วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เป็นวันที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ประชาชนว่า เป็นครั้งแรกที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเรือนแสนทั่วประเทศเข้าชื่อกัน ได้มีตัวแทนเข้าไปเสนอในรัฐสภา อธิบายอย่างแจ่มชัดว่าเหตุใดรัฐธรรมนูญ 2560 จึงบิดเบี้ยวผิดปกติ ไร้ความชอบธรรมและไม่อาจอำนวยความยุติธรรม และเหตุใดร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์จึงเป็น ‘ข้อเสนอธรรมดา’ เพื่อถามหาสิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐาน สะท้อนความปรารถนาของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นระบอบการเมืองที่บิดเบี้ยวในปัจจุบันได้รับการแก้ไขให้กลับเป็น ‘ปกติ’ 

ผู้เขียนเคยเขียนในบทความ สิทธิที่จะเปลี่ยนใจ: เหตุผลที่ทุกคนควรสนับสนุนกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า คนไทยทุกคนควรสนับสนุนกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเปิดโอกาสเราได้ฟังแนวทางแก้ปัญหา และใครที่ยังยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่าชื่นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่เสียสิทธิอะไรเลย เมื่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น เราได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อถึงตอนนั้นถ้าเปรียบเทียบร่างนี้กับรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วยังชอบของเดิมมากกว่า ก็มีสิทธิไปโหวต ‘ไม่รับ’ ในการลงประชามติรอบใหม่ได้ และเสียงส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ใครก็ตามที่ต่อต้านและพยายามปิดกั้นไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนผ่านแม้วาระรับหลักการในสภา จึงกำลังพยายามปิดกั้นโอกาสของประชาชนทั้งประเทศในการมีส่วนร่วมกับกระบวนการ ปิดกั้นไม่ให้ใช้สิทธิที่จะเปลี่ยนใจ (และสิทธิที่จะไม่เปลี่ยนใจ) 

คนที่ต่อต้านจึงใจแคบอย่างยิ่ง หลายคนเข้าขั้น ‘อำมหิต’ เลยเถิดไปใส่ร้ายป้ายสีโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ตัวตั้งตัวตีในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ IO ปล่อยข่าวลวงข่าวปลอม เนื้อหาบิดเบือนต่างๆ นานา เพื่อดิสเครดิตไอลอว์และผลงานของไอลอว์ 

ผู้เขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งร่วมกับประชาชนเรือนแสนที่เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญร่วมกับไอลอว์ ติดตามการทำงานของไอลอว์ด้วยความชื่นชมมาตั้งแต่แรกตั้ง มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมไอลอว์อย่างใกล้ชิดเมื่อครั้ง รณรงค์ยกเลิก ชุดกฎหมาย ‘ความมั่นคงดิจิทัล เมื่อปี 2559 ในฐานะสมาชิกของเครือข่ายพลเมืองเน็ต 

ในฐานะแฟนพันธุ์แท้ของไอลอว์ เพื่อนร่วมงานเป็นครั้งคราวของไอลอว์ และคนที่คุ้นเคยกับการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในไทยมานานพอสมควร เพราะองค์กรหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งคือเครือข่ายพลเมืองเน็ต ก็เป็นเอ็นจีโอที่ทำงานในประเด็นคาบเกี่ยวกับไอลอว์ คือเสรีภาพออนไลน์ ผู้เขียนจึงคิดว่าควรเขียนอธิบายเรื่องการหาทุน การทำงานของเอ็นจีโอพอสังเขปเป็นบทความ เพราะคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เมื่อไม่เข้าใจก็อาจตกเป็นเหยื่อของ IO สื่อเสี้ยม หรือนักการเมืองกองเชียร์รัฐบาลได้อย่างง่ายดาย

ผู้เขียนอยากอธิบายในรูปแบบการตอบคำถามสั้นๆ สองคำถาม คือ หนึ่ง ทำไมไอลอว์และเอ็นจีโอไทยอีกหลายแห่ง จึงต้องรับเงินจากองค์กรต่างชาติ และ สอง แหล่งทุนต่างชาติแทรกแซงการทำงานของเอ็นจีโอได้หรือไม่

ต่อคำถามแรก ผู้เขียนตอบว่า เอ็นจีโอไทยไม่จำเป็นต้องรับเงินต่างชาติก็ได้ ถ้าหากว่าแหล่งทุนในประเทศมีความหลากหลาย มีความกล้าหาญ มีความเป็นอิสระ และมีกลไกทางกฎหมายคุ้มกันมากพอที่จะปลอดอิทธิพลจากรัฐ ในการทำงานประเด็นแหลมคมที่ท้าทายอำนาจรัฐ 

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ รัฐไทยมีอำนาจที่จะแทรกแซงและกลั่นแกล้งแหล่งทุนในประเทศตลอดมา ไม่นับการคุกคามตัวบุคคลทั้งทางตรงและทางอ้อม แหล่งทุนจำนวนมากซึ่งจดทะเบียนในรูปแบบสมาคมหรือมูลนิธิจึงเลือกที่จะอยู่ใน ‘safe zone’ คือสนับสนุนประเด็นที่ไม่ท้าทายอำนาจรัฐ 

ดังนั้นเราจะสังเกตได้ว่า เอ็นจีโอไทยที่ทำงานในประเด็น ‘ไม่อ่อนไหว’ อาทิ การศึกษา ผู้สูงวัย ความยากจน ผู้พิการ การพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม (แนวให้การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมสร้างความตระหนัก ไม่ใช่แนวรณรงค์คัดค้านโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิชุมชน) โดยมากจะไม่มีปัญหาในการหาทุนทำงานจากแหล่งทุนในประเทศ เพราะมีแหล่งทุนมากมาย ตั้งแต่ มูลนิธิ ฝ่ายซีเอสอาร์ (CSR) ของบริษัทเอกชน และกองทุนต่างๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุน 

เอ็นจีโอที่ทำงานในประเด็น ‘ไม่อ่อนไหว’ (เพราะไม่ท้าทายอำนาจรัฐ) นั้น หลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และกองทุนของรัฐรูปแบบต่างๆ ด้วย ส่งผลให้ในภาพรวม เอ็นจีโอที่ทำงานในประเด็นเหล่านี้มีทางเลือกค่อนข้างมากในการหาทุน

ในยุครัฐบาลทหารปัจจุบัน ‘ประเด็นอ่อนไหว’ ที่ท้าทายอำนาจรัฐ มีตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง และประชาธิปไตย ส่งผลให้แหล่งทุนในประเทศที่ส่งเสริมการทำงานในประเด็นเหล่านี้มีน้อยมาก 

แหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานของรัฐไม่ต้องพูดถึงว่าจะสามารถสนับสนุนประเด็นเหล่านี้หรือไม่ ส่วนแหล่งทุนเอกชน เช่น มูลนิธิที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีเงินล้าน หรือฝ่ายซีเอสอาร์ของบริษัทใหญ่ ก็ย่อมไม่ต้องการเสี่ยงที่จะเผชิญกับการแทรกแซงหรือการคุกคามจากรัฐ ต่อให้คณะกรรมการหรือผู้บริหารแหล่งทุนจะสนใจประเด็นเหล่านี้ก็ตาม

แม้แต่แหล่งทุนที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในไทย มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ มีอิสระในการทำงานเพราะได้รับงบประมาณที่กันมาเป็นการเฉพาะ อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังเคยถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบแบบ ‘เฉพาะกิจ’ หลังรัฐประหาร 2557 ไม่นาน เป็นข่าวเกรียวกราวต่อเนื่องหลายเดือน ผู้จัดการ สสส. พยายามอธิบายหลายต่อหลายรอบว่า

“สสส. มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ยุ่งกับการเมือง และไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การพิจารณาให้ทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่าเอ็นจีโอคนนั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร” 

ผู้เขียนมองว่า ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐไทย (แต่ไหนแต่ไรมา) ไม่อยากสนับสนุนการทำงานของเอ็นจีโอในประเด็นที่ท้าทายอำนาจรัฐนั้น เป็นเครื่องสะท้อนภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ของประชาธิปไตยไทย เพราะในความเป็นจริงแล้ว รัฐควรสนับสนุนทุกประเด็นที่ภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอทำงาน ในฐานะภาคส่วนที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาสังคม

ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศสนับสนุนให้เอ็นจีโอ “ยุ่งกับการเมือง” และท้าทายอำนาจรัฐอยู่เสมอ เพราะมองว่าเอ็นจีโอเป็นตัวแทนประชาชน และประชาชนควรมีส่วนร่วมในการเมืองและทุกๆ เรื่อง ประเทศเยอรมนีอนุญาตให้พรรคการเมืองจัดตั้งและให้ทุนสนับสนุนมูลนิธิเพื่อทำงานขับเคลื่อนวาระหลักของพรรคโดยตรง มูลนิธิของพรรคการเมืองหลักๆ ในเยอรมนี อาทิ Heinrich Boll, Friedrich Naumann และ Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) ทำงานทั่วโลกรวมถึงมีสำนักงานในไทย มีบทบาทยาวนานในการสนับสนุนเอ็นจีโอไทยที่ทำงานในประเด็นที่มูลนิธิเหล่านี้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาสื่ออิสระ การขยับขยายสิทธิพลเมือง กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน และการพัฒนาประชาธิปไตย 

ด้วยเหตุที่ประเด็น ‘อ่อนไหว’ เป็นสิ่งที่แหล่งทุนในประเทศโดยมากไม่อยากแตะต้องด้วยเหตุผลที่พูดไปแล้ว เอ็นจีโอไหนก็ตามที่ทำงานในประเด็นเหล่านี้ จึงมักจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหาทุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ 

ในเมื่อประเด็น ‘อ่อนไหว’ ในไทยล้วนเป็นประเด็น ‘สากล’ ที่แหล่งทุนระดับโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาขอทุนทำงานในประเด็นเหล่านี้จากแหล่งทุนระดับโลก โดยเฉพาะเอ็นจีโอชั้นนำอย่างไอลอว์ที่ทำงานด้านการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิพลเมืองมายาวนาน มีผลงานมากมายอาทิ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ แหล่งข้อมูลที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกคนที่สนใจเรื่องกฎหมายและคดีสิทธิเสรีภาพ (ผู้เขียนอยากเสริมว่า ทุกวันนี้ที่จริงเอ็นจีโอเริ่มมีทางเลือกอื่นในการหาทุนแล้ว เช่น การระดมทุนออนไลน์จากคนทั่วไปหรือ crowdfunding แต่กลไกเหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย) 

คำถามที่สองคือ แหล่งทุนต่างชาติแทรกแซงการทำงานได้หรือไม่

ตอบสั้นๆ ว่า อาจจะแทรกแซงได้ก็ได้ แต่แหล่งทุนจะแทรกแซงไปทำไม ในเมื่อการทำงานปกติก็เพียงพอแล้วให้แหล่งทุนบรรลุเป้าหมายที่ตนประกาศ

แหล่งทุนชั้นนำจะมีการประกาศประเด็นที่สนใจจะให้การสนับสนุนไว้บนหน้าเว็บไซต์อย่างเปิดเผย ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Open Society Foundations ซึ่งก่อตั้งโดย จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชื่อดัง ประกาศว่าสนับสนุนประเด็นสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย การศึกษาเด็กเล็ก ความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ สิทธิดิจิทัลและข้อมูลข่าวสาร สื่อเสรี การเคลื่อนไหวและสถาบันด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

เอ็นจีโอในประเทศต่างๆ ที่ทำงานในประเด็นเหล่านี้สามารถเขียนโครงการ สมัครขอรับทุนได้ ถ้าวาระที่เขียนอธิบายในโครงการของเอ็นจีโอตรงกับวาระของแหล่งทุน แหล่งทุนประเมินแล้วมองว่าเอ็นจีโอมีศักยภาพ มีธรรมาภิบาลและน่าจะสามารถบรรลุเป้าประสงค์ของโครงการนั้นๆ ได้ ก็จะให้ทุน

ไอลอว์เป็นหนึ่งในเอ็นจีโอไทยจำนวนมากที่รับเงินจากแหล่งทุนต่างชาติ แต่เป็นส่วนน้อยที่เปิดเผยอย่างชัดเจนบนเว็บไซต์องค์กรว่ารับทุนจากแหล่งทุนใดบ้าง (ผู้เขียนรู้สึกขำทุกครั้งที่สื่อเสี้ยมและ IO ใช้คำว่า “แฉ” เวลาเขียนเรื่องนี้ เพราะตัวเองก็อ่านได้จากเว็บไซต์ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ไม่ต้องใช้ความพยายามในการขุดคุ้ยใดๆ เลย) 

การกล่าวว่าไอลอว์ “รับเงินต่างชาติ” จึงเป็นการพูดข้อเท็จจริง ไอลอว์เองก็ไม่เคยปิดบัง เหตุผลในการรับเงินต่างชาตินั้นผู้เขียนก็ได้พยายามอธิบายแล้วในบทความนี้

แต่การกล่าวอย่างเลยเถิดว่าไอลอว์ “รับเงินต่างชาติมาแทรกแซงการเมืองไทย” หรือ “รับเงินมาร่างรัฐธรรมนูญโซรอส/อเมริกา โซรอส/อเมริกาจะฮุบประเทศ” นั้น เป็นการ ‘มโน’ ขึ้นมาใส่ร้ายป้ายสีโดยที่ไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆ รองรับแม้แต่น้อย

ใครก็ตามที่กล่าวหาทำนองนี้ ต้องตอบคำถามสามข้อต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย ถ้าอยากให้คนเชื่อว่าข้อกล่าวหานี้มีมูลความจริงอยู่บ้าง

1.งานของไอลอว์หรือเอ็นจีโอรายไหนก็ตาม เป็นผลเสียร้ายแรงต่อประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างไร ถึงได้ควรค่าแก่การมาตั้งแง่ มาตั้งคำถามต่อว่ามีต่างชาติแทรกแซงหรือไม่

2.มีข้อมูลอะไรที่บ่งชี้ว่า จอร์จ โซรอสหรือรัฐบาลอเมริกา (หรือใครก็ตามที่เชื่อว่า “อยู่เบื้องหลัง”) จะได้ประโยชน์จากงานของไอลอว์ ในทางที่คนไทยเสียประโยชน์

3.มีข้อมูลอะไรที่บ่งชี้ว่า จอร์จ โซรอสหรือรัฐบาลอเมริกา (หรือใครก็ตามที่เชื่อว่า “อยู่เบื้องหลัง”) เป็น ‘ผู้บงการ’ แหล่งทุนต่างชาติที่ให้ทุนไอลอว์ ในเมื่อแหล่งทุนต่างชาติชั้นนำทุกแห่งออกแบบโครงสร้างการทำงานที่เป็นอิสระ เชิญตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าเป็นคณะกรรมการ พยายามยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ไม่ปล่อยให้เจ้าของเงินมาเจ้ากี้เจ้าการ บงการการใช้เงินสนับสนุนโครงการได้ง่ายๆ 

ผู้เขียนเห็นว่า สำหรับทุกคนที่คิดเป็น มีวิจารณญาณ พยายามไม่ตกเป็นเหยื่อของ IO และสื่อเสี้ยมทั้งหลาย ลองตอบแค่ข้อแรกข้อเดียวก็ชัดเจนเพียงพอแล้ว

Tags: , ,