มีคนอีกเป็นจำนวนมากบนโลกใบนี้ที่จุดจบของความรักและความสัมพันธ์อาจเป็นหนึ่งใน ‘เหตุการณ์’ ที่พลิกผันแปรเปลี่ยนชีวิตอย่างชนิดเฉียบพลันรุนแรง ด้วยเขาหรือเธอบางคนอาจไม่ได้ทันตระเตรียมใจว่า ‘ชีวิตคู่’ ที่คล้ายเป็นสิ่งแน่นอนจะกลับกลายเป็น ‘ชีวิตเดี่ยว’ ในวันหนึ่ง ฉากชีวิตของคนสองคนกลับกลายเป็นหนึ่ง ซึ่งทำให้การดำรงอยู่นับจากนั้นสำหรับหลายคนเปลี่ยนแปลงเป็นความโศกเศร้าและความทุกข์ทรมานแสนสาหัส บางคนถึงกับต้องลาจากไป เพราะไม่อาจทนรับความเจ็บปวดได้ หรือหากไม่ตายก็กลายเป็นบาดแผลฝังจำในจิตใจ ขณะที่บางคนอาจใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถก้าวผ่านห้วงเวลาดังกล่าวไปได้ ทั้งจากการเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ หรือองค์ประกอบปัจจัยต่างๆ ที่ทำการดำรงอยู่ แม้เพียงลำพังเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้

ทว่าก็มีคนอีกไม่น้อยเลยที่การข้ามผ่านความเจ็บปวดนั้นกลับเป็นเส้นทางยาวไกลไม่สิ้นสุด ไม่ต่างจากการแบกหินขึ้นภูเขาของซิซิฟัสที่สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาเริ่มใหม่ การพยายามก้าวต่อไปจึงเป็นเพียงการเดินเป็นวงกลม หรือจมดิ่งลงไปในโลกแห่งความทรงจำ ภาพของความสัมพันธ์ครั้งเก่าที่จบสิ้นไปแล้วซ้ำแล้วซ้ำ

ผู้เขียนตั้งใจให้บทความชิ้นนี้ตอบคำถามของมิตรสหาย หรือผู้สนใจใคร่รู้ว่าเราจะสามารถผ่านพ้นความเจ็บปวดภายหลังจากความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งหรือยาวนานได้อย่างไร แน่นอนว่า ความพยายามครั้งนี้เป็นเพียงข้อเสนอทางทฤษฎี หรือการทำความเข้าใจสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังความสูญเสียในแบบหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นประสบการณ์เฉพาะที่เราแต่ละคนต้องข้ามผ่านด้วยตนเอง

 

หายนะจากความรัก

ทุกครั้งที่เราสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมา เราย่อมสร้างหายนะจากสิ่งนั้นขึ้นมาด้วย เราอาจประยุกต์คำกล่าวนี้เข้ากับความรัก หรือแม้แต่เป็นคำอวยพรให้คู่รัก-คู่แต่งงานว่า ขออย่าให้เป็นหายนะแก่กันเลย เพราะความรักคือความเสี่ยง และเป็นการผจญภัยในรูปแบบหนึ่ง

เป็นความจริงที่ว่ามีตำรับตำรามากมายเขียนขึ้นมาเพื่อช่วยให้เราเข้าใจความรักในแง่มุมต่างๆ แต่คงไม่มีเล่มไหนที่จะป้องปรามเราจากความผิดหวังหรือความเจ็บปวดจากความรักได้แยบยลเท่ากับ Ethics ของบารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) นักคิดชาวยิวจากศตวรรษที่ 17 ผู้ได้ชี้เตือนเราไว้เกี่ยวกับคุณสมบัติสำคัญของความรัก ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์คงอยู่ต่อไป หากก็สร้างความเจ็บปวดให้ในฐานะของที่สิ่งที่ผันแปรไม่แน่นอน

ภาพวาดสปิโนซา (Spinoza) โดยศิลปินนิรนาม

สปิโนซามองว่า สิ่งมีชีวิต (และแม้แต่ไม่มีชีวิตนั้น) ต่างก็มีแรงพยายาม (conatus) หรือพลังที่จะรักษาการคงอยู่เอาไว้ ชีวิตจึงไม่ใช่แค่การมีลมหายใจ แต่คือการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตสืบเนื่องต่อไป ชีวิตนั้นจึงเปรียบดั่งการขับเคลื่อนไปข้างหน้าซึ่งต้องการแรงส่งเสริมเกื้อหนุนต่อเนื่องเรื่อยไป

ปรัชญาของสปิโนซาสามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘ปรัชญาเพื่อชีวิต’ ในแง่ที่มองเห็นชีวิตสำคัญกว่าความตาย หรือจุดสิ้นสุดเขาเห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ยับยั้ง หรือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการมีชีวิตอยู่ก็ถือเป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิเสธ ไม่เว้นแม้แต่ระบบคุณค่า หรือความคิดต่างๆ ที่ขัดขวางกระบวนการมีชีวิต เช่น การเทิดทูนและให้ความสำคัญกับความตายที่สปิโนซามองว่าเป็นปัญหาสำหรับนักคิดหลายๆ คนที่หมกมุ่นในเรื่องนี้มากเกินไป จนมองข้ามความสำคัญของชีวิต

สำหรับสปิโนซาแล้ว มนุษย์โดยส่วนใหญ่มักผูกพันกับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งความรักก็เป็นหนึ่งในนั้น ความรักสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ (การสืบทอดเผ่าพันธุ์) และความสุขจากความรักก็เป็นเหมือนแรงผลักดันให้หลายๆ ชีวิตสามารถดำรงอยู่ต่อไป เพียงแต่ความรักแบบมนุษย์ไม่อาจกำหนดหรือควบคุมได้ ความรักระหว่างบุคคลย่อมจะแปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ความสุขจึงอาจกลายเป็นความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือสิ่งที่สปิโนซาเรียกว่า sad passion อันเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญของการมีชีวิตอยู่

ความรักชนิดเดียวที่เขายอมรับได้มากที่สุดจึงหมายถึงความรักในพระเจ้า หรือเหตุผลที่คงอยู่นิรันดร์ ไม่มีวันผันแปรไป และนั่นทำให้ตัวของสปิโนซาเลือกที่จะอยู่โดยสันโดษตราบจนสิ้นลมหายใจ

แม้ข้อเสนอของสปิโนซาจะช่วยให้เรามองเห็นความรักเป็นส่วนหนึ่งของการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตรอด แต่การเลือกที่จะรักในเหตุผลเพียงอย่างเดียวก็ย่อมไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนทุกคน ดังนั้นการต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ความรักระหว่างมนุษย์เราจึงหมายความถึงการแบกรับความเสี่ยง หรือการเตรียมใจที่จะต้องผิดหวัง

 

โศกนาฏกรรมแห่งชีวิต

“สิ่งที่ถือเป็นโศกนาฏกรรมสูงสุดบนโลก หรือในชีวิตคนเรานั้น ท่านผู้อ่าน และพี่น้องทั้งหลาย คือความรัก ความรักคือบุตรแห่งภาพลวงตา และบิดามารดาแห่งการฟื้นตื่นจากภาพฝัน ความรักคือการปลอบประโลมใจจากการทอดทิ้ง มันคือยาต่อต้านความตาย หากก็เป็นพี่น้องร่วมอุทรกับความตายนั้น” ถ้อยความจาก Tragic Sense of Life ของมิเกล เดอ อูนามูโน (Miguel de Unamuno) นักปรัชญาชาวบาสก์ ได้ชี้เตือนเราถึงความยอกย้อนของความรัก หรือสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นโศกนาฏกรรมอย่างสำคัญของชีวิต

มิเกล เดอ อูนามูโน (Miguel de Unamuno) นักปรัชญาชาวบาสก์

แน่นอนว่าอูนามูโนคล้ายคลึงกับสปิโนซาตรงที่มองเห็นว่าความรักนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งชีวิต เพียงแต่เขาเรียกความรักชนิดดังกล่าวเป็นว่าความรักทางเพศ (sexual love) ซึ่งเป็นลักษณะของความรักโดยทั่วไปของสรรพชีวิตที่ต้องการสืบทอดเผ่าพันธ์ุ

สำหรับจุลชีพทั้งหลาย การอยู่รอดคือการแบ่งตัวมันเอง หรือพูดอีกทางเป็นการยุติสภาวะที่มันเคยเป็น เพื่อมีชีวิตสืบเนื่องต่อไป และในห้วงเวลาที่จุลชีพเหล่านั้นไม่สามารถแบ่งตัวเองได้ มันก็จำเป็นต้องเสาะหาอีกจุลชีพหนึ่งเพื่อช่วยในการสืบเผ่าพันธ์ุ จะเห็นได้ว่า การรวมกันนี้เป็นไปเพื่อแบ่งแยก หรือยับยั้งในการเป็นสิ่งที่เคยเป็น กล่าวคือ การมีชีวิตอยู่คือการมอบตัวเราให้กับการคงอยู่นั้น พูดง่ายๆ เพื่อคงอยู่ เราจะต้องตาย

ด้วยเหตุนี้ความสุขสุดยอดจากความรักทางเพศจึงเป็นความรู้สึกจากการฟื้นตื่นจากความตาย หากความรักเช่นนี้ทำให้มนุษย์เราไม่ต่างจากจุลินทรีย์ทั้งหลาย คือเราต่างรวมกัน เพื่อแบ่งแยกอีกครั้ง อูนามูโนมองว่า ความรักทางเพศจึงเป็นความเห็นแก่ตัวเองที่สรรพชีวิตมีร่วมกัน ไม่แปลกที่ที่ความรักเช่นนี้ต้องการครอบครอง และเราต่างเป็นทรราชและทาสของกันและกัน

อย่างไรก็ตาม เขายังเห็นว่า สังคมมนุษย์นั้นยังได้สร้างความรักอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา ความรักซึ่งกำเนิดจากความเห็นอกเห็นใจที่เขาเรียกว่า ความรักเชิงจิตวิญญาณ (spiritual love) ที่เกิดขึ้นเมื่อความรักทางเพศตายลงไป 

ความรักทางเพศเสาะหาอีกฝ่ายเพื่อรวมร่างกายแต่แบ่งแยกจิตวิญญาณ วิญญาณของแต่ละฝ่ายต่างเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน ความรักทางจิตวิญญาณนั้นกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม มันเกิดขึ้นได้ เมื่อเราพยายามเข้าใจ รู้สึกเห็นใจ และกระทั่งสามารถซึมซับเอาความทุกข์ของอีกฝ่ายเข้ามาไว้ในตัวเรา 

ความรักเชิงจิตวิญญาณคือความเวทนา หากร่างกายของเราผสานรวมกันด้วยความพึงใจ จิตวิญญาณก็ผสานรวมด้วยความเจ็บปวด ความรักในมุมมองของอูนามูโนจึงไม่อาจเป็นแค่ความสุข แต่ยังคงหมายถึงการตระหนักได้ถึงความเจ็บปวดของคนที่เรารัก ความเจ็บปวดจึงเป็นรากฐานของความรัก ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธ หรือขจัดออกไปได้

 

ทำไมคนที่รักจึงทำให้เราเจ็บปวดมากที่สุด

จากกรอบคิดที่ว่า อัตลักษณ์หรือตัวตนของคนนั้นผันแปรไปตามสภาพความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หรือกล่าวในอีกทางแล้วก็คือ เราจะไม่มีวันรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร หากปราศจากคนอื่น ด้วยภาษา การแสดงออกต่างๆ ล้วนแล้วเป็นผลมาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ดังนี้แล้ว ความรัก หรือคนรักจึงอาจเรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อความเป็นตัวเรา และส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อปัจเจกสภาพของเราอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเพราะการมีรักนั้นคือการเปิดตัวรับคนอื่น ในแบบที่แนบชิดและลึกซึ้งกว่าการมีปฏิสัมพันธ์โดยทั่วไป

ความรักทำให้เราต้องพูดภาษาที่เราไม่รู้จัก หรือก้าวเข้าไปในดินแดนที่เราเป็นเพียงคนแปลกหน้า เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง เพื่อจะสามารถพำนักที่นั่นได้ อาจใช้เวลามากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป หากกระบวนการทั้งหมดนั้นส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อตัวเราเองทั้งทางตรงและอ้อม

อาจพูดได้เช่นกันว่า ความรักส่งผลกระทบต่ออัตภาวะ (subject) ของตัวเราเองนับจากวันแรก ดังนั้นแล้ว เมื่อความรักสิ้นสุดลง สิ่งที่ถูกทำลายจึงไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ แต่คงหมายถึงตัวตนของคนแต่ละคนที่ได้เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงวันสุดท้าย ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจึงมีความเกี่ยวพันลึกซึ้งกับอัตภาวะของเรา ซึ่งแน่นอนว่ามันได้สร้างบาดแผลที่อาจไม่ใช่เพียงคำอุปมาอุปไมย ซึ่งสำหรับใครหลายคนที่ได้รับบาดแผลนั้นต่างก็ต้องการเวลาฟื้นตัว และในหลายกรณีก็ไม่อาจทดแทนได้โดยการดึงใครสักคนมาแทนที่

การก้าวไม่พ้นความเจ็บปวด หรือที่บางคนเรียกว่า การมูฟออนเป็นวงกลมจึงมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับบางคนที่บาดแผลนั้นไม่สามารถเยียวยาได้ การวนซ้ำกลับไปสู่ความทรงจำและความเจ็บปวดเดิมๆ บ่งบอกถึงการที่อัตภาวะของเขาหรือเธอนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปจากจุดเดิมซึ่งยังคงเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันเสมอ

 

แล้วเราจะข้ามพ้นความเจ็บปวดไปได้อย่างไร

แน่นอนว่า ความคิดอาจเป็นสิ่งที่ใครก็คิดได้ แต่ความเจ็บปวดทั้งหลายและความรู้สึกนั้นย่อมเป็นของเราเพียงคนเดียว นี่เป็นกรอบคิดที่เรายอมรับกันโดยทั่วไป เช่นเดียวกับในยามที่เราพูดถึงความรัก ความรักก็จะเป็นเพียงประสบการณ์เฉพาะของเราแต่ละคน เป็นความทรงจำที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา 

ดังนั้นการก้าวข้ามความเจ็บปวดจึงไม่เคยมีสูตรสำเร็จ หรือยาครอบจักรวาลที่ใช้รักษาเยียวยาได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ถึงกระนั้น ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายก็ยังคงมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งตรงที่ ความรักนั้นเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เราไม่อาจสั่งหรือบังคับใครให้รักได้ นับจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุด ความเจ็บปวดจากความรักก็เช่นกัน เราไม่สามารถห้ามไม่เราทุกข์ทรมานจากความรักได้ สิ่งที่เราทำได้และควรทำก็คือการแลเห็นว่า ความเจ็บปวดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรัก เพราะรักเราจึงต้องเจ็บปวด ร้องไห้ นึกโทษว่าตัวเอง หรือคนอื่น หากถึงที่สุดแล้วที่สุดแล้ว เราต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป หรืออาจสรุปได้ด้วยคำกล่าวปิดท้ายนวนิยายไตรภาคของซามูเอล เบคเกตต์ (Samuel Beckett) ที่ว่า “แกจะต้องไปต่อ ฉันไปต่อไม่ไหว ฉันจึงไปต่อ”

 

อ้างอิง

Ruti, Mari, The Summons of Love, (New York: Columbia University Press, 2011)

Svendsen, Lars, A Philosophy of Loneliness, (London: Reaktion Books, 2017)

Miguel de Unamuno, Tragic Sense of Life, 

Spinoza, Ethics, Translated by Edwin Curley, (London: Penguin Books, 1996)

Tags: