ขณะที่สหรัฐฯ ยุโรป ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ราคาสูง ชาติกำลังพัฒนาในโลกซีกใต้กำลังตั้งตารอคอยวัคซีนราคาย่อมเยา จีนฉวยจังหวะนี้เล่นบทพี่ใหญ่ใจดี ช่วยเพื่อนร่วมโลกให้เข้าถึงยา แน่นอนว่า หว่านพืชย่อมหวังผล

นักสังเกตการณ์เห็นพ้องกันว่า การทูตวัคซีนจะอำนวยประโยชน์แก่จีนในระยะยาวในหลากหลายมิติ ท่ามกลางบทบาทที่ลดน้อยถอยลงของสหรัฐฯ ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์

 

มือใครยาว สาววัคซีนก่อน

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บอกกับบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศจี-20 ว่า จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับชาติต่างๆ เร่งพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน จีนพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ทำให้วัคซีนเป็นสาธรณสมบัติที่พลเมืองทั่วโลกจะซื้อหาและใช้ประโยชน์ได้

ความร่วมมือที่ว่านี้จะทำผ่านโปรแกรมขององค์การอนามัยโลกที่มีชื่อว่า Covax ซึ่งตั้งเป้าที่จะผลิตวัคซีนหลายพันล้านโดสให้แก่ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ

สหรัฐฯภายใต้การนำของทรัมป์ไม่ได้เข้าร่วมในโปรแกรมนี้ สิ่งที่อเมริกาทำก็คือ กว้านซื้อวัคซีนจากบริษัทของชาติตะวันตก พร้อมสู้ราคาที่ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งขายโดสละ 18.40-19.50 ดอลลาร์ฯ

แผนงานโคแวกซ์ ตั้งเป้าที่จะแจกจ่ายวัคซีนจำนวน 2,000 ล้านโดสใน 91 ประเทศภายในสิ้นปี 2021 อย่างไรก็ดี รายงานของมหาวิทยาลัยดุคในสหรัฐฯ บอกว่า คนจนนับพันล้านในประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องรอจนถึงปี 2024 เนื่องจากมีอุปสรรคในด้านสาธารณปูโภคสำหรับการขนส่ง เก็บรักษา และกระจายวัคซีน

จนถึงขณะนี้ จีนพัฒนาวัคซีนจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว 5 สูตร โดยมีการทดลองกับประชากรในกว่าสิบประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถาน ตุรกี อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย บราซิล เมื่อผ่านการอนุมัติ คนยากจนจะเข้าถึงวัคซีนในราคาที่จับต้องได้

เมื่อเดือนกรกฎาคม กระทรวงต่างประเทศของเม็กซิโก เผยว่า จีนยังเสนอให้เงินกู้ยืมจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ฯแก่ประเทศที่ไม่มีเงินซื้อวัคซีนในแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียนด้วย

 

ยาฉีดนัดเดียว ซื้อใจพลโลก

บทบาทของจีนในการสนับสนุนให้ประเทศที่เข้าร่วมแผนงานโคแวกซ์กว่า 180 ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนโดยเสมอหน้า นับเป็นกลยุทธ์ที่จะให้ผลตอบแทนแก่จีน ทั้งในด้านการทูต การเมือง และเศรษฐกิจ

ในด้านการทูต บทบาทนี้จะช่วยทุเลาความขุ่นเคืองต่อจีนที่เป็นต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และช่วยบรรเทาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการรับมือการระบาดในช่วงแรกที่เมืองอู่ฮั่น

ในด้านการเมือง ถือเป็นโอกาสที่จะแผ่อิทธิพลในเอเชียและโพ้นทะเล จีนประเดิมการทูตวัคซีนด้วยการเอาใจเพื่อนบ้านที่มีปมคาใจกับปักกิ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ จีนลงนามข้อตกลงที่จะส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศที่มีข้อพิพาทในเรื่องทะเลจีนใต้อย่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์

เมื่อเดือนสิงหาคม นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ให้คำมั่นที่จะมอบวัคซีนให้แก่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นลำดับแรก อย่างที่รู้กัน ประเทศในย่านนี้ต้องเจอภาวะขาดแคลนน้ำจากเขื่อนจีนที่สร้างปิดกั้นตอนบนของแม่น้ำโขง

อาทิตยา เอดูอาร์ด กับเคลาส์ ไฮน์ริช ราดิติโอ บอกในเปเปอร์ของสถาบันยูซุฟอิสฮาค หน่วยงานคลังสมองในสิงคโปร์ ที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม การทูตวัคซีนของจีนไม่ใช่ของฟรี ปักกิ่งอาจใช้การบริจาควัคซีนให้เป็นประโยชน์ในการโน้มน้าวประเทศผู้รับให้ผ่อนปรนท่าทีต่อประเด็นระหองระแหง เช่น ทะเลจีนใต้

ในด้านเศรษฐกิจ กลยุทธ์ในครั้งนี้จะช่วยสร้างชื่อ สร้างแบรนด์ ให้แก่เทคโนโลยีการแพทย์และบริษัทยาของจีน เป็นโอกาสที่จะได้ทำเงินก้อนโต พร้อมกับปูทางสำหรับความร่วมมือระดับอภิมหาโครงการต่างๆ เช่น ข้อริเริ่มแถบและทาง เป็นต้น

 

เส้นทางแพรไหมสายสุขภาพ

บริษัทยาที่กำลังพัฒนาวัคซีนโดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีนมีหลายเจ้า เจ้าที่โดดเด่นก็คือ Sinovac กับ Sinopharm

ด้วยเหตุที่โคแวกซ์จัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นปีหน้า โอกาสที่จะขายของจึงยังเปิดอยู่อีกมาก จีนกำลังเร่งผลิตให้ได้ 1,000 ล้านโดสในปีหน้า ตอนนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดภายในประเทศดีขึ้นมากแล้ว จึงเหลือวัคซีนที่จะส่งออกได้

บริษัทหลักทรัพย์ Essence Securities ในฮ่องกง ประเมินว่า ขอแค่จีนจับตลาดให้ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ นั่นจะหมายถึงยอดขายมูลค่า 2,800 ล้านดอลลาร์ฯเลยทีเดียว เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นฐานตลาดที่กว้าง

เคิร์ก แลงแคสเตอร์ แห่งหน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ Council on Foreign Relations บอกว่า การทูตวัคซีนไปได้สวยกับข้อริเริ่มแถบและทาง แผนงานสาธารณูปโภคเชื่อมโลกของสีจิ้นผิง มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

รูปธรรมกำลังเกิดขึ้นแล้ว ยักษ์ใหญ่วงการอี-คอมเมิร์ซ์ อะลีบาบา ได้สร้างคลังสินค้าในเอธิโอเปียกับดูไบ เพื่อเป็นศูนย์กระจายวัคซีนในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน ปักกิ่งกำลังสร้างโรงผลิตวัคซีนในประเทศที่เข้าร่วมการทดลองยาฉีดยี่ห้อจีน เช่น บราซิล โมร็อกโก และอินโดนีเซีย

แลงคาสเตอร์ บอกว่า บริษัทจีนทั้งหลายคงเข้าไปใช้สาธารณูปโภคเหล่านี้แบบต่อยอดแตกไลน์ออกไปอีก นี่คือ’เส้นทางแพรไหมสายสุขภาพ’ ที่จะช่วยสร้างชื่อแก่จีน ควบคู่กับการบุกเบิกตลาดใหม่ๆ แก่บริษัทจีน

คอยดูกันว่า เมื่อวอชิงตันผลัดผู้นำในเดือนมกราคม โจ ไบเดน จะนำอเมริกากลับเข้าองค์การอนามัยโลก ยื่นมือเข้าช่วยประเทศยากจน ผ่านโครงการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน เหมือนอย่างที่ปักกิ่งนำร่องล่วงหน้าไปแล้ว หรือไม่ อย่างไร

 

อ้างอิง

Washington Post, 24 November 2020

Guardian, 29 November 2020

AFP via Yahoo! News, 10 December 2020

 

Tags: