‘เงิน’ สำคัญขนาดไหน อาจไม่จำเป็นต้องตอบ เมื่อแทบทุกสิ่งอย่างในกิจวัตรประจำวันของเราล้วนผูกติดกับเงินตรา จากโควิด-19 ระลอกแรกถึงโควิด-19 ระลอกสอง กิจการจำนวนมากปิดตัวลง ผลักให้มนุษย์เงินเดือนหลายล้านคนต้องตกอยู่ในสถานะ ‘ว่างงาน’ รายได้ที่เคยมีหดหาย ขณะที่รายจ่ายยังเท่าเดิม
หัวข้อการสนทนาของทุกคนจึงไม่พ้นเรื่องจะใช้ชีวิตรอดอย่างไรภายใต้เศรษฐกิจอย่างนี้ จากชีวิตที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว ตอนนี้แทบไม่เหลืออะไรเลย บางคนสิ้นเนื้อประดาตัวต้องอพยพกลับบ้านต่างจังหวัด ด้วยความเชื่อว่าอย่างน้อยก็ช่วยลดรายจ่ายได้กว่าอยู่เมืองใหญ่
ท่ามกลางความอับจนหนทาง ใครพอจะมีทรัพย์สินติดตัวหน่อยคงจะเดินเข้าโรงรับจำนำ หากใครมีรถก็คงเอาไปกู้สินเชื่อ บางคนก็ขอวัดดวงกับหวยสักตั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนที่พึ่งยามยาก คอยจุดประกายความหวังเล็กๆ ต่อลมหายใจไปได้อีกวัน แม้ท้ายที่สุดมันจะคือการเป็นหนี้ก็ตาม แต่เมื่อเลือกไม่ได้เราต่างก็ต้องดิ้นรน
‘โรงรับจำนำ’ พื้นที่แห่งแรกที่นึกถึง
เคยสังเกตกันไหมว่า ‘โรงรับจำนำ’ มักเป็นความทรงจำแรกที่แวบขึ้นมาทันที หากเราไม่สามารถยืมเงินจากญาติหรือเพื่อนฝูงได้ จากนั้นก็กวาดสายตามองหาข้าวของทั่วทุกมุมบ้านว่ามีสิ่งใดสามารถนำไปจำนำได้บ้าง
ทุกๆ ปีช่วงใกล้เปิดเทอม โรงรับจำนำจะคึกคักเป็นพิเศษ แต่หลังจากโควิด-19 เข้าเล่นงาน ประชาชนจำเป็นต้องนำทรัพย์สินมีค่าออกมาจำนำกันมากขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ทั้ง 21 แห่ง มีสถิติผู้มาใช้บริการกว่า 334,808 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 19,253 ราย เลยทีเดียว
สำหรับสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ประชาชนนำไปจำนำมากที่สุด คือทองรูปพรรณ รองลงมาเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าจำพวกกระติกน้ำร้อน กระทะไฟฟ้า กีตาร์ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือของโบราณเก่าแก่อย่างเครื่องเงิน เชี่ยนหมากเงิน ขันเงิน ขันทองเหลือง ก็ถูกเอาไปจำนำเช่นกัน แม้แต่ครกหิน ปัตตาเลียนตัดผม เครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือทำกินบางอย่างที่อาจจะให้ราคาไม่สูงนักก็ยังมีคนนำไปวาง จนมีข่าวผู้ว่าฯ หลายจังหวัดต้องไปช่วยไถ่ของเหล่านี้คืนให้ประชาชน
นอกจากโรงรับจำนำของรัฐแล้ว ‘Eazy Money’ โรงรับจำนำเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ยังให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ยอดการจำนำลดลง 20-30% แต่หลังจากคลายล็อกดาวน์เป็นต้นมา ยอดการจำนำเริ่มกลับสู่ระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และช่วงราคาทองคำสูงขึ้น มีลูกค้ามาไถ่ทองคำออกไปจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือ ยอดสินทรัพย์หลุดจำนำก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
โรงรับจำนำมักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึงเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความสะดวกในการเข้าถึงบริการทำนอง ‘เข้าปุ๊บได้เงินปั๊บ’ แถมอัตราดอกเบี้ยยังอยู่แค่ 0.25-1.25% ต่อเดือนเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้บริการโรงรับจำนำไม่ได้เป็นแค่คนทั่วไปที่ต้องการเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างเดียว เพราะยังมีผู้ใช้บริการกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ต้องการนำเงินไปต่อยอดทางธุรกิจด้วย
“ธุรกิจโรงรับจำนำเหมือน ‘น้ำมันหล่อลื่น’ ให้กับระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้เกิดสภาพคล่อง เรามองว่าความต้องการสินเชื่อของคนไทยมีอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งมักจะมีไอเดียดีๆ มองเห็นศักยภาพโอกาสทองของการลงทุน คนเหล่านี้บางทีไม่มีเครดิตกับสถาบันการเงิน หรือใช้เวลานานในการพิจารณาขอสินเชื่อ แต่ถ้ามาที่โรงรับจำนำ แค่เอาสินทรัพย์มีค่าที่สะสมไว้ คุณก็ได้เงินไปต่อยอดธุรกิจที่สะดวก ง่าย ได้เงินเร็ว และชัวร์”
สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งธนสิน จำกัด ผู้ให้บริการโรงรับจำนำ Eazy Money กล่าว พร้อมเผยว่าทรัพย์สินที่คนไทยจำนำมากที่สุดยังคงเป็นทองคำ รองลงมาคือ เพชรและเครื่องประดับ ตามมาด้วยนาฬิกา สินค้าแบรนด์เนมและอุปกรณ์ไอที ทว่า ในระยะหลังมีการนำสินค้าแบรนด์เนมมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันบทบาทของโรงรับจำนำไม่ใช่เป็นแค่ที่พึ่งยามถังแตกอีกแล้ว โรงรับจำนำไม่ต่างจากธนาคารที่มีคนทุกกลุ่มหยิบทรัพย์สินมาแลกเป็นเงิน โรงรับจำนำหลายแห่งยังปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูทันสมัย สร้างความเป็นมิตรในการเข้าถึงได้มากขึ้น แม้โรงรับจำนำจะเต็มไปด้วยข้อดี แต่บางครั้งโรงรับจำนำอาจไม่ใช่คำตอบของใครหลายคน จึงเกิดเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่หันไปพึ่งการจำนำนอกระบบหรือจำนำกับคนรู้จัก
“เราเคยอยู่ในจุดที่ทุกคนในบ้านไม่มีเงินเลยสักบาท ต้องนั่งล้อมวงกินมาม่าด้วยกัน เราเลยเกลียดคำว่า ‘ไม่มีเงิน’ และคำนี้มันฝังอยู่ในหัวเลยนะว่า ทำยังไงก็ได้ให้กูไม่ต้องอยู่ในภาวะนี้อีก” แอม (นามสมมติ) หญิงสาวผู้เติบโตมากับการเห็นครอบครัวประสบกับภาวะหนี้สินมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ปัจจุบันเธอขยับมาเป็นหัวหน้าครอบครัวและดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ล่าสุดแอมเพิ่งนำทองคำไปจำนำเพื่อเป็นค่าเทอมให้กับน้องสาวที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย
“ส่วนใหญ่บ้านเราชอบเอาของไป ‘จำ’ กับคนรู้จัก มีทั้งรถยนต์ ปืนของพ่อเราที่เป็นตำรวจก็ยังเอาไปจำ แต่ถ้าจำนำแบบถูกกฎหมายก็เอาทองไปจำ ได้เงินมาก้อนหนึ่งไว้ใช้จ่ายเวลาที่จำเป็นจริงๆ ไม่ค่อยเอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรอก เมื่อก่อนบ้านเราเป็นหนี้เยอะมาก แบบหนี้ท่วมหัวเลย คนมาทวงทุกวัน แต่เราไม่มีจริงๆ ไง ไม่รู้จะเอาจากไหนไปให้ มันจิตตกมากนะตอนนั้น อยู่อย่างหดหู่เลย
“เรามองว่าการจำนำมันก็เป็นการหมุนเงินอย่างหนึ่ง เพราะอะไรๆ มันก็จำได้หมด ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ อย่างคนรู้จักเราก็เอาผ้าไหมไปจำ เพราะแถวบ้านเราผ้าไหมมันดังเนอะ เอาไปจำก็ได้ราคา แต่คนเดือดร้อนอะ ของอะไรไปจำได้ก็เอาไป สองสามร้อยเขาก็เอา”
เมื่อต้องรับผิดชอบเรื่องเงินๆ ทองๆ ภายในบ้าน แอมได้เห็นอะไรหลายอย่างที่คนเราจำเป็นต้องหาทางเอาตัวรอดจากปัญหาทางการเงิน จนตอนนี้สถานะการเงินของครอบครัวเธอเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว
ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานทำให้โรงรับจำนำคลุกคลีอยู่กับสังคมไทยมาทุกบริบท และไม่ว่าจะเมืองไหนก็ต้องมีโรงรับจำนำสักแห่งตั้งอยู่เสมอ แต่หากไม่ใช่โรงรับจำนำ อะไรจะเป็นตัวเลือกต่อไปในการหมุนเงิน
‘ธุรกิจสินเชื่อรถ’ หนึ่งหนทางหมุนเงินของคนรากหญ้า
ประเทศไทยของเรานั้นประชาชนใช้รถส่วนตัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุม บีบให้ประชาชนต้องถอยรถออกมาใช้เอง แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของการมี ‘รถ’ คือเมื่อถึงคราวต้องใช้เงินก้อนใหญ่ รถเหล่านี้อาจแปรสภาพเป็น ‘ทรัพย์สิน’ ที่สามารถนำไปกู้สินเชื่อได้ และบางคนยังใช้ ‘สินเชื่อรถ’ หมุนเงินได้เป็นระบบได้อย่างน่าทึ่ง
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสินเชื่อรถรายใหญ่ของประเทศ ให้ข้อมูลว่า ครึ่งปีแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 7,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 19% ขณะที่อัตราส่วนหนี้เสียอยู่ที่ระดับ 1.05% เท่านั้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของภาครัฐที่ทำให้คุณภาพหนี้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม และลูกค้าที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ยังมีสัดส่วนไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกหนี้ทั้งหมดด้วย เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นเกษตรกร 60% กรรมกร 20% ข้าราชการและมนุษย์เงินเดือน 10% เรียกว่าสินเชื่อรถตอบโจทย์คนชนชั้นล่างก็ว่าได้
ขณะที่บริษัทใหญ่มีผลประกอบการเติบโตในช่วงโควิด-19 ทว่า อีกด้านหนึ่ง ผู้ให้บริการสินเชื่อรายเล็กในต่างจังหวัดกำลังเผชิญกับจำนวนลูกค้าที่ลดน้อยลง อรกาญจน์ พงษ์พานิช ผู้บริหารบริษัท อรกาญจน์ลิสซิ่ง ในจังหวัดปราจีนบุรี เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เปิดกิจการมาประมาณ 8-9 ปี ลูกค้าเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่เมื่อช่วง 5 ปีก่อน แต่ในช่วงโควิด-19 กลายเป็นลดน้อยลงครึ่งต่อครึ่ง จากปกติมีจำนวนรถมากู้สินเชื่อประมาณ 70-80 คันต่อเดือน แต่ตอนนี้เหลือประมาณ 30 คันเท่านั้น
“ในช่วงโควิด-19 มีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้เยอะเหมือนกัน เราก็มีมาตรการให้ลูกค้ามาผ่อนชำระหนี้ได้เท่าที่เขาชำระได้ โดยให้ลูกค้าค้างเงินต้นเอาไว้ประมาณ 2-3 เดือน แล้วให้เขาค่อยทยอยส่งคืนบางส่วน เช่น ค่างวดเดือนละ 2,000 บาท ให้จ่ายเดือนละ 2,500 เพื่อจ่ายเงินค่างวดค้างเก่า
“ช่วงโควิด-19 ทำให้เราทำงานยากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเขามากู้แล้วเราจะอนุมัติหมด ต้องดูด้วยว่าเขามีศักยภาพในการส่งหรือเปล่า หากรับรถมาแล้วเราปล่อยเงินไป แต่เขาไม่มีศักยภาพในการส่ง เท่ากับว่าเราต้องยึดรถมา การยึดรถมันเป็นเงินจม ไม่สามารถนำมาหมุนได้ตราบใดที่เรายังขายรถไม่ได้ ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้กว่าเราจะขายรถได้มันนาน เราจึงต้องกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาคนที่มากู้สินเชื่อมากขึ้นว่าเขาเชื่อถือได้ไหม หน้าที่การงานมั่นคงหรือเปล่า พอจะหาคนค้ำประกันได้ไหม”
อรกาญจน์ให้ข้อมูลว่า การใช้บริการของลูกค้าในช่วงโควิด-19 เป็นลักษณะที่ว่า หากมีรถที่นำไปกู้อยู่แล้ว ลูกค้าจะรีไฟแนนซ์ แม้หักกลบลบหนี้จะเหลือไม่กี่พัน ลูกค้าก็เอา เพราะพวกเขาหาเงินจากช่องทางอื่นไม่ได้แล้วจริงๆ และสินเชื่อรถจักรยานยนต์นั้น ไม่ได้มีค่างวดสูงมาก ต่อให้ทำงานรับจ้างรายวันก็พอมีกำลังส่งไหว
นวลจันทร์ (นามสมมติ) หญิงวัยกลางคนที่มีประสบการณ์กู้สินเชื่อรถ เล่าว่า นับตั้งแต่มีรถยนต์คันแรกจนถึงทุกวันนี้นานกว่า 30 ปี เธอนำรถทุกคันเข้าไฟแนนซ์มาตลอด ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จนลูกๆ แอบตั้งฉายาให้เธอว่า ‘เจ้าแม่ไฟแนนซ์’ แต่เงินจากไฟแนนซ์นี่เองที่ช่วยให้เธอสามารถส่งลูกเรียนได้จนจบมหาวิทยาลัย
“บางครั้งชีวิตต้องต่อสู้นะ ป้าต้องเป็นทั้งหัวหน้าครอบครัว เป็นทั้งแม่ แต่ไม่สามารถพึ่งใครได้เลย สิ่งที่พึ่งได้ก็คือไฟแนนซ์นี่แหละ ถ้าส่ง 3 เดือนขึ้นไปแล้วเกิดเงินช็อต ก็สามารถไปรีไฟแนนซ์ใหม่ได้ ถึงเงินมันจะได้ไม่เยอะมาก แต่มันมีค่า สามารถช่วยต่อชีวิตได้อีก สาเหตุที่หยุดกู้ไม่ได้ เพราะไม่มีใครให้พึ่งจริงๆ ชีวิตเราไม่สามารถหยิบยืมเงินใครได้เลย”
ประสบการณ์อันยาวนานในการใช้บริการไฟแนนซ์ และวินัยการชำระหนี้ที่ดีมาตลอด ทำให้นวลจันทร์ขยับจากลูกค้าธรรมดาเป็นลูกค้าเครดิตดีที่สามารถกู้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลได้สูงถึง 5 หมื่นบาท แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เธอมีบทเรียนต้องเสียรถยนต์ไปเพราะไฟแนนซ์มาแล้ว เป็นประสบการณ์ฝังใจที่เธอจำได้ไม่ลืม
“ตอนนั้นป้าเป็นหนี้รายวันเยอะมาก หมุนเงินไม่ทันเลยขาดส่งค่างวดไปสองเดือน เขามายึดรถเลย ทั้งที่จ่ายยอดทั้งหมดไปเกิน 70% เหลือค่างวดแค่ประมาณ 3 หมื่น พอเอาเข้าจริงมีค่าอะไรไม่รู้มาบวกเพิ่มมาอีกเป็น 5 หมื่น ด้วยความไม่มีเงิน ป้าก็ต้องยอมปล่อยให้เขายึดไป ช่วงนั้นก็ลำบากเพราะรถเป็นเครื่องมือหากินของเรา แต่ยังเหลือมอเตอร์ไซค์เก่าๆ อยู่ 2 คัน เลยเอาไปเข้าไฟแนนซ์ ได้เงินมา 6,000 ส่ง 12 เดือน เดือนละ 600 บาท มันได้ไม่เยอะหรอก แต่แค่นี้ก็ดีใจแล้ว ดอกเบี้ยแค่ 0.25% ต่อเดือนเอง ดีกว่าไปกู้รายวันดอกร้อยละ 20 และถ้าเราเป็นลูกค้าที่ดี ทำเครดิตได้ดี ก็ได้เงินเยอะขึ้น
“นอกจากให้เงินมาหมุน ไฟแนนซ์ยังทำให้ป้ารู้จักวินัยในการใช้จ่ายเงิน ป้าไม่เคยจ่ายช้า ไม่เคยค้างชำระ เมื่อก่อนเขากำหนดว่าให้จ่ายภายในวันที่ 20 ของเดือน แต่เราเลือกจ่ายรถคันแรกประมาณวันที่ 10 อีกคันหนึ่งจ่าย 10 วันให้หลัง ป้าใช้วิธีนี้ พอเครดิตเราดีและมีรถเข้าไฟแนนซ์ไว้อยู่แล้ว เราก็สามารถกู้เพิ่มได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ยอดเก่าหมด แต่กู้ได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท แล้วถ้าจ่ายตรงเวลาสม่ำเสมอ 2 ปี ก็สามารถกู้สินเชื่อพิเศษได้ 3-5 หมื่นบาท โดยไม่ต้องเอารถเข้า ถ้าเราเอารถกู้ด้วยก็ได้เพิ่มอีก แต่ยอดทั้งหมดต้องไม่เกินหนึ่งแสน” นวลจันทร์อธิบายรายละเอียดการกู้สินเชื่อรถให้ฟังอย่างคล่องแคล่ว
“มันเป็นทางออกที่ดีกว่าไปกู้ยืมเงินเศรษฐีหรือคนที่พอมีเงินในหมู่บ้าน เพราะขั้นต่ำเขาคิดดอกร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ถ้าเราไปยืมเขา เราก็ตัดได้แต่ดอก แต่ไฟแนนซ์มันตัดได้ทั้งดอกทั้งต้น แล้วดอกเบี้ยถูกกว่ากันเยอะ มันทำให้คนรากหญ้าอย่างเราลืมตาอ้าปากได้” นวลจันทร์กล่าวอย่างภูมิใจ ก่อนจะทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ถ้าคนยุคก่อนบอกว่าส่งลูกเรียนหมดนาเป็นไร่ แต่สำหรับป้าไม่ต้องถึงขั้นนั้น แค่เอารถเข้าไฟแนนซ์ก็ส่งลูกเรียนจบได้”
‘หวย’ โอกาสน้อยแต่เปี่ยมด้วยความหวัง
‘พรุ่งนี้รวย’ คำสั้นๆ ที่เปี่ยมด้วยความหวังว่า ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน จะเปลี่ยนจากคนธรรมดาเดินดินให้เป็นเศรษฐีได้ชั่วข้ามคืน คำสั้นๆ ที่แม้จะมีโอกาสเพียงหนึ่งในล้าน แต่ผู้คนก็ยอมจะควักเงินออกมาเพื่อซื้อความหวังเหล่านั้น ภาพการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอเลขที่ว่ากันว่า ‘ไท้ยไทย’ หรือถูกประณามว่างมงาย เบื้องหลังอาจจะไม่มีอะไรซ่อนเร้นมากไปกว่า ‘ความหวัง’
เวลาพูดถึงการเล่นหวย คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นพฤติกรรมของคนชนชั้นล่าง แต่ผลการสำรวจของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เมื่อปี 2018 ชี้ให้เห็นว่าหวยเป็นเรื่องของคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่นักศึกษา วัยทำงาน วัยสร้างครอบครัว ไปจนถึงวัยเกษียณ และ 1 ใน 4 ของประชากร หรือประมาณ 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่และหวยรวมกันมากกว่า 250,000 ล้านบาทต่อปี
“จากที่คิดว่าคนที่เล่นหวยจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน เกษตรกร แต่จริงๆ แล้วคนที่ซื้อหวยเยอะๆ คือกลุ่มมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการ เพราะกลุ่มนี้มีถึง 12 ล้านคนที่เล่นหวยและลอตเตอรี่ และไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่คนไทยก็เล่นหวยเหมือนเดิม” นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ถึงกรณีนี้
ภาวะเศรษฐกิจไม่มีผลต่อการซื้อหวยจริงหรือไม่นั้น คำตอบอยู่ในตัวเลขรายจ่ายในการซื้อลอตเตอรี่และหวยของคนไทย เมื่อปี 2552 ซื้อกันอยู่ที่ 340 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมด แต่เทียบกับช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวในปี 2560 รายจ่ายด้านนี้อยู่ที่ 452 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 2.1% ต่อรายได้ทั้งหมดเช่นกัน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่าคนไทยเชื่อว่าหวยเป็นความหวังและทำให้ชีวิตดีขึ้น แม้ภาวะที่รายได้ตกต่ำอย่างโควิด-19 ยอดการลอตเตอรี่ก็ยังปกติ ซึ่งงวดวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมานั้น มียอดจำหน่ายลอตเตอรี่ถึง 98 ล้านใบ และไม่มีสัญญาณซื้อขายที่ลดลง ส่วนงวด 1 กุมภาพันธ์ ก็มียอดจองสลากใกล้เคียงกับทุกงวด คือเกือบ 33 ล้านใบ
ตัวเลขข้างต้นตรงกับสถานการณ์ของ กานดา (นามสมมติ) ครอบครัวของกานดาทำกิจการขายหวยใต้ดินมาประมาณสิบปี เธอกล่าวว่า ยอดขายหวยในช่วงโควิด-19 ยังคงเป็นปกติ คือขายได้เรื่อยๆ แต่ปีที่ผ่านมามีช่วงหนึ่งที่ยอดซื้อลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวันออกสลาก ผู้คนจึงหันไปซื้อหวยลาวกับฮานอยมากขึ้น โดยหวยลาวจะออกทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี ส่วนหวยฮานอยออกทุกวัน วันละสามรอบ 17.00 น. 18.00 น. และ 19.00 น. สามารถซื้อได้ทั้งในเว็บไซต์และบางเจ้าที่ขาย
“ตอนที่กองสลากปิด เขาซื้อหวยไทยไม่ได้ ลอตเตอรี่ที่ซื้อไว้ก็ไปออกงวดอื่น คนเลยไปเล่นหวยทางอื่น พอทำงานไม่ได้เขาก็หันมาซื้อหวยเยอะขึ้น แต่ช่วงที่ขายดีจริงๆ คือช่วงมีเลขดัง เลขเด็ด ส่วนจะถูกไหมมันขึ้นอยู่กับดวงของแต่ละคนด้วย คนที่ซื้อหลายตัวจะมีโอกาสถูกมากกว่า แต่ถ้าซื้อไม่กี่ตัวแต่จ่ายหนัก โอกาสถูกน้อย แต่เวลาถูกจะได้เงินเยอะ และถ้าซื้อกวาดหลายเลขแต่ตัวละน้อยๆ ถูกมากก็เท่าทุน”
การเติบโตมาในสังคมที่เล่นหวย ทำให้กานดาเห็นภาพวิถีชีวิตที่ตอนเย็นก่อนวันหวยออก หน้าบ้านจะมีคนมานั่งคำนวณกันแล้วว่างวดนี้ออกเลขไหน
“มันก็เหมือนการเสี่ยงโชคอย่างหนึ่ง บางคนไม่ได้ซื้อเยอะแต่หวังถูกรางวัลใหญ่ก็มี หลายคนจะชอบซื้อแบบหลายๆ ตัวมากกว่า ในช่วงโควิด-19 มีเลขดังเยอะมาก ถ้าเจ้าอื่นไม่รับเลขนี้ แล้วเราปล่อยขาย เราก็ได้เงิน คนมีเงิน หรือไม่มีเงินก็ซื้อกันเหมือนเดิมนั่นแหละ”
งานวิจัยของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนไทยซื้อลอตเตอรี่ด้วยความคาดหวังว่าจะถูกรางวัลที่หนึ่ง กว่า 44% ส่วนคนที่เล่นหวยใต้ดิน 2-3 ตัว หวังว่าจะถูกหวยถึง 78% แม้ความเป็นจริงการซื้อลอตเตอรี่มีโอกาสจะถูกรางวัลที่หนึ่งประมาณ 0.0001% เท่านั้น ส่วนการซื้อหวยใต้ดินมีโอกาสก็แค่ 0.4-2%
สาเหตุที่พวกเขาเลือกซื้อลอตเตอรี่และหวย ส่วนหนึ่งเพราะต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นเหมือนการลงทุนอย่างหนึ่งที่เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย และจับต้องได้ ต่างจากหุ้น กองทุนรวม หรือประกันภัย ที่มีความซับซ้อน เข้าใจยากว่าจะได้รับผลตอบแทนแบบไหน
งานศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ได้ข้อสรุปว่า สาเหตุหลักที่คนซื้อลอตเตอรี่เป็นเพราะความจน ผู้ร่วมการทดลองจะซื้อลอตเตอรี่มากขึ้นถ้ารู้สึกจน หรือคิดว่าตนเองมีรายได้น้อยกว่าคนอื่นๆ และพร้อมจะเสี่ยงมากขึ้นหากมีรายได้ลดลง ทั้งยังพบด้วยว่าการซื้อลอตเตอรี่เป็นหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมที่คนจนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันกับคนรวย ฉะนั้น คนที่มีรายได้ต่ำกว่าจึงมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงโชคด้วยการซื้อลอตเตอรี่มากกว่า
แพง (นามสมมติ) เป็นคนหนึ่งที่โดนบริษัทจ้างออกในช่วงโควิด-19 เธอตกอยู่ในสถานะว่างงานมา 3 เดือนแล้ว แพงยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ติดหวย’ ก่อนจะเล่าให้ฟังว่าเธอเริ่มเล่นหวยได้อย่างไร
“เริ่มเล่นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ก็เห็นเพื่อนที่ทำงานเล่นกัน เลยลองเล่นดูบ้าง ส่วนใหญ่เล่นหวยใต้ดิน มีเล่นลอตเตอรี่บ้างนานๆ ครั้ง ตอนแรกก็ซื้อแค่ 10-20 บาท หลังๆ ก็ขยับขึ้นมา จนปัจจุบันเล่นงวดละประมาณ 4,000-5,000 บาท เพราะเราเคยเล่นแล้วถูก เหมือนติดใจ ก็เลยเล่นเยอะขึ้น มีครั้งหนึ่งได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท หลังจากนั้นต่อมาก็มีถูกหวยอีกประมาณงวดละ 1 หมื่นบาท ถ้าหากหักลบกับค่าหวยที่ซื้อไปก็ถือว่าพอได้อยู่
“หวยมันเป็นโชคอีกทางหนึ่งที่ทำให้เรามีความหวังทุกเดือน สมมติว่าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน เงินอาจจะไม่พอใช้ หวยก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ทำให้เรามีเงินมาจับจ่ายใช้สอย เป็นความหวังเล็กๆ ของคนทำงาน อย่างตอนนี้เราว่างงาน หวยก็เป็นความหวังว่าจะช่วยให้เรามีเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมบ้าง แต่อาจจะเล่นน้อยลงมาหน่อย”
ถามว่าหากเงินเดือนมากพอ เธอจะยังเล่นหวยไหม แพงตอบว่าคงเล่นเหมือนเดิม เพราะหวยเป็นเหมือนกำไรอย่างหนึ่ง เงินเดือนก็เป็นส่วนของรายได้ประจำ แต่ถ้าเล่นหวยแล้วได้ก็ถือเป็นกำไรที่เอามาใช้โดยไม่ต้องไปยุ่งกับเงินเดือน
ตลอดทั้งปีมีผู้คนมากมายบ่นถึงความยากลำบากของชีวิต พวกเขาเหล่านั้นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเอาไว้คือ ‘ความหวัง’ เพราะการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องยาก กว่าจะเดินไปถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานา ทั้งคาดเดาได้และไม่ได้ ‘ความหวัง’ จึงเป็นผู้ช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านั้น ต่อลมหายใจต่อไปได้อีกวัน ไม่ต่างจากได้เงินสักก้อนมากินข้าวอีกมื้อ ซึ่งโรงรับจำนำ สินเชื่อรถ และหวย ได้ทำหน้าที่นั้นในอีกบทบาทหนึ่ง
Tags: หวย, สินเชื่อ, สินเชื่อยานยนต์, COVID-19, โรงรับจำนำ, ไฟแนนซ์