“Do you still ride an elephant to school?” (เธอยังขี่ช้างไปโรงเรียนอยู่ไหม?) คำถามที่นักเรียนไทยในต่างแดนเกือบทุกคนเคยถูกเพื่อนชาวต่างชาติถาม ได้กลายเป็นประเด็นอีกครั้งในสังคมออนไลน์ หลังจากแฮชแท็ก #thisis2016 ที่ชาวเอเชียทั่วโลกได้ออกมาระบายประสบการณ์การถูกเหยียดเชื้อชาติของตัวเอง ถูกแชร์ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นวงกว้าง จนเขย่าประเด็นการเหยียดเชื้อชาติในสังคมตะวันตกให้สะเทือนอีกครั้ง
#thisis2016 เริ่มจากอะไร? ทำไมชาวเอเชียถึงออกมาระบายสิ่งที่ตัวเองเคยพบเจอกันมากมายขนาดนี้ ซึ่งสะท้อนว่าการเหยียดเชื้อชาติยังไม่เคยหายไปจากสังคมตะวันตก แม้โลกจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multiculturalism) ที่ตะวันตกยกย่องและเชิดชูนั้นจะเป็นแค่ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขารับรู้ แต่ไม่เคยยอมรับมันจริงๆ ใช่หรือไม่?
#thisis2016 เสียงสะท้อนความในใจของชาวเอเชียในสังคมอเมริกัน
เมื่อเดือนตุลาคม 2016 ไมเคิล ลัว (Michael Luo) ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย นักเขียนประจำ The New York Times เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ตะโกนใส่เขาว่า “Go back to China!” (กลับประเทศจีนไปซะ!) พร้อมกับเริ่มแฮชแท็ก #thisis2016 เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสียงของคนเอเชียในสังคมตะวันตกที่เคยเจอประสบการณ์การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ในชีวิตประจำวัน
จดหมายเปิดผนึกของ ไมเคิล ลัว เปิดเผยเรื่องราวของเขาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงชาวอเมริกันในวันหนึ่ง…
“ถึง คุณสุภาพสตรี
“จริงๆ แล้วผมอาจจะควรปล่อยเรื่องนี้ไป หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ซะ วันนั้นพวกเราออกมาจากโบสถ์ และผมอยู่กับครอบครัวและเพื่อนในฝั่งตะวันออกของแมนฮัตตัน พวกเรากำลังเดินไปกินอาหารกลางวัน และมองหาโต๊ะว่างในร้านอาหารเกาหลีที่สุดถนน ซึ่งตอนนั้นคุณกำลังรีบ และฝนก็กำลังตก กลุ่มพวกเราที่มีทั้งรถเข็นเด็กและกำลังพูดคุยกันเสียงดังคงจะไปขวางทางคุณเข้า
“แต่ผมก็ยอมรับว่า ผมแน่นิ่งไปเลยเมื่อคุณตะโกนใส่พวกเราว่า ‘กลับประเทศจีนไปซะ!’
“ผมลังเลอยู่สักครู่หนึ่ง ก่อนจะวิ่งไปหาคุณ ซึ่งมันคงจะทำให้คุณกลัว เพราะคุณหยิบไอโฟนออกมาและขู่ว่าจะโทรแจ้งตำรวจ ซึ่งมันเป็นตลกร้าย เพราะคนที่ควรจะถูกจับคือคุณมากกว่าผม ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อผมเดินออกมา แล้วคุณตะโกนใส่หลังผมว่า “Go back to your fucking country!” (กลับประเทศเฮงซวยของเธอซะ!)
“ผมจึงตะโกนกลับไปว่า ‘ฉันเกิดในประเทศนี้!’
“ผมรู้สึกว่าการกระทำของผมมันงี่เง่า แต่ผมนึกไม่ออกว่าผมจะแสดงออกด้วยวิธีไหน เพื่อบอกว่าผมมาจากไหน
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมโดนเหยียดเชื้อชาติ ลองถามชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนไหนก็ได้ พวกเขาล้วนมีความทรงจำของการถูกเหยียดเชื้อชาติในโรงเรียน หรือบนท้องถนน และร้านขายของชำ เมื่อผมถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนทวิตเตอร์ คนจำนวนมหาศาลตอบกลับมาเพื่อบอกว่าพวกเขาก็เจอสิ่งเดียวกัน
“แต่ด้วยเหตุผลบางประการ สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ที่อาจจะมีผลมาจากบรรยากาศทางการเมือง ทำให้ผมรู้สึกต่างออกไป
“วันนั้นผมเดินกลับบ้านด้วยความรู้สึกเศร้าที่เกิดขึ้นในใจ…”
นอกจากจดหมายเปิดผนึกของ ไมเคิล ลัว ที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ The New York Times เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2016 แล้ว The New York Times ยังได้ทำวิดีโอรวบรวมประสบการณ์การดูถูกชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ซึ่งหลังจากนั้นสมาคมนักเรียนเอเชียในสหรัฐฯ (Bowdoin Asian Students Association) จึงทำแคมเปญรณรงค์เรื่องการเหยียดเชื้อชาติในสังคมตะวันตก ด้วยการถ่ายรูปชาวเอเชีย รวมถึงเชื้อชาติอื่นๆ ในสหรัฐฯ จำนวน 50 คน ยืนถือป้ายที่เขียนถึงประสบการณ์ของตัวเอง และเผยแพร่รูปถ่ายดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊ก Bowdoin Asian Students Association เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2016
50 ข้อความจากพวกเขาพูดแทนคนเอเชียในสังคมตะวันตกได้ชัดเสียยิ่งกว่าชัด
จนแฮชแท็ก #thisis2016 ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่องในโลกออนไลน์
‘Multicultural Society’ สังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย แต่ไม่เคยเท่าเทียม?
“Your eyes are big for an Asian.” (ตาของเธอโตจนเหมือนไม่ใช่คนเอเชีย), “Are you going to bomb something?” (เธอกำลังจะไปวางระเบิดที่ไหนไหม?), “Why do all Asian peoples’ noses look like their parents smacked them with a frying pan?” (ทำไมจมูกของคนเอเชียแบนอย่างกับพ่อแม่ของพวกเขาตีมันด้วยกระทะ?), “No, you can’t use a dental floss as a blindfold…seriously?” (ไม่… เธอไม่ควรใช้ไหมขัดฟันเป็นที่ปิดตาเธอได้… จริงๆ นะ) หรือ “Could you speak with an American accent?” (เธอช่วยพูดด้วยสำเนียงอเมริกันได้ไหม?)
นี่คือข้อความส่วนหนึ่งใน 50 ข้อความที่ถูกเผยแพร่โดยสมาคมนักเรียนเอเชียในสหรัฐฯ ที่สะท้อนให้เห็นการพูดเหยียดเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางสรีระหน้าตา ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ หรือการเหมารวมคนเอเชียว่าจะต้องคิดหรือทำอะไรเหมือนกัน (Stereotype) เช่น คนเอเชียจะต้องเรียนเลขเก่ง คนเอเชียทุกคนมาจากประเทศจีน หรือคนที่หน้าตาเหมือนคนตะวันออกกลางจะต้องถูกถามว่า “เธอจะไปวางระเบิดที่ไหนหรือเปล่า?”
คนพูดอาจไม่คิดจริงจัง แต่คนฟังรู้สึกจริง
แต่ทุกข้อความนั้นสะท้อนการเหยียดเชื้อชาติจริงๆ หรือเปล่า?
เพราะเมื่อดูความคิดเห็นใต้รูปภาพเหล่านี้ มีบางความคิดเห็นที่แย้งว่า บางข้อความอาจจะไม่ถึงกับเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เช่น ข้อความที่พูดถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอย่าง “Wow! Your English is really good!” (ภาษาอังกฤษของคุณดีมาก!) อาจเป็นแค่การแสดงความแปลกใจ เพราะเมื่อดูจากรูปลักษณ์แล้ว ชาวอเมริกันอาจนึกว่าเป็นนักท่องเที่ยว รวมถึงบางความคิดเห็นที่บอกว่า คนที่ทำแคมเปญนี้มีความเหยียดเชื้อชาติซะเอง เพราะการเป็นชาวเอเชียก็ไม่เห็นจะมีอะไรผิดตรงไหน
#thisis2016 นั้นสะท้อนเสียงของคนเชื้อชาติเอเชียในสหรัฐฯ ทั้งที่เกิดและโตที่นั่น และคนที่เพิ่งย้ายไปเพื่อเรียนหรือทำงาน
ดร.ณิชา สมันตรัฐ ชาวไทยที่จบการศึกษาด้านแพทย์ศาสตร์ธรรมชาติบำบัด จากสหรัฐฯ ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯ มา 11 ปี เล่าให้ The Momentum ฟังว่า “เมื่อคนฝรั่งเจอคนเอเชีย มันเหมือนกับหน้าพวกเราจะมีป้ายแปะไว้ อย่างคนที่เกิดและโตที่นี่มาตลอดชีวิต เมื่อพวกเขาโดนถามว่า ‘Where are you from?’ (คุณเป็นคนประเทศอะไร?) และพอพวกเขาตอบว่า ‘ฉันเป็นคนประเทศนี้แหละ’ ก็จะถูกถามต่อว่า ‘No, I mean where are you originally from?’ (ไม่ ฉันหมายถึงว่าเธอมาจากประเทศอะไรโดยต้นกำเนิด?) ซึ่งมันทำให้คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียรู้สึกว่า คนอเมริกันไม่นับรวมพวกเขาเป็นคนอเมริกัน
“ส่วนประเด็นเรื่องการเหมารวมว่าคนเอเชียจะต้องเก่งเลข ต้องเนิร์ด หรือเป็นลูกแหง่นั้น ดร.ณิชา เล่าว่า “บางเรื่องมันเป็นอย่างนั้นจริง แต่ประเด็นคือฝรั่งเอามาล้อเป็นเรื่องตลก ดูอย่างตัวละครเอเชียที่เป็นเพื่อนนางเอกในเรื่อง Gilmore Girls สิ หนังก็จะหยิบประเด็นเรื่องพ่อแม่เอเชียประคบประหงมลูกมาเล่นตลอด แต่ส่วนตัวเห็นว่ากระแส #thisis2016 นั้นเป็นแค่ความรู้สึกพารานอยด์มากกว่า เหมือนกับถ้าคนไทยเชื้อสายจีนถูกถามว่ามาจากเมืองไหน ก็คงเป็นความรู้สึกพารานอยด์ว่า ฉันเกิดที่นี่ ฉันเป็นคนไทยอะไรแบบนี้”
แม้บางประสบการณ์ของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่ถูกถ่ายทอดผ่าน #thisis2016 จะถูกมองว่าไม่ถึงกับเป็นการเหยียดเชื้อชาติ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ วันนี้การเหยียดเชื้อชาตินั้นยังมีอยู่อย่างแน่นอนในสังคมตะวันตก อย่างการหยอกล้อระหว่างเพื่อนฝูงในโรงเรียน ที่ อสิธารา เพชรน้ำเอก ชาวไทยที่เคยไปศึกษาในชั้นระดับมัธยมปลายที่สหรัฐฯ เคยถูกเพื่อนในโรงเรียนถามว่า “คนไทยมีอะไรกับลาเหรอ?”
“ฉันรู้สึกไม่โอเคกับคำถามนี้นะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องเพศด้วย หรืออย่างที่คนไทยถูกถามบ่อยๆ เรื่องขี่ช้างไปโรงเรียน ฉันรู้สึกแปลกใจนะว่า พวกเขาไม่รู้ขนาดนั้นเลยหรือว่าตอนนี้ประเทศเราเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าดูจากวิชาเรียนที่นู่นก็เข้าใจได้ เพราะอย่างในวิชาประวัติศาสตร์ แม้พวกเขาจะเรียนประวัติศาสตร์โลก แต่ก็เรียนแค่ในมุมมองของอเมริกา แต่คนน่ารักๆ ก็เยอะนะ ไปไหนมาไหนก็รู้สึกปกติ” เธอเปิดเผยกับ The Momentum
นอกจากนี้ การเหยียดทางคำพูดยังมีเรื่องจริงจังอย่าง การถูกดูถูกความสามารถในทุกสาขาวิชาชีพ ดร.ณิชา เล่าต่อว่า “เคยเจอคนขาวที่ไม่ชอบคนเอเชีย และคิดว่าคนเอเชียไม่เก่ง มีอาจารย์ที่ปรึกษาคนหนึ่งมักปฏิบัติกับนักเรียนเอเชียต่างจากนักเรียนผิวขาว แต่สมัยนี้ก็เป็นส่วนน้อยแล้วที่เป็นแบบนี้ ยกเว้นบางรัฐที่ยังไม่ค่อยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เช่น รัฐยูทาห์ และรัฐอื่นๆ ที่เลือกทรัมป์ พวกเขาจะยังไม่ชินกับคนเอเชีย”
การเหยียดเชื้อชาติไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ แต่ยังเกิดขึ้นในยุโรปเช่นกัน เพราะความเห็นของ ดร.ณิชา สอดคล้องกับประสบการณ์ของ คิน คิน ยอ (Khin Khin Yaw) ชาวเมียนมา ระหว่างที่เธอกำลังศึกษาระดับปริญญาโท ในประเทศอังกฤษ “โชคร้ายที่ฉันรู้สึกว่าฉันโดนเพื่อนๆ ดูถูกความสามารถนะ เมื่อพวกเขาเห็นฉันเป็นคนเอเชีย อย่างเวลาฉันริเริ่มไอเดียอะไรเวลาทำงานกลุ่ม แม้มันจะเป็นไอเดียที่ดี แต่พวกเพื่อนๆ ไม่ค่อยให้เครดิตฉันหรอก” เธอเปิดเผยกับ The Momentum
มาร์กาเร็ต หยาง (Margaret Yang) ชาวไต้หวันยังเล่าประสบการณ์ระหว่างที่เธอคุยกับพนักงานร้าน Boots ที่อังกฤษให้ The Momentum ฟังว่า “มีอยู่วันหนึ่ง ฉันถามพนักงานเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งฉันเข้าใจภาษาอังกฤษดี แต่แค่อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม พนักงานกลับแสดงอาการโมโห และหันไปพูดกับพนักงานอีกคนว่า ฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคนเอเชียในอังกฤษหลายคนถึงใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง”
ปัจจุบันเกือบทุกสังคมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษามากขึ้น และจะหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตตามแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
ซึ่งความหลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในศตวรรษที่ 21 แต่การเกิด#thisis2016 ก็ทำให้เกิดคำถามว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้หรือเปล่า?
อ้างอิง:
– http://www.nytimes.com/2016/10/10/nyregion/to-the-woman-who-told-my-family-to-go-back-to-china.html?_r=0
– https://www.youtube.com/watch?v=fW_CGzF32Bs