยว
– อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือน
เทรนด์การจ่ายเงินออนไลน์ของคนไทย
– คนไทยจ่ายเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตมากที่สุดคิดเป็น 52%
– คนไทยใช้ Online Banking 43% รองลงมาคือชำระเงินสดแบบ Cash on Delivery และใช้บัตรเดบิต
– ประเทศไทยมีสัดส่วนการจับจ่ายทางออนไลน์ที่สำคัญคิดเป็น 32% เมื่อเปรียบเทียบในภูมิภาคเอเชีย (22%)
ที่มา: งานวิจัยผู้บริโภคระดับภูมิภาคเอเชีย Asia MIND Research โดยบริษัท ACORN ร่วมกับ Sinus Consult
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
Tags: Gender, asia, research, Education