วันนั้นเป็นเวลาบ่าย ซึ่งปกติธรรมดา โรซา พาร์กส (Rosa Parks) จะเลิกงานออกจากห้างมอนต์โกเมอรี แฟร์ แล้วไปขึ้นรถประจำทางเหมือนเช่นปกติ ในความคิดของเธอยามนั้นกำลังหมกมุ่นอยู่กับอาหารมื้อเย็น แต่เธอต้องสะดุ้งเมื่อพนักงานขับรถหันมาตะคอกใส่เธอและผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ “ลุกออกไปเลย ที่นั่งตรงนั้นไม่ใช่ของพวกเธอ”
การแบ่งแยกสีผิวในรัฐต่างๆ ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาในยุคทศวรรษ 1950s กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่ไม่มีใครพบเห็นหรือรู้สึกได้ชัดเจนเท่าบนรถโดยสารประจำทาง ที่นั่งแถวหน้ามักถูกจับจองไว้สำหรับคนผิวขาว ส่วนแถวหลังปล่อยว่างไว้สำหรับคนผิวดำ พื้นที่ตรงกลางเป็นโซนสีเทาซึ่งแล้วแต่ว่าพนักงานขับรถเป็นคนกำหนดให้ใครนั่ง ยามใดที่ผู้โดยสารเต็มคันรถ คนผิวดำมักจะต้องถูกไล่ให้สละเก้าอี้เพื่อคนผิวขาว
และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับโรซา พาร์กส และคนที่นั่งไม่ห่างจากเธออีกสามคน ในวันที่ 1 ธันวาคม 1955 ในมอนต์โกเมอรี เมืองหลวงของรัฐแอละแบมา แต่แทนที่พาร์กสจะสละเก้าอี้ขยับลุกไปนั่งแถวหลังอย่างเงียบเชียบเหมือนคนอื่นๆ เธอกลับนั่งนิ่งเฉย พนักงานขับรถชื่อเจมส์ เบลค (James Blake) เรียกร้องให้เธอลุกจากที่นั่ง เธอหันไปจ้องตาเขาก่อนตอบปฏิเสธ เบลคจึงข่มขู่ว่าจะจับกุมเธอ ไม่กี่นาทีถัดจากนั้นเขาก็ตามเจ้าหน้าที่มาจับ
โรซา พาร์กส ย้อนรำลึกเหตุการณ์ในภายหลัง เธอเองก็จำสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมเธอถึงแสดงอาการขัดขืนในวันนั้น สำหรับเธอแล้ว การเหยียดสีผิวดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเสียจนชิน บางทีอาจจะเป็นเพราะการบังคับข่มขู่ของเบลคทำให้เธอหมดความอดกลั้น ตอนนั้นพาร์กสอายุ 42 ปี และรู้ดีว่าการกระทำของเธอจะส่งผลอะไรต่อเธอได้บ้าง
เธอยังจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับไอแซค วูดเวิร์ด (Isaac Woodward) ที่เกิดขึ้นในปี 1946 ได้ดี ครั้งนั้นนายทหารผ่านศึกโดยสารรถบัสข้ามรัฐ ระหว่างแวะพักกลางทางเขาใช้เวลาเข้าห้องน้ำเป็นเวลานาน จนถูกพนักงานขับรถรายงานต่อเจ้าหน้าที่ว่าเขามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นายตำรวจที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทุบตีวูดเวิร์ดด้วยกระบองจนหมดสติ หลังจากนั้นเขายังถูกทำร้ายร่างกายจนกระดูกซี่โครงหัก และกระจกตาได้รับความเสียหายรุนแรงกระทั่งทำให้เขาสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต ถึงกระนั้นโรซา พาร์กส ก็ยังนั่งนิ่งเฉย และด้วยความกล้าหาญของเธอในการขัดขืนได้สร้างแรงบันดาลใจ เกิดเป็นคลื่น สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นในอเมริกา
พาร์กสไม่ได้ถูกทุบตี ข่าวการจับกุมตัวเธอแพร่สะบัดไปอย่างรวดเร็ว และสร้างกระแสให้เกิดการชุมนุมประท้วง ในตอนค่ำของวันนั้นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในมอนต์โกเมอรีพากันเรียกร้องให้บอยคอตรถโดยสารประจำทางในเมือง และส่งต่อกิจกรรมการเคลื่อนไหวให้กับบาทหลวงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก
นับแต่เหตุการณ์ในวันนั้น พลเมืองผิวสีเริ่มหันมาใช้วิธีการเดินแทนการนั่งรถประจำทาง ร่วมโดยสารรถแท็กซี่ และพยายามรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนหากต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หลังจากก่อหวอดประท้วงยาวนานถึง 381 วัน ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็บรรลุเป้าหมาย การแบ่งแยกสีผิวในรถประจำทางในมอนต์โกเมอรีถูกตัดสินว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีการยกเลิกไป
โรซา พาร์กส ไม่ใช่ผู้หญิงผิวดำคนแรกที่ไม่ยอมสละที่นั่งให้กับคนผิวขาว ในช่วงทศวรรษ 1950s มีเหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ทำไมกรณีของโรซา พาร์กส จึงกลายเป็นกระแสต่อต้านการเหยียดสีผิวขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ และทำไมเธอจึงกลายเป็นวีรสตรีในสายตาของใครๆ
ราวเก้าเดือนก่อนหน้าเหตุการณ์ในมอนต์โกเมอรี เคยมีกรณีของคลอเด็ตต์ โคลวิน (Claudette Colvin) และแมรี หลุยส์ สมิธ (Mary Louise Smith) ที่ขัดขืน ไม่ยอมสละเก้าอี้บนรถประจำทางให้คนผิวขาวนั่ง แต่การประท้วงของผู้หญิงผิวดำทั้งสองก็เลือนหายไปในเวลาไม่นาน
นั่นเพราะพวกเธอไม่มีแรงหนุนจากนักเคลื่อนไหวเหมือนเช่นในมอนต์โกเมอรี แม้จะมีองค์กรอย่าง NAACP (National Association for the Advancement of Coloured People) ที่คอยให้ความช่วยเหลือพลเมืองผิวสีด้านสิทธิและเสรีภาพในวงกว้างก็จริง แต่หลังจากการตรวจสอบแล้ว NAACP พบว่าภาพลักษณ์ของผู้หญิงทั้งสองไม่เหมาะที่จะนำมาชูประเด็นประท้วง โคลวินยังเป็นสาววัยรุ่น กำลังตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน ส่วนสมิธก็มีพ่อเป็นคนติดเหล้า
ตรงข้ามกับพาร์กสที่เหมาะสมกว่า เพราะเธอไม่มีอดีตหรือพฤติกรรมที่เป็นจุดด้อยให้ใครนำมาโจมตีได้ เธอเกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1913 ในเมืองทัสเคกี รัฐแอละแบมา อยู่ในความเลี้ยงดูของตายายจนกระทั่งย้ายไปตั้งถิ่นฐานในมอนต์โกเมอรี เธอเรียนรู้การตัดเย็บจนได้งานเป็นช่างเย็บผ้า ทำงานที่ห้างมอนต์โกเมอรี แฟร์มานานหลายปีแล้ว ปี 1932 เธอแต่งงานกับเรย์มอนด์ พาร์กส์ (Raymond Parks) และครองคู่อยู่กับเขาจวบถึงวันที่เขาเสียชีวิตในปี 1977
ความสนใจสองอย่างที่ทำให้ชีวิตของโรซา พาร์กส ดีขึ้น ความรักในพระเจ้า และความทุ่มเทให้กับการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของคนผิวสี เธอเข้าโบสถ์บ่อยเท่าที่จะทำได้ และมักจดจำคำสอนในพระคัมภีร์นำมาปรับใช้กับชีวิต เธอเป็นคนซื่อสัตย์ในสายตาของคนทั่วไป
ทุกครั้งที่มีเวลาว่างเธอมักจะไปที่สำนักงานของ NAACP เข้าไปช่วยงานเป็นเลขาฯ ดูแลสมาชิกขององค์กรที่เป็นเยาวชน และคอยบันทึกข้อมูลคดีที่คนผิวสีถูกทำร้าย แม้ว่าจะเป็นงานที่เธอไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ ก็ตาม
วันที่ 5 ธันวาคม 1955 ระหว่างที่โรซา พาร์กส เดินทางไปยังศาล เธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากฝูงชนที่ไปเฝ้ารอให้กำลังใจบริเวณด้านหน้าศาลาว่าการเมืองมอนต์โกเมอรี ผู้พิพากษาผิวขาวใช้เวลาพิจารณาคดีของเธอไม่ถึงห้านาที ก่อนพิพากษาว่าเธอมีความผิดข้อหามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และทำผิดกฎระเบียบของเมือง ต้องเสียเงินค่าปรับจำนวน 10 ดอลลาร์
แต่พาร์กส์ต้องจ่ายแพงกว่านั้น เพราะหลังจากเหตุการณ์วันที่ 1 ธันวาคม 1955 เธอแทบไม่เหลือที่ยืนในมอนต์โกเมอรี ห้างมอนต์โกเมอรี แฟร์ปลดเธอออกจากงานทันทีหลังจากเกิดเรื่อง ไม่นานต่อมา สามีของเธอซึ่งทำงานเป็นช่างตัดผม ก็ถูกเลิกจ้างเช่นเดียวกัน
ความพยายามในการหางานใหม่ไร้ผล ไม่มีใครอยากว่าจ้างสองสามี-ภรรยา ร้ายกว่านั้นทั้งสองยังถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์และจดหมาย จากกลุ่มคู-คลักซ์-แคลนที่ตั้งเป้าโจมตีพลเมืองผิวดำ จนกระทั่งทั้งสองตัดสินใจโยกย้ายออกจากเมือง
ปี 1957 เธอและสามีเดินทางอพยพไปยังดีทรอยต์ ไปเริ่มงานเป็นช่างเย็บผ้าอีกครั้ง และจากปี 1968-1988 เธอมีโอกาสทำงานเป็นเลขาฯ ให้กับ สส.ผิวดำชื่อ จอห์น คอนเยอร์ส (John Conyers)
โรซา พาร์กส เสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2005 เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเกียรติให้จัดเก็บอัฐิไว้ในแคปิตอล เทียบเท่าตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นวีรสตรีของชาติ
อ้างอิง:
https://www.sueddeutsche.de/kultur/zum-tode-von-rosa-parks-als-die-geschichte-sitzenblieb-1.416800-0
Tags: สิทธิมนุษยชน, คนผิวดำ, การเหยียดสีผิว, โรซา พาร์กส, สหรัฐอเมริกา