นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงในการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. วันนี้ (30 มีนาคม) กรณีมีตัวเลขในสื่อว่ามีสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นว่า อาจเป็นความคลาดเคลื่อนของการสื่อสาร โดยในช่วงแรกของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส มีการประชุมระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.ไว้ 11 โรงงานว่า กำลังการผลิตอยู่ที่ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน รวม 36 ล้านชิ้นต่อเดือน อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบบางส่วนเช่น ไส้กรองต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โรงงานจึงให้ข้อมูลว่า วัตถุดิบที่มีอาจผลิตได้อีก 200 ล้านชิ้น
ส่วนเรื่องของการจัดสรรหน้ากากอนามัยนั้น นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดขึ้น ประชาชนต้องการใช้หน้ากากเขียวมากขึ้น ทำให้กำลังการผลิตที่มีและคาดว่าจะเพียงพอกับบุคลากรทางการแพทย์ เริ่มลดลงน้อยลง กระทรวงพาณิชย์พยายามจัดสรรหน้ากากให้บุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลก่อน เพราะเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้มากที่สุด จึงให้โรงงานส่งหน้ากากอนามัย 50% ให้พาณิชย์จัดการ ส่วนอีก 50% ให้ทำธุรกิจตามปกติ
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ส่วนนี้เราควบคุมไม่ได้ เกิดปัญหาว่า ที่โรงงานเคยส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ ก็ส่งน้อยลง ทำให้สินค้าที่อยู่ในตลาดราคาสูงขึ้นมาก ด้วยเหตุนั้นจึงต้องออกประกาศว่าขอเอากำลังการผลิตจากโรงงานมาบริหารจัดการเพื่อให้คนที่ต้องใช้ มีเพียงพอ”
นายบุณยฤทธิ์ ระบุว่า ต่อมาได้ขอความร่วมมือจากโรงงานให้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ส่วนที่มีการส่งออก ขอให้ปรับกำลังการผลิต ให้เพียงพอกับการใช้งาน โดยล่าสุด โรงงานผลิตได้เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน เทียบกับจำนวนประชากรไทย 67 ล้านคน เท่ากับเรามีหน้ากาก 1 ชิ้น ต่อ 28 คนต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอ ณ เวลานี้จึงเปลี่ยนวิธีใหม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า “ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งครับว่า เราจะล้างตัวเลขเก่าทั้งหมดที่เคยมีมาก่อน เคยพูดกันว่าเรามีหน้ากากอยู่ในสต๊อก 200 ล้านชิ้น ตัวเลขนั้นอาจจะถูกในความหมายหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนตัวเลขทั้งหมดนั้นผิดพลาดครับ”
วิษณุ กล่าวต่อว่า การจัดสรรหน้ากาก 1.3 ล้านชิ้น กระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรให้โรงพยาบาลและบุคลาการทางการแพทย์ทั่วประเทศ ทำแผนการจ่ายเป็นรายจังหวัด มีชื่อผู้ส่งผู้รับตรวจสอบได้ ส่วนอีก 1 ล้านชิ้น เป็นโควต้าของกระทรวงมหาดไทย จะจัดสรรให้บุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ แต่มีความเสี่ยงก่อน เช่น อสม.ที่ไปเฝ้าระวังผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่บริการประชาชน พนักงานขนขยะ ตำรวจ ทหารที่ตั้งด่านตรวจ คนชรา อายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย และเด็ก โดยส่งไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็น กทม. 100,000 ชิ้น นอกจากนั้นไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ 900,000 ชิ้น
ทั้งนี้ นายวิษณุระบุว่า จะเห็นว่าในแผนนี้ยังไม่มีโควต้าให้ประชาชนและร้านค้า แต่ขอให้อดทนอีกสัก 3-4 วัน เชื่อว่าหลังจากนั้นบุคลากรภาครัฐจะมีหน้ากากพอใช้ไประยะหนึ่ง จากนั้นจะเปลี่ยนแผนการจ่ายให้ประชาชนและร้านค้าต่อไป
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 136 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,524 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมสะสมเสียชีวิต 9 ราย โดยผู้ป่วยสะสมของไทย เทียบกับประเทศอื่น ยังมีแนวโน้มทะยานขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ อิตาลี ไทยยังมีลักษณะที่โอเคอยู่ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ 21 มีนาคม เป็นต้นมา
Tags: หน้ากากอนามัย, โควิด-19