“ดากานดา ฉันรักแกว่ะ”
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ นี่คือประโยคจดจำที่แม้จะครบ 15 ปีของความสัมพันธ์ฉันเพื่อนสนิทในเรื่องนี้ แต่ประโยคดังกล่าวและภาพแห่งความทรงจำถึง ‘ไข่ย้อย–ดากานดา–นุ้ย’ ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมยุคนี้ ราวกับกาลเวลาหยุดนิ่งมาตลอด
เอส—คมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แรงบันดาลใจจากนวนิยายขนาดสั้น ‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’ ของ อภิชาติ เพชรลีลา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2543 ว่าด้วยเรื่องราวของไข่ย้อยที่เล่าผ่านจดหมายที่เขาเขียนส่งถึงดากานดา เพื่อนสนิทในรั้วมหาวิทยาลัย
หากใครได้อ่าน ‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’ จะพบว่าประโยคบอกรักสุดเฉิ่มเชยของไข่ย้อยอาจไม่ใช่ความตราตรึงเพียงหนึ่งเดียว ยังมีถ้อยคำอื่นๆ ของไข่ย้อยที่รอให้คุณฉงนฉงายในเบื้องลึกความรู้สึกที่นอกเหนือจากภาพยนตร์ซุกซ่อนอยู่ตามหน้ากระดาษ เช่น
“และดูเหมือนแกจะรอให้ฉันพูดว่ารักแก เพื่อที่แกจะทำท่าแสร้งว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลย”
หรือแม้แต่ความเศร้าอันลึกซึ้งของไข่ย้อยก็ยังอวลอบด้วยความรักของเขาที่มีต่อดากานดาตลอด 5 ปี
“ดากานดา…การเดินทางมาที่นี่ทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้นมาก แต่บางวันไอ้ความรู้สึกเก่าๆ มันก็ผุดขึ้นอีกทำให้ฉันรู้สึกไม่ดีเลย เวลาห้าปีนานเกินกว่าน้ำเค็มทั้งท้องทะเลจะชำระให้หมดลงได้…”
ด้วยเนื้อหาแนว ‘เฟรนด์โซน’ ที่หนังสือกล่องไปรษณีย์สีแดงและภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิทนำเสนอประกอบกับภาษาเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งในบทสนทนา (ข้างเดียว) ของไข่ย้อย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเรื่องราวเหล่านี้ยังดูใหม่สดและร่วมสมัยอยู่เสมอ เพราะความรู้สึกของผู้คนและอีกหลายประเด็นก็เหมือนจะไม่เคยเปลี่ยนแปร
…..
เรื่องราวของไข่ย้อยในหนังสือจะลงรายละเอียดถึงหมู่เกาะต่างๆ ตามท้องทะเลที่ไข่ย้อยย่ำเท้าและล่องเรือผ่านมากกว่าภาพยนตร์ เราจะเห็นว่าความทรงจำของเขาไม่ได้ฝังอยู่แค่เกาะพะงันเพียงแห่งเดียวแต่ยังลัดเลาะเข้าไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งเกาะนางยวน หาดริ้น หาดท้องยาง หาดทรายนวล และที่หาดทรายนวลแห่งนี้ ตามคำบอกเล่าของไข่ย้อย ได้ทำให้เห็นว่าตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาปัญหาขยะตามท้องทะเลในประเทศไทยยังคงเป็นสิ่งที่ยากจะแก้ไขจนถึงทุกวันนี้
“เกลียดจริงเชียว ไอ้ขยะพลาสติกพวกนี้” เขาเดินไล่เก็บขยะตั้งแต่หัวหาดจนผ่านมาหน้ากระท่อม…
“เกลียดพวกทิ้งเรี่ยราดดีกว่ามั้งพี่ขาว” ฉันตะโกนบอก
“ก็ทั้งนั้นล่ะ ทั้งไอ้คนทิ้ง ทั้งไอ้ขวดไอ้ถุงพลาสติกที่เอาสะดวกเข้าว่า เปิดกินกันเดี๋ยวเดียวแล้วทิ้งเป็นขยะหลายสิบปี”
คนผ่านทางอย่างฉันมาแล้วก็จากไป คงไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งเหล่านี้เหมือนชาวบ้านที่ต้องอยู่ที่นี่ทุกวันอาศัยสิ่งแวดล้อมทำมาหากินเลี้ยงชีวิต แล้วก็จริงอย่างที่พี่ขาวบ่น ตั้งแต่มาทะเล จากเกาะพะงันจนถึงเกาะเต่า ฉันเห็นขวดพลาสติกลอยอยู่ที่ท่าเรือ เกยอยู่ที่หาด เละเทะอยู่ตามทางเดินเต็มไปหมด
คำพูดของพี่ขาวในเรื่องผู้กำลังเดินเก็บขยะบนชายทะเลอ ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากความจริงเลยเพราะบรรดาขยะพลาสติกที่กินง่ายใช้ง่าย ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง เช่นในปี 2019 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก จากปริมาณขยะตามชายฝั่งของไทยปริมาณมากถึง 71,764 ตันต่อวัน
…..
นอกจากนี้ ความไม่เปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอีกประการก็คือ สภาวะเคว้งคว้างของนักศึกษาจบใหม่ที่สะท้อนผ่านตัวละครอย่างไข่ย้อย
ไข่ย้อยเพิ่งเรียนจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาหมาดๆ ยังร้อนแรงด้วยจิตวิญญาณศิลปิน แม้เขาจะหนีมาพักใจหลังอกหักที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เขาก็ยังคงรับวาดภาพให้ฝรั่งตามชายทะเลอยู่เสมอ จากพื้นผิวของเรื่องความสัมพันธ์หรือความโรแมนติก แต่ก็สะท้อนถึงสภาวะต้องดิ้นรนหางานเพื่อแบกภาระของความเป็นผู้ใหญ่ เหมือนที่ไข่ย้อยเล่าถึงถ้อยคำที่ดากานดาพูดกับเขาว่า
“แกเตรียมพร้อมรองรับกับอนาคต แกลืมตากว้าง ในขณะที่ฉันหลับละเมอเพ้อ — เพ้อ แกคอยปลุกให้ฉันตื่นขึ้นมาพบผู้คนและโลก แกด่าฉัน แกว่าฉันไม่ใช่ถวัลย์หรือเฉลิมชัยนะโว้ย ฉันเป็นแค่รองเท้าของเขา และแกว่าฉันต้องทำงาน ถ้าไม่เพื่อตัวเองก็เพื่อคนอื่น ฉันเถียงแกไม่ได้สักคำ ไม่ว่าเรื่องอะไร แกถูกเสมอ”
การที่ไข่ย้อยหนีมาพักจิตพักใจที่สุราษฎร์ฯ คือการหนีจากสภาวะของความกดดันมาปลดปล่อยชีวิตให้อิสระ โดยไม่ต้องเดินตามครรลองของเด็กจบใหม่ที่ต้องเร่งหางานทำ เขาแสวงหาเส้นทางที่ปลีกแยกจากคนส่วนมากในสังคม เขาถวิลหาความเป็นเด็กที่ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวกรำตัวเองด้วยงานหรือข้อบังคับใดๆ ไม่น่าแปลกใจที่ไข่ย้อยจะชอบกับสภาวะ ‘ขาหัก’ ของตัวเอง เพราะเขาได้กลับไปเป็นเด็กที่มี ‘นุ้ย’ คอยดูแลอีกครั้ง ได้เริ่มหัดเดิน และไม่ต้องคิดถึงอนาคตข้างหน้า
ไม่เพียงเท่านั้น ความสับสนในจิตใจไข่ย้อยที่ก่อตัวอย่างช้าๆ เมื่อมีนุ้ยเริ่มเข้ามาในชีวิต ได้ซ้อนทับกับความทรงจำดีๆ ที่เขามีต่อดากานดา สภาวะที่สับสน เคว้งคว้าง และหาคำตอบไม่ได้ว่าควรจะรักใครดีในตอนท้ายของเรื่องนี้ ก็ไม่พ้นความสับสนในความสัมพันธ์ที่วัยรุ่น (และไม่ว่าวัยใด) ยังคงประสบอยู่เสมอ
…..
ภาพของตัวละครและสังคมไทยยังคง ‘ไม่ไปไหน’ แม้หนังสือ(ที่ไม่มีเลขหน้า) อย่าง ‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’ หรือภาพยนตร์เรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ จะผ่านเวลามานานแค่ไหนก็ตาม
ที่มา:
https://www.bltbangkok.com/poll/5118/
https://erc.kapook.com/article17.php
Fact Box
หนังสือ : กล่องไปรษณีย์สีแดง
ผู้เขียน: อภิชาติ เพชรลีลา
สำนักพิมพ์ : นกดวงจันทร์