ผักผลไม้หลายชนิดที่เรารับประทานอยู่ทุกวันจำเป็นต้องมีคนงานตัวจิ๋วอย่างผึ้งคอยทำหน้าที่ผสมเกสร แต่ปัจจุบัน แมลงตามธรรมชาติเริ่มลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ส่วนธุรกิจให้เช่าผึ้งผสมเกสรก็ต้องเผชิญกับโรคระบาดและการคุกคามของแมลงต่างถิ่น เกษตรกรจึงต้องหาทางเลือกใหม่ตั้งแต่การฉีดพ่นเกสรในสวน ไปจนถึงการผสมเกสรด้วยแรงคนทีละดอกโดยพู่กันที่นับว่าเป็นงานหนักและแสนจะน่าเบื่อ

แต่ในอนาคต เราอาจได้พบกับเทคนิคล้ำสมัยในการช่วยผสมเกสรโดยใช้ฟองสบู่ เทคนิคดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร iScience เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ระบุว่าการใช้เครื่องเป่าฟองสบู่มีอัตราการผสมเกสรสำเร็จสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ซึ่งใกล้เคียงกับการผสมเกสรด้วยมือ

ดร. เออิจิโร มิยาโกะ (Dr. Eijiro Miyako) จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงประเทศญี่ปุ่น (Advanced Institute of Science and Technology) คิดค้นวิธีดังกล่าวได้ขณะเล่นเป่าฟองสบู่ในสวนสาธารณะกับลูกชายวัย 3 ขวบ เมื่อเขามองเห็นฟองสบู่ชนที่หน้าผากของลูกชายและแตกออก มิยาโกะก็คิดว่านี่อาจเป็นวิธีในการส่งเกสรไปยังดอกไม้อย่างอ่อนโยน

มิยาโกะและทีมวิจัยคิดค้นหาส่วนผสมทางเคมีที่รบกวนกระบวนการผสมเกสรและมีความเป็นพิษน้อยที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแข็งแรงพอที่จะพาเกสรดอกไม้ไปยังดอกไม้เป้าหมาย แล้วได้ผลสรุปที่สารลอรามิโดโพรพิล เบทาอีน (Lauramidopropyl Betaine) ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวที่ใช้โดยทั่วไปในแชมพูสำหรับเด็ก แล้วจึงนำไปใส่เกสรและทดลองเป่าไปที่ดอกแพร์ 50 ดอกซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

จุดเด่นอีกประการของการใช้ฟองสบู่แทนที่การผสมโดยพู่กันซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมของเกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นในช่วงที่อุณหภูมิต่ำแล้วเหล่าผึ้งไม่ออกมาทำงาน คณะวิจัยพบว่าการผสมเกสรโดนพู่กันใช้เกสรราว 1,800 มิลลิกรัมต่อดอกไม้หนึ่งดอก ในขณะที่วิธีฟองสบู่ใช้เกสรเพียง 0.06 มิลลิกรัมหรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 30,000 เท่านั้น

แต่การใช้ฟองสบู่เพื่อผสมเกสรยังมีข้อจำกัดเนื่องจากฟองสบู่จำนวนมากไม่ได้ลอยไปชนเป้าหมายซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร ก้าวต่อไปของนวัตกรรมนี้คือการพัฒนาโดรนปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถจับเป้าหมายดอกไม้ได้ รวมถึงการพัฒนาสารละลายฟองสบู่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้นวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นในแวดวงการเกษตร แต่นักสิ่งแวดล้อมก็ส่งเสียงแสดงความกังวลว่าหากนวัตกรรมดังกล่าวใช้งานได้จริง อาจทำให้ความพยายามในการอนุรักษ์ผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่นๆ ถูกมองข้าม อีกทั้งยังเปิดทางให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้นเพราะไม่จำเป็นต้องใส่ใจผลกระทบต่อแมลงอีกต่อไป

เดฟ กูลสัน (Dave Goulson) อาจารย์ด้านชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการผสมเกสรจากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ ประเทศอังกฤษ ระบุว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ฟองสบู่ไม่สามารถทดแทนผึ้งได้ เช่น การเก็บเกสรซึ่งอาจนับเป็นครึ่งหนึ่งของกระบวนการผสมเกสร

“สิ่งที่ผมกังวลคือการรับมือวิกฤตการผสมเกสรโดยมองหาทางเลือกอื่นที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแมลงผสมเกสร แทนที่จะลงทุนลงแรงอนุรักษ์ธรรมชาติให้ดีกว่าเดิม” เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2020/06/17/science/bubbles-pollinating-bees.html

https://www.cell.com/iscience/fulltext/S2589-0042(20)30373-4?utm_source=EA

https://www.sciencemag.org/news/2020/06/drone-delivered-soap-bubbles-could-help-pollinate-flowers

https://www.bbc.com/news/science-environment-53081194

https://edition.cnn.com/2020/06/17/world/soap-bubble-robotic-pollination-study-scn/index.html

ภาพ Eijiro Miyako

Tags: