“หนีออกไปจากท่าเรือเร็วเข้า มันกำลังจะระเบิดแล้ว!” – เหล่ากะลาสีจากเรือขนยุทโธปกรณ์นาม Mont-Blanc (มองบลัง) สัญชาติฝรั่งเศส ที่ในตอนนี้กำลังติดไฟอยู่ใกล้กับเรือคู่กรณีนาม Imo (อิโม) ที่พึ่งจะเดินเครื่องถอยหลังจากการโดนกัน ได้พยายามตะโกนเตือนฝูงชนแห่งเมือง Richmond, Halifax ที่กรูกันมามุงดูภาพของอุบัติเหตุใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ แต่ดูเหมือนกับความพยายามของพวกเขาจะไม่ช่วยอะไรเลย

เหล่านักผจญเพลิงและเจ้าหน้าที่ตำรวจทยอยเดินทางกันมาถึงสถานที่เกิดเหตุไม่นานหลังจากนั้น พร้อมด้วยรถดับเพลิงกลคันแรกของประเทศแคนาดาที่ชื่อว่า Patricia พวกเขาต้องฝ่ากลุ่มชาวบ้านเข้าไปยังบริเวณท่าเรือที่ตอนนี้เรือ Mont-Blanc ได้ลอยลำมาเกยเอาไว้ เพื่อพยายามดับไฟด้วยความยากลำบาก 

เรือหลายลำในบริเวณใกล้เคียงที่มีเครื่องสูบน้ำและสายยาง ต่างอาสากันเข้ามาพ่นน้ำเพื่อดับไฟที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นบนเรือ Mont-Blanc อย่างสุดความสามารถ

แต่ผู้คนยังคงหลั่งไหลกันเข้ามาในบริเวณท่าเรือ Halifax อย่างไม่หยุดหย่อน ด้วยความตื่นตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น บ้างก็ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และทีมดับเพลิง ในขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงมุงดูสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากงานมหรสพชั้นดี

ไม่กี่วินาทีต่อมา การระเบิดที่แรงที่สุดในโลกสมัยยุคก่อนการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ก็เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เปลวไฟที่เผาไหม้เรือ Mont- Blanc ได้ลามไปถึงคลังเก็บสินค้าใต้ท้องเรือที่เต็มไปด้วยวัตถุระเบิดอานุภาพสูงซึ่งถูกเก็บไว้เต็มอัตราศึก แรงระเบิด ‘ละลาย’ เรือทั้งลำและผู้คนรอบข้างท่าเรือด้วยเปลวไฟที่ร้อนระอุถึง 5,000 องศาเซลเซียส พร้อมด้วยพลังเทียบเท่าระเบิด TNT กว่า 2.9 กิโลตัน – นับว่ารุนแรงที่สุดแล้วในยุคนั้น

คลื่นกระแทกจากการระเบิดได้พุ่งทำลายกำแพงเสียงด้วยความเร็วกว่า 1,000 เมตรต่อวินาที ทำลายล้างทุกอย่างในอาณาบริเวณกว่า 800 เมตรชนิดที่ไม่เหลือซาก พร้อมด้วยเศษวัสดุที่กระจายไปตกไกลจากจุดระเบิดไกลกว่า 5 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดนี้สามารถสัมผัสได้ในระยะ 200 กิโลเมตรเลยด้วยซ้ำ

หายนะครั้งนี้จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ตลอดกาล

ในนามของการระเบิด ณ ท่าเรือ Halifax, Nova Scotia ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1917

เมื่อเถ้าถ่านเบาบางลง และควันไฟเริ่มจางหาย…

หนึ่งในเมืองท่าที่เจริญที่สุดของประเทศแคนาดาในช่วงต้นคริสตวรรษที่ 20 บัดนี้แปรสภาพไปไม่ต่างจากนรกเลยก็ว่าได้ อาคารบ้านเรือนที่เคยตั้งเรียงราย มลายหายไปโดยสิ้นเชิง ทิ้งไว้แต่เปลวเพลิงและฝนของเถ้าถ่านที่โหมกระหน่ำไปทั่วบริเวณ พร้อมด้วยกลุ่มควันที่ลอยสูงถึง 3,000 เมตร อาคารขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างคอนกรีตและอิฐยังถูกทำลายและอันตรธานไปเสียสิ้น นับประสาอะไรกับบ้านไม้และโกดังในเขตท่าเรือที่บัดนี้กลายเป็นพื้นราบไปเรียบร้อย สถานีรถไฟที่เป็นศูนย์กลางหลักของการเดินทางมายัง Halifax ถูกทำลายพินาศย่อยยับไม่ต่างกัน ตู้รถไฟนับร้อยถูกบดขยี้ภายใต้แรงระเบิดเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่การรถไฟอีกหลายสิบคน

เศษชิ้นส่วนและซากศพมนุษย์กระจัดกระจายปะปนไปทั่วกับซากอาคารไม่ต่างจากใบไม้ใบหญ้า บ้างก็แขวนอยู่ตามเสาโทรเลขหรือกระเด็นไปตกตามจุดที่ไม่อาจจะจินตนาการได้ (ศพสุดท้ายถูกพบ 2 ปีให้หลัง โดยลอยไปตกในตึกแสดงนิทรรศการประจำเมือง) เรือ Mont- Blanc ทั้งลำสลายกลายเป็นโมเลกุลไปอย่างหมดจด เหลือแค่ปืนประจำเรือที่ลอยไปตกไกลกว่า 5 กิโลเมตร และสมอเรือที่หนักเกือบตันที่ถูกโยนไปไกลถึง 3 กิโลเมตรเลยทีเดียว

การระเบิดครั้งนี้ยังทำให้เกิดสึนามิขนาดย่อมๆ ซึ่งสูงถึง 18 เมตร เข้าพัดทำลายบริเวณริมน้ำซ้ำอีกรอบ และซัดเอาเรือ Imo กระเด็นจากฝั่ง Richmond, Halifax ไปเกยตื้นที่ฝั่งตรงข้ามของช่องแคบที่ Dartmouth นอกเหนือจากนี้แล้ว เรือหลายลำในบริเวณใกล้เคียงที่เข้าช่วยเหลือก็ได้รับความเสียหายหนักไปตาม ๆ กัน  เรือที่ประชิดอยู่กับ Mont- Blanc บางลำแทบจะไม่มีใครรอดชีวิตออกมาเลย

ผู้คนต่างหวาดกลัวและคิดกันไปต่าง ๆ นานา ว่านี่อาจจะเป็นการโจมตีข้ามโพ้นทะเลโดยสายลับเยอรมนีก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็ด้วยสหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเวลานั้น

ความตื่นตระหนก, หวาดกลัว, โกลาหล ปกคลุมไปทั่วเมือง โชคยังดีที่เจ้าหน้าที่และทหารที่รอดชีวิตค่อย ๆ นำความเรียบร้อยกลับสู่เมืองในเวลาที่รวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่หายนะครั้งนี้พรากไปจากชาวเมือง Richmond ไม่ได้ น่าจะเป็นความสามัคคีของพวกเขานี่เอง

ถึงแม้จะเป็นปี ค.ศ. 1917 แต่ความช่วยเหลือและการจัดการภัยพิบัติก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับขนาดความเสียหายที่เกิดขึ้น ภารกิจกู้ภัยเริ่มขึ้นทันทีหลังจากการระเบิดโดยกลุ่มผู้รอดชีวิต ก่อนที่เจ้าหน้าทางการทั้งตำรวจ, ทหาร, นักผจญเพลิงได้เข้ามาสบทบอีกแรงอย่างเป็นระบบ เรือรบในบริเวณท่าเรือที่รอดจากแรงระเบิดก็ส่งหน่วยทหารเรือขึ้นฝั่งมาร่วมด้วย เช่นเดียวกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากเมืองใกล้เคียงในแคนาดาและเขตสหรัฐอเมริกาที่ทยอยเดินทางเข้าช่วยเหลือชาวเมือง Halifax ในเวลาไม่กี่วัน

แน่นอนครับว่าหายนะครั้งนี้รุนแรงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน โรงพยาบาลในตัวเมืองเต็มอย่างรวดเร็ว แม้แต่โรงพยาบาลทหารที่พึ่งจะเปิดใหม่ก็ต้องรับผู้บาดเจ็บกว่าพันคน เมื่อคนเจ็บมีมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว เรือลำใหม่ที่เข้าเทียบท่าจึงถูกแปลงเป็นเรือพยาบาลทันที พร้อมกับโรงพยาบาลสนามที่ก่อตั้งขี้นตามกันมา โดยผู้รอดชีวิตและผู้บาดเจ็บที่เหลือถูกอพยพออกไปจากบริเวณ Halifax ไปยังเมืองข้างเคียงเช่นเมือง Truro

ในช่วงบ่าย ภารกิจกู้ภัยยิ่งเป็นระบบระเบียบมากขึ้นเมื่อชาวเมืองจัดตั้งกรรมการฟื้นฟูเมือง Halifax เพื่อควบคุมภารกิจช่วยเหลือทางการแพทย์, จัดสรรอาหารและสาธารณูปโภค, จัดการระบบขนส่ง, ดูแลค่าใช้จ่ายและซ่อมแซมเมืองให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ตัวคณะกรรมการนี้ดำเนินงานต่อมาจนถึง ค.ศ. 1976 เลยทีเดียว

หลังจากเหตุระเบิดไม่กี่วัน พายุหิมะที่พัดเข้าถล่มเมืองทำให้การช่วยเหลือทางรถไฟต้องชะงักไป แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยดับไฟที่ลุกลามอยู่ได้อย่างหมดจด สถานการณ์เริ่มกลับสู่สภาวะปกติไม่นานหลังจากนั้น เมื่อภารกิจกู้ชีพและกู้ภัย ถูกเปลี่ยนเป็นการเก็บกวาดและซ่อมแซมพื้นที่แทนในที่สุด ส่วนตัวท่าเรือเองถึงแม้ว่าจะไม่เหลือสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ แล้ว แต่ก็สามารถเปิดให้บริการกับเรือที่เข้ามาเทียบท่าได้ในเวลาไม่ถึงวัน

สรุปแล้วผู้คนกว่า 1,600 คน เสียชีวิตทันทีจากการระเบิด ไม่ว่าจะจากแรงระเบิดโดยตรงหรือการถล่มของอาคารและเปลวเพลิงที่ตามมาหลังจากนั้น อีกอย่างน้อย 300-400 คนเสียชีวิตในภายหลัง รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ประมาณ 2,000 คนเลยทีเดียว ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตที่มหาศาลจนไม่มีที่เก็บศพไหนรับไหว การระบุตัวตนจึงต้องใช้เทคนิคเดียวโศกนาฏกรรมไททานิค ซึ่งเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพนาม Arthur S. Barnstead ได้สืบทอดต่อมาจากบิดาของเขา (ไททานิคจมในปี ค.ศ. 1912 – 5 ปีก่อนหน้า ซึ่งศพผู้เสียชีวิตถูกนำขึ้นฝั่งที่ท่าเรือ Halifax เช่นเดียวกัน)

ในบรรดาผู้บาดเจ็บกว่า 9,000 คน ส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงขั้นพิการตาบอด จากการยืนดูเหตุการณ์อยู่ข้างกระจก ทำให้ได้รับบาดเจ็บจากเศษวัสดุไปเต็ม ๆ บางคนที่โชคดีก็ได้รับบาดเจ็บไม่มากจากการที่อาคารได้กำบังตนเองจากแรงระเบิดและเปลวเพลิงเอาไว้ได้ ผู้คนที่รอดออกมาจากท่าเรือได้ก็ด้วยเหตุผลนี้

ในกลุ่มผู้รอดชีวิต กะลาสีจากเรือ Mont- Blanc รอดชีวิตเกือบทุกคนจากการรีบสละเรือออกมาก่อน ส่วนนายเรือและเจ้าหน้าที่ของเรือคู่กรณี Imo ที่ยังคงอยู่บนสะพานเรือเสียชีวิตเกือบทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตมาได้นั้นเป็นเพราะตัวเรือช่วยกันแรงระเบิดเอาไว้ได้บ้าง กลับกัน เรือลำอื่นที่เข้ามาช่วยดับไฟนั้นแทบไม่มีใครรอดชีวิตออกมาเลย เช่นเดียวกับทีมนักผจญเพลิงที่มีผู้รอดชีวิตแค่คนเดียวเท่านั้น

ยอดผู้เสียชีวิตควรจะสูงถึงหลักพันทีเดียว ถ้าหาก Patrick Vincent (Vince) Coleman นายสถานีรถไฟของ Halifax ไม่ส่งโทรเลขเตือนภัยให้รถไฟโดยที่จะวิ่งเข้าท่าเรือหยุดรถไว้ก่อนที่จะเกิดการระเบิด ตัวเขาเองรู้ถึงชะตากรรมตนเองเป็นอย่างดี เพราะข้อความสุดท้ายที่เขาส่งโทรเลขออกไปคือคำกล่าวอำลาที่ว่า “Hold up the train. Ammunition ship afire in harbor making for Pier 6 and will explode. Guess this will be my last message. Good-bye boys.” (หยุดรถไฟเอาไว้ เรือขนยุทโธปกรณ์กำลังติดไฟอยู่ในท่าเรือ ตอนนี้มันกำลังพยายามแล่นเข้าไปที่ท่า 6 และอีกไม่นานก็คงจะระเบิดขึ้นมาแน่ ๆ ดูเหมือนว่านี่คงจะเป็นข้อความสุดท้ายของผมแล้วล่ะ ลาก่อนทุกคน)

Patrick เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมครั้งนี้เช่นเดียวกับฮีโร่หลาย ๆ คน ที่พวกเราอาจไม่มีโอกาสได้เอ่ยนาม

สาเหตุแห่งความหายนะ (ว่าด้วยหลักวิทยาศาสตร์)

ย้อนหลังกลับไปก่อนเหตุระเบิดไม่กี่ชั่วโมง ท่าเรือ Halifax คลาคล่ำไปด้วยเรือหลายลำที่เตรียมเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังทวีปยุโรปที่บัดนี้ตกอยู่ภายใต้ไฟแห่งการทำลายล้างของสงครามโลกครั้งที่ 1 ตัวท่าเรือ Halifax นั้นกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมากภายใต้กลุ่มพันธมิตรของสหราชอาณาจักร เนื่องด้วยทวีปอเมริกาในตอนนั้นเปรียบเสมือนโรงงานของโลกที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากไฟสงครามครั้งนี้

ในบรรดาเรือรบและเรือสินค้าที่แล่นเข้ามาในท่า เรือยุทธโปรกรณ์ Mont-Blanc ได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมกองเรือสินค้าที่จะเดินไปยังทวีปยุโรป ณ ท่าเรือ Halifax หลังจากที่ได้ขนเอาวัตถุระเบิด TNT มาเต็มลำเรือ พร้อมด้วยสารเบนซอล, ไนโตรเซลลูโลส, กรด Pricric และอาวุธกับสารเคมีอันตรายทั้งหลายที่วางไว้เต็มดาดฟ้าเรือ ด้วยความที่ Mont-Blanc เดินทางมาถึงท่าช้ากว่ากำหนด เรือที่ขนวัตถุอันตรายเช่นนี้ควรจะต้องจอดรออยู่นอกท่า แต่เพราะอันตรายจากการโจมตีโดยเรือดำน้ำเยอรมนีและสภาวะสงคราม กฎนี้จึงไม่ถูกบังคับใช้และ Mont-Blanc ก็ได้รับอนุญาตให้แล่นเข้ามาในช่องแคบของท่าเรือ Halifax โดยมี Francis Mackey นักนำร่องมือฉมังมาช่วยควบคุมการเดินทางที่ดูแสนจะปกติธรรมดานี้

เช้าวันถัดมา Mont-Blanc ได้เริ่มเดินเครื่องเพื่อเข้ามาในช่องแคบของท่าเรือ โดยเรือได้แล่นประชิดมาทางด้านขวาของช่องแคบไปทางเหนือ ในขณะเดียวกันเรือสินค้า Imo ก็ได้แล่นสวนทางเข้ามาทางด้านซ้ายของ Mont-Blanc เพื่อมุ่งหน้าลงใต้ เรือสินค้า Imo เป็นหนึ่งในเรือสนับสนุนภารกิจบรรเทาทุกข์ในเบลเยียมที่กำลังจะไปรับสินค้าใน New York – ต้นทางของ Mont-Blanc

ทุกอย่างดูจะไปได้สวย แต่ Imo กลับต้องหักหลบเรือลากจูงที่แล่นสวนมา ทำให้เรือไปอยู่ในเส้นทางของ Mont-Blanc พอดิบพอดี ในตอนนี้เรือทั้งสองลำต่างรู้ตัวแล้วว่าการโดนกันกำลังจะเกิดขึ้น Mont-Blanc พยายามส่งสัญญาณหวูดเตือนให้ Imo หักหลบ เพราะตอนนี้ Mont-Blanc อยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง แต่ Imo กลับปฏิเสธที่จะหลบทางให้ เมื่อเป็นเช่นนี้กัปตันของเรือทั้งสองลำจึงตัดเครื่องยนต์ โดยที่ Mont-Blanc หักซ้ายเต็มพิกัดไปยังฝั่งเมือง Richmond แต่ก็สายไปเสียแล้ว ด้วยความเบาของเรือ Imo ทำให้โมเมนตัมของเรือยังคงทำให้เรือเคลื่อนที่ต่อไป ในขณะที่ Mont-Blanc เองก็ไม่สามารถหยุดสนิทได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ในที่สุดเรือทั้งสองลำก็โดนกันอย่างจัง โดยหัวเรือ Imo ได้กระแทกเข้ากลางลำเรือ Mont-Blanc ทำให้เชื้อเพลิงเบนซอลหกไหลไปทั่ว ถึงแม้จะโดนกันด้วยความเร็วที่ต่ำ แต่แรงสั่นสะเทือนก็ได้ทำให้สินค้าของ Mont-Blanc ล้มระเนระนาดได้เพราะไม่มีอะไรยึดกองสินค้าเหล่านี้ไว้กับดาดฟ้าเรือเลย

ด้วยความที่เบนซอลมีส่วนประกอบหลักเป็นเบนซีน ซึ่งมีความไวไฟสูงมาก ๆ หายนะจึงบังเกิดเมื่อเรือ Imo ตัดสินใจจุดเครื่องยนต์เพื่อถอยหลัง การเสียดสีของโลหะระหว่างหัวเรือและลำเรือของเรือทั้งสอง ทำให้เกิดประกายไฟขึ้นเมื่อเศษโลหะทำปฏิกิริยาร่วมกับออกซิเจนในอากาศและความร้อนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เบนซอลที่หกและฟุ้งกระจายไปทั่วติดไฟขึ้นทันที เรือ Mont-Blanc ทั้งลำจึงตกอยู่ภายใต้ไฟประลัยกัลป์ไม่นานหลังจากนั้น และอย่างที่พวกเราคงจะรู้กันแล้ว การระเบิดที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติก็เกิดขึ้นตามมาจนได้เมื่อไฟลามไปถึงคลังเก็บสินค้าในที่สุด

ดังนั้นแล้ว หายนะครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดหลาย ๆ อย่าง ชนิดเดียวกับปรากฏการณ์น้ำผึ้งหยดเดียวเลยครับ เริ่มตั้งแต่การที่เรือ Mont-Blanc ไม่แขวนธงเตือนว่าเธอได้ขนเอาสินค้าอันตรายมาด้วยเพราะภาวะสงคราม (กันการถูกเล็งเป็นเป้าหมายโดยศัตรู), ไม่มีเรือคุ้มกันเธอเข้ามาในท่า, เรือทั้งสองลำต่างไม่มีใครหักหลบซึ่งกันและกัน, สินค้าอันตรายที่ในยุคนั้นยังไม่มีระบบจัดเก็บที่ดีพอ, การที่เทคโนโลยีดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นหรือนำมาใช้งาน, ความประมาทของบุคคลที่เกี่ยวข้อง, และชาวเมืองที่มามุงดูเหตุการณ์เพราะไม่มีใครรู้ถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้รวมกันนำไปสู่การระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับพัน พร้อมด้วยคนเจ็บอีกเกือบหมื่น และเป็นการสร้างบทเรียนครั้งสำคัญที่ชาวแคนาดาต้องจดจำมาจนทุกวันนี้

ภารกิจฟื้นฟูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของแคนาดา

เรื่องนี้เหมือนจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งและกล้ำกลืนฝืนทนไปในเวลาเดียวกัน เพราะเมือง Halifax ใช้เวลาไม่กี่ปีในการฟื้นฟูด้วยความช่วยเหลืออย่างเต็มพิกัดจากทั้งในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา สถาปนิกชื่อดังหลายคนได้เข้ามาช่วยบูรณะเมืองที่บัดนี้ถูกล้างจนสะอาดหมดจดไม่ต่างจากผืนผ้าใบใหม่ อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นล้วนถูกเสริมความแข็งแรงให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

แต่ชุมชนของคนผิวสีอย่าง Africville กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ เพราะปัญหาการเหยียดสีผิว หรือชุมชนคนพื้นเมืองอย่างเผ่า Mi’kmaq เองที่แทบจะถูกลบไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในวันที่เกิดการระเบิดเลยทีเดียว ไท่นับผู้คนอีกหลายพันที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน และส่วนหนึ่งไม่เดินทางกลับมายัง Halifax หรือ Nova Scotia อีกเลย

ท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินการทางกฎหมายกลับไม่ได้ช่วยเหลืออะไรซักเท่าไร เพราะผู้รอดชีวิตจากเรือคู่กรณีทั้งสองลำถูกปล่อยตัวทั้งหมด และความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของภัยสงครามที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้โดยเรือทั้งสองลำนับว่ามีความผิดสูงสุดทั้งคู่ (ถึงแม้ว่าลูกเรือ Mont-Blanc จะโดนเล่นงานหนักกว่าก็ตาม) และถึงแม้จะมีการฟ้องร้องเรียกค่าใช้จ่ายทั้งจากประชาชน เจ้าของเรือ และผู้เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีใครได้รับโทษหรือถูกพิพากษาให้รับผิดชอบเลยแม้แต่คนเดียว 

เปรียบเทียบกับการระเบิดที่เบรุส

ถึงแม้ว่าการระเบิดที่ Halifax จะเกิดขึ้นมากว่า 103 ปีแล้วในวันที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น แต่กลับมีความใกล้เคียงกันมากกับการระเบิดที่ท่าเรือเบรุสในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 2020 หายนะทั้งคู่เกิดจากความประมาท, เกิดจากวัตถุระเบิดที่เก็บสะสมรวมกัน, เกิดที่ท่าเรือใหญ่ใกล้แหล่งชุมชน, และมีลักษณะการทำลายล้างที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงสาเหตุการระเบิดที่เกิดจากไฟไหม้ด้วย 

แต่เหตุการณ์ที่เบรุสพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่และความร่วมมือของผู้คนช่วยลดจำนวนการสูญเสียลงได้มาก ถึงแม้ว่าการระเบิดที่เบรุสจะมีอานุภาพถึงครึ่งหนึ่งของการระเบิดที่ Halifax (ประมาณ TNT 1.1 กิโลตัน) แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 200 คน เนื่องด้วยมีการอพยพและอาคารสมัยใหม่ที่แข็งแรงได้กำบังผู้คนนับพันเอาไว้ได้ รวมไปถึงระบบการแพทย์ที่เข้ามาดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้รอดชีวิตได้ ปัญหาเดียวของเบรุสคือปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศเลบานอนที่มีผลกระทบโดยตรงกับแผนฟื้นฟูเมืองและจัดการความเสียหายในระยะยาว พ่วงไปด้วยปัญหาทางการเมืองที่น่าจะทำให้คนผิดมีโอกาสลอยนวลไปได้ไม่ต่างจากกรณีของ เมือง Halifax

บทส่งท้าย

ความประมาทนำพามาซึ่งหายนะนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางด้านวัตถุระเบิดที่แทบทุกครั้งล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์และเป็นตัวอย่างชั้นดีให้พวกเราเสมอมา เราพยายามที่จะทำให้ปีศาจเหล่านี้สร้างประโยชน์ให้กับพวกเรา แต่ด้วยความเป็นจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้คืออาวุธที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคร่าชีวิตมนุษย์ ดังนั้นแล้วการทำให้ปีศาจตนนี้เชื่องลงจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

เราสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัย, กฎหมายควบคุม, และเครื่องมือมากมายมาเพื่อลดความเสี่ยงที่อุบัติเหตุเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก จริงอยู่ครับที่เราลดความเสี่ยงและความสูญเสียลงได้จริง ๆ แต่ความประมาทของมนุษย์ก็ยังเป็นเหตุผลหลักให้เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นมาอีก ทั้งเหตุระเบิดในเทียนจิน ค.ศ. 2015 ไล่มาที่การระเบิดที่เบรุส ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใช้งานวัตถุและสารอันตรายเหล่านี้ การจัดเก็บก็ต้องตามมา และการมีอยู่ของมันก็เท่ากับความเป็นไปได้ที่การระเบิดจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตครับ

ฟังดูไร้ความหวังก็จริงอยู่ ถ้าจะพูดว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่หากเราระวังและปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยได้ เราก็สามารถหยุดอุบัติเหตุได้แทบจะ 100% ครับ เพราะเราอยู่ในยุคที่ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีอย่างเบนซอลและ TNT ได้รับการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะอ้างว่าอยู่ ๆ มันระเบิดขึ้นมาเองคงยากครับ เพราะวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้องถูกทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกจนแน่นอน แถมเรายังสามารถระบุถึงอายุของสารเหล่านี้ได้เลยด้วย (หากหมดอายุแล้วก็ควรนำไปทำลายทิ้งอย่างปลอดภัย) ไม่นับบทเรียนด้านภัยพิบัติที่ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในศตวรรษที่ผ่านมา

ดังนั้นแล้วเราจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ หรือจะปล่อยผ่านให้เหตุการณ์อย่างการระเบิดที่ Halifax เกิดขึ้นอีกในอนาคต ตัวเราเองนี่แหละครับที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพวกเราเอง…

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Halifax_Explosion

https://www.britannica.com/event/Halifax-explosion

https://maritimemuseum.novascotia.ca/what-see-do/halifax-explosion

https://www.smithsonianmag.com/history/newly-discovered-diary-tells-harrowing-story-deadly-halifax-explosion-180964066/

https://www.warmuseum.ca/firstworldwar/history/life-at-home-during-the-war/wartime-tragedies/the-halifax-explosion/

https://cangeo-media-library.s3.amazonaws.com/s3fs-public/images/web_articles/87_halifaxexplosion_ja14_-_lr.jpg

https://en.wikipedia.org/wiki/2020_Beirut_explosion