องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเร่งตรวจสอบกรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 ในเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการรักษาจนหายแล้ว กลับมามีผลตรวจเป็นบวกอีกครั้ง โดยตัวเลขของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ณ วันที่ 11 เมษายนคือ 91 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองแทกูที่เป็นพื้นที่ระบาดใหญ่ในเกาหลีใต้
ตามข้อปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก ข้อยืนยันว่ารักษาหายแล้วนั้นมาจากการที่ผู้ป่วยรายนั้นมีผลเลือดเป็นลบ โดยจะมีการตรวจ 2 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกัน 24 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าหายแล้ว จะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้
องค์การอนามัยโลกได้ขอผลตรวจรายบุคคลของผู้ป่วยทั้ง 91 คนจากเกาหลีใต้ เพื่อนำมาศึกษาและพยายามหาว่าจะสามารถชี้วัดการ ‘หายขาด’ จากโรคโควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง
ทางด้านนางจอง อึนกยอง ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งเกาหลีใต้ (KCDC) เชื่อว่ากรณีนี้เป็นเหตุมาจาก เชื้อโคโรนาไวรัสในตัวผู้ป่วยได้หยุดทำงานจนไม่สามารถตรวจพบในเซลล์มนุษย์แล้ว แต่มันกลับมาทำงานอีกครั้ง (reactive) ซึ่งยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อซ้ำสอง (reinfect) แต่อย่างใด
ล่าสุดนี้ตัวเลขผู้ป่วยที่รักษาหายในเกาหลีใต้มีทั้งหมดเกือบ 7,000 คน ซึ่งนายแพทย์คิม อูจู (Kim Woojoo) จากโรงพยาบาลกูโร แห่งมหาวิทยาลัยโคเรีย กล่าวว่าตัวเลข 91 คนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันว่าหายแล้ว แต่กลับมามีผลตรวจเป็นบวก เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยเซาธ์ไชนามอร์นิ่งโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ว่า ผู้ป่วยที่หายแล้วกว่า 10% ในอู่ฮั่น กลับมามีผลเป็นบวกอีกครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดคำถามว่าผลการตรวจที่ว่า ‘หายแล้ว’ นั้นเชื่อถือได้แค่ไหน
อย่างไรก็ตาม แพทย์ในเมืองอู่ฮั่นระบุว่า ผู้ป่วยที่กลับมามีผลเลือดเป็นบวกอีกครั้ง ไม่ได้มีอาการป่วย และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ป่วยที่กลับมามีผลตรวจเป็นบวกได้แพร่เชื้อให้กับคนอื่น นายแพทย์ยังแนะนำว่า ผู้ป่วยที่หายแล้ว ควรยังต้องกักตัวเองอีกเป็นเวลา 14 วัน หลังออกจากโรงพยาบาล และต้องกลับมาตรวจอีกครั้งเพื่อยืนยันให้แน่ชัด
อ้างอิง: https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-who
https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-southkorea
ภาพ: REUTERS/Kim Hong-Ji
Tags: เกาหลีใต้, อู่ฮั่น, โควิด-19, COVID-19