ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา พยาบาลจากโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งบอกกับนงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ หรือ ‘ลักษณ์’ ผู้ริเริ่มโครงการ Happy Dolls Project ตุ๊กตายิ้มกว้างเพื่อเป็นกำลังให้เด็กด้อยโอกาสและพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ มานานนับสิบปีว่า
“ตอนนี้หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กแพงมาก แม่ที่พาลูกมาโรงพยาบาลมีเงินติดตัวมา 200 บาท ต้องซื้อหน้ากากให้ลูกใส่อันละ 150 บาท น่าเห็นใจมากค่ะ อยากให้มาสอนเย็บหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กบ้างได้ไหมคะ”
น้ำเสียงของพยาบาลท่านนั้นเป็นเหมือนกระแสไฟฟ้าที่ส่งผ่านมากระตุ้น ‘ต่อมจิตอาสา’ ของเธอให้จี๊ดขึ้นมาฉับพลัน
“พอได้ยินปุ๊บ เรารู้สึกเหมือนมีพลังอัดอั้นในตัวที่ต้องระเบิดออกมาให้ลงมือทำอะไรบางอย่างแล้วล่ะ”
นับจากวันนั้น ต่อมจิตอาสาของเธอก็เริ่มทำงาน เศษผ้าในบ้านที่เหลือจากการเย็บตุ๊กตาค่อยๆ ถูกนำมาทดลองออกแบบเย็บเป็นหน้ากากอนามัยขนาดสำหรับใบหน้าเด็ก ซึ่งในเวลานั้นแทบไม่มีขายในท้องตลาด หรือถ้ามีก็ราคาสูงเกินร้อย คนจนจับต้องไม่ได้
ภารกิจแรกของเธอคือการออกแบบแพตเทิร์นหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีแพร่หลายในโลกออนไลน์มากนัก ภารกิจต่อมาคือการจัดกิจกรรมสอนเย็บหน้ากาก หลังจากกระแส Work from Home และ Social Distancing เริ่มมาแรง เธอก็กลายเป็นสาวโรงงานเย็บหน้ากากอนามัยอยู่ที่บ้าน รวมทั้งยังส่งต่อพลังจิตอาสากระจายไปยังกัลยาณมิตรรอบตัว เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ขับเคลื่อนพลังความปรารถนาดีให้สังคมผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปด้วยกันอย่างน่าชื่นชม
ทุกคนที่ได้รับหน้ากากอนามัยของเธอจะสังเกตเห็นรอยยิ้มเล็กๆ ถูกปักไว้ตรงมุม และอมยิ้มตามก่อนจะสวมใส่ เธอตั้งชื่อให้ว่า ‘Happy Mask’ หน้ากากแห่งความสุขปกป้องคุณให้ปลอดภัย
จาก Happy Dolls ถึง Happy Masks
Happy Dolls Project เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2552 จากความฝันเล็กๆ ของอดีตพนักงานบริษัทคอมพิวเตอร์ผู้หลงรักการเย็บตุ๊กตา เธอเริ่มออกแบบตุ๊กตายิ้มกว้างและลงมือเย็บด้วยตนเองเพื่อนำไปแจกเด็กด้อยโอกาส ในเวลาต่อมามีจิตอาสามาร่วมกิจกรรมเย็บตุ๊กตาส่งต่อความสุขด้วยกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จวบจนวันนี้ส่งมอบความสุขผ่านตุ๊กตาไปแล้วมากกว่าหนึ่งหมื่นตัว เธอตั้งชื่อตุ๊กตาว่า ‘Happy Dolls’ เพราะอยากให้ทุกคนที่ได้รับมีความสุขเหมือนกับเธอที่รักการเย็บผ้าเต็มหัวใจ
เช่นเดียวกับ Happy Masks ในวันนี้ เธอเลือกปักรอยยิ้มลงบนหน้ากากเพราะอยากให้ผู้สวมใส่มีความสุขและปลอดภัยจากโรค แม้ว่าหน้ากากอนามัยจะขายได้ราคาดี แต่เธอกลับเลือกเย็บบริจาคมากกว่าเย็บขาย
“เรามองเรื่องทำเพื่อขายเป็นเรื่องรอง เพราะเราอยากเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนสังคมมากกว่า”
นงลักษณ์บอกถึงเหตุผลของการเย็บหน้ากากเพื่อบริจาค รวมทั้งการจัดกิจกรรมสอนคนอื่นเย็บหน้ากากเพื่อส่งต่อพลังจิตอาสาไปสู่สังคมวงกว้างขึ้น
13 มีนาคมที่ผ่านมา เธอนัดคนที่สนใจเย็บหน้ากากผ้ามาเจอกันประมาณ 5 – 6 คน เอาผ้าที่เหลือจากทำตุ๊กตามาใช้ไปก่อนเพื่อลดต้นทุน ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ก็ซื้อมาเพิ่มโดยมีเพื่อนๆ ช่วยบริจาค
“วันนั้นมีคนหิ้วจักรมาหนึ่งคน แบ่งงานกันเหมือนโรงงาน คนไหนเย็บผ้าเป็นก็อยู่ตำแหน่งช่างเย็บ คนไหนเย็บผ้าไม่เป็นก็วาดแบบ ตัดผ้า ส่งต่อไปกันจนได้หน้ากากเมื่อจบวัน 30-40 อัน บางส่วนที่ยังทำไม่เสร็จ เจ้าของจักรเย็บผ้าก็รับไปทำต่อที่บ้านอีก”
“คนที่มาร่วมกิจกรรมเพราะอยากได้แบบไปเย็บให้ตนเองและคนในครอบครัวเพราะตอนนั้นยังไม่แพร่หลาย และ Surgical Mask เริ่มแพงเกินเหตุ บางคนมาขอซื้อที่เย็บเสร็จแล้ว เราก็ไม่รู้จะขายยังไงก็เลยให้เขาบริจาคเป็นค่าอุปกรณ์ไว้แทน บางคนก็มาขอแบบ บางคนมาขอผ้าไปเย็บเอง เราก็ให้ไป”
ไม่กี่วันต่อมา เธอพบว่ากิจกรรมวันนั้นได้ก่อให้เกิดความงอกงามบางอย่าง
“น้องที่เอาจักรมาแล้วไปเย็บต่อ โทรมาถามว่ามีกู้ภัยติดต่อมาขอหน้ากากอนามัย สามารถให้ได้ไหม เราก็บอกว่า ให้ไปเลย ฟังแล้วน่าดีใจ ทุกคนสามารถส่งต่อหน้ากากอนามัยไปยังคนที่ขาดแคลนในวงกว้างขึ้น”
หลังจบเวิร์คช็อปครั้งนี้ ทางรัฐบาลเริ่มประกาศให้ทุกคน Work from Home และปฏิบัติตาม Social Distancing กิจกรรมรวมกลุ่มต่างๆ ต้องยกเลิกหมด รวมทั้งคอร์สการฝึกสมาธิจากอาจารย์ชาวอังกฤษที่เธอช่วยประสานงานเป็นผู้จัด เนื่องด้วยอาจารย์ท่านนี้ต้องเดินทางกลับอังกฤษวันที่ 26 มี.ค. 63 และขณะนั้นโรคโควิด-19 เริ่มระบาดในกลุ่มประเทศยุโรปรวดเร็วมากขึ้น เธอจึงพัฒนาแบบหน้ากากอนามัยสำหรับใบหน้าผู้ชายเพื่อเย็บให้อาจารย์เป็นของที่ระลึกกลับไปด้วยหัวใจเศร้าอยู่ลึกๆ
“ตอนนั้นเรารู้สึกเศร้ากับเรื่องนี้นะ ถามตัวเองว่าเราต้องให้ของที่ระลึกกันแบบนี้เหรอ เรารู้สึกไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อนเราทำของทำมือให้ใคร เราจะรู้สึกดีใจ แต่คราวนี้ เราต้องทำของที่ระลึกเพื่อป้องกันเขาจากเชื้อโรค”
Volunteer from Home
ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา นงลักษณ์กลายเป็น ‘สาวโรงงาน’ หน้ากากอนามัยจิตอาสาอยู่ที่บ้านตนเอง เพราะไม่สามารถออกไปรวมตัวกันเย็บผ้านอกบ้าน เธอพบว่า งานเย็บหน้ากากอนามัยเพียงลำพังทุกขั้นตอนตั้งแต่ตัดผ้าจนถึงใส่ยางยืดเป็นงานที่หนักจนต้องหาเวลาหยุดพักเพื่อเติมกำลังใจให้ตนเองด้วยเช่นกัน แต่พอนึกถึงคุณหมอที่ต้องใช้หน้ากากซ้ำเพราะหน้ากาก Surgical Mask มีไม่เพียงพอ เธอก็บอกตัวเองว่า อย่าพักนานเกินไป เพราะมีคนรออยู่
“การเป็นสาวโรงงานไม่ได้ง่ายนะ ทำทุกขั้นตอนเองอยู่ที่บ้าน มันเหนื่อยมากเหมือนกัน ล็อตแรกทำหน้ากาก 50 อันต้องเย็บผ้า 150 ชิ้น เพราะหมอต้องใช้หน้ากากซ้อนกัน 3 ชั้น บางทีเย็บไปง่วงไป ไม่ไหวแล้ว แต่ก็รู้ว่าโรงพยาบาลต้องการ มีความกดดันตนเองที่งานเร่งด่วน ความรู้สึกแตกต่างจากตอนเย็บตุ๊กตา Happy Dolls เพราะมีจิตอาสามาช่วยกัน แต่หน้ากากอนามัยมีเดดไลน์ ซึ่งคือวิกฤตของโรคระบาดที่ช้าไม่ได้ เราต้องตั้งตารางให้ตนเองทุกวันเลยว่า แต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง ทำทุกแผนก ทีละวัน จนกว่าจะเสร็จ”
ความเชื่อมั่นในหัวใจจิตอาสาของเธอส่งผลให้สายธารน้ำใจจากเพื่อนๆ บริจาคอุปกรณ์ต่าง ๆ มาเพื่อแบ่งเบางานหนักเป็นเบา รวมทั้งมีจิตอาสาอื่นๆ ที่เย็บผ้าเป็นต่างช่วยกันเย็บจากบ้านของตนเองส่งไปบริจาคสมทบเช่นกัน
“ก่อนหน้านั้น จักรเราไม่ดี เราเย็บคนเดียวไม่ไหว เราก็ส่งข่าวต่อในโลกโซเชียลฯ ว่าหมอใช้หน้ากากเดิมมาสามวันแล้ว พอมีคนเห็นข้อความก็รับข้อมูลไปช่วยเหลือต่อ พอเพื่อนรู้ว่าจักรเราไม่ดีเพราะเป็นจักรเก่าของแม่อายุ 50 ปีแล้ว เพื่อนก็นำเงินที่มักแบ่งไว้ทำบุญมาช่วยซื้อจักรให้เราเพื่อให้เราได้เย็บผ้าเพื่อคนอื่นต่อไป พอทำไปได้สักพักก็มีเพื่อนอีกคนบริจาคเงินก้อนใหญ่สำหรับเป็นทุนค่าผ้าและอุปกรณ์อีก”
ธารน้ำใจที่หลั่งไหลมาในหลายรูปแบบจึงเปรียบเสมือน “จิ๊กซอว์จิตอาสา” ของคนที่มีทักษะความสามารถแตกต่างกันมาเชื่อมร้อยกันจนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยทุกคนสามารถเป็น Volunteer from Home กันได้โดยไม่ต้องมารวมตัวกัน
“เราเป็นคนๆ หนึ่งที่เย็บผ้าได้ แต่วิกฤตแบบนี้ ไม่ใช่คนๆ เดียวที่จะทำได้ทุกอย่าง เพราะโรงพยาบาลมีเยอะมาก ตอนหลังเราก็เริ่มส่งต่องานบางอย่างให้เพื่อนมาช่วย เช่น พอของขาดก็วานให้พี่อีกคนไปซื้อผ้าให้ พอเย็บเสร็จก็มีเพื่อนอีกคนมารับเอาหน้ากากไปส่งต่อให้เพื่อนอีกคน แล้วส่งอบฆ่าเชื้อก่อนส่งให้หมอพร้อมใช้งาน”
หลังจากเย็บหน้ากากให้บุคลากรทางการแพทย์สีขาวเรียบๆ ล็อตแรกไปแล้ว เธอก็เริ่มรู้สึกอยากให้หมอได้อมยิ้มตอนได้รับหน้ากากของเธอ โดยเพิ่มลายปักยิ้มเล็กๆ ตรงมุมหน้ากาก แบบที่หมอใส่แล้วไม่เคอะเขินคนไข้
“พอเราเห็นว่าหมอเริ่มเหนื่อย เลยลองพัฒนาให้หน้ากากมีรอยยิ้มเล็กๆ ตรงมุม คนที่ได้รับก็จะยิ้มตาม เราไม่กล้าปักใหญ่เกินไป เพราะกลัวหมอไม่กล้าใช้ (พูดแล้วหัวเราะ) ตอนออกแบบก็มองว่าผู้รับได้ใช้หน้ากากแบบไหนแล้วจะมีความสุข”
ไม่เพียงแค่หมอจะยิ้มที่ได้เห็นหน้ากากของเธอ แต่ทุกคนที่ได้เห็นก็มักยิ้มตามสมความตั้งใจของคนออกแบบ อาทิ คนขับแท็กซี่หญิงซึ่งตามหาหน้ากากที่พอดีกับใบหน้ามานาน แต่เพราะหน้ากากหายากและราคาแพง เธอจึงใช้หน้ากากที่เล็กเกินกว่าใบหน้า ซึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อจากผู้โดยสาร เมื่อเธอเห็นหน้ากาก Happy Mask ของนงลักษณ์ เธอจึงขอไปใส่ปกป้องตนเองบ้าง
“ตอนแรกหน้ากากที่น้องคนขับใช้อยู่ เป็นขนาดเล็ก คลุมไม่ถึงคาง สายก็แน่นเกินไป พอเขาได้ของเราไป เขาชอบมาก เพราะพอดีกับหน้า แล้วหายใจได้ง่าย ขยับสายให้พอดีกับหน้าได้ ทำให้เขาปลอดภัยจากการรับเชื้อโรคระหว่างขับแท็กซี่มากขึ้น”
ล่าสุด เธอได้ติดต่อกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมซึ่งต้องการหน้ากากให้เครือข่ายสลัมสี่ภาค เธอจึงวางแผนกระจายงาน Volunteer from Home ให้กระจายงานแบ่งกันไปเย็บที่บ้าน แล้วก็ส่งงานที่เย็บเสร็จแล้วมารวมกัน เพื่อส่งมอบให้กลุ่มคนที่ต้องการต่อไป เธอบอกถึงปรากฏการณ์ใหม่ที่สังเกตเห็นในกลุ่มเพื่อนของเธอหลังจากเกิดวิกฤตครั้งนี้ว่า
“เราคิดว่าทำให้ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนมากขึ้น เช่น เพื่อนที่เคยบริจาคแต่เงิน ตอนนี้ลุกขึ้นมาซื้อของไปทำหน้ากาก Face Shield ที่บ้าน บางคนก็ทำหน้าที่เป็นคนขับรถไปซื้อของส่งให้อีกคนหนึ่งเป็นคนทำ เราเห็นคนทำจิตอาสาเยอะแยะไปหมดตามที่ตนเองจะทำได้ เพราะไม่ใช่เรื่องคนใดคนหนึ่งอีกแล้ว ตอนนี้งานจิตอาสาไม่จำเป็นต้องมีใครเป็นเจ้าภาพ มันเคลื่อนไปเองตามจุดที่แต่ละคนทำได้”
เมื่อถามถึงสิ่งที่เธอได้รับจากการทำงานเย็บหน้ากากอนามัยจิตอาสาตลอดสามเดือนที่ผ่านมาว่า
“เราชอบเย็บผ้า แค่ได้ยินเสียงจักรเย็บผ้าก็รู้สึกดีแล้ว เสียงจักรเย็บผ้าเป็นเสียงสวรรค์ของเรา มันได้เติมเต็มอะไรบางอย่างในตัวเรา แต่เราก็พบด้านทุกข์ของเราว่า เราจะทำงานยังไงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้ทันกับคนที่รออยู่ เราต้องวางแผนบริหารการทำงานและดูแลจิตใจตนเองให้ทำงานอย่างมีความสุขด้วยเหมือนกัน”
ทุกวันนี้ แม้ว่าเธอจะไม่ได้ออกจากบ้านไปทำกิจกรรมเวิร์คช็อปเย็บตุ๊กตาเหมือนเคย แต่เธอก็ยังทำหน้าที่ Volunteer from Home ส่งมอบความสุขผ่าน Happy Masks ด้วยรอยยิ้มเล็กๆ ที่เธอปักลงไปบนผ้าด้วยสองมือและหนึ่งหัวใจเต็มร้อย เพื่อส่งต่อความรัก ความห่วงใยไปยังผู้มีความต้องการใช้หน้ากากเหมือนเช่นเดิม
ขอบคุณภาพประกอบจาก Happy Dolls Project
(ผู้สนใจร่วมกิจกรรมจิตอาสาจากที่บ้าน – ทำหน้ากากผ้า Volunteer from Home – Happy Masks สามารถติดตามได้ที่ใน Facebook: Happy Dolls Project )
Tags: โคโรนาไวรัส, หน้ากากอนามัย, โควิด-19, happy masks, happy dolls, little big hearts