ถึงแม้ใช้มาตรการเข้มปิดเมืองทั่วทั้งประเทศล่วงเข้าสัปดาห์ที่สามแล้ว อิตาลียังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่ละวัน ผู้คนยังเสียชีวิตร่วม 800 ราย ติดเชื้อเพิ่มกว่า 4,000 คน นั่นเป็นผลจากความไร้เอกภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาล

จนถึงเมื่อวันเสาร์ (21 มี.ค.) อิตาลีมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 53,000 คน เสียชีวิตกว่า 4,800 ราย ยอดผู้เสียชีวิตแซงหน้าจีน (3,255 ราย) ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ก่อน เวลานี้ อิตาลีประเทศเดียวมีคนตายด้วยโรคโควิด-19 กว่าหนึ่งในสามของยอดผู้เสียชีวิตราว 11,500 รายทั่วโลก

ทำไมอิตาลีกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ คำอธิบายมีหลายแบบ บ้างว่าเป็นเพราะโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงวัยในสัดส่วนสูง บ้างว่าระบบสาธารณสุขอ่อนแอ อธิบายแบบนี้มีส่วนถูก แต่ยังไม่เพียงพอ

คำอธิบายอีกแบบที่พึงเก็บรับเป็นอุทาหรณ์คือ อิตาลีรีรอที่จะใช้ยาแรง เพราะห่วงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลขาดเอกภาพในการรับมือ แต่ละหน่วยงานปฏิบัติกันไปคนละทิศ พูดกันไปคนละทาง แถมส่งสัญญาณผิดๆ ทำให้ประชาชนสับสน ทำตัวไม่ถูก

คำอธิบายแบบมาตรฐาน

เมื่อการณ์ปรากฏว่า อิตาลีกลายเป็น “จีนรายใหม่” ด้วยยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่พุ่งสูงไม่หยุด จึงเกิดคำถามว่า ทำไมหวยมาออกที่อิตาลี บรรดาเทคโนแครตเสนอคำอธิบายว่า เป็นเพราะประเทศนี้มีคนชราเยอะ โรคนี้ชอบเล่นงานคนสูงวัย ผู้สูงอายุจึงล้มตายกันมาก

นั่นมีส่วนถูกอยู่เหมือนกัน อายุมัธยฐาน (median age) ของประชากรอิตาลีทั้งหมดอยู่ที่ 45.4 ปี นับว่าสูงกว่าชาติยุโรปอื่นๆ สูงกว่าอายุมัธยฐานของคนจีนราว 7 ปี และสูงกว่าอายุมัธยฐานของคนเกาหลีใต้เล็กน้อย

อายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 ในอิตาลีอยู่ที่ 78.5 ปี ผู้เสียชีวิตเหล่านี้เกือบ 99 เปอร์เซ็นต์มีโรครุมเร้าอยู่แล้วอย่างน้อย 1 โรค อัตราการตายของผู้ติดเชื้อจึงค่อนข้างสูง คือ 8.6 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี มีคนแย้งว่า ประชากรชาวญี่ปุ่นมีอายุมัธยฐานอยู่ที่ 47.3 ปี ซึ่งสูงกว่าชาวอิตาลีเสียอีก แต่ญี่ปุ่นมีคนตายด้วยโรคนี้แค่ 36 ราย ฉะนั้น อายุคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะอธิบายกรณีของอิตาลีได้

อีกปัจจัยที่ถูกหยิบมาใช้อธิบายก็คือ ระบบสาธารณสุขของอิตาลีถึงจุดอิ่มตัว รองรับผู้ติดเชื้อไม่ไหวแล้ว อันนี้จริงแท้แน่นอน เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงปรี๊ดทำสถิติใหม่เป็นรายวัน จึงเกิดสภาพเตียงผู้ป่วยมีไม่พอ เครื่องช่วยหายใจมีไม่พอ กระทั่งหมอต้องตัดสินใจเลือกให้การรักษาคนที่มีโอกาสรอดสูงเป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ดี ปัญหาขาดคน ขาดเงิน ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างที่เทคโนแครตชอบอ้างเป็นสาเหตุของความล้มเหลวประดามีนั้น ไม่ควรบดบังความจริงที่ว่า ในทุกสังคมการเมือง รัฐบาลมีไว้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข

สอบสวนเส้นทางระบาด

ปรากฏการณ์ล้มตายเป็นใบไม้ร่วงในอิตาลี อาจทำความเข้าใจได้ดีกว่า หากว่าเราย้อนพินิจปฏิกิริยาตอบสนองของรัฐบาลในกรุงโรม นับแต่เริ่มพบ “ผู้ป่วยหมายเลขหนึ่ง” ทางตอนเหนือของประเทศ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์

ในช่วงสัปดาห์แรกนับแต่พบผู้ติดเชื้อ แวดวงนโยบายของรัฐบาลดูจะยังไม่ตื่น ท่ามกลางเสียงที่เริ่มพูดถึงมาตรการคุมเข้ม ประธานพรรคประชาธิปไตย นิโกลา ซินกาเรตติ ยังทำตัวชิลล์ๆ เขาโพสต์ภาพตัวเองกับเครื่องดื่มยอดนิยมในเมืองมิลานในวันที่ 27 ก.พ. พลางบอกใครๆ ว่า ไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรอะไรในชีวิตประจำวันหรอก

ตอนที่เขาโพสต์นั้น อิตาลีมีผู้ติดเชื้อราว 400 คน จำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มขึ้นตัวเลขสองหลัก ทว่าในอีกสิบวันให้หลัง เขาโพสต์วิดีโอบอกกับประชาชนว่า ตัวเองติดเชื้อแล้ว ในวันนั้น ผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 5,883 คน เสียชีวิต 233 ราย

เท่าที่รู้จนถึงขณะนี้ “ผู้ติดเชื้อหมายเลขหนึ่ง” เป็นชายทำงานก่อสร้าง วัย 38 เขาไปพบแพทย์ที่เมืองโคโดนจ์โญ ในจังหวัดลอดี แคว้นลอมบาร์ดี ด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ หมอไม่ได้ให้นอนโรงพยาบาล เขาจึงกลับบ้าน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อาการทรุดลง เขากลับไปหาหมออีก แพทย์รับตัวไว้ในหอผู้ป่วยทั่วไป ในวันที่ 20 ก.พ. เขาถูกส่งเข้าห้องไอซียู และตรวจพบว่าติดโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

จากการสอบสวนโรคทราบว่า ในเดือนนั้นเขาพบสัมผัสผู้คนมากมาย ไปงานเลี้ยง 3 งาน เล่นฟุตบอลและวิ่งกับเพื่อนร่วมทีม เพราะเหตุที่เข้าโรงพยาบาล 2 รอบ แพทย์กับพยาบาลจึงได้รับเชื้อด้วย ในช่วงนั้น ไวรัสได้แพร่ระบาดในแคว้นลอมบาร์ดีแล้ว มีคนติดเชื้อมากมาย แต่ยังไม่แสดงอาการ

ชายคนนี้ไม่เคยไปจีน เขาอาจติดเชื้อจากคนยุโรปด้วยกันนี่เอง จนถึงเวลานี้ อิตาลียังตามรอยไม่พบ “ผู้ป่วยหมายเลขศูนย์” ผู้เป็นต้นตอแพร่เชื้อ นักระบาดวิทยาบอกว่า แท้ที่จริง ผู้ป่วยรายนี้อาจเป็น “ผู้ป่วยหมายเลข 200” ก็เป็นได้

คำอธิบายแบบวิพากษ์

ไม่ว่าเส้นทางของการระบาดเป็นอย่างไร ประเด็นก็คือ เมื่อระบาดแล้ว รัฐบาลตอบสนองอย่างไร ซึ่งพบว่า การสื่อสารที่ขัดแย้งกันเองของฟากรัฐ และความพะวักพะวนกับผลกระทบของมาตรการคุมเข้ม บั่นทอนประสิทธิภาพในการควบคุมโรค

ย้อนไปเมื่อ 23 ก.พ. ซึ่งแคว้นลอมบาร์ดีเริ่มนำมาตรการปิดเมืองมาใช้ นายกรัฐมนตรี ยูเซปเป กอนเต โอ่ว่า อิตาลีควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด แต่เหตุที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงก็เพราะมีการตรวจหาเชื้อแบบหว่านแห คนไม่มีอาการยังได้รับการตรวจ ต่อมาในวันที่ 25 ก.พ. เขาบอกว่า “อิตาลีเป็นประเทศที่ปลอดภัย อาจปลอดภัยกว่าหลายๆ ประเทศเสียอีก”

รัฐมนตรีต่างประเทศ ลุยจี ดิ มาโย พูดตำหนิการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในระหว่างการแถลงที่กรุงโรมเมื่อ 27 ก.พ. ว่า “ในอิตาลี เราก้าวเลยจากโรคระบาดเป็นข้อมูลระบาดไปแล้ว ชาวอิตาเลียนที่ถูกกักกันโรคมีแค่ 0.089 เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเอง”

เมื่อเห็นรัฐบาลกลางพยายามกลบเกลื่อนความร้ายแรงของสถานการณ์ ผู้ว่าการแคว้นลอมบาร์ดี อัตตีลิโอ ฟอนตานา ออกมาตำหนิว่า รัฐบาลกรุงโรมกำลังส่งสัญญาณผิดๆ ทำให้ประชาชนคิดว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องเล่นๆ ทุกคนจึงยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม พร้อมกับบ่นว่า ในการประชุมทางไกลกับนายกรัฐมนตรี เขาร้องขอรัฐบาลให้เพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้นไปอีก แต่รัฐบาลไม่ขานรับ “พวกเขากลัวเศรษฐกิจจะเสียหาย”

แต่เมื่อยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 7,375 คน ยอดเสียชีวิตเพิ่มเป็น 366 ราย ในวันที่ 8 มีนาคม นายกฯ กอนเตเปิดแถลงข่าวตอนตีสอง สั่งปิดเมืองต่างๆ ครอบคลุมประชากรราวหนึ่งในสี่ของภาคเหนือ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ

อย่างไรก็ดี คำสั่งนี้ในทางปฏิบัติเป็นการปิดเมืองแบบครึ่งๆ กลางๆ ผู้คนรู้สึกงุนงงว่า ที่ว่าปิดนั้นกินความแค่ไหน อย่างไร กระทรวงมหาดไทยออกมาขยายความว่า คนที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านคือ คนที่ต้องไปทำงาน ต้องไปหาหมอ หรือ “มีเหตุจำเป็นอื่นๆ” ขณะเดียวกัน บรรดารัฐบาลท้องถิ่นออกแนวปฏิบัติผิดแผกกัน บางท้องถิ่นกำหนดให้คนที่เดินทางเข้าออกพื้นที่ที่มีมาตรการปิดเมืองต้องกักตัวเอง บางท้องถิ่นไม่มีข้อกำหนดนี้

ทั้งหมดสะท้อนถึงความไร้เอกภาพในการควบคุมโรค

วันรุ่งขึ้น 9 มีนาคม ผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 9,172 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 463 ราย นายกฯ กอนเตสั่งยกระดับมาตรการเป็นปิดเมืองทั่วทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี ถึงตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางรายบอกว่า สายเกินการณ์แล้ว.

 

อ้างอิง:

New York Times, 21 March 2020

AFP via The Straits Times, 21 March 2020

AFP via The Local, 21 March 2020

 

ภาพ: REUTERS/Antonio Parrinello

Tags: ,