ไต้หวันจับมือสหรัฐฯเดินหน้าแผนสนับสนุนโครงการสาธารณูปโภคในเอเชีย ประชันกับความริเริ่มแถบและทางของจีน ขณะที่ปักกิ่งปรามการกระชับความเป็นพันธมิตรระหว่างไทเปกับวอชิงตัน
โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะไป โจ ไบเดน กำลังจะมา รัฐบาลไต้หวันแสดงความมั่นใจ รัฐบาลอเมริกัน ไม่ว่านำโดยพรรครีพับลิกัน หรือพรรคเดโมแครต จะยังคงส่งเสริมการปกครองตนเองของไต้หวันต่อไป
ขณะเดียวกัน จีนยังคงคัดค้านความเป็นพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการระหว่างมหาอำนาจอเมริกากับดินแดนที่จีนถือเป็นเขตปกครองที่กระด้างกระเดื่องของตน และยังคงยืนยันทางเลือกของการรวมชาติด้วยกำลัง
ทำเนียบขาวในยุคทรัมป์ได้ขยายความร่วมมือกับไต้หวันทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ในยุคไบเดน แนวโน้มเช่นนี้คงดำเนินต่อไป เพราะผู้นำจากพรรคโมแครตมองจีนเป็นภัยคุกคามสำหรับอเมริกาไม่ต่างจากทรัมป์
ทางเลือกที่โปร่งใสกว่า
เมื่อวันพุธ (27 พ.ย.) รัฐมนตรีคลังไต้หวัน ซูเจนหรง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า ไต้หวันกับสหรัฐฯกำลังผลักดันแผนการที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการด้านสาธารณูปโภคและด้านพลังงานแก่ประเทศในเอเชียและละตินอเมริกา คาดว่าโครงการแรกๆจะเริ่มได้ภายในเวลาหนึ่งหรือสองปี
แผนความร่วมมือไต้หวัน-สหรัฐฯที่ว่านี้ มีการลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนกันยายน จนถึงขณะนี้ แผนดังกล่าวมีประเทศต่างๆร่วมทำข้อตกลงกับสหรัฐฯแล้ว 16 ประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ไต้หวันเป็นรายล่าสุดที่ร่วมลงนาม
ตามแผนการนี้ หน่วยงานด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ คือ U.S. International Development Finance Corporation จะเป็นตัวกลางในการระดมทุนจากภาคเอกชนในรูปของการขายพันธบัตร ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการเงินทุนสนับสนุนโครงการสามารถกู้ยืมจากแหล่งทุนแห่งนี้ได้
รัฐมนตรีคลังไต้หวันบอกว่า แผนการนี้เป็นตัวเลือกที่โปร่งใสกว่าในแง่ของการทำสัญญาเงินกู้ และก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินต่ำกว่าเมื่อเทียบกับแผนแถบและทางของจีน ขณะที่เงินกู้จากจีนมาจากบรรษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ เงินกู้จากแผนการที่นำโดยสหรัฐฯจะมาจากการระดมทุนในตลาด
กลไกธรรมาภิบาลที่กำกับการขายพันธบัตรในตลาดการเงิน คือ เครื่องมือบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูล เช่น จำนวนเงินทุนที่ระดมได้ ผลตอบแทน วัตถุประสงค์ในการใช้เงิน
ตามตัวเลขประมาณการของธนาคารโลก เมื่อปี 2019 ความริเริ่มแถบและทางของจีนได้ลงมือก่อสร้าง หรือกำลังก่อสร้างโครงการในหลายประเทศ คิดเป็นมูลค่าราว 575,000 ล้านดอลลาร์ฯ สหรัฐฯคาดว่าแผนทางเลือกที่ว่านี้จะลงทุนเป็นมูลค่าประมาณ 75,000 ล้านดอลลาร์ฯภายในปี 2025
พันธมิตรทัดทานจีน
รัฐมนตรีคลังไต้หวันบอกอีกว่า รัฐบาลทรัมป์ถือเอาการหนุนหลังไต้หวันเป็นหนึ่งในเสาหลักของยุทธศาสตร์ทัดทานการแผ่อิทธิพลของจีน เชื่อว่าเมื่อไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม ความร่วมมือด้านการเงินดังกล่าวจะยังคงเหมือนเดิม
ตลอดปีที่ผ่านมา สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่งผลดีต่อไต้หวัน ยอดส่งออกไปยังสหรัฐฯพุ่งสูง เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสามของไต้หวันขยายตัว 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า รัฐบาลไต้หวันปรับประมาณการเติบโตของจีดีพีตลอดทั้งปีขึ้นเป็น 2.5% จากที่เคยคาดไว้ 1.6% อันเป็นผลจากการส่งออกที่พุ่งแรง
ในด้านความมั่นคง ความร่วมมือไต้หวัน-สหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน ทรัมป์ได้ลงนามอนุมัติการขายระบบอาวุธชั้นสูงแก่ไต้หวันหลายรายการ รวมถึงเครื่องบินรบรุ่นใหม่ๆ รวมมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ฯ
มังกรขู่คำราม
วันเดียวกัน ประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน พูดแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไบเดนจะสนับสนุนไต้หวันต่อไป ถ้อยแถลงนี้ทำให้ฝ่ายจีนออกมาโต้ตอบในทันที
ผู้นำสตรีคนแรกของไทเป บอกว่า ตัวเองเคยพบหน้าว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน กับว่าที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประจำทำเนียบขาว เจค ซัลลิแวน มาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น ช่องทางการสื่อสารกับวอชิงตันนับว่าราบรื่น
เธอบอกว่า ไต้หวันได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งสองพรรคในรัฐสภาอเมริกัน ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ทำข้อตกลงขายอาวุธแก่ไต้หวันรวม 10 ฉบับ ไทเปจะเดินหน้าแลกเปลี่ยนมิตรไมตรีกับวอชิงตันต่อไปภายใต้รัฐบาลไบเดน
เมื่อเดือนสิงหาคม ทรัมป์ส่งรัฐมนตรีสาธารณสุข อเล็กซ์ อาซาร์ ไปเยือนไต้หวัน ตามด้วยรัฐมนตรีช่วยฯต่างประเทศ คีธ คราช ในเดือนต่อมา ไช่ประกาศว่า การเยือนระดับรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งเป็นการเยือนทางการทูตระดับสูงที่สุดนับแต่ปี 1979 แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันกับสหรัฐฯนับเป็น “เพื่อนแท้”
จีนตอบโต้การเยือนทั้งสองครั้ง ด้วยการส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าไปในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน
เมื่อวันพฤหัสฯ (26 พ.ย.) จีนแถลงโจมตีไต้หวันว่า “วางแผนแยกตัวเป็นเอกราช” โฆษกกลาโหมบอกว่า จีนคัดค้านการติดต่ออย่างเป็นทางการและการแลกเปลี่ยนทางทหารในทุกรูปแบบระหว่างสหรัฐฯกับไต้หวัน และบอกด้วยว่า การรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนคือ เจตนารมณ์ของประชาชน
“เราจะไม่ยอมให้ใครล่วงล้ำหรือแบ่งแยกดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของจีน กองทัพจีนมีความแน่วแน่ที่จะเข้าปะทะอย่างซึ่งหน้าต่อภัยที่คุกคามอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน”
อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนในความควบคุมของรัฐบาลจีนคาดหมายในแง่ดีว่า รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯจะเดินสายกลางและน่าไว้วางใจกว่าไมค์ ปอมเปโอ ที่กำลังจะพ้นหน้าที่ เนื่องจากบลิงเคนเคยพบสัมผัสรัฐบาลจีนมาบ้างแล้วตั้งแต่ทำงานให้รัฐบาลบารัค โอบามา
สัมพันธ์สามเส้า สหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน จะเป็นอย่างไรในยุคไบเดน พัฒนาการนี้จะส่งผลอย่างไรต่อเอเชีย-แปซิฟิก คอยดูกันต่อไป
อ้างอิง:
Tags: สหรัฐอเมริกา, ไต้หวัน, จีน