หลายคนที่ติดตามข่าวสารตลาดเงินและตลาดทุนคงใจเต้นไม่เป็นจังหวะเพราะตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ผันผวนขึ้นลงในระดับที่น่าใจหาย บางสำนักข่าวแสดงความเห็นว่าวิกฤตในตลาดทุนที่ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างต่อเนื่องจนสูญเสียความมั่งคั่งมูลค่ามหาศาลน่าหวาดหวั่นกว่าการเสียชีวิตของคนนับล้านจากการติดเชื้อโควิด-19

นักลงทุนหลายคนเริ่มเสนอให้ปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อรอให้วิกฤตการณ์ผ่านพ้นไปก่อน ประเทศแรกและประเทศเดียวที่สนองตอบความต้องการดังกล่าวคือฟิลิปปินส์ที่มีคำสั่งห้ามการซื้อขายหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงสกุลเงินระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 โดยไม่มีการกำหนดว่าจะกลับมาทำการตามปกติเมื่อไร

สำหรับประเทศไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยเปรยว่าจะมีการตั้งกองทุนพยุงราคาหุ้น (Stabilizer Fund) หลังจากที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยหลุด 1,000 จุด โดยประเทศไทยเคยมีการจัดตั้งกองทุนลักษณะดังกล่าวหลายครั้งในอดีต เช่น การตั้งกองทุนวายุภักษ์มูลค่า 30,000 ล้านบาทเมื่อคราววิกฤตต้มยำกุ้ง อย่างไรก็ดีข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับมากนัก

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนซึ่งไม่ได้มีเงินลงทุนในหุ้นอาจเริ่มสงสัยว่ามันจะอะไรกันนักกันหนากับเจ้าตัวเลขดัชนีตลาดหลักทรัพย์? ทำไมคนจำนวนไม่น้อยต้องจดจ่อกับการขึ้นลงของตัวเลขดังกล่าวจนเข้าขั้นหมกมุ่น

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปทำความเข้าใจว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์คืออะไร และส่งผลอย่างไรต่อชีวิตเราแม้ว่าเราจะไม่มีเงินลงทุนในหุ้นก็ตาม พร้อมกับพิจารณา 3 ทางเลือกว่ารัฐบาลควรจะปิด ปล่อย หรืออุ้มตลาดหลักทรัพย์ในห้วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19

ดัชนีหุ้นขึ้นหรือลง ส่งผลต่อชีวิตปุถุชนอย่างไร

จากสถิติล่าสุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บัญชีซื้อหลายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มีทั้งสิ้นราว 1.1 ล้านบัญชี โดยบัญชีที่มีการซื้อขายเฉลี่ยราว 300,000 บัญชีในแต่ละเดือน ตัวเลขดังกล่าวอาจประมาณคร่าวๆ ได้ว่านักลงทุนรายย่อยที่คร่ำหวอดในตลาดทุนมีไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย

แล้วทำไมเราต้องใส่ใจของเรื่องของคนจำนวนหยิบมือที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์?

ประเด็นแรกคือ เราๆ ท่านๆ อาจจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม เช่น ลงทุนผ่านกองทุนรวมยอดฮิตเพื่อการลดหย่อนภาษี หรือเงินที่สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่หักออกจากเงินเดือนทุกเดือน เงินออมเหล่านี้คือ ‘ความมั่งคั่ง’ ซึ่งหากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงย่อมส่งผลต่อเงินที่เราเก็บออมไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณ สถานการณ์โควิด-19 ที่ดึงมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ลงมาอย่างรุนแรง ย่อมส่งผลลบต่อผู้ที่เก็บออมและต้องการนำเงินก้อนมาใช้หลังการเกษียณในช่วงเวลานี้

ประเด็นที่สองคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของมูลค่าของบริษัทขนาดใหญ่ที่เปิดให้สาธารณชนซื้อขายหุ้น หรือที่เราอาจคุ้นหูว่าบริษัทมหาชน ดัชนีดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดนำ (Leading Indicators) ถึงสภาพเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากตามทฤษฎีนั้น มูลค่าหุ้นที่ซื้อขายกันในปัจจุบันคือผลรวมของความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของบริษัท เมื่อมูลค่าดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงย่อมสะท้อนการคาดการณ์อนาคตที่ไม่สดใสนักรวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

อย่างไรก็ดี ดัชนีดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคตผ่านมุมมองของนักลงทุนจำนวนมากโดยพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าการคาดการณ์ดังกล่าวจะผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริงและความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาดไว้ 

แต่ด้วยความที่ดัชนีดังกล่าวมีลักษณะเป็น “คำพยากรณ์ที่เป็นจริงด้วยตัวเอง (Self-fulfilling prophecy)” กล่าวคือดัชนีปรับตัวลดลงเพราะนักลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจแย่ ประชาชนและภาคธุรกิจก็จะปรับพฤติกรรมตาม ไม่ว่าจะเป็นการชะลอการบริโภค ชะลอการลงทุน ชะลอการจ้างงาน ฯลฯ จนในที่สุดเศรษฐกิจก็จะแย่จริงๆ ตามที่พยากรณ์ไว้

ภาวะแบบนี้ รัฐบาลควรปิด อุ้ม หรือปล่อยตลาดหุ้น?

เราอาจพอเคยได้ยินข่าวธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าไป ‘ยุ่ง’ กับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ หรือเข้าซื้อหรือขายตราสารหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นรัฐบาลเข้าไปยุ่มย่ามกับตลาดหลักทรัพย์ เช่น การสั่งปิดชั่วคราว หรือตั้งกองทุนเข้าซื้อหลักทรัพย์เพื่อพยุงราคาหุ้น

สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศและตลาดตราสารหนี้นั้นส่งผลต่อการทำธุรกรรมประจำวันของธุรกิจ เช่น การชำระหนี้ หรือการขอสินเชื่อ ความผันผวนในตลาดดังกล่าวหรือการเกิดภาวะขาดสภาพคล่องอาจทำให้ธุรกรรมข้างต้นไม่สามารถดำเนินการได้และถึงขั้นลุกลามกลายเป็นวิกฤต ในขณะที่ปัญหามูลค่าหุ้นตกต่ำในตลาดทุนส่งผลกระทบหลักต่อความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น แต่แทบไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจปกติ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท MMT  (นามสมมติ) บริษัทสื่อออนไลน์มีราคาหุ้นซื้อขายที่ 25 บาท แต่หลังจากเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ราคาหุ้นของ MMT ก็ลดลงเหลือเพียง 15 บาท หรือลดลงราว 40 เปอร์เซ็นต์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผู้ถือหุ้นที่ความมั่งคั่งหดหายไป 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ MMT ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้ หรือเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด เพียงแต่อาจเผชิญข้อจำกัดในการเสนอขายหุ้นทุนเพิ่มเติม (seasoned equity offering) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้คอขาดบาดตายอะไร

แต่ในหน้าประวัติศาสตร์ เราจะเห็นการที่รัฐบาลเข้าไปยุ่งกับตลาดหุ้นอยู่เนืองๆ เช่นการก่อตั้งกองทุนพยุงหุ้นในของเมื่อคราววิกฤตต้มยำกุ้ง การกระตุ้นทางตรงของรัฐบาลจีนในคราววิกฤตซับไพรม์ที่ทำให้ดัชนีหุ้นจีนลดลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นแนวหน้าของเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเอง ก็ยังเคยประกาศปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หนึ่งสัปดาห์หลังเกิดเหตุก่อการร้าย 9/11

ผู้เขียนขอเริ่มจากข้อเสนอในการ ‘ปิด’ การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งผู้สนับสนุนมองว่าจะช่วยป้องกันการลดลงอย่างรวดเร็วของราคาหลักทรัพย์จากการขายเพราะตื่นตระหนก (Panic Selling) เช่นในกรณีของการก่อการร้าย 9/11 ระหว่างที่ตลาดหลักทรัพย์ปิดทำการ รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่ในการสื่อสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่มี มิใช่เพราะตกใจกับราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วหรือความไม่แน่นอนของสถานการณ์

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เห็นด้วยกับการห้ามการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มองว่าการกระทำดังกล่าวบ่อนเซาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์เป็นดัชนีที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจ การตัดสินใจปิดอาจส่งสัญญาณอาจสร้างความไม่แน่นอนในตลาดเพิ่มขึ้นจนนักลงทุนตัดสินใจเปลี่ยนไปขายสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น หลักทรัพย์ในตลาดตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์จริง (Real Assets) ยิ่งไปกว่านั้น การตัดสินใจดังกล่าวยังทำลายหลักการที่สำคัญที่สุดของการมีอยู่ของตลาดทุน นั่นคือการโอนย้ายความเสี่ยง และกลไกค้นหาราคาที่เหมาะสม (Price Discoveries) การบังคับให้หยุดซื้อขายไปดื้อๆ ย่อมส่งผลให้การกระจายข้อมูลไร้ประสิทธิภาพ และอาจทำให้ตลาดคำนวณความเสี่ยงแบบผิดๆ

ส่วนข้อเสนอในการ ‘อุ้ม’ ตลาดทุนนั้น มีการศึกษาที่ได้รับการอ้างถึงบ่อยครั้งว่าด้วยการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนีฮั่งเส็งของรัฐบาลฮ่องกงเมื่อคราววิกฤตต้มยำกุ้ง โดยผลลัพธ์ที่ได้คือช่วยลดความผันผวนในตลาดและหยุดราคาหุ้นที่ร่วงลงได้ อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นดังกล่าวก็ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ที่ได้ประโยชน์คือเหล่าผู้ถือหุ้นของบริษัทที่รัฐเข้าอุ้ม

แล้วนั่นหมายความว่าหากรัฐบาลตั้งกองทุนเพื่อเข้าซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยอุ้มดัชนีไม่ให้ร่วงลงไปกว่านี้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนใช่หรือไม่?

คำตอบคือไม่น่าจะใช่ เพราะบริบทของวิกฤตในอดีตทั้งซับไพรม์หรือต้มยำกุ้งต่างระเบิดขึ้นจากโลกการเงิน แต่การระบาดของโควิด-19 เริ่มขึ้นในโลกจริงก่อนจะลุกลามไปทำลายความเชื่อมั่นของตลาดทุน หากรัฐบาลตั้งกองทุนพยุงราคาหุ้นก็คงไม่ต่างจากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะนอกจากจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนบางรายฉวยจังหวะออกจากตลาด ยังไม่ได้ขจัดความเสี่ยงที่แท้จริง นั่นคือการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

จึงมาถึงทางเลือกสุดท้ายนั่นคือ ‘ปล่อย’ ให้นักลงทุนซื้อขายได้อย่างเสรี ให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างเต็มที่ และทุ่มงบประมาณที่ตั้งใจว่าจะใช้ตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานนั่นคือภัยสาธารณะที่ชื่อโควิด-19 รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากมาตรการจำกัดการระบาด (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ปิดได้แต่อุ้มด้วย: ข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์เพื่อบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจ) เพราะการพยายามปิดหรืออุ้มดัชนีหลักทรัพย์นั้น นอกจากจะไม่ช่วยยับยั้งการระบาด แต่อาจยังสร้างความหวั่นกังวลแก่สาธารณชนเพิ่มเติมอีกด้วย

Did You Know?

ราคาหุ้นที่ร่วงอย่างรุนแรงในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งปิดทำการชั่วคราวตามเกณฑ์ของกลไกที่ชื่อว่า ‘เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)’ ซึ่งออกแบบไว้เพื่อป้องกันราคาหุ้นร่วงต่อเนื่องเพราะมีแต่แรงขายแต่ไม่มีแรงซื้อ รวมถึงให้เวลานักลงทุนที่ใช้อัลกอริธึมขายอัตโนมัติเมื่อราคาหลักทรัพย์ลดลง ณ ระดับใดระดับหนึ่งเพื่อตัดขาดทุน ปรับอัลกอริธึมให้เท่าทันสถานการณ์ อย่างไรก็ดี มีการศึกษาพบว่าเซอร์กิตเบรกเกอร์กลับเพิ่มความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์แทนที่จะช่วยลดตามที่ออกแบบไว้

เอกสารประกอบการเขียน

How does the stock market affect the economy?

Why should I care if share prices fall?

Should the government directly intervene in stock market during a crisis?

Coronavirus matters, the stock market doesn’t, and thinking it does may literally kill us

How the Stock Market Affects the U.S. Economy

Should the stock market close because of coronavirus? Here’s why the answer should be no

The unthinkable: Is it time to shut down the stock market?

Tags: ,