การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ เชื่อคนไทยคงได้รู้ได้เห็นข่าวใหญ่จากแฮชแท็กยอดฮิตทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ดารา บุคคลมีชื่อเสียง และคนธรรมดาสามัญได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมารับผิดชอบจัดการโรคระบาดครั้งนี้ให้เข้มข้นจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ 

เป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐบาลอันแข็งขันของเราจะเร่งออกมาตรการต่างๆ ให้ทันต่อข้อเรียกร้องของประชาชนเจ้าของภาษี เช่น การชวนประชาชนสวดมนต์ การพยายามเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชน จนประชาชนหน้าใสหลายๆ ท่าน ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า รัฐบาลทำเช่นนี้ทำไม? ดังนั้น เพื่อตอบคำถามที่ชวนสงสัย ในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้ไล่เรียงความเป็นมาระหว่างรัฐกับโรคระบาดมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร และสิ่งที่รัฐบาลไทยทำอยู่คืออะไร ?

ความสำคัญของประวัติศาสตร์การแพทย์ในการจัดการโรคระบาด

การศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์มีความสำคัญประการหนึ่งที่ยอมรับร่วมกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์การแพทย์นั่นคือการค้นหาการจัดการโรคในอดีตเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการเผชิญโรคของมนุษย์ในปัจจุบัน โดยนักประวัติศาสตร์การแพทย์มีแนวโน้มที่จะยืนยันว่าเรื่องราวจากอดีตจะสามารถให้มุมมองสำคัญต่อปัจจุบัน  

เพราะนักประวัติศาสตร์การแพทย์ เชื่อว่าถ้าเราสามารถเข้าใจประสบการณ์และการจัดการเกี่ยวกับความเจ็บป่วยในอดีตที่สามารถช่วย ผู้ป่วย หมอ ผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักจริยธรรม และพลเมืองผู้มีสิทธิออกเสียงให้สามารถมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้นจากความเข้าใจประวัติศาสตร์การแพทย์และโรคระบาด ความเข้าใจที่ได้ก็อาจจะนำไปสู่การจัดการโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพมากกว่าหรือสามารถคาดการณ์และเตรียมความพร้อมได้ดีกว่าเดิม

ในหนังสือประวัติศาสตร์การแพทย์ของจอห์น ซี. เบอร์แนม  พยายามชี้ให้เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์แพทย์จะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์เชิงระบาดวิทยาของโรคต่างๆ ว่าเกิดขึ้นจากที่ไหนและระบาดไปสู่ที่อื่นอย่างไร โรคระบาดมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร และค้นหาคำอธิบายหรือจำแนกโรคที่ปรากฏในเอกสารโบราณว่า ตรงหรือเปลี่ยนเป็นไปเป็นโรคใดในปัจจุบัน รวมทั้งการหาการเปลี่ยนแปลงความหมายของโรคในช่วงเวลาต่างๆ 

อาจกล่าวได้ว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติ และยิ่งมนุษยชาติเริ่มตั้งถิ่นฐานทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ก็ได้ทำให้โรคจากสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ หมู วัว เหล่านี้แพร่เชื้อไปมาระหว่างคนและสัตว์ และการแพร่เชื้อดังกล่าวยังรวมไปถึงสัตว์ป่าที่มนุษย์ไปสัมผัสด้วย ขณะเดียวกันพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจของมนุษย์ในเวลาต่อมา ก็ได้ก่อให้เกิดโรคภัยในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในสังคมแต่ละยุค การก่อตัวทางสังคมของมนุษย์และรูปแบบรัฐในแต่ละช่วงเวลาก็เป็นสิ่งกำหนดหรือมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคภัยเป็นอย่างมาก

พัฒนาการรัฐกับบทบาทการแพทย์ในการดูแลสุขภาพประชาชน

ก่อนหน้าที่รัฐสมัยใหม่จะกลายเป็นผู้ให้การสนับสนุนและรับผิดชอบต่อสถาบันทางการแพทย์นั้น สถาบันทางการแพทย์ที่มีอยู่ในแต่ละสังคมนั้น โดยมากจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของภาคสังคม ซึ่งระดับความรับผิดชอบจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสมัย 

ในโลกตะวันตกยุคโบราณก่อนเกิดนครรัฐ การดูแลรักษาสุขภาพจะถูกยกให้เป็นเรื่องภายในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบกันเอง ต่อมาในนครรัฐโบราณสมัยกรีก กลับมองว่าการแพทย์คือความรับผิดชอบของปัจเจกชน เพราะปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องของศีลธรรมที่ทุกคนพึงต้องปฏิบัติดูแลด้วยตนเอง

ในขณะที่ยุคกลาง สถาบันทางการแพทย์ตกอยู่ภายใต้การอุปภัมถ์ดูแลของศาสนจักร โรงพยาบาลในยุคกลางให้การรักษาแก่ประชาชนก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงศรัทธาต่อพระเจ้า ส่วน ‘การแพทย์แบบสาธารณกุศลที่ให้การสนับสนุนและจัดบริการโดยโบสถ์และองค์กรทางศาสนาต่างๆ นั้น ก็มีเป้าหมายทางด้านศาสนาเป็นหลัก

รัฐเวชกรรม: รัฐสมัยใหม่กับการใช้อำนาจสถาบันทางการแพทย์จัดการโรคระบาด

ในยุคสมัยใหม่ที่รัฐเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง สถาบันการแพทย์จึงตกอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล อันเป็นบทบาทใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับการเกิดรัฐสมัยใหม่ โดยทั่วไปบทบาทหน้าที่หลักของสถาบันทางการแพทย์ในรัฐสมัยใหม่นั้น มีวัตถุประสงค์พื้นฐานอยู่ที่การป้องกันประชากรของรัฐจากภยันตรายต่อสุขภาพ โดยส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีเพื่อผลิตสร้างความมั่งคั่งให้แก่รัฐ 

แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นจากการที่ต้องแข่งขันกันสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งในโลกยุคพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแนวคิดพ่อปกครองลูก (Paternalism) ที่พัฒนาขึ้นในช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในนครรัฐฮัมบูร์กตั้งแต่สมัยราชินี มาเรีย เทเรซ่า (Maria Theresa, 1717-1780) ที่เชื่อว่าบทบาทของรัฐราชาธิปไตยควรเป็นเช่นเดียวกับการดูแลปกครองบุตรของบิดา ข้อนี้จึงน่าสงสัยมากว่ารัฐสุโขทัยในคริสต์ศตวรรษที่ 13 นั้นเอาแนวคิดพ่อขุนปกครองลูกมาจากไหนกัน 

โดยแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากหลักปรัชญาการเมืองว่าด้วย ‘ความมั่งคั่งของรัฐ’ (Cameralism) ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจของชาติจะดีขึ้นด้วยการเพิ่มปริมาณเงินรายได้ของรัฐ การเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีสุขภาพดีเท่ากับเป็นทรัพยากรทางอำนาจที่รัฐสามารถใช้ได้อย่างไม่หมดสิ้น เพื่อการผลิตทางการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเป็นกำลังทหาร ดังนั้นร่างกายและพฤติกรรมของปัจเจกชนในทางเศรษฐกิจและการเมืองจึงเป็นทรัพย์สินของรัฐ ทำให้ผู้ปกครองในรัฐปิตาธิปไตยต้องขยายบทบาทหน้าที่ด้วยวิธีการควบคุมผ่านรูปแบบการบริหารจัดการแบบพลเรือน  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าพลเมืองสุขภาพดีคือผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้รัฐต้องมีหน้าที่มาบริหารจัดการทางการแพทย์เพื่อผลประโยชน์ของรัฐเอง

การเกิดขึ้นของแนวคิดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐ ได้ทำให้เกิดการขยายบทบาทของรัฐไปบริหารดูแลจัดการในหลายเรื่อง จากเมื่อก่อนที่ไม่ได้เป็นบทบาทของรัฐ เช่น การศึกษา การแพทย์ กลายเป็นรัฐต้องเข้ามาดูแลเองอย่างเต็มกำลัง 

นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นมา รัฐได้เปลี่ยนรูปโฉมไปเป็นรัฐประชาชาติแทนการเป็นรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น รัฐต้องเข้าไปมีบทบาทหน้าที่จัดให้มีบริการและควบคุมดูแลการแพทย์มากขึ้น กำกับดูแลวิชาชีพแพทย์ให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ และสร้างสถาบันทางการแพทย์ขึ้นมาสอดส่องดูแลสุขภาพประชาชน ให้มีวินัย ประพฤติตนเป็นผู้มีสุขภาพดีและไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพของคนอื่นในสังคม ที่สำคัญคือต้องจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สงครามและการเกิดโรคระบาดอย่างทันท่วงที

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 การแพทย์สาธารณะได้ขยายบทบาทขึ้นมากจากความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาคนยากจนที่เจ็บป่วยจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม 

จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 สถาบันทางการแพทย์เกือบทั้งหมดก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ ในฐานะเป็นคนกลางสร้างสัญญาประชาคมระหว่างสถาบันทางการแพทย์กับรัฐ โดยรัฐแทบจะกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจเพียงแห่งเดียวของสังคม ถึงแม้ภาคเอกชนจะเป็นผู้จัดหาบริการทางการแพทย์ได้เช่นกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐแทบทุกเรื่อง 

กระทั่งทศวรรษ 1920 ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการแพทย์และรัฐกลายเป็นสิ่งที่ขาดกันและกันไม่ได้อีกต่อไป เพราะรัฐต้องการสถาบันทางการแพทย์ในการรักษาคนที่เจ็บป่วย เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถกลับมาทำการผลิตและรักษาพันธสัญญาตามกฎหมายในการเป็นพลเมืองของรัฐต่อไป 

ดังนั้น เราจะพบว่ารัฐไทยที่กำลังก้าวสู่รัฐสมัยใหม่ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ได้นำเอาการแพทย์เป็นเทคโนโลยีอำนาจของรัฐตะวันตกมาใช้ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสร้างความทันสมัยเช่นเดียวกัน

บทบาทรัฐโบราณจัดการโรคระบาดกับการปกครองด้วยพิธีกรรม

ในสมัยโบราณการจัดการโรคระบาดน่าจะเป็นบทบาทการดูแลสุขภาพเพียงอย่างเดียวของรัฐเกือบทุกที่ในโลกนี้มีให้กับประชาชน แต่ด้วยเทคโนโลยีทางอำนาจที่จำกัดพร้อมๆ กันความรู้ในการจัดการโรคระบาดไม่ต่างจากราษฎรทั่วไป หน้าที่รัฐที่ทำกันในทุกที่ทั่วโลกในการขจัดปัดเป่าโรคร้าย คือ การย้ายเมืองหนีโรค ดังเรื่องเล่าของไทยที่พระเจ้าอู่ทองพาคนหนีโรคห่ามาตั้งกรุงศรีอยุธยา (หรือบางครั้งชาวบ้านก็หนีกันเองไปอยู่ตามป่า)

แต่ยังมีวิธีการหนึ่งที่รัฐจารีตไทยใช้ คือ การจัดพิธีกรรมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน ซึ่งรัฐโบราณทั่วโลกมีหน้าที่สำคัญคือปกครองคนด้วยพิธีกรรมอยู่แล้ว ดังนั้นการรักษาโรคร้ายจึงกระทำผ่านพิธีกรรมความเชื่อ เช่น ในยุโรปมีการรักษาโรคเรื้อนโดยการถูกสัมผัสจากพระราชา หรือการแจกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ปลุกเสกตามโบสถ์เพื่อเอาไปลูบทาแก้สารพัดโรค หรือการทำพิธีจากนักบวชหรือหมอผีโดยอาศัยความคิดความเชื่อเรื่องผีหรือเทพเจ้าในแต่ละรัฐทั่วโลก 

ในอุษาคเนย์ รัฐโบราณที่ คลิฟฟอร์ด เกียตซ์ เรียกว่ารัฐนาฏกรรม (theater state) ใช้การปกครองผ่านพิธีกรรมที่ปลูกฝังให้ผู้คนเชื่อว่า พวกเขาอยู่รอดปลอดภัยด้วยอำนาจที่อยู่เหนือตัวเขาเองทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ผี พระ ราชา ต้นไม้ หรือสิงสาราสัตว์ต่างๆ โดยมีการทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และอลังการเพื่อให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของอำนาจของรัฐนาฏกรรม พิธีกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากอย่างมากในการแสดงอำนาจของรัฐจารีต

การทำพิธีกรรมสวดมนต์ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในสยามยุคจารีต จึงเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอำนาจการปกครองของรัฐให้ปรากฏต่อประชาชนผ่านพิธีนาฏกรรมของรัฐเหมือนอีกหลายพิธีที่เรามีโอากสได้เห็นทั้งปี 

ในสมัยโบราณ โรคระบาดรวดเร็วรุนแรงที่ส่งผลให้คนตายมากๆ คนไทยเรียกว่าโรคห่าซึ่งใช้เรียกกันอย่างปนเปไปมาระหว่าง 3 โรคคือ ทรพิษ (เรียกเก่าแก่ที่สุด) ต่อมาใช้เรียกอหิวาตกโรคและกาฬโรค ที่ระบาดหนักหน่วงช่วงเปลี่ยนผ่านสยามเป็นรัฐสมัยใหม่ตรงกับยุคสมัยอาณานิคม

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อหิวาตกโรค ตามคำอธิบายในคัมภีร์การแพทย์แผนไทยโบราณเกิดจากผีทำหรือวิญญาณชั่วร้าย ดังนั้น อหิวาตกโรคจึงต้องใช้พิธีกรรมทางศาสนาและเครื่องรางของขลังในการขับไล่โรคร้ายที่มาจากผี ซึ่งเป็นการใช้พิธีกรรมตามความเชื่อของคนในสังคมยุคนั้น การทำพิธีจัดการโรคเยียวยาให้กำลังใจผู้คนในสังคมในการเผชิญหน้ากับโรคร้ายร่วมกัน จะเห็นว่ารัฐจารีตสยามมีหน้าที่เพียงแค่สนับสนุนให้กำลังใจมากกว่ารักษาป้องกันอย่างแท้จริง ประชาชนจึงต้องเอาชีวิตรอดจากโรคระบาดด้วยตัวเอง

เมื่ออหิวาตกโรคระบาดครั้งแรก .. 1820 จากหลักฐานพงศาวดารรัชกาลที่ 2 เชื่อว่าสาเหตุมาจากผีโกรธที่คนไปขนหินมาสร้างสวนขวาในพระราชวัง ซึ่งมีบันทึกว่าในคราวนั้น ราชสำนักได้จัดการแก้ไขโรคดังนี้ 

ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไข้ด้วยคุณยาเหนจะไม่หาย จึ่งให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตร เมื่อ วันจันท์รเดือนเจดขึ้นสิบค่ำยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่งยังรุ่ง แล้วเชิญพระแก้วมรกฏแลพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประน้ำปริตรทั้งทางบกทางเรือ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีลทั้งพระราชวงษานุวงษ์ที่มีกรมหากรมมิได้แลให้จัดซื้อปลาแลสัตว์สี่เท้าสองเท้าที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาดในจังหวัดกรุงเทพมหานครทรงปล่อย สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก” 

ในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 หนังสือพระราชพิธี 12 เดือน พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าพิธีอาพาธพินาศและการสวดอาฏานาฏิยสูตรโดยพระสงฆ์นั้น บัญญัติขึ้นโดยพระพุทธองค์ เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็น แต่ตั้งชื่อ ว่าอาพาธพินาศตามความต้องการ มิใช่วิธีที่พระพุทธเจ้าในฐานะบุคคล (ตามความคิดคนสมัยใหม่) สั่งสอนไว้ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภัย 

แต่เนื่องจากคนไทยสมัยนั้นเข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากผี การรักษาโรคที่ถูกต้องจึงควรเป็นการไล่ผี ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าเข้าใจผิด โดยพระองค์อธิบายว่า เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศและความประพฤติที่อยู่ที่กินของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวิญญาณจะขับไล่ได้ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีไม่ได้มีประโยชน์อันใด 

พระบรมวินิจฉัยการเลิกใช้พิธีการไล่ผีจึงแสดงให้เห็นถึงสมมติฐานของการเกิดโรคที่เปลี่ยนจากผีมาเป็นสิ่งแวดล้อมที่สกปรกหรือที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีอายพิศม์’ (miasma theoty)  ที่เชื่อว่าโรคร้ายเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่สกปรก เมื่อลมพัดผ่านจึงหอบเอาพิษที่อยู่ในสิ่งหมักหมมนั้นมาถูกคน คนจึงเป็นโรค ซึ่งหมอบรัดเลย์เป็นผู้นำทฤษฎีการเกิดโรคดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่ในสยาม

สยามกับการใช้การแพทย์ตะวันตกรับมือโรคระบาดในยุคอาณานิคม

หลังจากมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาเผยแพร่ความรู้นี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 พวกเขาได้อธิบายสาเหตุของโรคว่าเกิดจากอายพิศม์ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาดจนคนหันมากลัวความสกปรก และเรียกร้องให้รัฐสยามจัดการให้สะอาดด้วยระบบสุขาภิบาลขึ้นในเมืองเกิดใหม่อย่างกรุงเทพฯ 

รัฐสยามที่กำลังเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ภายใต้การกำกับของชนชั้นนำในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงต้องกลายเป็นเจ้าภาพหลักในการขจัดปัดเป่าโรคระบาดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่คือการแพทย์จากตะวันตก ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันกับการเกิดรัฐและเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการจัดการ 

การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแม้จะเข้ามาในสยามตั้งแต่สมัย ร.3 แต่แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไปช้ามาก

เครื่องมือของรัฐสยามใหม่หรือการจัดการทางการแพทย์ของรัฐสยาม มาจากการเลียนแบบการจัดการสุขภาพจากรัฐอาณานิคมตะวันตกที่ชนชั้นนำสยามได้ไปดูโรงพยาบาล คุก ประปาในอาณานิคม

ต่อมาหลังการระบาดครั้งใหญ่ของอหิวาตกโรคใน .. 1881 ยุติลง 4 ปี รัฐสยามได้เดินหน้าตั้งสถาบันทางการแพทย์เพื่อสร้างบทบาทใหม่ของรัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชน ด้วยการตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลถาวรของรัฐขึ้น และอีก 3 ปีต่อมาคือ .. 1888 ก็ได้เปิดทำการรักษาคนไข้อย่างเป็นทางการในนาม ‘โรงศิริราชพยาบาลนับเป็นการวางรากฐานของการสร้างสถาบันการแพทย์ตะวันตกของรัฐสยามอย่างชัดเจนในเมืองหลวง แต่ไม่ได้ขยายไปหัวเมืองและประชาชนก็ไม่กล้าเข้าใช้บริการมากนักช่วงแรกๆ

โรงพยาบาลศิริราชพยาบาลเมื่อแรกสร้าง เป็นอาคารไม้จากงานพระเมรุจุคนไข้ได้เพียง 50 เตียง

พร้อมกันนั้นรัฐสยามก็ได้เริ่มกิจการสุขาภิบาลขึ้นด้วยเพื่อรับมือกับกลิ่นเหม็นอันเป็นบ่อเกิดของโรค ด้วยการสร้างความสะอาดให้เกิดขึ้นแก่กายภาพของเมือง ด้วยการกำจัดของเสีย น้ำเสีย สิ่งปฏิกูล การสร้างถนนและการระบายน้ำ ในส่วนของประชาชนนั้นรัฐได้เริ่มเผยแพร่ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ในการรับมือและจัดการโรคทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคล การรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมของบ้านเมือง

การใช้การแพทย์ ทฤษฎีเชื้อโรคและการปกครองด้วยกฎหมายจัดการโรคระบาดของรัฐไทย 

เทคโนโลยีทางอำนาจของการแพทย์ตะวันตกมีประสิทธิภาพในการจัดการโรคระบาดเหนือการแพทย์แบบอื่นอย่างชัดเจนนั้น เกิดขึ้นหลังการค้นพบทฤษฎีเชื้อโรคที่รู้กลไกการระบาดของโรคว่าดำเนินผ่านเชื้อโรค ด้วยการควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อันเป็นสาเหตุแห่งการเกิดโรคไม่ให้แพร่หลายถึงกัน ไม่ว่าจากคนสู่คนหรือโดยพาหะ

ความรู้ด้านโรคระบาดเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้นราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือการอธิบายสมมติฐานโรคด้วยทฤษฎีเชื้อโรค (germ theory) ซึ่งทำให้การแพทย์หันมาให้ความสำคัญต่อเชื้อโรค และระแวดระวังการติดต่อของจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จนส่งผลต่อการจัดการโรคด้วยการสาธารณสุขที่หันมามุ่งเน้นป้องกันการติดต่อของเชื้อโรคด้วยการกินที่สะอาดและป้องกันกำจัดพาหะนำเชื้อโรคอย่างแมลงวัน พร้อมกันกับคิดค้นยาทำลายเชื้อโรค ซึ่งสำเร็จหลังมียาปฏิชีวนะในเวลาต่อมา

ภาพข่าวให้ความรู้เรื่องการป้องกันอหิวาตกโรค ที่มา: กรุงเทพฯ วารศัพท์, 28 กุมภาพันธ์ 2479

ในสังคมไทยทฤษฎีเชื้อโรคถูกนำมาใช้ในการจัดการโรคระบาดในทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา แต่อีกราว 20 ปี ทฤษฎีเชื้อโรคจึงจะกระจายไปทั่วทั้งประเทศพร้อมกันกับการขยายอำนาจของรัฐไทยไปยังท้องที่ทุกจังหวัดผ่านระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาล 

ในทศวรรษ 1920 แม้จะมีการเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ว่าโรคหลายชนิดเกิดจากเชื้อโรคที่ติดต่อกันได้ และเชื้อโรคแต่ละตัวก็ทำให้เกิดเฉพาะโรค แม้จะยังไม่ได้มีการระบุอย่างเจาะจงว่าเชื้อชนิดใดก่อโรคสายพันธุ์เฉพาะใดเหมือนในปัจจุบัน แต่เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้การเรียกชื่อโรคในสังคมไทย มีความชัดเจนขึ้น และไม่เรียกรวมๆ ตามอาการแบบเดิม ทำให้การจำแนกโรคระบาดรวมๆ ที่เรียกว่าห่าสิ้นสุดลงไปด้วย โดยเปลี่ยนมาเรียกโรคตามชื่อเชื้อเฉพาะเจาะจงที่ทำให้เกิดโรคหรือภาษาวิทยาศาสตร์แทน เช่น  มาลาเรีย อหิวาตกโรค ทรพิษ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด เป็นต้น

ภาพลักษณ์ความน่ากลัวของแมลงวันพาหนะของเชื้ออหิวตกโรคที่มีภาพแทนของโครงกระดูกเป็นสัญญะของความตาย

ด้วยการปกครองโดยกฎหมายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมจัดการโรคระบาดบังคับผ่านกฎหมายให้กลายเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ต้องแจ้งต่อทางการอันเป็นหน้าที่ของชาวบ้าน ส่วนการจัดการหลังจากเป็นโรคก็ให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรัฐสยามในช่วงเริ่มต้นแม้จะมีเทคโนโลยีทางอำนาจน้อยและจำกัดด้วยทรัพยากร แต่จากเอกสารชั้นต้นต่างๆ ก็แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นที่จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขอยู่พอสมควร

กล่าวได้ว่าการใช้วิธีการควบคุมความสะอาดและมีระเบียบของเมืองเพื่อกำจัดสิ่งแวดล้อมที่เสียและการเกิดเชื้อโรคที่แพร่ผ่านพาหะจากความสกปรกต่อมาต่างก็ใช้การสุขาภิบาลเป็นหลัก ใช้วิธีการอันเป็นสากลในป้องกันเชื้อโรค นั่นคือการใช้วัคซีนป้องกันโรคและใช้ยาบรรเทารักษาอาการของโรค ไปพร้อมๆ กันกับการรักษาความสะอาดส่วนบุคคลและที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ทำให้ความน่ากลัวของของโรคระบาดรวมทั้งอหิวาตกโรคค่อยลดความน่ากลัวลงเพราะเชื่อว่ามนุษย์ควบคุมมันได้ แต่ก็ไม่เคยน่าไว้วางใจ

สถาปนารัฐเวชกรรมไทยหลังปฏิวัติการเมืองสยาม 2475

เอาเข้าจริง การขยายบทบาทของสถาบันการแพทย์และสาธารณสุขของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยนั้น ยังจำกัดมากมีให้บริการแต่เฉพาะในกรุงและหัวเมืองใหญ่และและมุ่งจัดให้แก่คนของรัฐเป็นสำคัญ เช่น ข้าราชการ และนักโทษ ไม่ได้กระจายออกไปสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งปรากฏว่า ประชาชนยังต้องพึ่งพาอาศัยการแพทย์แผนโบราณกันเป็นส่วนมาก ทั้งนี้อาจจะด้วยเพราะติดปัญหาด้านงบประมาณหรืออาจเป็นเพราะรัฐสยามยังไม่เห็นว่าประชาชนคนสามัญมีความสำคัญต่อผลิตภาพของรัฐ ซึ่งปริศนาข้อนี้คงต้องยกให้ผู้อ่านช่วยกันขบคิดต่อไป

จากการสำรวจของนักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน คาร์ล ซิมเมอร์แมน ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามไม่นานนักคือใน .. 1930-1931 ได้รายงานว่าชาวชนบทในเมืองไทยไม่ได้รับประโยชน์จากการแพทย์แผนปัจจุบันเลย มีเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการรักษาโรคโดยการแพทย์แผนปัจจุบันจากโรงพยาบาลซึ่งมีเพียง 34 แห่ง ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลและพวกมิชชันนารี

จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม ที่ระบอบการเมืองใหม่ได้ให้ความสนใจกับการสร้างคุณภาพของประชากรเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งในการนี้การแพทย์สมัยใหม่และการสาธารณสุขได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ในนโยบายสร้างชาติด้วยการจัดการประชากรตามแนวชีวการเมือง (biopolitics)

ตั้งแต่ .. 1934 เป็นต้นมา รัฐบาลคณะราษฎรมีอำนาจเต็มที่ในระบอบใหม่ พวกมีนโยบายที่จะสร้างให้รัฐไทยให้กลายเป็น ‘รัฐเวชกรรม  ให้เกิดขึ้นจริงเป็นครั้งแรกตามข้อเสนอของทวีศักด์ เผือกสม โดยนโยบายสำคัญคือให้มีโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดและเริ่มการควบคุมโรคระบาดอย่างจริงจัง ควบคู่กับการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ เช่น การกินตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย ซึ่งมีผลให้การแพทย์และการสาธารณสุขได้ขยายตัวและกลายเป็นสถาบันทางสังคมและสถาบันผลิตความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างยิ่งในเวลาต่อมา

เมื่อถึงกึ่งพุทธกาลรัฐไทยก็มีโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดแล้ว โรคระบาดสำคัญอย่างทรพิษ อหิวาตกโรค กาฬโรคก็สามารถกำจัดได้ไม่มีระบาดอีก มาลาเรียก็ลดลงควบคุมได้เพราะความช่วยเหลือเทคโนโลยีและยาดีดีทีจากมหามิตรสงครามเย็นอย่างสหรัฐอเมริกา สงครามกับโรคระบาดเก่าๆ ก็สิ้นสุดลง แต่ก็ยังคงมีโรคอื่นที่เกิดขึ้นใหม่และอุบัติซ้ำอยู่เรื่อยๆ เช่น เอดส์ ไข้หวัดนก หรืออย่างโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้   

รัฐต้องมีหน้าที่ ‘บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน

สิ่งที่ทำให้เราต้องเรียกร้องจากรัฐในการจัดการโรคระบาดให้ประชาชน ก็เนื่องจากประชาชนมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐไปจัดการทำหน้าที่ของส่วนรวมแทนปัจเจกชนแต่ละคนไปแล้ว หน้าที่จัดการภัยส่วนรวมอย่างโรคระบาดเลยต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของรัฐเองคือบำรุงสุขภาพของประชาชนเพื่อให้รัฐมาตักตวงทรัพยากรที่ให้ประโยชน์ความรุ่งเรืองแก่รัฐอย่างไม่สิ้นสุด ตามพันธะสัญญาในวิถีของรัฐสมัยใหม่ คือรัฐชาติก็ต้องรับผิดชอบกับคนในชาตินั้นๆ ให้ถึงที่สุด 

ส่วนปัจเจกชนก็มีเสรีภาพแสวงหาการรักษาเยียวยาที่หลากหลาย ในโลกที่การแพทย์เป็นพหุลักษณ์ในทุกสังคม ดังนั้น ปัจเจกคนใดจะสวดมนต์ไล่ผี ที่น่าสนใจคือการสวดภาณยักษ์ที่เรารู้จักกันนั้นยังคงใช้บทสวดอาฏานาฏิยสูตรอยู่เหมือนสมัยก่อน หาเครื่องราง แขวนเสื้อหน้าบ้านซึ่งเป็นการหลอกผีตามอย่างโบราณ ก็อาจจะให้กำลังใจได้ หรือจะหายาสมุนไพร หรือประกอบพิธีเองก็คงเป็นสิทธิ์ตราบเท่าไม่กระทบสิทธิคนอื่นหรือหลอกลวง 

แต่เชื่อเหลือเกินว่าความคาดหวังของคนยุคใหม่ต่อรัฐผู้กุมทรัพยากรและอำนาจทุกอย่างในมือ ในการจัดการโรคระบาดนั้น การรักษาโรคระบาดด้วยการสวนมนต์ควรจะมา หลังจากที่รัฐได้จัดการโรคระบาดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จนประชาชนมั่นใจได้หมดแล้ว ไม่ใช่หันมาใช้วิธีโบราณปลอบประโลมใจผู้คนทั้งสังคมโดยแต่แรก 

เพราะไม่เช่นนั้น จากที่ประชาชนจะสวดมนต์ไล่ผีห่าโรคร้าย ก็อาจจะกลายเป็นโห่ห่าไล่รัฐบาลผีเสียมากกว่า

Tags: , , , , , ,